10 บุคคลตัวอย่างเศรษฐกิจพอเพียง กัญญา อ่อนศรี


5,798 ผู้ชม


กัญญา  อ่อนศรี  เป็นธิดาคนโตจากพี่น้อง ๔ คนของคุณพ่อเสมือน และคุณแม่สมิน  ระบือนาม  ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่  ๒๔  หมู่  ๑๐   บ้านทัพไทย  ต.ทมอ  อ.ปราสาท  จ.สุรินทร์จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากนั้นกัญญาได้ออกมาช่วยครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม

กระทั่งย่างเข้าสู่วัยสาว กัญญาก็มีความฝันเช่นเดียวกับหญิงสาวชนบทโดยทั่วไป  พอหมดหน้านา กอปรกับความแห้งแล้งของชนบทในครั้งนั้น ทำให้เธอต้องมุ้งหน้าสู่เมืองหลวง เพื่อหารายได้และเพิ่มประสบการณ์ให้กับตนเอง

โดยในช่วงปี ๒๕๒๙ กัญญาได้เข้าไปเป็นคนฝึกหัดทำครัว แถวๆ ยานนาวา  ซึ่งนี่เองทำให้เธอได้ฝีมือในการทำอาหารมาช่วยพี่น้อง ผองเพื่อนในหมู่บ้านเนื่องในเทศกาลงานบุญต่างๆ

ทำได้ปีสองปี ถึงฤดูทำนา กัญญาก็กลับมาช่วยครอบครัวทำนาอีกคำรบหนึ่ง และพอหมดหน้านาในครานี้ เธอได้กลับไปเป็นสาวโรงงานที่บริษัทสุรพล ซีฟู้ต ย่านสมุทรปราการ และได้พบรักกับสุนทร  อ่อนศรี ชายหนุ่มจากราชบุรี

ปี ๒๕๓๓ ทั้งคู่ได้ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน โดยกลับมาแต่งงานที่บ้านเกิดของเธอ หลังจากนั้น ก็ได้กลับไปทำงานเป็นสาวโรงงานเช่นเดิม เพื่อหาทุนรอนสำหรับกลับมาทำงานอยู่ที่บ้านเกิด ส่วนสามีก็ทำงานเป็นคนขับรถอยู่ที่เดียวกัน

หลังจากเก็บเงินเก็บทอง ได้ตามที่ตั้งใจ ปี ๒๕๓๖ กัญญาและสามีได้กลับมาปักหลักยึดอาชีพเดิมของบรรพบุรุษอยู่ที่บ้านเกิดจังหวัดสุรินทร์

 

สู่วิถีเกษตรธรรมชาติ

แรกๆ นั้นครอบครัวของกัญญาก็ทำนาเชิงเดี่ยวเช่นเดียวกับเพื่อนบ้าน แต่ความที่บิดาเป็นคนขยัน ในแปลงนาก็เลยมีพืชผักสวนครัวไว้สำหรับรับประทาน

อีกประการหนึ่ง สามีของเธอเป็นคนราชบุรี  แม้ไม่เคยทำสวนแต่ก็เคยได้เห็นการทำไร่ทำสวนของเพื่อนบ้านมาบ้าง เลยมีแนวคิดว่า น่าจะหาอะไรมาปลูกเสริมในช่วงที่ไม่ได้ทำนา

ช่วงปี ๒๕๓๖-๒๕๓๗ ทั้งคู่ได้ทดลองปลูกพืชเสริมในช่วงหน้าแล้ง โดยลงถั่ว, ถั่วฝักยาวและข้าวโพด ปรากฏว่าได้ผลผลิตอย่างน่าพอใจ และสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

จากนั้นเป็นต้นมา กัญญาไม่มีความคิดที่หวนกลับสู่เมืองหลวงอีกเลย กลับมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผืนที่นาเพื่อสร้างผลผลิตในทุกฤดูกาล

ไม้ผลต่างๆ จึงมีหมุนเวียนเก็บกินได้ตลอดปี เช่น มะม่วง    ฝรั่ง มะขาม  มะพร้าว    กระท้อน ฯลฯ นอกจากนี้แล้ว พืชผักสวนครัวจำพวก พริก  มะเขือ หอม กระเทียม ยี่หร่า  ขิง ข่า  ตะไคร้  คะน้า   ผักกาด  ฯลฯ  ก็ไม่ต้องไปซื้อหามารับประทานเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เธอยังต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกอยู่ อาทิ ยากำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี

การที่กัญญาได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนในเรื่องเกี่ยวกับบทบาทหญิงชายกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เธอมีโอกาสได้เข้ารับการฝึกอบรม การศึกษาดูงาน ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกับเกษตรกรกลุ่มอื่นๆ

จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ เธอมีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับเกษตรธรรมชาติที่ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี ที่จังหวัดร้อยเอ็ด

ในปี ๒๕๔๒ กัญญาได้ตัดสินใจเลิกใช้จำพวกสารเคมีเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี หรือยากำจัดศัตรูพืช

เข้าร่วมโครงการ

ปี ๒๕๔๔ กัญญาได้เข้าร่วมโครงการนำร่อง เพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนรายย่อยภูมินิเวศน์สุรินทร์  โดยมีพื้นที่เข้าร่วมโครงการราว ๑๕ ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำการเกษตรมาก่อนหน้าแล้ว

