อาหารประจําชาติไทย อาหารประจําชาติไทย ต้มยํากุ้ง


6,494 ผู้ชม


อะไร  คือ  อาหารประจำชาติไทย
         อาหารประจำชาติของคนไทย  คือ อาหารที่กินพร้อมกับข้าวสุกหรือข้าวนึ่ง  ที่หุงหรือนึ่งข้าวด้วยภาชนะดินเผามาก่อน  อาหารประจำชาติไทยนั้น ที่สำคัญที่สุด  และที่เป็นไทยแท้จริง ๆ คือ อาหารประเภทจิ้ม  รองลงมามีอีก  ๓  อย่าง เป็นอาหารที่ปรุงโดยวิธี ยำ  ต้ม  คั่ว  รวมทั้ง  ๔  อย่างนี้เราใช้ภาชนะดินเผาในการปรุงอาหาร ต่อมาจึงมีอาหารประเภทอื่นตามมาคือแกง ทอด ผัด และต้มอย่างนานมากคือ อาหารตุ๋น ที่ตามมาทีหลังก็เพราะต้องใช้ภาชนะที่ทนไฟได้นาน ๆ อาจจะเป็นโลหะ หรือใช้วิธีนึ่งนาน ๆ  ซึ่งกลุ่มที่มาทีหลังนี้ ไทยเรารับมาจากต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย มาเลย์และอาหรับ เพราะเราติดต่อค้าขายกันมาก่อน จะได้เห็นหน้าฝรั่งมานานนักหนา
         ดังนั้นลักษณะสำคัญเด่นชัดสำหรับ  Thai National Cuisine  คือ เป็นประเภท  “จิ้ม”   ( Dipping )  กับอีก  ๓  ชนิด  คืออาหารประเภทต้ม  คั่ว  และอาหารประเภทยำ  อาหารทั้ง  ๔  ประเภทนี้เป็นอาหารหลักของไทยมาช้านาน และจะปรุงขึ้นให้มีรสชวนกินได้ทุกมื้อ ซึ่งอย่างน้อยจะต้องมี  ๓  รสทุกมื้อไป  คือ เค็ม  เปรี้ยว  หวานแล้วเติมพริกให้เผ็ด หรือเติมพริกไทย เครื่องเทศ หรือเติมบรรดาใบไม้  รากไม้ที่มีกลิ่น  เช่น โหระพา  กะเพรา  รากผักชี  ข่า ตะไคร้  ฯลฯ ให้ชูทั้งกลิ่นและรส
            ๑.  อาหารประเภทจิ้ม   (  Dipping )   ตัวอย่างชัดเจน  เช่น  น้ำพริก ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้อธิบายว่ามีมากมายเป็นร้อยชนิด พื้นฐานของไทยภาคกลาง คือ น้ำพริกกะปิ  น้ำพริกปูเค็ม  น้ำพริกปลาย่าง  น้ำพริกกุ้งสด  และน้ำพริกไข่ปูทะเล เป็นต้น  ซึ่งอาจจะยักเยื้องให้มีกลิ่น มีรสแปลกแตกต่างออกไป  เช่น น้ำพริกแมงดา  รสเปรี้ยวนั้นก็ยังสามารถยักเยื้องออกไปได้อีกเป็น
น้ำพริกมะม่วง น้ำพริกมะดัน น้ำพริกตะลิงปลิงที่เผ็ดมากเป็นพิเศษก็น้ำพริกนรก ฯลฯ  มีทั้งชนิดแห้ง  เปียก  และที่เป็นของเหลวข้น ๆ
