ออกกำลังกายลดน้ำหนักเมื่อไรทำได้ ออกกำลังกายลดน้ำหนัก ผู้หญิง
การออกกำลังกาย....เพื่อลดน้ำหนัก
แนะได้ผลดี ต้องควบคุมอาหารร่วมด้วย
ออกกำลังกายทำให้น้ำหนักลดจริงหรือไม่ ?
ไม่จริง การออกกำลังกายไม่ทำให้น้ำหนักลด การควบคุมอาหารและการเลือกบริโภคอาหารต่างหากที่ช่วยลดน้ำหนัก แต่การออกกำลังกายทำให้ปริมาณไขมันถูกเผาผลาญมากขึ้น ดังนั้นปริมาณไขมันใต้ผิวหนังจึงลดลง กล้ามเนื้อกระชับและได้รูปมากขึ้น มีความแข็งแรงมากขึ้น
ออกกำลังกายเพื่อลดพุงควรทำอย่างไร ?
การลดพุงให้ได้ผลอาศัยหลักการที่ว่าพลังงานที่กินเข้าไป ต้องน้อยกว่าพลังงานที่ใช้ออกมา ดังนั้น จึงควรกินให้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งก็คือการควบคุมปริมาณอาหารชนิดอาหารในแต่ละวันร่วมกับการออกกำลังกายให้มาก เพื่อให้เกิดการเผาผลาญพลังงาน รวมถึงไขมันส่วนเกินออกไป การเลือกปฏิบัติอย่างใดหย่างหนึ่ง ไม่ได้ผลดีเท่าการผสมผสานระหว่างการควบคุมอาหารให้น้อยลงและการออกกำลังกายให้มากขึ้น
ผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำเมื่อหยุดจะอ้วนเร็วจริงหรือ ?
ผู้ที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นประจำ เมื่อหยุดออกกำลังกายจะอ้วนเร็วกว่าคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเลย ทั้งนี้อาจเกิดจาก ขณะที่เขาออกกำลังกายนั้น มีการใช้พลังงานจากการออกกำลังกายสมดุลกับการรับประทานอาหาร แต่เมื่อหยุดออกกำลังกายแล้วยังรับประทานอาหารในปริมาณเท่าเดิมเหมือนตอนที่ยังออกกำลังกายอยู่ ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลกันระหว่างการรับเข้า (Intake) และการใช้ (Output) คือรับประทานเท่าเดิมแต่ออกกำลังกายน้อยกว่าเดิม จึงทำให้เกิดการสะสมขึ้นในร่างกาย
การออกกำลังกายช่วยให้ไขมันเปลี่ยนเป็นกล้ามเนื้อใช้หรือไม่ ?
ไม่ใช่ การออกกำลังกายแบบแอโรบิก ช่วยในการเผาผลาญไขมันใต้ผิวหนังทั่วร่างกายและการออกกำลังกายแบบเฉพาะส่วนช่วยให้เส้นใยกล้ามเนื้อและมัดกล้ามเนื้อส่วนนั้นๆ แข็งแรงและได้รูปมากขึ้น แต่กล้ามเนื้อเหล่านั้นไม่ได้เปลี่ยนมาจากไขมัน
การทำลุก-นั่ง ทำให้ไขมันหน้าท้องลดลงจริง ?
ไม่จริง ผลการวิจัยพบว่าการเผาผลาญไขมันใต้ผิวทั่วร่างกายเกิดจากการออกกำลังกายแบบแอโรบิกและการคุมอาหารเท่านั้น การบริหารเฉพาะที่เช่น การทำลุก - นั่งไม่ช่วยให้ไขมันหน้าท้องลดลง แต่ช่วยทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องแข็งแรงขึ้นเท่านั้น
การออกกำลังกายเพื่อลดสะโพกและต้นขาทำอย่างไร ?
การออกกำลังกายเพื่อลดสะโพกและต้นขาที่มีไขมันสะสมไว้มากเกินไป ควรใช้ออกกำลังกายที่ใช้สะโพกและต้นขา มีการเคลื่อนไหวมากกว่าส่วนอื่น แนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เดินเร็วๆ วิ่งเหยาะ ปั่นจักรยาน ฯลฯ มีความหนักในการออกกำลังกายระดับปานกลางหรือเหนื่อยพอประมาณต่อเนื่อง 60 นาทีขึ้นไปทุกวันหรือเกือบทุกวัน
ถ้าจับอัตราการเต้นของหัวใจควรอยู่ระหว่าง 55 - 65% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดเท่ากับ 220 ลบด้วยอายุ สมมุติอายุ 20 ปี อัตราการเต้นหัวใจสูงสุดเท่ากับ 220 - 20 = 200 ครั้ง/นาที
ถ้าออกกำลังกายระดับปานกลางหัวใจจะเต้นประมาณ 110 - 130 ครั้ง/นาที รู้ได้โดยการจับชีพจรขณะออกกำลังกาย ประมาณ 10 วินาที แล้วคูณด้วย 6 หรือ 15 วินาทีคูณด้วย 4 จะได้ค่าอัตราชีพจรเป็นนาที
ถ้าใช้ความรู้สึกจะรู้สึกว่าหายใจเร็วและแรงขึ้น แต่ยังสามารถพูดจาจนจบประโยคได้โดยไม่ต้องหยุดเพื่อหายใจ การออกกำลังกายระดับปานกลางจะทำให้ไขมันที่สะสมเผาผลาญเป็นพลังงาน ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายหรือออกแรงหนักมาก เพราะถ้าออกแรงหนักมากๆ ร่างกายจะใช้คาร์โบไฮเดรต หรือน้ำตาลหรือแป้งเป็นหลักแทนที่จะเป็นไขมัน
ที่สำคัญการออกแรงหนักทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย การออกแรงปานกลางไม่ค่อยทำให้บาดเจ็บ และจะทำให้สามารถออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามกีฬา