อาการโรคหัดเยอรมัน การวินิจฉัยโรคหัด โรคหัดเยอรมันเกิดจาก


906 ผู้ชม


อาการโรคหัดเยอรมัน การวินิจฉัยโรคหัด โรคหัดเยอรมันเกิดจาก

โรคหัดเยอรมันหรือรูเบลล่า (Rubella)

โรคหัดเยอรมัน เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ซึ่งมีอาการไข้และผื่นทั่วตัว ในเด็กส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง แต่เป็นโรคที่มีความสำคัญเพราะถ้าสตรีมีครรภ์เป็นโรคหัดเยอรมันในระยะ 3-4 เดือนแรก เชื้อไวรัสจะผ่านไปยังทารกในครรภ์ ทำให้เกิดความพิการทางหู ตา หัวใจ และสมอง โรคหัดเยอรมันสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน
 
สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส Rubella
 
ระยะฟักตัวของโรค ประมาณ 14-21 วัน เฉลี่ย 16-18 วัน
 
การติดต่อ โรคหัดเยอรมันติดต่อกันได้โดยการสัมผัสโดยตรง เชื้อที่อยู่ในลำคอของผู้ป่วยผ่านออกมาทางการไอ จาม เข้าสู่ทางระบบการหายใจ ประมาณร้อยละ 20-50 ของผู้ติดเชื้อจะไม่มีอาการระยะติดต่อกันได้มากคือ 2-3 วัน ก่อนมีผื่นขึ้นไปจนถึง 7 วันหลังผื่นขึ้น
 
             สำหรับทารกที่ติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์และคลอดออกมามีความพิการ (Congenital rubella) เชื้อไวรัสจะอยู่ในลำคอและขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะได้นานถึง 1 ปี จึงนับเป็นแหล่งแพร่โรคที่สำคัญ
 
             โรคหัดเยอรมัน ส่วนใหญ่จะเป็นกับเด็ก ผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันเป็นได้และรุนแรงมากกว่าเด็ก และที่สำคัญคือถ้าเป็นในหญิงมีครรภ์ จะทำให้ลูกคลอดออกมามีความพิการได้ตั้งแต่ร้อยละ 25-40 ทั้งนี้แล้วแต่ระยะของการตั้งครรภ์
 
อาการและอาการแสดง
 
             1.ในเด็กโต จะเริ่มด้วยต่อมน้ำเหลืองที่หลังหู ท้ายทอย และด้านหลังของลำคอโต และเจ็บเล็กน้อย เด็กโตจะรู้สึกไม่สบาย ปวดหัว ไข้ต่ำๆ มีอาการคล้ายเป็นหวัด มีเจ็บคอร่วมด้วย 1-5 วัน ประมาณวันที่ 3 ผื่นจะขึ้นเป็นสีชมพูจางๆ กระจายอยู่ห่างๆ เป็นแบบ Macular rash เริ่มขึ้นที่หน้าแล้วลามไปทั่วตัวอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ผื่นเห็นชัดเจนบริเวณแขนขา และจะหายไปในเวลา 1-2 วัน และสีผิวหนังจะกลับเป็นปกติ ถ้าเป็นในผู้ใหญ่จะมีไข้สูงกว่าในเด็ก บางรายอาจมีอาการปวดข้อหรือข้ออักเสบร่วมด้วย โดยเฉพาะในผู้หญิง
 
             2. ทารกที่ติดเชื้อตั้งแต่ในครรภ์และคลอดออกมามีความพิการ จะมีอาการแตกต่างกันแล้วแต่ระยะที่แม่ติดเชื้อ ถ้าแม่เป็นในระยะตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 1-4 จะพบทารกมีความพิการได้ถึงร้อยละ 30-50 สัปดาห์ที่ 5-8 พบได้ร้อยละ 25 และสัปดาห์ที่ 9-12 พบพิการได้ร้อยละ 8 ความพิการที่พบได้บ่อยคือ ความพิการทางตา (พบเป็น ตาเล็ก ต้อกระจก ต้อหิน) ความพิการที่หัวใจ หูหนวก ความผิดปกติทางสมอง ศีรษะและสมองเล็ก แรกเกิดจะพบมีตับ ม้ามโต มีอาการตัวเหลือง มีจ้ำเลือดตามตัว และเกล็ดเลือดต่ำ อาการผิดปกติเหล่านี้พบได้ในความรุนแรงแตกต่างกัน และอาจพบได้หลายอย่างร่วมกันได้
 
การวินิจฉัยโรค การตรวจหาระดับภูมิคุ้มกันในเลือด ต่อโรคหัดเยอรมัน
 
การรักษา การรักษาเป็นการรักษาตามอาการ
 
             ในหญิงตั้งครรภ์ที่สัมผัสโรคหัดเยอรมัน ควรได้รับการตรวจเลือดทันทีเพื่อดูว่าเคยเป็นและมีภูมิคุ้มกันต่อหัดเยอรมันหรือไม่ ถ้าตรวจพบภูมิคุ้มกันที่จำเพาะสำหรับเชื้อหัดเยอรมัน แสดงว่าน่าจะมีภูมิคุ้มกันแล้ว แต่กรณีตรวจไม่พบแนะนำให้ตรวจเลือดซ้ำอีกครั้ง 2-3 สัปดาห์ต่อมา ถ้าผลตรวจเป็นลบ
ควรตรวจซ้ำอีกครั้ง 6 สัปดาห์หลังสัมผัสโรค กรณีที่การตรวจเลือดทั้งสองครั้งให้ผลลบ แสดงว่าผู้ป่วยไม่ติดโรค แต่ถ้าเคยตรวจครั้งแรกให้ผลลบและครั้งต่อไปให้ผลบวกแสดงว่าผู้ป่วยติดโรค แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาทำแท้งในกรณีที่เด็กอาจมีความพิการแต่กำเนิด
 
การแยกผู้ป่วย
 
             ผู้ป่วยที่ติดเชื้อทั่วไป แยกจนครบ 7 วัน หลังผื่นขึ้น
 
การป้องกัน
 
             การฉีดวัคซีน วัคซีนที่ใช้เป็นชนิดไวรัสเชื้อเป็น ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และฉีดเข็มที่สองเมื่ออายุ 4-6 ปี โดยนิยมให้ในรูปของวัคซีนรวมหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน(MMR) นอกจากการให้วัคซีนป้องกันในเด็กแล้ว สามารถให้วัคซีนในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสหัดเยอรมันทั้งหญิงและชาย ไม่ควรฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ กรณีให้วัคซีนในหญิงวัยเจริญพันธุ์ต้องป้องกันการตั้งครรภ์ในช่วงเวลา 1 เดือนหลังฉีด
 
             ป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย ถ้ามีอาการไอให้ใช้หน้ากากอนามัย หรือใช้มือปิดปากและจมูกพร้อมกับล้างมือบ่อยๆ
 
ที่มา: กลุ่มโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค

อัพเดทล่าสุด