โรคหัวใจเเละหลอดเลือด โรคหัวใจเต้นผิดปกติ ภัยร้ายของผู้สูงวัย


776 ผู้ชม


โรคหัวใจเเละหลอดเลือด โรคหัวใจเต้นผิดปกติ ภัยร้ายของผู้สูงวัย

โรคหัวใจและหลอดเลือด...ภัยร้ายของผู้สูงวัย

โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคที่พบได้บ่อยเมื่ออายุมากขึ้น  ดังนั้นจึงเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมตามอายุขัย (ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ) แต่ทั้งนี้ก็ต้องแล้วแต่เหตุและปัจจัยด้วย ถ้าใครเกิดมาดี (เฉพาะเกี่ยวกับโรคหัวใจนะครับ เพราะสำหรับคนที่เกิดมาแล้วร่ำรวย กินดีอยู่ดีแต่ไม่สนใจสุขภาพอาจจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจ) คือ ไม่มีประวัติเป็นโรคหัวใจ รวมทั้งปฏิบัติดี  เช่น รับประทานแต่พอเหมาะ, ออกกำลังกายเป็นประจำ, ไม่สูบบุหรี่, ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ  และถ้ามีโรคภัยไข้เจ็บก็ติดตามการรักษาเป็นประจำ  ก็จะส่งเสริมให้โรคหัวใจและหลอดเลือดเกิดช้าขึ้น (หรือไม่เกิด)

แต่พูดไปแล้ว  อายุที่มากขึ้นใช่ว่าจะมีแต่โรคหัวใจเท่านั้นที่เข้ามาเยี่ยมเยือน  ปัญหาหลายชนิดที่เกิดขึ้นพร้อมกับวัยที่เปลี่ยนไป  ไม่ใช่แต่โรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อมต่อสังขารที่เปลี่ยนไปแล้วอันตรายก็อาจจะมาถึงตัว บางทีอันตรายนั้นอาจจะมากกว่า หรือมีผลต่อคุณภาพชีวิตมากกว่าโรคหัวใจด้วยซ้ำไป

ตามสถิติของประเทศทางซีกโลกตะวันตกพบว่า 1 ใน 3  ของผู้สูงอายุเคยหกล้มหรือเกือบจะหกล้ม ซึ่งปัญหาหลังจากหกล้มนั้นก็คือปัญหาทางสุขภาพอีกมากมาย  เช่น กระดูกหัก  หรือถ้าไม่หักก็เกิดกล้ามเนื้อหรือเอ็นอักเสบ เกิดแผล หรืออาจรุนแรงมากขึ้น  เช่น  เลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น

ไม่ว่าจะเกิดอะไรก็ตาม  การรักษาจะยากกว่าคนอายุน้อยหลายเท่า  โดยเฉพาะถ้ามีโรคหัวใจและจำเป็นต้องผ่าตัด  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น  อะไรก็ไม่เท่ากับคุณภาพชีวิตขิงผู้สูงอายุที่ต้องเสียไป  เลยมีการศึกษาวิจัยมากมาย  เพื่อดูว่ามีวิธีใดบ้างที่จะทำให้ปัญหาของการหกล้มในผู้สูงอายุลดลง  พบว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดการหกล้มในผู้สูงมีได้หลายสาเหตุ  และการดูแลป้องกันก็จะต่างกันออกไป สรุปได้คร่าวๆ ดังนี้ 

 ความผิดปกติที่มีส่วนทำให้เกิดการหกล้มของผู้สูงอายุ เกิดจากหลายระบบ เช่น
   - ระบบตา เช่น สายตาผิดปกติ ปรับการมองเห็นได้ไม่ดี ป้องกันได้โดยจัดสิ่งแวดล้อมที่บ้านให้เหมาะสม เช่น  แสงสว่าง
   - ระบบประสาทและการทรงตัว การรับรู้ความรู้สึกและการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆลดลง การทำงานของสมองลดลง สูญเสียการทรงตัวถ้าเป็นเช่นนี้ควรเข้าโปรแกรมการฝึกการทรงตัวจากแพทย์
   - กล้ามเนื้อและกระดูก กล้ามเนื้อลีบเล็กและติดยึด การทำงานประสานกันของระบบกล้ามเนื้อและข้อต่อเป็นไปอย่างลำบากมากขึ้น กระดูกบางและเสื่อม
เรื่องนี้แก้ไขและป้องกันโดยการออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงทนทานของกล้ามเนื้อและการทรงตัว ควรเลือกใช้เครื่องช่วยเดินที่เหมาะสม
   - หัวใจและหลอดเลือด เวียนศีรษะ โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนท่าทางซึ่งอาจป้องกันโดยปรับท่าทางในการดำรงชีวิตประจำวันให้เหมาะสม, ใส่ถุงน่องพิเศษ
   - การเดิน เปลี่ยนไปเนื่องจากหลายสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ทำให้เดินไม่มั่นคง เดินก้าวสั้น ยกเท้าพ้นพื้นได้ไม่มากเรื่องนี้ต้องฝึกออกกำลังกาย, ฝึกเดิน
   - ยาที่รับประทาน ยาหลายชนิดอาจจะมีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ความรู้สึกตัวและการทรงตัว ถ้าเป็นเช่นนี้ต้องพบแพทย์

