หลักสูตร สถาบันปอเนาะ - รูปแบบการจัดการศึกษาวิชาชีพในสถาบันศึกษาปอเนาะ


1,497 ผู้ชม


ปอเนาะกับการพัฒนาภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมในปัตตานี ยะลา และนราธิวาส1 (ตอนที่ 2)
 หลักสูตร สถาบันปอเนาะ - รูปแบบการจัดการศึกษาวิชาชีพในสถาบันศึกษาปอเนาะ

บทบาทของสถาบันศึกษาปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามต่อชุมชน ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ความสำคัญของปอเนาะอยู่ที่โต๊ะครู ชาวบ้านจะส่งลูกหลานไปเรียนเพราะศรัทธาในโต๊ะครู เรื่องการจัดการเรียนการสอนเป็นเหตุผลรอง  บทบาทสำคัญต่อชุมชนคือ ผลผลิตของปอเนาะจะสร้างคนที่มีพื้นฐานศาสนา ปลูกฝังความรู้ทางศาสนา ปลูกจิตสำนึกที่ดีไม่ให้ทำสิ่งที่ชั่วร้าย มีคุณธรรม ระเบียบวินัย  ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรก็จะเป็นคนมีจรรยาบรรณเสมอ  ประชาชนในพื้นที่ต้องการให้ศาสนาเป็นผู้ดูแลวีถีชีวิต ต้องการความสำเร็จในโลกนี้  และความปลอดภัยในโลกหน้า ที่ไหนมีศาสนาก็ทำให้เขาปลอดภัย   
ปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม  มีบทบาทสำคัญยิ่งในการอบรมสั่งสอนเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้นำศาสนาในแต่ละหมู่บ้าน อำเภอ  หรือจังหวัดส่วนใหญ่  จะผ่านการเรียนจากสถานศึกษาปอเนาะ  หรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมาก่อน ยิ่งไปกว่านั้น ในอดีตปัตตานีเคยเป็นแหล่งเรียนรู้อิสลามศึกษาที่สำคัญและมีชื่อเสียงมาก จะมีนักเรียนจากประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น มาศึกษาในปัตตานี เมื่อสำเร็จแล้วก็จะนำความรู้ที่ได้ไปเผยแผ่ต่อ อันถือว่าเป็นภารกิจที่ผูกมัดกับหลักธรรมของศาสนาอิสลาม ดังนั้น จึงถือเป็นหลักประกันอย่างหนึ่งว่า สถาบันศึกษาปอเนาะ  และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามนั้น  เป็นสถานที่ซึ่งผลิตคนให้เป็นคนดี มีความรู้คู่คุณธรรม
แม้ในปัจจุบันจะมีโรงเรียนรัฐบาลเกิดขึ้นในพื้นที่จำนวนมาก แต่ผู้ปกครองกลับนิยมส่งบุตรหลาน เข้าเรียนสถาบันศึกษาปอเนาะ  หรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมากกว่า  เนื่องจากการเรียนศาสนาในโรงเรียนรัฐบาลยังไม่ครอบคลุมพอ และไม่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้  ยิ่งไปกว่านั้น จุดสำคัญของการเรียนศาสนาคือ อัล-กุรอาน  แต่ในโรงเรียนรัฐบาลไม่มี  นอกจากนี้ ในโรงเรียนรัฐบาลระดับมัธยม การเรียนศาสนายังไม่พร้อม  โดยเฉพาะเรื่องคาบเวลาเรียนจะมีแค่ 2 คาบ  ขณะที่ปอเนาะจะเรียนประมาณ 6 คาบ  ดังนั้น คนในพื้นที่จึงไม่มั่นใจว่าวิชาเรียนศาสนาที่รัฐจัดการนั้น จะตรงตามความต้องการของตน
จากภารกิจของสถาบันศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม  ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น จะเห็นได้ว่า สถาบันศึกษาปอเนาะ  และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม  มีบทบาทและความสำคัญต่อเยาวชนมุสลิมเป็นอันมาก สถาบันทั้งสองแห่งนี้เปรียบเสมือนสถานที่ให้แสงสว่างและฟูมฟักพวกเขาเหล่า นั้น ให้เป็นคนดีและสมบูรณ์  สามารถดำเนินชีวิตตามครรลองของอิสลามได้อย่างสมดุลในบริบทของสังคมไทย โดยมีโต๊ะครูเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านคุณธรรมจริยธรรม เป็นตัวอย่างในการนำชุมชน เป็นแบบอย่างดีของสังคม และเป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาของประชาชนมุสลิม นอกจากนั้น  โต๊ะครูก็ยังทำหน้าที่หรือมีบทบาทสำคัญ  ในการสร้างสังคมมุสลิมให้มีความเข้มแข็ง  โดยวางอยู่บนหลักการเชิญชวนสู่การทำดีและห้ามปรามการทำสิ่งชั่วร้ายต่าง ๆ
การที่รัฐมองว่าปอเนาะเป็นสถาบันศาสนานั้น เป็นเพราะรัฐไม่เข้าใจศาสนา จึงแยกศาสนาจากความรู้ มุสลิมที่ดำเนินชีวิตโดยไม่มีความรู้จะไม่มีสิ่งตอบแทนใดๆในโลก อิสลามจะแยกความรู้กับศาสนาไม่ได้เด็ดขาด  อิสลามครอบคลุมทุกอย่างแต่บางครั้งเกิดความไม่เข้าใจ จึงเกิดความคลุมเครือทำให้เข้าใจผิด และรัฐก็ไม่ยอมทำความเข้าใจจึงทำให้เกิดปัญหา  แต่อย่างไรก็ดี การที่รัฐมองเช่นนั้น    เป็นไปได้ว่า เนื่องมาจากระบบการศึกษาที่ไม่มีลายลักษณ์อักษรของปอเนาะนั่นเอง