            น้ำพริกเหล่านี้นั้นไม่ว่าจะเป็นชนิดใดจะต้องมีโปรตีนเป็นพื้น  เช่นถ้าใส่กะปิ กะปิมีโปรตีนคือกุ้ง ได้โปรตีนจากเนื้อปลา พวกอาหารเค็มที่หมักที่ดองไว้ ทุกอย่างที่มีโปรตีนทั้งนั้น  เช่น  เต้าเจี้ยว  ซึ่งก็ได้โปรตีนจากถั่ว  ผิดแต่จะปริมาณโปรตีนจะมากน้อยต่างกัน รองจากน้ำพริกกะปิก็ต้องเป็นน้ำพริกปลาร้า  ซึ่งกินกันทั่วทั้งภาคกลาง ภาคเหนือและภาคอีสาน
            ถ้าหากเบื่อกินน้ำพริกก็เปลี่ยนเป็น  เครื่องจิ้มประเภทหลน  คือจะต้องเคี่ยวให้ข้นด้วยกะทิ เพราะบ้านเรามีมะพร้าวมาก  เช่น  ปูหลน  เต้าเจี้ยวหลน  ปลาร้าหลน  ปลาเค็มหลน เป็นต้น  แล้วจิ้มด้วยผัก มีทั้งผักสด ผักเผา ผักต้ม ผักทอด หรือผักผัดน้ำมัน  เป็นตัวจิ้ม  แล้วกินกับข้าวสุก หรือถ้ามีเงินซื้อไข่ ก็กินหลนกับไข่เจียว
            พวกน้ำพริกที่กินเหลือมื้อนี้ยังเก็บไว้กินมื้อหน้าได้อีก  เพราะเป็นของมีรสเค็มไม่เสีย ไม่บูดง่าย  น้ำพริกบางอย่างเก็บเอาไว้ ได้ข้ามวันข้ามคืนก็ไม่เสีย  ในสมัยก่อนไม่มีตู้เย็น น้ำพริกเหลือค้างเก็บอยู่ในตู้กับข้าว ก็ยังเอามากินซ้ำอีกได้เสมอ  ขอแค่มีข้าวสวยร้อน ๆ มีผักเก็บได้จากรั้วบ้าน ชีวิตก็อิ่มสบายไปได้ทุกวัน ถ้าหาปลาหากุ้งได้มาอีก ก็มีปลาปิ้ง ปลาทอด หรือกุ้งต้ม เนื้อสัตว์ตัวเล็ก ๆ เหล่านี้เอามากินกับน้ำพริกได้ดี เห็นได้ว่า เราอยู่กันอย่างเศรษฐกิจพอเพียงและหากินสะดวก
            และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น  คนในเขตแหลมทองที่ปัจจุบันเรียกกันว่า  ชาสยามสุวรรณภูมิ นั้น บรรดาคนที่อยู่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำนับจากทิศตะวันออกถอยไปทางทิศตะวันตก กลุ่มพวกเรานี้ มีแม่น้ำใหญ่ถึง  ฿  สาย  ทุกสายจะมีอาหารโปรตีนให้เรากินทั้งนั้น  เริ่มตั้งแต่แม่น้ำโขง  แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา  แม่น้ำท่าจีน  แม่น้ำแม่กลอง  ไปจนถึงพม่าในลุ่มแม่น้ำสาละวิน  และแม่น้ำอิระวดี ทั้งหมดนี้ แม้จะต่างเผ่าพันธุ์กันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเชื้อสายลาว เขมร ไทย มอญ พม่า ต่างก็กินอาหารประเภทจิ้มเป็นกับข้าว เป็นประจำมานานนับพันปี แล้วด้วยกันทั้งนั้น คนสยามสุวรรณภูมิในลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ คนไทยทุกวันนี้ กินอาหารจิ้มเป็นหลักมาตั้งแต่ก่อนสมัยทวารวดี หรือเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว  ผิดแต่  “ ข้าว” อาหารหลักนั้น อาจจะเป็นข้าวเหนียวหรือข้าวจ้าวเท่านั้นเอง
