ความจริง ความงาม ความดี ที่ปอเนาะ โดยวีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง


1,297 ผู้ชม


ปอเนาะ นิยาม และพัฒนาการ
          “ปอเนาะ”  เป็นสถาบันจัดการเรียนการสอนอิสลามที่ชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ ความศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง    เพราะสถาบันนี้เป็นสถานที่ที่อบรมสั่งสอนและขัดเกลาจิตใจบุตรหลานของมุสลิม ให้เป็นคนดี  มีความรู้คู่คุณธรรม  สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ถูกต้อง  
               สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ ฉบับทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) สงขลา ฉบับ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๗ ระบุความเป็นมาว่า เชื่อกันว่าปอเนาะเกิดขึ้นในประเทศอียิปต์ แล้วแพร่มาสู่เอเชียที่ประเทศมาเลเซียก่อน ต่อมาจึงแพร่เข้าสู่เส้นทางใต้ของประเทศไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเริ่มที่ปัตตานีเป็นแห่งแรก แล้วขยายไปสู่ท้องถิ่นที่มีชาวไทยมุสลิมทั้งในภาคใต้และภาคกลาง (วีระศักดิ์   จันทร์ส่งแสง . ความจริง ความงาม ความดี ที่ปอเนาะ)                    
               ปอเนาะ เป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า "ฟุนดุก" (Pondok) ซึ่งเป็นภาษาอาหรับ และมีความหมายว่าบ้านหลังเล็กๆ ที่มีลักษณะคล้ายกระท่อม หรือกระต๊อบ   ซึ่งสามารถสรุปลักษณะเด่นของปอเนาะได้ ดังนี้
                      -          ผู้สอนได้แก่โต๊ะครู หรือ บาบอซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ หรือเป็นปราชญ์ที่มีความรู้ทางศาสนาที่ประชาชนยอมรับนับถือ   มีลูกศิษย์ที่ผ่านการรับรองจากโต๊ะครูมาช่วยสอน
                   -          มีหลักสูตรไม่แน่นอน  ขึ้นอยู่กับความต้องการของโต๊ะครูผู้สอนและผู้เรียนว่าต้องการจะเรียนรู้ อะไรมากน้อยเท่าใด
                   -          ระยะเวลาเรียนและชั้นเรียนยืดหยุ่นตามความจำเป็นของผู้เรียนและผู้สอน
                     -          ไม่มีระบบวัดและประเมินผลทางการเรียน   ขึ้นอยู่กับความพอใจ  ความเหมาะสม  การวินิจฉัยของผู้สอนและผู้เรียนว่าเพียงพอหรือยัง และไม่มีหลักฐานรับรองวุฒิ
                   -          แบบเรียนหรือสื่อ  ใช้อัลกุรอ่าน   และหนังสือเรียนที่เรียกว่ากีตาบ    ซึ่งมีจำนวนมากหลายวิชา
                  -          สถานที่เรียนใช้บ้านโต๊ะครูหรือสร้างห้องเรียนที่เรียกว่า “บาลัย” เป็นสถานที่เรียนและสถานที่ประกอบศาสนกิจ   ผู้เรียนจะปลูกกระต๊อบหรือกระท่อมพักอาศัยอยู่รอบ ๆ  บ้านโต๊ะครู เรียกว่า ปอเนาะ หรือ ปอนด็อก
               -          ผู้เรียนมีทั้งผู้ชายและผู้หญิงแต่แยกสถานที่เรียน  อย่างเด็ดขาด    สำหรับที่พักแยกกันให้เห็นอย่างเด่นชัด
