ไส้เลื่อน (โรคไส้เลื่อน ) การ รักษา โรค ไส้เลื่อน อาการไส้เลื่อน ผู้ชาย


978 ผู้ชม


ไส้เลื่อน (โรคไส้เลื่อน ) การ รักษา โรค ไส้เลื่อน อาการไส้เลื่อน ผู้ชาย

ไส้เลื่อน (หมอชาวบ้าน)
คอลัมน์ สารานุกรมทันโรค โดย นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
          ไส้เลื่อน หมายถึงภาวะที่มีลำไส้บางส่วนไหลเลื่อนออกมาตุงอยู่ที่ผนังหน้าท้อง ทำให้เห็นเป็นก้อนบวมตรงบริเวณใดบริเวณหนึ่งของผนังหน้าท้อง
          ไส้เลื่อน มีอยู่หลายชนิด ซึ่งจะมีอาการแสดงภาวะแทรกซ้อน และการรักษาแตกต่างกันไป ขึ้นกับตำแหน่งที่เป็น
          ไส้เลื่อน ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นก้อนตุงตรงผนังหน้าท้องหรือขาหนีบ ซึ่งจะบวมๆ ยุบๆ (โผล่ๆ ผลุบๆ) มักจะไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด แต่ถ้าปล่อยให้เกิดการติดคา ไม่ยุบก็อาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้
ชื่อภาษาไทย : ไส้เลื่อน
ชื่อภาษาอังกฤษ : Hernia
สาเหตุของ ไส้เลื่อน
          ไส้เลื่อน เกิดจากผนังหน้าท้องบางจุดมีความอ่อนแอ (หย่อน) ผิดปกติ ส่วนมากเป็นความผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด ทำให้ลำไส้ที่อยู่ข้างใต้ไหลเลื่อนทะลักเข้าไปในบริเวณนั้น เห็นเป็นก้อนตุง ส่วนน้อยที่เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลัง (เช่น แผลผ่าตัดที่หน้าท้อง)
ไส้เลื่อนมี อยู่หลายชนิด ที่พบบ่อยได้แก่
           ไส้เลื่อน ที่สะดือ (inguinal hernia) ผู้ป่วยจะมีหน้าท้องที่บริเวณขาหนีบอ่อนแอผิดปกติมาแต่กำเนิด แต่จะปรากฏอาการไส้เลื่อนเมื่อย่างเข้าวัยหนุ่มสาว หรือวัยกลางคน หรือเมื่อเป็นโรคไอเรื้อรัง เช่น หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมปอดโป่งพอง ไส้เลื่อน ชนิดนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาได้
           ไส้เลื่อน ที่เกิดหลังผ่าตัด (incisional hernia) เป็น ไส้เลื่อน ที่เกิดหลังได้รับการผ่าตัดช่องท้อง เมื่อแผลหายแล้ว ผนังหน้าท้องในบริเวณผ่าตัด เกิดหย่อนกว่าปกติ ทำให้ลำไส้ไหลทะลักเป็นก้อนโป่งที่บริเวณนั้น
อาการของ ไส้เลื่อน
           สะดือจุ่น ทารกจะมีอาการสะดือจุ่น หรือสะดือโป่งเวลาร้องไห้ ซึ่งจะเป็นมาแต่แรกเกิด โดยไม่มีความผิดปกติอื่นๆ
           ไส้เลื่อน ที่ขาหนีบ ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นมีก้อนตุงที่บริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะ ซึ่งจะเห็นชัดขณะลุกขึ้นยืน หรือเวลายกของหนัก ไอ จาม หรือเบ่งถ่าย เวลานอนหงายก้อนจะยุบหายไป เมื่อคลำดูจะพบว่าก้อนมีลักษณะนุ่มๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด
           อาการมีก้อนตุงโผล่ๆ ผลุบๆ แบบนี้มักจะเป็นอยู่นานเป็นแรมปี สิบๆ ปีหรือตลอดชีวิต แต่ถ้ามีภาวะ ไส้เลื่อน ติดคาอยู่ที่ผนังหน้าท้อง ก็จะกลายเป็นก้อนตุงไม่ยุบหาย และจะมีอาการเจ็บปวดที่ท้อง ปวดท้องอาเจียนตามมา ซึ่งถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนของไส้เลื่อน
           ไส้เลื่อน ที่เกิดหลังผ่าตัด ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยไม่มีก้อนตุงที่หน้าท้อง แต่หลังผ่าตัด (อาจนานเป็นแรมเดือน หรือแรมปี ต่อมาก็พบว่าบริเวณใกล้ๆ รอบแผลผ่าตัด จะมีก้อนตุงขนาดใหญ่ ไม่มีอาการเจ็บปวด โดยเฉพาะจะเห็นชัดในท่ายืนหรือนั่ง แต่เวลานอนก้อนจะเล็กลงหรือยุบลง อาการจะเป็นเรื้อรังจนกว่าจะได้รับการผ่าตัดแก้ไข
การแยกโรค ไส้เลื่อน
          ก้อนที่บริเวณหน้าท้อง อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
           ก้อนฝี ซึ่งจะมีอาการปวดบวมแดงร้อน แตะถูกเจ็บ และไม่ยุบหายเวลานอนหงาย
           ก้อนเนื้องอก มักจะเป็นก้อนแข็ง ไม่ยุบ แตะถูกไม่เจ็บ
          ส่วนก้อนที่ขาหนีบหรือถุงอัณฑะ นอกจากก้อนฝีและก้อนเนื้องอกแล้ว ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
           โรคฝีมะม่วง ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง มีลักษณะบวมแดงร้อน
           ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ถ้าเป็นเฉียบพลันจะมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ปวด แดงร้อน ถ้าเป็นเรื้อรังมักจะเป็นก้อนแข็ง ไม่เจ็บ ไม่ยุบ
           ถุงน้ำทุ่งอัณฑะหรือกล่อนน้ำ (hydrocele) มีลักษณะเป็นก้อนนุ่ม คล้ายลูกโป่งใส่น้ำ ไม่เจ็บ ไม่ยุบเวลาใช้ไฟฉายส่องจะเห็นโปร่งใส มักพบในเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด ส่วนน้อยอาจพบตอนโตแล้ว (ภายหลังได้รับบาดเจ็บหรือเกิดการอักเสบที่ถุงอัณฑะ)
           อัณฑะบิดตัว (testicular torsion) เกิดจากพัฒนาการที่ผิดปกติของสายรั้งอัณฑะ (spermatic cord) และเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอัณฑะ ทำให้ถุงอัณฑะหลวมกว่าปกติ อัณฑะสามารถบิดหมุนรอบตัวเมื่ออายุมากขึ้นได้ มีอาการปวดอัณฑะรุนแรง ตรวจพบเป็นก้อนบวม แตะถูกเจ็บ ไม่ยุบ
การวินิจฉัยโรค ไส้เลื่อน
          แพทย์จะวินิจฉัยโรค ไส้เลื่อน จากอาการแสดงและสิ่งตรวจพบ ได้แก่ อาการมีก้อนตุงโผล่ๆ ผลุบๆ ก้อนมีลักษณะนุ่มๆ หยุ่นๆ ไม่เจ็บ
          ในรายที่ไม่แน่ใจว่าเป็น ไส้เลื่อน  แพทย์อาจส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ เป็นต้น