            ๒. อาหารประเภทยำ  โดยอาจจะใช้เนื้อสัตว์  เนื้อย่าง หรือปลากรอบ ปลาทู  ปลาย่าง  กุ้งแห้ง หรือกุ้งต้ม  คลุกเคล้ากับผักสดที่หั่นเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ต้นหอม  ผักชี  ปรุงกับน้ำที่ผสมด้วยน้ำปลา มะนาว น้ำตาล  พริกขี้หนูสด  แล้วแต่งรสแต่งกลิ่นด้วยน้ำพริกเผา  คลุกเคล้าให้เข้ากันก็จะเป็นอาหารประเภท  “ ยำ”  หรืออาจจะยักเยื้องไปใช้ไข่ปลาดุกย่าง ปลากรอบย่างไฟ  หรือเปลี่ยนผักบางอย่างมาแทนเนื้อสัตว์  เช่น ยำดอกขจร  ยำหัวปลี  และยำถั่วพู ( ต้องเขียนอย่างนี้เพราะลักษณะของถั่วเป็นพู ไม่ใช่ถั่วพลู )
            เรื่องของอาหารไทย ไม่จำเป็นต้องเรียนมากว่า มีอะไรกินบ้าง แต่ที่จำเป็นจะต้องเรียนรู้ว่า วัฒนธรรมการกินอาหารของไทยนั้นเป็นอย่างไร อาหารไทยที่อร่อย ไม่จำเป็นต้องมีรสจัดมาก
ไม่ต้องเผ็ดมาก อาหารที่ปรุงรสจัดมาก ๆ แม่บ้านโบราณท่านว่าเป็นอาหารของคนขี้เหล้า  คนทั่วไปต้องการกินอาหารอร่อยในแต่ละมื้อควรมีรสหลากหลาย  เช่น  เปรี้ยว  เค็ม  หวานและเผ็ดปนกันบ้าง ถ้าเผ็ดมากจะกินได้น้อย ดังนั้นอาหารไทยที่ดีต้องมีรสชวนกิน ไม่จำเป็นต้องมีรสจัดหรือเผ็ดมากเกินไป
            ๓. อาหารประเภทต้ม  อาหารไทยประเภทนี้ จะมีลักษณะเป็นน้ำ แต่ไม่ข้น ซดไปพร้อมกับการกินข้าว ทำให้กลืนอาหารได้คล่องคอ มีตั้งแต่ต้มอย่างง่าย ๆ เช่น ต้มฟัก ต้มหัวผักกาดขาว ต้มผักกาดขาวกับเนื้อสัตว์ จัดว่าเป็นต้มจืด ถ้ามีเงินซื้อเนื้อสัตว์ อาจจะทำเนื้อสัตว์ต้มเค็ม เช่น ปลาต้มเค็ม หมูต้มเค็ม ไก่ต้มเค็ม
            เรื่องอาหารต้มเค็มนี้เป็นอาหารไทยขนานแท้จริง ๆ   ซึ่งอาจจะยักเยื้องออกไปได้เป็นต้มส้ม  โดยการทำให้มีรสเค็ม  หวาน  และรสเปรี้ยวด้วยมะขามเปียก  ทั้งต้มปลาแห้ง  ปลาสลิดกับใบมะขามอ่อน ( หรืออาจจะใช้ใบมะดันอ่อนก็ได้) ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นอาหารประเภทต้มแบบไทยแท้