                -          ไม่จำกัดอายุของผู้เรียนมีตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยชรา
              -          ระบบบริหารจัดการขึ้นอยู่กับโต๊ะครูเป็นผู้วางระบบ  ระเบียบ  กฎกติกาตามความเหมาะสม   บางแห่งก็เคร่งครัด  บางแห่งยืดหยุ่นบ้าง                        
              ความหมายดังกล่าวนี้ได้สะท้อนภาพและลักษณะของสถาบันการศึกษารูปแบบนี้ได้ เป็นอย่างดี เนื่องจากปอเนาะเป็นโรงเรียนที่มีลักษณะของการอยู่ประจำหรือโรงเรียน กิน-นอน  โดยที่จำนวนบ้านพักหรือกระท่อมที่พักของนักเรียนที่ตั้งเรียงรายอยู่ใน ปอเนาะต่างๆ สะท้อนถึงความนิยมในตัว "โต๊ะครู" หรือครูผู้สอนได้เป็นอย่างดี    การเรียนในปอเนาะนั้นถือได้ว่าเป็นการเรียนที่ยึดหลักความศรัทธา และความเคารพนับถือเป็นสำคัญ คือศรัทธาในศาสนาอิสลาม และเคารพนับถือในตัวครูผู้สอนหรือ "โต๊ะครู" (ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร. ปอเนาะกับความมั่นคงของชาติ)
                    สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน (สช.) เขตการศึกษา ๒ ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศระเบียบกระทรวงฯ ว่าด้วยการปรับปรุงส่งเสริมปอเนาะ ออกมาเมื่อปี ๒๕๐๔ สาระสำคัญคือ ให้ปอเนาะยื่นเรื่องขอขึ้นทะเบียนต่อทางราชการ  
             ต่อมาในปี ๒๕๐๘ รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีให้ปอเนาะที่ขึ้นทะเบียนแล้ว แปรสภาพเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ให้ปรับปรุงการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐาน ให้มีหลักสูตรการสอน มีชั้นเรียน โต๊ะ เก้าอี้ กระดานดำ มีระยะจบการศึกษาที่แน่นอน และให้เปิดสอนวิชาสามัญด้วย      
            ทางราชการจะช่วยเหลือส่งเสริมโดยการให้เงินอุดหนุน ส่งครูไปช่วยสอนวิชาสามัญ และผ่อนปรนในเรื่องคุณสมบัติบางประการของเจ้าของ ผู้จัดการ ครูใหญ่ และครูผู้สอน โดยไม่ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ.๒๔๙๗ อย่างเคร่งครัด        
            ปี ๒๕๑๐ คณะรัฐมนตรีมีมติให้เร่งรัดปอเนาะที่ขึ้นทะเบียนแล้วทั้งหมด ให้มาขอแปรสภาพจากปอเนาะเป็นโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลาม ให้เสร็จสิ้นภายใน ๑๕ มิถุนายน ๒๕๑๔ ไม่เช่นนั้นให้ถือว่าปอเนาะนั้นล้มเลิกไป และหลังจากนั้นห้ามก่อตั้งปอเนาะขึ้นมาอีก หากจะตั้งต้องเปิดสอนในรูปแบบของโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามเท่านั้น        
            ถึงปี ๒๕๑๔ มีปอเนาะจำนวนมากถึง ๔๒๖ แห่ง มายื่นความจำนงขอแปรสภาพกับทางการ แต่บางแห่งที่เคยขึ้นทะเบียนด้วยความจำยอม เนื่องจากถูกบีบจากทางการ ถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ไม่ยอมแปรสภาพ อีกบางส่วนยอมแปรสภาพจากปอเนาะไปสู่ระบบโรงเรียน แต่สอนเฉพาะวิชาศาสนาเท่านั้น ตามหลักสูตรและแผนการสอนที่โรงเรียนปอเนาะแห่งนั้นๆ กำหนดขึ้นเอง และนอกจากนี้ยังมีปอเนาะแห่งใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา
           ในปี ๒๕๒๖ ชื่อโรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามถูกรัฐบาลเปลี่ยนเป็น โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพื่อสอดคล้องตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๕ และออกระเบียบการให้เงินอุดหนุนแก่โรงเรียนเอกชนฯ ที่สอนวิชาสามัญควบคู่วิชาศาสนาอิสลาม ฉบับแก้ไขครั้งล่าสุดออกมาเมื่อ ๒๕๔๕ ให้เงินอุดหนุนแก่โรงเรียนที่ได้มาตรฐานตามมาตรา ๑๕ (๑) ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เต็ม ส่วนโรงเรียนที่อยู่ในระยะเตรียมความพร้อม และโรงเรียนที่เพิ่งจดทะเบียนหลังวันออกระเบียบให้เงินอุดหนุน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับโรงเรียนที่สอนเฉพาะวิชาศาสนา จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล (วีระศักดิ์   จันทร์ส่งแสง . ความจริง ความงาม ความดี ที่ปอเนาะ)
                      จึงสรุปได้ว่า   ปอเนาะในอดีตเกิดมาจากความรู้   อุดมการณ์ และความเสียสละของโต๊ะครูที่มีความตั้งใจในการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ ให้แก่ลูกหลานมุสลิม   ประกอบกับความช่วยเหลือของชาวบ้านที่ให้การสนับสนุนโต๊ะครูในการถ่ายทอด องค์ความรู้เหล่านั้นเพื่อสืบทอดศาสนาอิสลามจวบจนชั่วลูกชั่วหลาน     เจตนารมณ์ของปอเนาะในอดีตเต็มเปี่ยมไปด้วยเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ทั้งของ โต๊ะครูและชาวบ้านในการสืบทอดศาสนาอิสลาม   ปราศจากผลประโยชน์ทั้งในแง่วัตถุปัจจัย  และเกียรติยศชื่อเสียง   โต๊ะครูจึงเปรียบเสมือนจุดศูนย์รวมทางจิตใจของชาวบ้าน   โต๊ะครูจึงเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ   โต๊ะครูและปอเนาะในอดีตจึงมีอิทธิพลอย่างสูงส่งในวิถีชีวิตของชาวบ้าน    จะเห็นได้ว่าปอเนาะในอดีตเป็นการจัดการศึกษาโดยชุมชนอย่างแท้จริง  เป็นการจัดการศึกษาที่ยึดหลักความพอเพียง   เป็นการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นสร้างบุคลิกภาพที่สมบูรณ์ของบุคคลให้เป็นอิส ลามิกชนที่สมบูรณ์   เป็นการจัดการศึกษาที่วางอยู่บนพื้นฐานของความศรัทธาอย่างแท้จริง
คัดลอกจาก  https://gotoknow.org/blog/shakirin/157628
ปอเนาะในปัจจุบัน
หลัง จาก พรบ.การศึกษา ๒๕๒๕  ถูกประกาศใช้  ส่งผลให้ ปอเนาะ หรือ โรงเรียนราษฎร์สอนศาสนาอิสลามถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิส ลามโดยที่รัฐบาลให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่ สอนวิชาสามัญควบคู่วิชาศาสนาอิสลาม    สำหรับโรงเรียนที่สอนเฉพาะวิชาศาสนา จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล   ดังนั้นปอเนาะในปัจจุบันจึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท   คือ
 
