อุปสรรคต่อ การขยายตัว ธุรกิจไทย นักวิชาการแนะรัฐบาล


1,608 ผู้ชม


นักวิชาการแนะรัฐบาลวางกติกาเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม ช่วยกระจายรายได้ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

ระบุกฎหมายไทยเป็น อุปสรรคในการทำการค้าระหว่างประเทศ เรียกร้องปรับปรุงให้เหมาะกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป ชี้ถึงยุคที่ไทยต้องไปลุยการค้าในต่างแดนเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาเรื่อง "กับดักการพัฒนาเศรษฐกิจ : กติกาหรือกลไกตลาด?" จัดโดยโครงการนิติเศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ (TITLE) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า ประเทศไทยจะก้าวข้ามจากกับดักการพัฒนาประเทศไปได้ จะต้องสร้างสถาบันเพื่อสร้างกฎกติกาและกลไกตลาดที่เป็นเครื่องมือมารับใช้ สังคมส่วนรวมให้ได้ โดยเป้าหมายการพัฒนาประเทศ จะต้องสร้างความกินดีอยู่ดีให้แก่ประชาชน ให้คนระดับล่างมีโอกาสสร้างรายได้ เพื่อขยับขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง

ในขณะเดียวกัน ก็ต้องลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนชั้นกลางในสังคมที่ต่างกันมากระหว่าง คนชั้นกลางระดับล่างกับคนชั้นกลางระดับบนให้น้อยลงเพื่อสังคมไทยจะได้อยู่ กันอย่างมีความสุข ตามแนวคิดของรัฐบาลที่ต้องการจะให้มีรัฐสวัสดิการนั้นจะต้องมีการแก้ไข เรื่องภาษีเพื่อรองรับระบบสวัสดิการที่จะมีขึ้นในอนาคต โดยระบบสวัสดิการจะยั่งยืนได้รัฐจะต้องมีวินัยทางการคลังที่ดีด้วยเช่นกัน และสวัสดิการที่จะให้กับประชาชนนั้นจะเรียงลำดับความสำคัญตามความต้องการของ ประชาชนและตามอัตภาพของรัฐควบคู่กันไป

"ตัวอย่างเพื่อจะให้ได้รัฐสวัสดิการตามแนวทางที่รัฐบาลต้องการ คือ การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีก 3% จาก 7% เป็น 10% เพราะเป็นภาษีที่กระทบกับทุกคนแล้ว สวัสดิการก็นำไปใช้ให้กับทุกคนอย่างถ้วนหน้า แต่ถ้ารัฐอยากมีรัฐสวัสดิการแต่ไม่ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็เป็นการเดินที่ไม่สอดคล้องกันและคงเกิดขึ้นได้ยาก เป็นต้น รวมทั้งการขยายฐานภาษีคือดึงคนที่มีสินทรัพย์มีรายได้ที่ยังไม่อยู่ในระบบ ภาษีให้เข้ามาอยู่ในระบบภาษีให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีคนที่อยู่ในระบบภาษีน้อยมากอยู่อันดับท้ายๆ ของโลก"

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงแนวคิดในการเสนอให้รัฐลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงมา ให้เท่าเทียมกันหมดเพราะปัจจุบันเก็บภาษีนิติบุคคลสูงมาก อาจจะลดลงมาเก็บ 20% เท่ากันหมด เพราะไม่เช่นนั้น ทุนซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิตที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจ (ที่ดิน ทุน แรงงาน) ก็จะหนีประเทศไทยไปได้ รวมถึงแนวคิดในการจะยกเลิกการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยคงเหลือไว้เฉพาะกิจการที่จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมจริงๆ มิเช่นนั้นเขาจะไม่มาผลิตในไทย เช่น การวิจัยและพัฒนา เป็นต้น

เขากล่าวว่ารัฐบาลควรเร่งยกระดับการศึกษาของไทย เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีบัณฑิตมากแต่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคการผลิต รวมถึงแนวคิดในการบริหารทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นน้ำ ที่ดิน เหมือง และประมง ก็เป็นแนวความคิดบางส่วนที่จะได้มีการเสนอเข้าไปสู่ภาครัฐต่อไปในอนาคต เพราะปัจจุบันกติกาและความรู้และเทคโนโลยีของไทยถือว่าเป็นกับดักที่สำคัญใน การพัฒนาประเทศและจำเป็นต้องมีการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน หนึ่งในนั้นคือกฎหมายเกี่ยวกับภาษี

"ตัวอย่างปัญหามาบตาพุดถือเป็นปัญหาที่สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาล ที่ไม่สามารถดึงให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมาวางกฎกติกาที่ใช้ร่วมกันได้ และหากไม่สามารถทำได้ปัญหานี้ก็คงจะแก้ไขได้ยากเช่นกัน"

นายสุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง ผู้แทนการค้าไทย กล่าวว่า การค้าระหว่างประเทศเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง แต่ที่นักลงทุนไม่ชอบคือความไม่แน่นอน ซึ่งตรงนี้ภาครัฐต้องกำจัดความไม่แน่นอนทางการค้าออกไปให้ได้ และรัฐควรจะส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเพื่อการเติบ โตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศไทยในอนาคต

