หลายท่านที่ทำงานบริษัท เมื่อครบปีต้องมีการยื่นภาษีประจำปี บางท่านอาจไม่มีข้อสงสัยสำหรับรายการหักลดหย่อนเท่าไรนัก เนื่องจากยังไม่สามารถใช้สิทธิของตนเองให้เต็มที่ หรือท่านอาจไม่ได้สนใจกับบางรายการที่ช่วยให้ท่านเสียภาษีลดลงแต่อย่างใด แต่สำหรับผู้ที่ต้องยื่นเสียภาษีประจำปีด้วยตนเอง อาจรู้สึกงุนงงกับรายการลดหย่อนบางรายการอยู่บ้าง ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร และสิ่งที่เรากรอกไปนั้นถูกต้องหรือไม่ โดยเฉพาะท่านที่สามารถหักลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ซึ่งตามหลักเกณฑ์ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
1. บิดามารดาต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และอยู่ในอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ แต่ ต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อนเกิน 30,000 บาทขึ้นไป หรือพูดง่ายๆ สำหรับท่านที่ต้องการยื่นปีภาษี 2553 บิดามารดาของท่านต้องเกิดในปี 2493 หรือปีก่อนหน้านั้นจึงจะสามารถใช้สิทธิได้ และต้องมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาทนั่นเอง
2. ผู้มีเงินได้หรือสามีหรือภริยาผู้มีเงินได้ต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย (บุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิหักลดหย่อน) และการหักลดหย่อนหักได้ตลอดปีภาษี กล่าวคือ หากบิดาหรือมารดาเกิดวันที่ 1 ธันวาคม 2493 สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนบิดาหรือมารดาได้ เต็มจำนวนคือ 30,000 บาท ทั้งนี้ บิดาหรือมารดาต้องมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาทด้วย
------------
วิธีลดหย่อนภาษี มนุษย์เงินเดือน
มนุษย์เงินเดือนอย่างเราจะต้องเสียภาษีที่เรียกว่าภาษีรายได้บุคคลธรรมดา มีข้อพึงสังเกตไว้ว่าบางคนได้คืนภาษีแต่บางคนต้องจ่ายเพิ่ม เรามีข้อปฏิบัติหลายอย่างมาฝาก ที่ช่วยลดหย่อนภาษีได้มากทีเดียว
สมัครกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อคุณหักเงินสะสมเข้ากองทุน 3-15 % ของเงินเดือน คุณจะใช้หักภาษีได้มากถึง 300,000 บาท ต่อปี แถมด้วยนายจ้างจะต้องจ่ายเงินให้คุณ 3–15 % ของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 300,000 บาท โดยที่คุณไม่ต้องเสียภาษี เรียกว่าได้กำไรสองต่อ
หรือถ้าคุณทำธุรกิจที่เป็นนายตัวเอง ให้เลือกซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่เรียกว่า RMF แทนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ซื้อไม่เกิน 15 % ของรายได้ ปีละไม่เกิน 300,000 บาท สามารถใช้ลดภาษีได้เช่นกัน
ซื้อกองทุนหุ้นระยะยาว กรมสรรพากรอนุญาตให้คุณซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนหุ้นระยะยาว LTF (Long Term Equity Fund) ที่มีบลจ. (บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน) เป็นผู้บริหาร สามารถหักภาษีได้ปีละ 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 15%
สละโสดลดภาษี สาวๆ เลือกเฟ้นชายหนุ่มมาแต่งงานถูกต้องตามกฎหมายมีใบทะเบียนสมรสชัดเจน จะมีสิทธิหักลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท และถ้ามีบุตรหรือบุตรบุญธรรมจะลดหย่อนได้ 15,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 คน และบุตรต้องอายุไม่เกิน 25 ปี
ส่วนค่าลดหย่อนบิดามารดา บิดามารดาจะต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป ลูกสามารถใช้สิทธิการลดหย่อนภาษีได้ 30,000 บาท แต่บิดามารดาจะต้องออกหนังสือรับรองด้วยว่าบุตรคนไหนเป็นผู้อุปการะ ซึ่งจะอุปการะได้คนเดียวเท่านั้น
ทำประกันชีวิต ตามกฎหมายคุณจะต้องทำประกันชีวิตที่มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีเป็นต้นไป และต้องเป็นผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักรเท่านั้น โดยเบี้ยประกันส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 40,000 บาท เป็นเงินที่ได้ยกเว้นภาษี
ใจบุญบริจาคเงิน หลังจากบริจาคเงินให้แก่มูลนิธิหรือสถานที่ต่างๆ แล้ว สามารถนำใบเสร็จมาลดหย่อนหักภาษีได้เท่ากับจำนวนเงินที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 10 % ของรายได้
ถ้ายังงงไม่หายให้เข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมสรรพากร https://www.rd.go.th/publish/index.html หรือ call Center 0-2272-8000
-----------