โรคแทรกซ้อนของไส้เลื่อนที่สำคัญได้แก่ ภาวะที่ลำไส้เคลื่อนออกมาแล้วไม่สามารถดันกลับเข้าไปในช่องท้อง ภาวะที่ลำไส้ในถุงมีการบิดทำให้ลำไส้เกิดการขาดเลือดไปเลี้ยงและเกิดไส้เน่าตามมา ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องอย่างมากแรกๆ จะปวดบิดๆ คลื่นไส้อาเจียน เมื่อลำไส้เน่าจะปวดทั้งท้องปวดมากจนต้องนอนนิ่งๆ การขยับตัวก็จะปวด มีไข้ บางรายอาจจะมีอาการความดันโลหิตต่ำ ภาวะลำไส้อุดตันเกิดเมื่ออุจจาระไม่สามารถเคลื่อนผ่านลำไส้นี้ไปได้ ผู้ป่วยจะปวดท้องมวนๆ คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืดไม่ผายลม สำหรับผู้ที่เป็นไส้เลื่อนเมื่อมีอาการต่อไปนี้ให้พบแพทย์ ปวดบริเวณไส้เลื่อน ก้อนนั้นไม่สามารถดันกลับเข้าไปในช่องท้อง ปวดท้องและอาเจียนท้องอืด
การวินิจฉัยทำได้ง่ายโดยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย ไม่จำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือการครวจพิเศษแต่อย่างใด ส่วนการรักษาโรคไส้เลื่อนนี้ขึ้นอยู่กับอาการที่มีว่ามากน้อยเพียงใดและเกิดบ่อยครั้งแค่ไหน แพทย์จะช่วยตัดสินใจและเลือกวิธีการรักษาว่าจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดหรือไม่ หลักการรักษาไส้เลื่อนทำได้โดยการผ่าตัดนำลำไส้กลับเข้าไปในช่องท้องและเย็บซ่อมรูหรือตำแหน่งที่ลำไส้ออกมา เทคนิกการผ่าตัดวิธีหนึ่งจะผ่าตัดบริเวณไส้เลื่อนเมื่อนำไส้กลับเข้าในช่องท้องแล้วก็เย็บซ่อมรูหรือจุดอ่อน ส่วนอีกวิธีหนึ่งจะใช้แผ่นสารสังเคราะห์เย็บปิดรูหรือจุดอ่อน
image
การผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 200 ปี ศัลยแพทย์ส่วนใหญ่ใช้การเย็บซ่อมซึ่งเป็นวิธีรักษาที่ใช้ได้ดีและเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก แต่มีข้อเสียคือ มีแรงดึงมาก และโอกาสที่จะเกิดโรคเป็นซ้ำใหม่มีมาก ดังนั้นเมื่อประมาณ 20 กว่าปีมานี้ได้มีผู้นำเอาวิธีผ่าตัดรักษาโดยลดแรงดึงหลายวิธีเข้ามาใช้ ซึ่งจำเป็นต้องใช้สารสังเคราะห์ชนิดพิเศษเพื่อเย็บซ่อมในการผ่าตัดทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดจากทางด้านหน้า หรือการผ่าตัดจากทางด้านหลัง พบว่าวิธีผ่าตัดรักษาโดยลดแรงดึงมีโอกาสที่จะเกิดโรคเป็นซ้ำใหม่ต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีเก่า
