มติ ครม.แจกสะบัด "มาร์ค" ขวางก๊วนยี้ห้อยไม่อยู่ เพิ่มเงินเดือน "กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน" 100% แถมร่าง พ.ร.บ.ไดโนเสาร์รองรับก้นกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านนั่งควบในเทศบาล ส.ป.ก.จำแลงร่างทวงคืนที่ราชพัสดุ 1 ล้านไร่ ให้เกษตรกรเช่าไร่ละ 35 บาทต่อปี
นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงถึงผลการประชุม ครม.ว่า ครม.มีมติอนุมัติการปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพราะมีข้อร้องเรียนจากสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทยว่า เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและเป็นกลไกสำคัญในการตอบสนองการทำงานของรัฐบาล แต่สถานการณ์เศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่เปลี่ยนแปลง มีผลให้ต้องแบกภาระต่อการทำหน้าที่ โดยเทียบภารกิจที่รับมาจากรัฐบาลและเงินตอบแทนที่ได้รับนั้น อัตราเดิมคือ กำนัน 5 พันบาทต่อเดือน ผู้ใหญ่บ้าน 4 พันบาทต่อเดือน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและฝ่ายรักษาความสงบ 2.5 พันบาทต่อเดือนนั้น ยังไม่พอกับภาวะในปัจจุบัน
กระทรวงมหาดไทยเห็นว่า เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ จึงขอปรับอัตราเงินค่าตอบแทนของแต่ละตำแหน่ง โดยเสนอปรับเพิ่ม 100 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละตำแหน่ง คือ กำนัน 1 หมื่นบาทต่อเดือน ผู้ใหญ่บ้าน 8 พันบาทต่อเดือน ส่วนอีก 4 ตำแหน่งนั้นกำหนดตำแหน่งละ 5 พันบาทต่อเดือน โดยปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปภายในสองปี คือปีละ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง ครม.อนุมัติหลักการในเรื่องนี้ และขอให้กระทรวงมหาดไทยประสานรายละเอียดกับสำนักงบประมาณด้วยเพราะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันอัตรากำลังทั้งหมดมี 294,998 ตำแหน่ง แบ่งเป็นกำนัน 7,077 ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน 68,785 ตำแหน่ง แพทย์ประจำตำบล 7,077 ตำแหน่ง สารวัตรกำนัน 14,154 ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง 151,724 ตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ 46,181 ตำแหน่ง
นายศุภชัย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยยังเสนอร่าง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ และร่าง พ.ร.บ.เทศบาล ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงานของรัฐ ตามการบริหารงานราชการส่วนภูมิภาค และมีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 นั้น แต่ พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 มาตรา 4 ระบุห้ามมิให้มีการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ในข้างต้น โดยให้นายกเทศมนตรีทำหน้าที่แทน
เมื่อพิจารณาเรื่องการยกเลิกตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบนั้น ไม่ถูกต้องและควรยกเลิกบทบัญญัติดังกล่าว และต้องไม่มีการยุบเลิกตำแหน่งดังกล่าวด้วย เว้นแต่ท้องที่ที่มีความเจริญแล้วนั้น ที่ประชุมเห็นว่าควรนำ พ.ร.บ. 2 ฉบับมารวมดำเนินการ คือ ร่าง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ และร่าง พ.ร.บ.เทศบาล
สาระสำคัญคือ กำหนดให้การยกเลิกตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ จะกระทำมิได้ เว้นแต่ท้องที่ใดมีความเจริญสามารถดูแลบริหารจัดการ และปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแทนตำแหน่งดังกล่าวได้ โดยให้ รมว.มหาดไทยประกาศยกเลิกตำแหน่งดังกล่าว ส่วนร่าง พ.ร.บ.เทศบาลนั้น ให้ยกเลิกความในมาตรา 4 มาตรา 12 ววรคสอง มาตรา 48 เตวีสติ แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ.2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 12 ) พ.ศ.2546 ในร่างมาตรา 3 ร่างมาตรา 4 และร่างมาตรา 5