หากมองกฎกติกาที่ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศด้วยกันในอาเซียนมองว่า ไทยอยู่อันดับ 3 รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซียตามลำดับ ซึ่งถือว่าไม่น่าพอใจนักเพราะไทยควรจะอยู่อันดับ 2 ของอาเซียนได้ แต่ถูกมาเลเซียแซงหน้าไปแล้ว เพราะเขามีการวางแผนการดำเนินงานต่างๆ เอาไว้ชัดเจน มีการพานักธุรกิจของเขาในแต่ละภาคอุตสาหกรรมรวมกลุ่มกันออกไปลงทุนในต่าง ประเทศโดยรัฐให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ ในขณะที่การค้าระหว่างประเทศของไทยส่วนใหญ่ยังเน้นการตั้งรับ ซึ่งอย่างดีก็ได้แค่แพ้หรือเสมอเท่านั้น ถ้าไทยอยากจะชนะในการค้าระหว่างประเทศเราต้องรุกออกไปทำการค้าในต่างประเทศ ด้วยเช่นกัน

"ปัจจุบันนักธุรกิจไทยที่ไม่ค่อยสนใจไปทำการค้าในต่างประเทศด้วยเหตุผล หลัก 4 ประการ คือ 1) ความกลัว 2) ภาษา 3) ไม่รู้จักตลาด และ 4 ) ขาดความกระตือรือร้น ซึ่งในเรื่องของภาษาน่าจะตัดออกไปได้เลย แต่ในเรื่องของการไม่รู้จักตลาดสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อมาที่ ผู้แทนการค้าไทยได้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กหรือใหญ่ แต่ที่สำคัญผู้ประกอบการเองคงต้องทำความรู้จักกับกฎกติกาการค้าระหว่าง ประเทศและควรจะก้าวเข้ามามีบทบาทในการกำหนดกฎกติกาการค้าระหว่างประเทศมาก ขึ้นด้วย เพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) เพราะกฎกติกาการค้าระหว่างประเทศมีอยู่ค่อนข้างมากซึ่งหลายเรื่องก็จำเป็น ต้องแก้ไขให้เหมาะสม แต่ก็อยากให้คนไทยออกไปปักหลักในต่างประเทศเพื่อความอยู่รอดของประเทศไทยใน อนาคต"

ด้าน นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บจ.เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ กล่าวว่า กฎหมายของประเทศไทยเป็นอุปสรรคต่อการทำการค้าระหว่างประเทศมากกว่าที่จะเป็น การส่งเสริม ประเทศไทยมีกฎหมายมากมายก็จริงแต่การบังคับใช้กฎหมายแย่มาก และเป็นประเทศเดียวในโลกที่จะทำธุรกิจต้องไปดูถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ปัจจุบัน ประเทศไทยควรจะส่งเสริมให้คนไทยไปทำธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น เพราะต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจในไทย เขาไม่เสียเปรียบอะไรเพราะเปิดเสรีการค้า รัฐบาลควรจะช่วยส่งเสริมเพราะไทยเองก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าอยู่ ในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เช่น ทูตทหาร ทูตพาณิชย์ เป็นต้น ทำอย่างไรจะนำเอาข้อมูลหรือความรู้ที่มีอยู่เหล่านี้มารวบรวมไว้อย่างเป็น ระบบให้เป็นส่วนกลาง เป็นข้อมูลที่สามารถจะนำไปสนับสนุนการทำการค้าของผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะ ไปทำธุรกิจในต่างประเทศใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง

เขากล่าวว่ารัฐควรจะเป็นคนที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในเรื่อง ต่างๆ มากกว่าที่จะมาทำหน้าที่เป็นคนคอยกำกับดูแลเหมือนในอดีต เพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว กฎหมายก็ควรจะมีการปฏิรูปโดยเฉพาะกฎหมายภาษีเพราะปัจจุบันเป็นอุปสรรคสำหรับ ผู้ประกอบการในต่างประเทศมากที่ต้องเสียภาษีซ้ำซ้อนไปหมด เป็นต้น

"กรณีกฎหมายคนต่างด้าวก็เหมือนกัน มีมาตั้งแต่ปี 2515 เขามีไว้เพื่อสงวนกิจการที่คนไทยยังไม่เก่งเอาไว้ให้คนไทยทำจะได้ไปแข่งขัน กับคนอื่นได้ แต่ผ่านมาแล้วประมาณ 30 ปี คนไทยก็ยังไปแข่งกับต่างประเทศไม่ได้เลย กฎหมายก็ยังอยู่กับที่ พอจะไปแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับคนต่างด้าวก็กลัวว่าจะไปขายชาติ เกิดค่านิยมรักชาติขึ้นมาอีก เป็นต้น ปัจจุบันประเทศไทยควรจะมีการแก้ไขกฎหมายใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่ เปลี่ยนไป ไม่ใช่กาลเวลาเปลี่ยนไปแต่กฎหมายกลับนิ่งอยู่กับที่ กรณีของมาบตาพุด เคยมีคนไปคิดเป็นมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นบ้างหรือไม่ว่าเท่าไร"

https://www.bangkokbiznews.com

อัพเดทล่าสุด