ปัญหาและอุปสรรคของสถาบันศึกษาปอเนาะ  และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เกิดขึ้นเมื่อ ต้นปี  ค.ศ. 2004  บางหน่วยงานได้ทำการศึกษารายละเอียด  เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม  และสถาบันศึกษาปอเนาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ว่าเป็นอย่างไร  เพราะก่อนที่เหตุการณ์ความไม่สงบจะเกิดขึ้นนั้น  สถาบันศึกษาดังกล่าวจะไม่ได้รับความสนใจจากสังคมมากนัก โดยเฉพาะสถาบันศึกษาปอเนาะ ว่าเป็นสถานศึกษาหรือสถาบันศาสนา  สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับสถาบันศึกษาทั้งสองนั้นคือว่า ปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามสอนอะไรให้กับนักเรียนในจังหวัดชายแดน ภาคใต้ การจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามนั้น มีหลักสูตรรองรับหรือใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการหรือไม่อย่างไร หรือสถานศึกษาดังกล่าวได้รับงบประมาณจากต่างประเทศในการสนับสนุนจริงหรือไม่ เพียงไร
อนึ่ง แม้จะมีการศึกษาและสัมมนาระดมความคิดกันมากมายโดยหน่วยงานของรัฐ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่ารัฐขาดความเข้าใจ  ที่จะเข้ามาช่วยเหลือและพัฒนาสถาบันศึกษาปอเนาะ อีกทั้งยังมีความหวาดระแวงต่อสถาบันศึกษาปอเนาะว่า เป็นสถานศึกษาศาสนาที่สอนให้เป็นศัตรูกับรัฐ สอนในเรื่องที่ก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงต่อชาติ สอนในเรื่องการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นจากฝ่ายรัฐ รัฐจึงควรส่งเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความเข้าใจและเป็นกลาง เข้ามาดูแลสอบถามถึงสิ่งที่รัฐสงสัย ไม่ใช่การคาดเดาจากการลงมาสัมผัสเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ควรจะเข้ามาสัมผัสและใช้ชีวิตอยู่ในปอเนาะ มากกว่าทำตามรูปแบบของข้าราชการ ที่มาสอบถามเพียงเล็กน้อยแล้วก็กลับไปรายงาน  และรับฟังรายงานที่ขาดรายละเอียดจนเกิดปัญหาด้านความหวาดระแวงขึ้นมา 
สิ่งเหล่านี้  เป็นประเด็นปัญหาที่หนักใจสำหรับโต๊ะครู  และผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม  ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอด  และประเด็นนี้เช่นกัน  ทำให้ในอดีตรัฐได้บังคับให้ปอเนาะ  มาจดทะเบียนและแปรสภาพเป็นโรงเรียน  ดังที่โต๊ะครูบางท่านไม่เห็นชอบในการเปลี่ยนแปลงเรื่องดังกล่าว  เนื่องจากต้องการที่จะรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมของปอเนาะไว้
ปัญหาต่างๆ  ที่เกิดขึ้นกับสถาบันศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม   ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น  ได้รับการแก้ไขมาโดยตลอด จนในที่สุดเมื่อปี  ค.ศ. 2004  ปอเนาะได้ดำเนินการจดทะเบียนอีกครั้ง  โดยรัฐให้โอกาสกับโต๊ะครูทุกท่าน ได้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนที่ถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมือง  ส่วนปัญหาต่างๆ  ที่โต๊ะครูบางท่านมีความกังวลว่า รัฐจะเปลี่ยนความเป็นอัตลักษณ์ของสถาบันศึกษาปอเนาะหรือไม่นั้น รัฐก็ได้ยืนยันแล้ว ให้โต๊ะครูดำเนินการสอนแบบดั้งเดิมได้  ด้วยเหตุนี้  การจดทะเบียนของสถาบันศึกษาปอเนาะในครั้งนี้  จึงไม่มีปัญหาใดๆ  เกิดขึ้นกับโต๊ะครู

อนาคตของปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ปอเนาะและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เป็นสถาบันศึกษาที่จัดการเรียนการสอนศาสนาอิสลาม  หรือเป็นแหล่งการเรียนรู้อิสลามที่สำคัญ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของมุสลิมในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้  สถานศึกษาดังกล่าวได้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงชีวิตมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาค ใต้  จากความมืดมนไปสู่แสงสว่างที่ถูกต้องตามหลักของศาสนา  เช่น  จากการกราบไหว้บูชาภูตผีปีศาจหรือรูปเจว็ด  มาเป็นการศรัทธาและยึดมั่นต่อพระเจ้าองค์เดียวเท่านั้น
ในอนาคตอันใกล้หรือไกลนั้น  สถาบันศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม   ในจังหวัดชายแดนภาคใต้  จะต้องคงอยู่พร้อมกับดำรงบทบาทในการผลิตเยาวชนให้เป็นคนดี มีความรู้คู่คุณธรรมอย่างแน่นอน แม้ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไป  ความเจริญด้านเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในสังคมมนุษย์มากขึ้น เนื่องจากชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้  ได้ยึดหลักการอิสลามในการดำรงชีวิตของเขาอย่างเหนียวแน่นว่า   ผู้รู้จะต้องสอนผู้ที่ไม่รู้  หากไม่ปฏิบัติเช่นนั้นแล้ว  จะต้องได้รับโทษทางศาสนาอิสลามอย่างแน่นอน  ฉะนั้น  การยกเลิกหรือการยุบสถาบันศึกษาดังกล่าว  เป็นสิ่งที่รัฐไม่สมควรกระทำไม่ว่าในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น  ดังที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรีไม่ให้จัดตั้งปอเนาะขึ้นมา ใหม่  หลังจากที่ได้อนุญาตให้โต๊ะครูดำเนินการจดทะเบียน  พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงปอเนาะเป็นโรงเรียน  แต่เนื่องจากสถาบันศึกษาปอเนาะ  เป็นแหล่งเรียนรู้อิสลามที่สำคัญ  สถานศึกษาดังกล่าวก็ยังมีการดำเนินการสอน และได้เกิดขึ้นหรือจัดตั้งใหม่มาโดยตลอดไม่หยุดยั้ง  แม้ว่าจะขัดกับกฎหมายบ้านเมืองก็ตาม
ข้อความที่ได้กล่าวข้างต้นนั้นแสดงให้เห็นว่า การจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในสถาบันศึกษาปอเนาะนั้น  จะต้องคงอยู่กับสังคมมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้สืบไป  แต่อาจจะมีการพัฒนาในด้านการจัดการเรียนการสอน โดยการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  หรืออาจจะมีการเปิดสอนวิชาสามัญหรือวิชาชีพในสถาบันศึกษาปอเนาะ  เพื่อให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันศึกษาปอเนาะแล้ว    สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้อย่างมีความสุข   สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ต่อไป  อย่างไรก็ตาม  อัตลักษณ์ของสถาบันศึกษาดังกล่าว คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้  เช่น จะให้เปลี่ยนเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม  เพราะโต๊ะครูต้องการที่จะอนุรักษ์ให้สภาพ  หรือระบบการจัดการเรียนการสอนในสถาบันศึกษาปอเนาะ  ให้เป็นมรดกสืบทอดไปยังลูกหลานของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดไป
ส่วนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ก็เช่นเดียวกันกับสถาบันศึกษาปอเนาะ  นับได้ว่าเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ผลิตเยาวชนมุสลิม  ให้มีความรู้ด้านศาสนาอิสลาม ควบคู่ความรู้ด้านวิชาสามัญและอาชีพ  ด้วยเหตุนี้  ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในอนาคตนั้น จะต้องเป็นผู้บริหารระดับมืออาชีพ สามารถพัฒนาโรงเรียนให้มีการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ทั้งด้านวิชาศาสนาและวิชาสามัญได้อย่างต่อเนื่อง