            ต่อมาเราก็รับอาหารหลาย ๆ อย่างมาจากพ่อครัวจีน  ซึ่งผู้ใหญ่ท่านบอกว่า ต้มไข่พะโล้นั้น เดิมเป็นของไทยโบราณ ใช้แต่ไข่อย่างเดียว ต้มเค็มแต่ให้มีรสหวาน มีเครื่องเทศบ้าง ต่อมาได้แบบจีนเข้ามาผสม มีการเติมหมูสามชั้น เต้าหู้แบบต่าง ๆ ลงไป เลยทำให้ต้มพะโล้ในปัจจุบันดูเป็นอาหารจีนมากกว่าไทย  นอกจากนี้ ยังมีอาหารต้มอีกหลายอย่างที่ได้แบบมาจากจีน  เช่น พวกต้มจับฉ่าย  หรืออาจจะยักเยื้องมาเป็นกรณีพิเศษ คือ ต้มขาหมูกับถั่วลิสง  ต้มพวกนี้น้ำค่อนข้างใส  ทำให้เจริญอาหารดี
            อาหารไทยประเภทต้มที่มีรสวิเศษมากคือ ต้มยำ  เช่น ต้มยำกุ้ง  ต้มยำปลา  ถ้าไม่มีปลาสดก็เปลี่ยนมาเป็นปลาตากแห้งหรือปลากรอบ ต้มยำนั้นเป็นอาหารประจำชาติไทย โดยใช้ของพื้นบ้านทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นตะไคร้ ใบมะกรูด พริกขี้หนูทุบพอแตก บีบมะนาว เจือน้ำปลาดีไม่ใส่น้ำตาล ปัจจุบันต้มยำกุ้งกระจายเป็นอาหารที่นิยมไปแล้วทั่วโลก ต้มยำไทยแท้ ๆ จะไม่ใส่ข่า ข่าจะใช้เฉพาะต้มข่าไก่ ซึ่งต้มกับกะทิ หรือต้มข่าปลา เช่น ปลาช่อน ข่านั้นช่วยดับกลิ่นคาว แต่ทุกวันนี้แปลกไปมาก ต้มยำเขาใส่ข่ากัน
            อาหารประเภทต้มไทยแท้มีอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า  “ ต้มโฮกฮือ”  นิยมใช้ปลาตัวเล็ก ๆ ทั้งตัว เช่น ปลาไส้ตัน ปลาซิว ปลาช่อน ปลาไหล ( เรียกว่าต้มเปรต) ต้มลงในหม้อน้ำเดือดจัด ใส่รากผักชีซึ่งตำกับพริกไทยจำนวนมาก ปรุงด้วยน้ำปลา ไม่ใส่มะนาว มีรสเค็มและร้อนด้วยพริกไทย เป็นอาหารกินแกล้มเหล้าดีนักแล
            คนจีนไหหลำเมื่อย้ายมาอยู่เมืองไทยก็กินข้าว  เขาก็นำปลาทูมาต้มเดือดแล้วใส่ผักกาดหอมกับต้นหอมลงไป ทุบพริกขี้หนูสวนใส่ลงไปหลาย ๆ เม็ด เติมน้ำปลาดี บีบมะนาวลงไป เรียกว่า
ปลาทูต้มไหหลำ อร่อยไม่แพ้ต้มยำ  แต่ต้มไหหลำจะไม่ใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด
            ๔. อาหารประเภทคั่ว   เดิมเป็นอาหารที่ทำในหม้อดิน  คือ หม้อปากกว้างมีหูสองข้าง และมีฝาละมีปิด การคั่วจะมีลักษณะ ครึ่งผัดครึ่งแกง ค่อนข้างข้น ถ้าจะเป็นของเหลวก็ต้องไม่มีน้ำมาก เช่น กะปิคั่ว พะแนงเนื้อ พะแนงไก่ อาหารประเภทฉู่ฉี่ ซึ่งจะปรุงด้วยกะทิกับน้ำพริก แกงเผ็ด อาหารปักษ์ใต้ที่มีชื่อก็คือ  “ คั่วกลิ้ง”  ซึ่งจะเป็นก้อนค่อนข้างกลมและแห้ง อาหารประเภทคั่วนี้ ถ้าเติมน้ำมากจะกลายเป็นอาหารประเภทที่เรียกว่า  “ แกง”
            ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์  ท่านสอนเรื่องอาหารหลายเรื่อง หลายวิธี ท่านบอกว่า คนไทยโบราณไม่กินอาหารผัดในกระทะโลหะ  เพราะคนไทยโบราณไม่มีกระทะเหล็ก มีแต่กระทะดิน จึงทำกับข้าวได้แต่เพียงอาหารประเภทคั่วด้วยหม้อดิน
            ประเภทอาหารผัดที่มีเสียงดังโฉ่ฉ่านั้น เกิดจากกระทะโลหะที่ตั้งไฟจนร้อนจัด พอกระทบกับผักที่เปียกน้ำ ก็จะมีเสียงฉ่าชัดเจน พวกผัดผักต่าง ๆ นั้น ไทยรับมาจากพ่อครัวจีน แล้วมายักเยื้องให้รสเป็นไทย เช่น ผัดเปรี้ยวหวาน
            คนไทยโบราณมีกระทะโลหะเหมือนกัน แต่จะมีเฉพาะในบ้านผู้ดีมีเงินเท่านั้น เพราะเป็นของมีราคาแพงเนื่องจากทำด้วยทองเหลือง จึงเรียกว่ากระทะทอง  ใช้สำหรับทำขนมประเภทเชื่อมน้ำตาล หรือทำขนมประเภทขนมกวน กระทะทองให้ความร้อนกระจายไปทั่วทั้งใบเสมอกัน  และจะทำให้ของหวานนั้นเป็นสีคล้ำ กล้วยที่เชื่อมด้วยกระทะทองจึงมีสีงดงามน่ากิน
            อาหารประเภทคั่วและแกงนั้น เป็นอาหารที่ใกล้ชิดกันมาก ผิดกันตรงที่แกงจะมีน้ำมากกว่าคั่ว
            อาหารประเภทแกงของไทยนั้น ถ้าเป็นไทยโบราณจริง ๆ จะมีอยู่ไม่กี่อย่าง ได้แก่ แกงเลียง แกงส้ม แกงเหลือง และแกงเผ็ด เป็นต้น  คำว่า  “ แกง” หมายถึงอาหารที่ต้องเริ่มต้นปรุงด้วยการตำพริก คือ ต้องนำครกมาตำพริกแกงเสียก่อนที่จะปรุงลงในหม้อ ทั้งแกงเลียง แกงส้ม ต้องตำพริกก่อนเสมอ ทั้งสองอย่างนี้เดิมเป็นแกงที่ไม่มีรสเผ็ดนำ  เด็กกินได้ ผู้ใหญ่กินดี
            เครื่องของแกงเลียง ต้องใส่ปลาย่าง กะปิดี หอมไทยหัวเล็ก ต้องใส่พริกไทยให้ร้อน ไม่ใช่ใส่พริกชี้ฟ้าที่ทำให้เผ็ดนำอย่างทุกวันนี้ แกงเลียงโบราณจะใช้ผักอย่างเดียว เช่น บวบ น้ำเต้า ผักตำลึง หัวปลี ฟักเขียว  เป็นต้น  โดยจะใส่ใบแมงลักก่อนที่จะยกขึ้นจากเตา ไม่เหมือนแกงเลียงยุคปัจจุบันที่ใส่ผักสารพัดอย่างปนลงในหม้อเดียวกัน รวมทั้งใส่เห็ดประเภทต่าง ๆ ลงไปด้วย
            แกงส้ม นั้นต้องโขลกพริก ใส่ปลาย่าง หัวหอมไทย เกลือเม็ด ใช้พริกชี้ฟ้าแห้งที่แช่น้ำให้นุ่ม ขูดเม็ดออกจนหมดก่อนตำลงในครก ถ้าใส่เม็ดพริกลงไปด้วย แกงจะเผ็ด เติมกะปิในตอนท้ายนิดหน่อย บางคนชอบใส่กระชายก็แล้วแต่ความนิยม  แกงส้มดั้งเดิมนั้นเด็กกินได้ เพราะไม่เผ็ด  แต่ทุกวันนี้ใส่พริกลงไปมากจนเผ็ดและเด็กกินไม่ได้ แกงส้มนั้นทำให้มีรสเปรี้ยวด้วยน้ำมะขามเปียก จะมีรสเปรี้ยวและเค็ม นำ เจือน้ำตาลเล็กน้อยพอให้หวานปะแล่ม ๆ แต่จะไม่หวานนำ ปรุงรสให้กลมกล่อม