การผ่าตัดไส้เลื่อนโดยใช้กล้อง หลักการเหมือนกับการผ่าตัดแบบดั้งเดิม แต่เทคนิคต่างกัน คือ ใช้กล้องและเครื่องมือผ่าตัดด้วยกล้องเข้าไปช่วย ข้อดีของการผ่าตัดไส้เลื่อนโดยใช้กล้อง คือ แผลผ่าตัดเล็กกว่า กลับไปทำงานได้เร็วกว่า ข้อด้อยคือ ต้องทำโดยศัลยแพทย์ผู้มีความชำนาญเฉพาะ ต้องดมยาสลบ และค่าใช้จ่ายสูงกว่า ว่าไปแล้วการผ่าตัดไส้เลื่อนโดยใช้กล้องมีวิวัฒนาการประมาณสิบกว่าปีมานี้เอง และมีเทคนิกการผ่าตัดไค้หลายวิธี วิธีแรกเป็นการผ่าตัดวิธีแรกเริ่มเมื่อมีผู้นำเอาการผ่าตัดด้วยกล้องมารักษาไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ ซึ่งทำแบบง่ายๆ คือ เข้าไปในช่องท้อง แล้วเข้าไปปิดรูไส้เลื่อน และเย็บติดกับเยื่อบุช่องท้องโดยตรง วิธีนี้มีข้อเสีย คือจะไม่แข็งแรง เลื่อนหลุดได้ง่าย โอกาสที่จะเกิดไส้เลื่อนเป็นซ้ำใหม่ได้ง่ายกว่า และอาจจะเกิดพังผืดในท้อง และลำไส้อาจทะลุได้ วิธีที่สองเป็นการผ่าตัดในช่องท้อง โดยผ่าตัดเปิดเยื่อบุช่องท้องออกแล้วปิดส่วนที่เปิดอ้า แล้วเย็บเยื่อบุช่องท้องปิดทับอีกที โอกาสที่จะเกิดไส้เลื่อนเป็นซ้ำใหม่น้อยกว่า
แต่มีข้อเสียคือใช้เวลาทำการผ่าตัดนานกว่า และเกิดพังผืดและลำไส้อุดตันได้มากกว่า และวิธีสุดท้ายเป็นการผ่าตัดที่ศัลยแพทย์ผู้มีความชำนาญเฉพาะส่วนใหญ่นิยมทำกันมาก เป็นวิธีผ่าโดยไม่ต้องเข้าไปในช่องท้อง โดยทำให้เกิดช่องว่างภายนอกโดยใช้บอลลูน แล้วเข้าไปปิดทางเปิดได้เช่นเดียวกัน โดยไม่ต้องเสียเวลาในการเย็บเยื่อบุช่องท้อง
สำหรับการปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดและเมื่อกลับบ้าน ควรระวังไม่ให้แผลเปียกชื้น จนกว่าจะตัดไหม ห้ามแกะ เกา ล้วงบริเวณแผล เพื่อป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ หรือเป็นหนอง ขณะไอหรือจามให้ใช้ฝ่ามือ หรือผ้าหนานุ่มกดประคองแผลได้ หลีกเลี่ยงการเบ่งถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะ ห้ามทำงานหนัก หรือยกของหนัก อย่างน้อย 2 เดือน ดูและรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ถ้าเป็นหวัด เจ็บคอ หรือไอจามบ่อยๆ ควรรีบพบแพทย์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ รวมทั้งผัก ผลไม้ และดื่มน้ำมากๆ เพื่อไม่ให้ท้องผูก ควรใส่กางเกงในที่กระชับ หรือสปอร์ตเตอร์สำหรับนักกีฬา เพื่อช่วยประคองแผล ลดความเจ็บปวด ถ้ามีอาการปวดแผลมาก ควรรับประทานยาบรรเทาปวดตามแพทย์สั่ง ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น มีไส้เลื่อนเกิดซ้ำ แผลแยกหรือบวม แผลมีน้ำเหลืองซึม มีไข้ ปวดท้อง ให้รีบมาพบแพทย์

อัพเดทล่าสุด