1.    โรงเรียนปอเนาะแบบดั้งเดิม  ซึ่งต่อมา ในปี พ.ศ.๒๕๔๗ กระทรวงศึกษาธิการได้ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยสถาบันศึกษาปอเนาะ  พ.ศ.๒๕๔๗  ดังนั้น ปอเนาะแบบดั้งเดิมจึงถูกแปรสภาพเป็น”สถาบันศึกษาปอเนาะ” โดยระเบียบข้างต้น
 
2.       โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม (บทความฉบับนี้จะนำเสนอเฉพาะโรงเรียนประเภทนี้)
 
หลังจากปอเนาะถูกแปรสภาพมาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามปอเนาะมีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  ดังนี้
 
-     ผู้บริหารเปลี่ยนจากโต๊ะครูเป็นผู้บริหารซึ่งประกอบด้วย ผู้รับใบอนุญาต  ผู้จัดการ  ครูใหญ่ (ซึ่งใน พรบ. โรงเรียนเอกชนฉบับใหม่ จะถูปแปรสภาพเป็น ผู้อำนวยการ)
 
-     มีครูผู้สอนทั้งครูภาคศาสนาและภาคสามัญ   ที่ต้องทำหน้าที่การสอนอย่างเป็นระบบ  กล่าวคือ  ต้องมีแผนการสอน  มีกิจกรรมการเรียนการสอน  มีสื่อการสอน  มีการวัดและประเมินผล
 
-          มีหลักสูตรที่แน่นอนและชัดเจนขึ้นทั้งหลักสูตรศาสนาและหลักสูตรภาคสามัญ
 
-          ระยะเวลาเรียนมีการกำหนดที่แน่นอนโดยหลักสูตร
 
-          มีการทดสอบเพื่อวัดและประเมินผลในการผ่านชั้น และจบการศึกษา  และมีวุฒิบัตรที่รับรองการจบการศึกษา
 
-     มีปัจจัยพื้นฐาน (Infrastructure) ค่อนข้างสมบูรณ์   เช่น อาคารเรียนที่ทันสมัยขึ้น  ห้องสมุด  ห้องทดลองวิทยาศาสตร์  ห้องปฏิบัติการทางภาษา  ห้องคอมพิวเตอร์ ฯลฯ
 
-          มีระบบการบริหารที่ค่อนข้างชัดเจนมากขึ้น  เช่น มีแผนยุทธศาสตร์  แผนปฏิบัติการ  มีโครงการ  มีการประเมินผล
 
-     มีงบประเมินที่ได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาล  จากการเก็บค่าเล่าเรียนอีกบางส่วน  และจากการทำธุรกิจจากการจัดการศึกษาอีกบางส่วน  มีระบบบัญชีที่ตรวจสอบได้บ้าง  ไม่ได้บ้าง
 
-          ฯลฯ
  
จึง สรุปได้ว่าปอเนาะในปัจจุบันมีลักษณะที่แตกต่างจากปอเนาะในอดีตอย่างชัดเจน   ปอเนาะในปัจจุบันยังพยายามที่จะรักษาเจตนารมณ์  และอัตลักษณ์ของปอเนาะในอดีตให้ดำรงต่อไป   แต่ด้วยสภาพการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยลัทธิวัตถุนิยม (Materialism)  ลัทธิแบ่งแยกศาสนาออกจากวิถีการดำรงชีวิต (Secularism)   ทำให้วัตถุปัจจัย เกียรติยศชื่อเสียง  เข้ามามีอิทธิพลในการจัดการศึกษา  จนกลายเป็นธุรกิจศึกษา   โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามบางพื้นที่มีการแข่งขันกันสูง  ถึงขั้นมีนโยบายประชานิยม  ลดแลก  แจก  แถม  เพียงเพื่อให้มีนักเรียนจำนวนมาก  อันนำมาซึ่งค่าหัวที่ได้รับการสนับสนุนจากทางรัฐบาลเป็นจำนวนมาก   การได้มาซึ่งงบประมาณจำนวนมาก ๆ  น่าจะเป็นประโยชน์ต่อโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามเป็นอย่างมากหากผู้บริหาร คำนึงถึงการบริหารคุณภาพตามปริมาณของงบประมาณที่ได้รับ    แต่เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งเนื่องมาจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ส่วนมากยังละเลยต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา  ซึ่งสังเกตเห็นได้จากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่ค่อนข้างต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนประเภทอื่น ๆ   (ตามที่เคยรับรู้กัน)  ปรากฏการณ์เช่นนี้ผมขอเรียกว่า  “การบริหารโรงเรียนโดยใช้ค่าหัวเป็นฐาน”