            ปัจจุบันคนสมัยใหม่ตำเครื่องแกงส้มไม่เป็น เพราะซื้อสำเร็จรูปมาจากตลาด ก็เลยได้แกงส้มที่มีกลิ่นเหมือนกันไปหมดทุกบ้าน การกินแกงส้มทุกวันนี้ กลิ่นและรสจึงไร้เสน่ห์ อันเป็นฝีมือแม่ครัวเฉพาะไปตามแต่ละบ้าน ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ปัจจุบันหันไปนิยมใช้เครื่องแกงสำเร็จรูปกัน
            แกงคั่ว  เป็นอาหารไทยที่วิเศษอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเปลี่ยนจากการคั่วมาเป็นแกง โดยเติมกะทิลงไปให้มาก เช่น แกงคั่วผักบุ้ง  แล้วเติมหอยแมลงภู่ เติมเนื้อปลาแห้ง เติมเนื้อหมูลงไปอีก มีรสเค็ม หวานเล็กน้อย เปรี้ยวด้วยรสมะขามเปียก
            แกงเผ็ด  นั้น ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า เป็นอาหารไทยที่เกิดขึ้นใหม่ตามหลังแกงส้มและแกงเลียงเมื่อหลายร้อยปีมาแล้วนี่เอง  จัดเป็นอาหารปรุงสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งต้องมีการตำเครื่อง เป็นกระบวนการปรุงที่สำคัญมาก จึงจัดไว้ในกลุ่มอาหารประเภทแกง คือ ใช้พริก กะปิ หอม กระเทียมเป็นพื้น ไม่ต้องใส่ปลาลงไปโขลกในครกเหมือนแกงส้มหรือแกงเลียง  และที่สำคัญต้องทำให้น้ำแกงนั้นข้นด้วยกะทิ ซึ่งจะต้องเคี่ยวจนกะทิแตกมันเสียก่อนจึงนำเครื่องแกงใส่ลงไป แล้วผัดให้กลิ่นหอมจัด ( ซึ่งอาจจะกระตุ้นต่อมรับความรู้สึกในจมูกจนเกิดอาการจาม) แล้วจึงใส่เนื้อสัตว์ที่หั่นเป็นชิ้นลงไป จากนั้นต้องเคี่ยวให้เครื่องเข้าเนื้อหรือให้เปื่อย แล้วจึงเติมด้วยผัก  เช่น มะเขือเปราะ  ( มะเขือชนิดนี้เมื่อแก่เต็มที่จะมีเนื้อค่อนข้างแข็งและเปราะ เวลาใช้มีดผ่าแล้วงัดออกมาเป็นซีกได้ง่ายเพราะความเปราะ ไม่ใช่เขียนว่า มะเขือเปาะ ) แล้วแต่งกลิ่นด้วยใบโหระพา พริกชี้ฟ้าเขียว แดง โดยหั่นทแยงตามยาว ถ้าไม่ใช้มะเขือเปราะ อาจจะพลิกแพลงใช้เป็นหน่อไม้สด เห็ดโคนก็ได้ แกงเผ็ดจะมีอยู่สองสี คือ แกงเขียว  หรือ แกงแดง แล้วแต่จะใช้พริกสีใดแต่ที่ไม่นิยมใช้ คือ พริกสีเหลือง เพราะจะเผ็ดเกินไป
 