จะเห็นได้ว่าปัญหาเรื่องการหกล้มของผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่ไม่ได้เกิดมาจากสาเหตุเดียว  แต่เนื่องมาจากหลายๆสาเหตุเดียว  แต่เนื่องมาจากหลายๆสาเหตุ  ซึ่งบางครั้งจะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์หลายสาขา  อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า  สิ่งหนึ่งที่ผู้สูงอายุสามารถปฏิบัติได้  นอกเหนือไปจากปรึกษาแพทย์ ก็คือปรับสภาพแวดล้อมในบ้านให้เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต เช่น ไม่ควรวางของเกะกะ  ติดไฟให้สว่าง พื้นบ้านถ้าปรับได้ควรปรับให้ไม่มีระดับมากนัก และควรจัดทำราวที่จับเพื่อช่วยพยุง โดยเฉพาะในห้องน้ำ

ผู้สูงอายุทำอะไรก็ช้าลง  โดยเฉพาะการลุก นั่ง ยืน เดิน (ต้องฝึกให้มีสมาธิอยู่กับตัวตลอดเวลาถึงจะทำได้ทุกๆครั้งไป!!)  มีผู้สูงอายุหลายคนที่ก้มตัวลงหยิบของ  หรือนั่งอยู่แล้วลุกขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดอาการหน้ามืดเลยพาลจะหกล้ม  ทั้งนี้เป็นเพราะการปรับตัวของหลอดเลือดและความดันโลหิตไม่ทันใจของผู้สูงอายุ  การเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็วจึงไม่ควรทำ ควรลุก นั่ง ยืน เดินอย่างมีสติครับ สำหรับท่าที่ก้มๆ เงยๆ (เช่นการบริหารที่เอามือแตะปลายเสลับกันไปกันมา) ควรหลีกเลี่ยง

 สำหรับการออกกำลังกายสม่ำเสมอ สำหรับผู้สูงวัย
   - การออกกำลังกายเพื่อยึดคลายกล้ามเนื้อ (stretching exercise) การที่กล้ามเนื้อและข้อต่อไม่ได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อยืดคลายกล้ามเนื้อ  จะทำให้เกิดการปวด ติดยึดของกล้ามเนื้อและข้อ ซึ่งมีผลทำให้เคลื่อนไหวลำบาก หกล้มง่าย ตัวอย่างการออกกำลังกายประเภทนี้คือ  การรำมวยจีน หรือโยคะนั่นเอง

   - การออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและการฝึกการทรงตัว ทั้งนี้เพราะกล้ามเนื้อที่แข็งแรงขึ้นและการทรงตัวที่ดี จะทำให้การเคลื่อนไหวเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น ไว้ผมจะเล่าเรื่องให้ฟังอีกทีวันหลังนะครับ แต่ตัวอย่างก็คือ การยกน้ำหนักเบาๆและท่าบริหารบางท่าที่เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการทรงตัว

   - การออกกำลังกายเพื่อความทนทาน เป็นการออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพร่างกายและหัวใจแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งก็ควรออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การเดิน ว่ายน้ำ ถีบจักรยาน ที่ทำต่อเนื่องกัน 20-30 นาทีเช่นกัน

นอกจากนี้  การศึกษาวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุที่ Active อยู่สม่ำเสมอโอกาสที่จะล้มก็ลดลง แต่ว่าต้องให้ถูกหลักด้วย ดังนั้น ถึงแม้หัวใจจะแข็งแรงก็ยังไม่พอ กล้ามเนื้อและการทรงตัวต้องดีด้วยครับ ไม่อย่างนั้นอาจจะทำให้หัวใจของผู้ใกล้ชิดหรือตนเองหล่นไปอยู่ผิดที่ได้

ที่มา : https://www.phyathai.com

อัพเดทล่าสุด