การที่ได้เข้าร่วมโครงการนำร่องฯ นั้น ทำให้ได้รับแนวคิดเรื่องการทำเกษตรแบบยั่งยืนหรือเกษตรแนวธรรมชาติมากขึ้น และการที่กัญญาได้เข้าร่วมกิจกรรมบ่อยครั้ง ทำให้ประสบการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับงานของตนเอง ไม่ว่าบทบาทของหญิงชายในสังคมหรืองานด้านเกษตรกรรม กัญญาผสานสิ่งเหล่านี้เพื่อมาปรับใช้กับตนเองอย่างลงตัว

นอกจากความรู้ทางวิชาการที่ได้รับทั้งนักวิชาการ จากกลุ่มเพื่อนเกษตรกรในโครงการเดียวกันแล้วแล้ว การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการศึกษาดูงานก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ให้เกิดองค์ความรู้ในการที่จะนำมาพัฒนาพื้นที่ของตนเอง 

อีกส่วนหนึ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ คือ การสนับสนุนปัจจัยการผลิตอีกหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนสนับสนุนการขุดสระการสร้างโรงเรือนสำหรับเลี้ยงสัตว์และทำปุ๋ยหมัก

ปัจจุบันพื้นที่เกษตรกรรมของกัญญา ไม่เคยว่างเว้นจากผลผลิต หมดฤดูเก็บเกี่ยวข้าว เธอและครอบครัวก็ช่วยกันลงถั่วเขียว, ถั่วฝักยาว, ข้าวโพด หรืออื่นๆ บ้างแล้วแต่ฤดูกาล ส่วนไม้ผลต่างๆ ที่ปลูกไว้ตั้งแต่ก่อนเข้าร่วมโครงการผสานกับที่เพิ่งลง ก็ให้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ

นอกจากจะบริโภคสำหรับครอบครัวแล้ว ที่เหลือก็นำไปขายเพิ่มรายได้ในอีกทางหนึ่ง

ประสบการณ์ต่างๆ ที่กัญญาได้รับมาจากการเรียนรู้ภายนอกและการค้นพบเอง เธอก็นำมาถ่ายทอดเล่าสู่หมู่เพื่อนเกษตรกรด้วยกัน เช่น เรื่องการทำและใช้น้ำหมักชีวภาพ, การปลูกพืชผักสวนครัวต่างๆ รวมไปถึงการจัดการกลุ่มองค์กรเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง

อย่างไรก็ดี อุปสรรคและปัญหาต่างๆ ก็ย่อมมีบ้างเป็นธรรมดา การที่กัญญาต้องออกไปร่วมประชุมสัมมนาบ่อยครั้งในแต่ละสัปดาห์ ทำให้มีเวลาในการจัดการแปลงน้อยลงบ้าง

สร้างโรงเรียนให้ลูก

แต่กระนั้น สิ่งที่ทำลงไปก็ได้สร้างความภาคภูมิใจให้กัญญาและครอบครัว คือ เธอได้สร้างโรงเรียนชีวิตให้กับลูกคนโตของเธอ “ชนิษฐา” หรือ “น้องวันดี”  

การปลูกฝังวิถีชีวิตเกษตรแบบเรียบง่าย และสร้างวินัยให้กับลูกไปแบบไม่รู้ตัว ทุกๆ เช้า วันดีจะเก็บผลผลิตในสวนใส่ตะกร้าไว้ท้ายจักรยาน ถีบเร่ขายในหมู่บ้านก่อนไปโรงเรียน จนเป็นที่รักใคร่เอ็นดูของคนในหมู่บ้าน

และทุกๆ วันเสาร์ที่ตลาดนัดสีเขียวเทศบาลเมืองสุรินทร์ วันดีก็จะนำผลผลิตไปขายให้คนเมืองได้ซื้อหารับประทานผักไร้สาร อยู่เป็นประจำ

ต้นปี ๒๕๔๕ สิ่งที่กัญญาและวันดีได้ทำไปนั้น ได้กลายเป็นตัวอย่างที่สวยสดงดงาม ถ่ายทอดผ่านสื่อมวลชนในรายการ “ทุ่งแสงตะวัน” ซึ่งถือว่าเป็นรายการสารคดีเกี่ยวกับเด็กที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย

กัญญาเล่าให้ฟังว่า วันที่ออกอากาศนั้น คนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน ที่มานั่งดูด้วยกันถึงกับนั่งน้ำตาซึมด้วยความภาคภูมิใจ ที่ลูกหลานได้ทำสิ่งดีๆ เป็นที่เชิดหน้าชูตาของหมู่บ้าน

ส่วนลูกชายคนเล็กของเธอที่เพิ่งอายุไม่กี่ขวบ ก็เริ่มช่วยเธอรดน้ำต้นไม้ได้แล้ว

วิถีเกษตรธรรมชาติที่กัญญาและครอบครัวได้ร่วมสร้างกันมานั้น หาได้เกิดในชั่วข้ามคืนไม่ หากเกิดจากความมุมานะ ตั้งใจ  จนกลายเป็นแบบอย่างที่ดีงามของคนในชุมชนและสังคมเกษตรกรรมในวงกว้าง

https://www.kradandum.com/people/people_11.htm

อัพเดทล่าสุด