                                                               ( จากหนังสือคู่สร้าง  คู่สม  )

------------

อันดับ 1 Bangkok - Thai food is The Best
อาหารประจําชาติไทย อาหารประจําชาติไทย ต้มยํากุ้ง
และในที่สุด ก็มาถึงอันดับหนึ่งจนได้ครับ ... ตอนเห็นผลโพลนี้นี่ยิ้มแก้มจะแตก ดีใจสุดๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าของเค้าดีจริง อ่ะครับ 555555 ซึ่งเมนูของไทยที่ชาวต่างชาติเค้าเทใจให้ก็ไม่พ้นต้มยำ ส้มตำ ไก่ย่าง แกงเขียวหวาน ผัดไท หรือแม้แต่เมนูที่พวกเรามองว่าธรรมดาๆ อย่างข้าวผัดทั่วไป เค้าก็บอกว่าอร่อยมาก ๆ ครับ ผมหล่ะไม่อยากบอกเล้ยยย ว่าไม่ใช่อร่อยแค่อาหารเท่านั้น เพราะหนุ่มไทยทุกคน ก็หวานกรอบอร่อยร่อน รสเด็ดและแซ่บมาก ๆ ไม่แพ้อันดับในอาหารไทยที่ขึ้นชื่อเลยทีเดียว (ใช่ม๊ะครับ?)
และเชื่อผมเถอะ ถึงคุณจะเบื่อเอียนอาหารไทยแค่ไหน แต่ถ้าเมื่อไหร่คุณต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนไปตกระกำลำบากอยู่ที่อื่น
อยู่ต่างประเทศ เอาแค่สักอาทิตย์เดียวก็พอ คุณจะรู้ซึ้งทันทีว่าไม่มีอาหารใดในโลกอร่อยกว่าอาหารที่บ้านเรา ไม่มีข้าวจานใด
ในโลกนี้ อิ่มอุ่นอร่อยกว่าข้าวที่แม่เราหุง และกับข้าวที่แม่เราทำให้กิน คนไทยบางคนที่จากบ้านเกิดไปนาน ๆ เค้าเล่าให้ผมฟังว่า
หลังจากทนทำงานและกินอาหารฝรั่งเป็นปี ๆ สิ่งแรกที่เค้าทำหลังจากได้กินแกงเผ็ดราดข้าวแบบไทย ๆ คือ น้ำตาเค้าแทบไหล
ออกมาตอนอาหารไทยเข้าปาก ด้วยความตื้นตันและคิดถึงบ้านเกิดแผ่นดินนอนซึ่งก็คือเมืองไทยของเรานั่นเอง ผมฟังเค้าเล่า
ผมก็แทบจะพลอยดราม่าน้ำตาไหล ไปกับเค้าด้วยครับ

-----------------

5

อาหารประจำชาติ : ต้มยำกุ้ง

ต้มยำกุ้ง

3

อาหารประจำชาติ : แกงเขียวหวาน

แกงเขียวหวาน

6

อาหารประจำชาติ : มัสมันไก่

มัสมันไก่

1

อาหารประจำชาติ : ส้มตำ อาหารอีสานฯลฯ

ส้มตำ อาหารอีสานฯลฯ

2

อาหารประจำชาติ : ผัดไทย

ผัดไทย

4

อาหารประจำชาติ : ราเมง

ราเมง

7

อาหารประจำชาติ : แกงkari

แกงkari

12

อาหารประจำชาติ : ซูชิ

ซูชิ

10

อาหารประจำชาติ : เฝ้อ (อาหารเวียดนาม)

เฝ้อ (อาหารเวียดนาม)

17

อาหารประจำชาติ : อาหารอินเดีย1

อาหารอินเดีย1

18

อาหารประจำชาติ : อาหารอินเดีย2

อาหารอินเดีย2

13

อาหารประจำชาติ : กิมจิ

กิมจิ

21

อาหารประจำชาติ : หมูย่างเกาหลี

หมูย่างเกาหลี

8

อาหารประจำชาติ : ตับห่านฝรั่งเศส

ตับห่านฝรั่งเศส

15

อาหารประจำชาติ : ซี่โครงแกะ (ฝรั่งเศส)

ซี่โครงแกะ (ฝรั่งเศส)

11

อาหารประจำชาติ : อาหารฝรั่งเศส

อาหารฝรั่งเศส

19

อาหารประจำชาติ : ไส้กรอกเยอรมัน

ไส้กรอกเยอรมัน

9

อาหารประจำชาติ : มังกะโรนีผัดสไตล์อิตาเลียน

มังกะโรนีผัดสไตล์อิตาเลียน

16

อาหารประจำชาติ : สปาเก็ตตี่ผัดซอส

สปาเก็ตตี่ผัดซอส

20

อาหารประจำชาติ : พิษซ่าอิตาลิ

พิษซ่าอิตาลิ

22

อาหารประจำชาติ : ซุปหูฉลาม

ซุปหูฉลาม

23

อาหารประจำชาติ : เป็ดปักกิ่ง

เป็ดปักกิ่ง

อัพเดทล่าสุด