นายศุภลักษณ์ ควรหา รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงผลการประชุม ครม.ว่า นายกฯ มีดำริว่าตำแหน่งแพทย์ประจำตำบลนั้น หากเกษียณอายุแล้วไม่ควรบรรจุใหม่ เพราะตำบลต่างๆ มีสถานีอนามัยประจำตำบลอยู่แล้ว
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ถึงเวลาที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนค่าตอบแทน ที่ผ่านมามีการพูดถึงและอนุมัติที่เป็นรูปธรรม และดูจากเหตุผลที่ค้างคามานาน ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงเห็นว่ามีความเหมาะสมที่จะปรับเปลี่ยน ไม่ได้เตรียมเพื่อการเลือกตั้ง
นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย กล่าวว่า การขึ้นเงินเดือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้านครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการหาเสียงล่วงหน้าอย่างที่กล่าวหา แต่ที่ผ่านมากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้เสียสละมาตลอด ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนนานแล้ว จนรู้สึกบั่นทอนและโดนกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม อยากให้คิดถึงว่าคนเหล่านี้ภารกิจเขาเยอะ ส่วนใหญ่ก็อุทิศเวลาและค่าใช้จ่ายก็เยอะ ทั้งนี้ ครม.มีมติอนุมัติแล้วจะทยอยขึ้นเงินเดือน 2 ปีในปี 53 และปี 54 ขึ้นปีละ 2,500 บาท
เช่นเดียวกับนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ตนไม่คิดอย่างนั้น แต่คิดถึงความเหมาะสม เพราะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ได้รับการปรับปรุงค่าตอบแทนมานานแล้ว ซึ่งไม่เหมาะสมกับในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้
รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม.เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นเงินเดือนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ที่ทยอยจ่ายสองปี เพราะอยากให้ขึ้นเพียงร้อยละ 50 รวมทั้งให้ชี้แจงเหตุผลการเสนอขึ้นเงินเดือนครั้งนี้ โดยนายชวรัตน์ยืนยันว่า ได้เจรจาต่อรองกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาแล้ว และรับปากไปแล้ว หากไม่เป็นไปตามนั้นตนจะเสียหาย และยืนยันว่าจะต้องอนุมัติ ทำให้ที่ประชุม ครม.หารือเรื่องนี้นานและเป็นไปอย่างเคร่งเครียด แต่สุดท้ายก็ต้องลงมติอนุมัติ แม้ ครม.บางส่วนจะกังวลและเป็นห่วงเรื่องรายได้ของรัฐที่ต้องนำมาจ่ายเพิ่มเติม
นายศุภลักษ์ ควรหา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.ยังได้เห็นชอบการขอคืนที่ดินราชพัสดุ 1 ล้านไร่ เพื่อนำมาให้เกษตรกรเช่าทำการเกษตร โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ มาตรการและเงื่อนไขในการดำเนินการเรื่องต่างๆ เช่น มาตรการขอคืนที่ดินจากหน่วยงานราชการ การแบ่งโซนพืชอาหารและพลังงาน การกำหนดคุณสมบัติเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการและรูปแบบการบริหารจัดการอย่างครบวงจร เพื่อนำที่ดินราชพัสดุมาจัดให้เช่าทำการเกษตร และให้จังหวัดนำไปใช้ปฏิบัติ โดยจะมีสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นประธานดำเนินการเรื่องนี้ และยังเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการจังหวัดเพื่อนำที่ดินราชพัสดุมาจัดให้เช่าทำการเกษตร ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการอำนวยการกำหนด
นายศุภลักษ์ กล่าวด้วยว่า จะให้เกษตรกรเช่าที่ในราคา 35 บาท ต่อไร่ ต่อปี ทั้งนี้ จะมีการนำที่ดินราชพัสดุ 1 ล้านไร่ มาจัดให้เกษตรกรเช่าทำการเกษตรตามนโยบายรัฐบาล โดยได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งจากการสำรวจที่ดินราชพัสดุ พบว่ามีที่ดินที่เหมาะสมจะนำเข้าร่วมโครงการจำนวน 114 แปลง เนื้อที่ประมาณ 452,162 ไร่เศษ โดยที่ดินดังกล่าวส่วนใหญ่อยู่ในความครอบครองของส่วนราชการ ซึ่งจะต้องมีการเจรจาขอคืนจากหน่วยงานราชการที่ครอบครองอยู่.
Source: https://www.thaipost.net/news/240209/801