สรุป

พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวมลายูมุสลิมซึ่งถือเป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศไทย แต่เป็นคนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากเป็นมุสลิมจึงมีความจำเป็นต้องมีความเข้าใจต่อหลักคำสอนของศาสนา อิสลาม เพราะมุสลิมมีหลักคิดว่า อิสลามคือธรรมนูญและรูปแบบการดำเนินชีวิตของมุสลิมทุกคน และไม่สามารถแยกเรื่องของอาณาจักรออกจากเรื่องของศาสนจักรได้ กล่าวคือ มุสลิมต้องรับรู้และรับผิดชอบในเรื่องของศาสนา และเรื่องทางสังคมโดยแยกออกจากกันไม่ได้ และการอ้างอิงเหตุผลใด ๆ จะใช้อัล-กุรอาน และอัล-หะดิษ เป็นบทสรุปของปัญหาและเหตุผล  ตลอดจนเป็นกรอบในการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย
สถาบันการศึกษาที่เป็นตัวขับเคลื่อนสังคมมุสลิมที่สำคัญ คือ สถาบันศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งถือเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความแตกต่างจากสังคมส่วนใหญ่ทั่วไป อย่างไรก็ตามรัฐได้ให้ความสำคัญ และช่วยเหลือสถาบันทั้งสองตลอดมา โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาการศึกษา  ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ  และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ แต่ในภาพแห่งความเป็นจริง ได้เกิดปัญหามากมายในการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากขาดการติดตามและความต่อเนื่องจากฝ่ายรัฐ และเรื่องงบประมาณที่ ไม่พอเพียงในการขับเคลื่อนกลไกทางการศึกษาให้เดินไปข้างหน้า ยิ่งไปกว่านั้นยังขาดความเข้าใจและประสบการณ์ทางการศึกษารูปแบบใหม่ของฝ่ายผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งนับเป็น 3 ปัญหาหลักที่ต้องแก้ไขและผลักดันให้เกิดเป็นผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