ปอเนาะในอนาคต
                   ภาพของปอเนาะในอนาคตจะเป็นเช่นใด   ขึ้นอยู่กับว่าเขามีจินตนาการอย่างไร  จินตนาการโดยใช้อะไรเป็นฐาน  ค่าหัว  หรืออิสลามเป็นฐาน  ในบทความชิ้นนี้ผมขอจินตนาการโดยใช้ข้อมูลของปอเนาะในปัจจุบันประกอบการพิจารณาภายใต้แนวความคิด Islamization of Knowledge ( ดร.นิธิ  เอียวศรีวงศ์  แปลว่า อิสลามานุวัฒน์  แต่เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจผมใช้คำว่า การบูรณาการองค์ความรู้กับอิสลาม)
                   ปอเนาะในอดีตประสบความสำเร็จในการปลูกฝังบุคลิกภาพของมุสลิมเป็นอย่างมาก   อันเนื่องมาจากเหตุผลหลายประการ  เช่น  เจตนารมณ์อันแน่วแน่ ความบริสุทธิ์ใจ   ความอดทน  ความมุมานะในการถ่ายทอดศาสนาอิสลามสู่คนยุคหลัง    เจตนารมณ์  ประกอบกับความพยายามเหล่านั้นถูกขับเคลื่อนโดยไร้กระแสที่เป็นอุปสรรค เช่น กระแสวัตถุนิยม (Materialism)  กระแสแบ่งแยกศาสนาออกจากวิถีการดำรงชีวิต (Secularism)  ซึ่งกระแสเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นกระแสที่เป็นอุปสรรคต่อการปลูกฝังบุคลิกภาพแห่งอิสลามทั้งสิ้น      ประกอบกับปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามไม่ปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก   ทำให้ปอเนาะได้เข้าสู่ยุคที่ประสบกับความล้มเหลวในการจัดการศึกษา   กล่าวคือ  ปอเนาะไม่สามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณของอิสลาม  บุคลิกภาพของแห่งอิสลามแก่เยาวชนมุสลิมได้เหมือนดั่งเช่นปอเนาะในอดีต   สาเหตุที่เป็นเช่นนี้อาจวิเคราะห์ได้  ดังนี้
                   1.    ผู้บริหาร  บริหารโรงเรียนโดยยึดค่าหัวเป็นฐาน   ขาดแนวคิด (concept) ในการบริหารอย่างเป็นระบบ  และขาดทักษะการบริหาร
                  2.    ครู  ขาดจิตวิญญาณของความเป็นครูมุสลิม   ดั่งเช่นจิตวิญญาณของครูปอเนาะในอดีต  ขาดทักษะการสอนอย่างครูมืออาชีพ
                 3.    หลักสูตร   ซึ่งมีทั้งหลักสูตรศาสนาและสามัญ   ทำให้นักเรียนต้องเรียนมากเกินความจำเป็น   หลักสูตรไม่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียนและสังคม   หลักสูตรมุ่งเน้นการพัฒนานักเรียนโดยผ่านเนื้อหาเป็นหลัก     ขาดการพัฒนานักเรียนโดยผ่านกิจกรรม  
                         เมื่อสังคมโลกปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์   ปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควรปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และบทบาทเพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก   โดยที่ยังรักษาเจตนารมณ์  และ อัตลักษณ์ของปอเนาะดั้งเดิมไว้อย่างเข้มแข็ง   นั่นคือ  เจตนารมณ์ในการสืบทอดอิสลามสู่คนรุ่นหลังอย่างเข้มแข็ง     ซึ่งบทความนี้ขอนำเสนอลักษณะของปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในอนาคตที่ควรจะเป็น  ดังนี้
                 1. ปอเนาะควรเป็นองค์กรแห่งการแห่งการเรียนรู้ (Learning  Organization)  เพื่อพัฒนาบุคลากรในองค์กร ให้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง   และเพื่อให้องค์กรสามารถปรับเปลี่ยนบทบาทได้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
                2. ปอเนาะควรเป็นสังคมแห่งองค์ความรู้ (Knowledge Based Society )อย่างแท้จริง   เพื่อให้ชุมชนและสังคมได้พึ่งพาองค์ความรู้ที่ถูกต้องในทุกแขนง   โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านศาสนา