----------------------------------------------------

รายการอ้างอิง

ขจัดภัย บุรุษพัฒน์. 2519. ไทยมุสลิม. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แพร่พิทยา.
ฉวีวรรณ วรรณประเสริฐ และคณะ. 2525. ประเพณีที่ช่วยส่งเสริมการผสมผสานทางสังคมระหว่างชาวไทยพุทธกับชาวไทยมุสลิม. เอกสารทางวิชาการของสถาบันเอเชีย อันดับที่ 14. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นันทกาญจน์ เบ็ญเด็มอะหลี. 2542. ปัจจัยที่มีผลต่อการคงสภาพระบบเก่าของโรงเรียนปอเนาะในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นันทวรรณ ภู่สว่าง. 2521. ปัญหาชาวไทยมุสลิมในสี่จังหวัดภาคใต้. กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย.
ประพนธ์ เรืองณรงค์. 2548. เรื่องเล่าจากปัตตานี. กรุงเทพฯ : สถาพรบุ๊คส์.
มูหามัดรูยานี บากา. 2548. ปอเนาะแหล่งเรียนรู้อิสลามชายแดนใต้. สำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ 12. กระทรวงศึกษาธิการ.
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยสถาบันศึกษาปอเนาะ พ.ศ. 2547. เอกสารโรเนียว.
ศูนย์พัฒนาการศึกษา ภาคการศึกษา 2 จังหวัดยะลา. 2512. รายงานการวิจัยฉบับย่อ เรื่องการจัดการศึกษาของปอเนาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้.
สมพงษ์ ปานเกล้า. 2541. นโยบายการจัดการศึกษาของรัฐบาลในชุมชนชาวไทยมุสลิม จังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ. 2475-2535). วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สุขเกษม สุขภิญโญ. 2533. “ปอเนาะ พัฒนาการในเงื้อมเงาความมั่นคง”, นิตยสารอินซาน ฉบับที่ 5 ปีที่ 1, 5 ธันวาคม 2533.
สุภาค์พรรณ  ตั้งตรงไพโรจน์และคณะ (บก.).  2549.  พหุวัฒนธรรมกับการพัฒนาการศึกษาใน 3  จังหวัดชายแดนภาคใต้ : กรณีศึกษาปอเนาะ.  ศรีบูรณ์การพิมพ์ : กรุงเทพฯ.
สำนักพัฒนาการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม เขตการศึกษา 2. 2537. 35 ปี เขตการศึกษา 2, น.11-12.
อารง สุทธาศาสน์. 2519. ปัญหาความขัดแย้งในสี่จังหวัดภาคใต้. กรุงเทพฯ: กรุงสยามการพิมพ์.
อาหมัด เบ็ญอาหลี. 19 กุมภาพันธ 2547. เมื่อ "ปอเนาะ" ถูกมองในแงราย ผลกระทบและแนวทางพัฒนาเชิงบูรณาการ. มติชนรายวัน : 6.
อิบราเฮ็ม ณรงค์รักษาเขต. 2548. “ปอเนาะกับการสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้”, ใน ความรู้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง กรณีวิกฤติการณ์ชายแดนภาคใต้. อุทัย ดุลยเกษม และเลิศชาย ศิริชัย (บรรณาธิการ). สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มูลนิธิเอเชีย มูลนิธิเดอะวิลเลียมแอนด์ฟลอราฮิวเล็ท. หน้า 65 – 130.

----------------------------------------------------

เชิงอรรถ

บทความวิจัยนี้พัฒนามาจากโครงการวิจัยเรื่อง พหุวัฒนธรรมกับการพัฒนาการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ : กรณีศึกษาปอเนาะ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Keywords : ปอเนาะ การพัฒนา พหุวัฒนธรรม สุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์ นิเลาะ แวอุเซ็ง
https://www.thaiworld.org/th/include/answer_search.php?question_id=625

อัพเดทล่าสุด