               3. ผู้บริหารต้องมีแนวคิด (concept) ในการบริหารอย่างเป็นระบบ   โดยเฉพาะแนวคิดการบริหารที่ใช้อิสลามเป็นฐาน    มีทักษะการบริหาร   มีความเชี่ยวชาญในการบริหารงานวิชาการ  สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ได้  และต้องสามารถให้ให้คำแนะนำ (Coaching) แก่ครูได้
                4.  ครูปอเนาะต้องมีความรู้ความเข้าใจอิสลามเป็นพื้นฐาน   สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างครูมืออาชีพ   เข้าใจพัฒนาการของผู้เรียน  ที่สำคัญครูปอเนาะต้องสามารถปลูกฝังอิสลามและสามารถสอนโดยการบูรณาการองค์ความรู้กับอิสลามได้ในทุกวิชา
                  5. หลักสูตรของปอเนาะ   ควรเป็นหลักสูตรที่บูรณาการโครงสร้างทั้งสองหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรเดียว   หลักสูตต้องพัฒนาผู้เรียนทั้งโดยใช้เนื้อหาและกิจกรรม   อีกทั้งหลักสูตรต้องตอบสนองความต้องการของผู้เรียนที่หลากหลาย   และตอบตอบสนองความต้องการของสังคมอีกด้วย
               6. ปอเนาะต้องมีสื่อและนวัตกรรมที่หลากหลาย  เช่น อินเตอร์เน็ต  เว็บไซต์  อีเลินนิ่ง ฯลฯ
               7. ปอเนาะต้องมีปัจจัยพื้นฐาน (Infrastructure) ที่สมบูรณ์และเพียงพอ   เช่น อาคารเรียนที่ทันสมัยขั้น ห้องสมุดที่มีหนังสือจำนวนมากและหลากหลาย   ห้องทดลองวิทยาศาสตร์  ห้องปฏิบัติการทางภาษา  ห้องคอมพิวเตอร์   ห้องพัฒนาบุคลิกภาพ   และแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ฯลฯ
                แนวทางในการปรับเปลี่ยนปอเนาะหรือโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามสู่อนาคต มีดังนี้
                1. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  นั่นคือ  ผู้บริหาร  ครู  และนักเรียน  มากกว่าการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน  และควรพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เหล่านั้นภายใต้แนวคิด Islamization of Knowledge (การบูรณาการองค์ความรู้กับอิสลาม)
                2.  ควรวางระบบประกันคุณภาพการศึกษา  ทั้งการประกันคุณภาพภายในและประกันคุณภาพภายนอก
                3. พัฒนาหลักสูตรโดยการบูรณาการโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544  กับ หลักสูตรอิสลามศึกษา พ.ศ.2546   พร้อมกับจัดให้มีแผนการเรียนที่หลากหลายมากขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์  ดังนี้- ลดภาระการเรียนของนักเรียน- ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียนและสังคม- พัฒนาผู้เรียนโดยผ่านเนื้อหาวิชาการและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
               4. พัฒนาสื่อและนวัตกรรมภายใต้แนวคิด Islamization of Knowledge (การบูรณาการองค์ความรู้กับอิสลาม) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าปอเนาะในอนาคต   จะเป็นปอเนาะคุณภาพ  ปอเนาะที่มีศักยภาพในการทำหน้าที่ถ่ายทอดอิสลามให้แก่คนยุคหลังอย่างมีประสิทธิภาพ    เพื่อที่จะนำพาพวกเขาไปสู่การดำรงชีวิตยุคในโลกาภิวัตน์อย่างน่าภาคภูมิใจ   ได้รับความพอพระทัยจากอัลลอฮฺ  อันนำมาซึ่งความสำเร็จทั้งดุนยาและอาคีเราะฮฺ   อินชาอัลลอฮฺ
อ้างอิง
มูหามัดรูยานี         บากา. ปอเนาะแหล่งเรียนรู้อิสลามชายแดนใต้. สำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการ       ที่ 12, 2548
วีระศักดิ์   จันทร์ส่งแสง . ความจริง ความงาม ความดี ที่ปอเนาะ : https://www.skyd.org/html/life-social/PONDOK.html
ณัฐนันท์      วิจิตรอักษร.ปอเนาะกับความมั่นคงของชาติ : https://www.nidambe11.net/ekonomiz/2005q4/ article2005oct13p2.htm

อัพเดทล่าสุด