บุคคลสําคัญสมัยรัตนโกสินทร์ - บุคคลสําคัญสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น


13,766 ผู้ชม


บุคคลสําคัญสมัยรัตนโกสินทร์ - บุคคลสําคัญสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

             สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง  บุนนาค)  เป็นบุตรชายคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์ (ดิศ)  กับท่านผู้หญิงจันทร์  เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม  พ.ศ. ๒๓๕๑  ในวัยเด็กได้รับการศึกษาจากวัด  เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นในสมัยรัชกาลที่ ๒ บิดาซึ่งขณะนั้นเป็นพระยาพระคลัง  นำไปถวายตัวเป็นมหาดเล็ก และทำงานด้านพระคลังและกรมท่าอยู่กับบิดา  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓  รับราชการมีความชอบมาก  ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์มาตามลำดับ  จนเป็นหมื่นไวยวรนาถ  ใน พ.ศ. ๒๓๘๔  และเป็นพระยาศรีสุริยวงศ์ในตอนปลายรัชกาล  ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๔  ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์  ว่าที่สมุหกลาโหมเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้ฝักใฝ่สนใจศึกษาศิลปวิทยาของตะวันตก จึงจัดเป็นพวกหัวใหม่คนหนึ่งของสมัยนั้น  ท่านกับบิดาของท่านได้คอยช่วยเหลือสนับสนุนพวกมิชชันนารีที่เข้ามาสมัยรัชกาลที่ ๓  เพื่อให้เผยแพร่วิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ออกไป  เมื่อเซอร์จอห์นเบาว์ริง  เข้า มาทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับไทยในสมัยรัชกาลที่ ๔ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ทรงเป็น ๑ ใน ๕ ที่รัชกาลที่ ๔ ทรงแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาข้อสัญญากับเซอร์จอห์น เบาว์ริง  ทำการทำสนธิสัญญาสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี  และต่อมาท่านได้เป็นผู้แทนฝ่ายไทยในการทำสนธิสัญญาลักษณะเดียวกันกับนานาประเทศในตอนปลายรัชกาลที่ ๔  พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งเป็นวังหน้าหรือพระมหาอุปราชสวรรคต รัชกาลที่ ๔ ไม่ได้ทรงตั้งผู้หนึ่งผู้ใดขึ้นแทน ครั้นเมื่อรัชกาลที่ ๔ สวรรคตใน พ.ศ. ๒๔๑๑  ที่ประชุมเสนาบดีและพระบรมวงศานุวงศ์จึงได้อัญเชิญเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเสวยราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

และเชิญเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน  โดยมีมติเป็นเอกฉันท์  นอกจากนี้ยังเชิญกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ  พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวงสถานมงคล แม้จะมีผู้คัดค้านว่าการตั้งผู้ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  ควรให้เป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  แต่เสียงส่วนใหญ่ก็เห็นว่าควงจะตั้งไปเลย  ทั้งนี้อาจเพราะเกรงใจ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์  ซึ่งสนับสนุนกรมหมื่นบวรวิชัยชาญนับเป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ที่พระมหากษัตริย์ขึ้นเสวยราชย์  ขณะพระชนมพรรษาเพียง ๑๕ พรรษา  และมีผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเป็นผู้ใช้อำนาจแทน  จึงมีผู้หวั่นเกรงว่าอาจมีการชิงราชสมบัติดังเช่นที่พระยากลาโหมกระทำในสมัยอยุธยา  แต่เหตุการณ์เช่นนั้นก็มิได้เกิดขึ้น  เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์  ได้บริหารราชการมาด้วยความเรียบร้อย  พร้อมกันนั้นก็ได้จัดให้รัชกาลที่ ๕  ทรงได้รับการฝึกหัดการเป็นพระมหากษัตริย์ตามโบราณราชประเพณี  และให้ทรงเรียนรู้ศิลปวิทยาการสมัยใหม่ควบคู่ไปด้วย  นอกจากนั้นยังจัดให้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวาใน พ.ศ. ๒๔๓๑  อินเดียและพม่าใน พ.ศ. ๒๔๑๕  เพื่อทอดพระเนตรแบบแผนการปกครอง ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเจริญของประเทศที่อยู่ในความปกครองของตะวันตก  ซึ่งรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงนำแบบอย่างที่เหมาะสมมาปรับปรุงประเทศให้เจริญก้าวหน้าในเวลาต่อมาเมื่อรัชกาลที่ ๕  ทรงบรรลุนิติภาวะใน พ.ศ. ๒๔๑๖  ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ ๒  ซึ่งแสดงว่าจะทรงว่าราชการบ้านเมืองเอง  ในพระราชพิธีครั้งนี้โปรดเกล้าฯ  ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

                แม้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์จะพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชกาลแผ่นดินแล้ว  แต่ก็คงทำหน้าที่ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินต่อมา  จนถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. ๒๔๒๕  รวมอายุได้ ๗๔  ปี

 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ

 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

         สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เป็นพระโอรสในรัชกาลที่ ๔  กับเจ้าจอมมารดาชุ่ม  มีพระนามเดิมว่า  พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร  ประสูติเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๕  ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้นในพระบรมหมาราชวัง  ในสมัยรัชกาลที่ ๕  ได้รับการสถาปนาเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ  แล้วเลื่อนเป็นกรมหลวง  ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖  ได้เลื่อนขึ้นเป็นกรมพระยา  และเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๗  ได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ   สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาบ้านเมือง โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ ๕  ทรงปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วนความวิริยะอุตสาหะ  มีความรอบรู้  มีความซื่อสัตย์  และจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์    ผลงานสำคัญมี 3 ด้าน     การศึกษา                 ใน พ.ศ. ๒๔๒๓  ทรงได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก จึงเกี่ยวข้องกับการศึกษามาตั้งแต่นั้น  เนื่องจากมีการตั้งโรงเรียนทหารมหาดเล็กขึ้นในกรมทหารมหาดเล็ก ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงเรียนพลเรือน  จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๓  ทรงเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการและกำกับกรมธรรมการ  จึง ปรับปรุงงานด้านการศึกษาให้ทันสมัย เช่น กำหนดจุดมุ่งหมายทางการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ คือ ฝึกคนเพื่อเข้ารับราชการ กำหนดหลักสูตร เวลาเรียนให้เป็นแบบสากล  ทรงนิพนธ์แบบเรียนเร็วขึ้นใช้เพื่อสอนให้อ่านได้ภายใน ๓ เดือน  มีการตรวจคัดเลือกหนังสือเรียน  กำหนดแนวปฏิบัติราชการในกรมธรรมการ  และริเริ่มขยายการศึกษาออกไปสู่ราษฎรสามัญชน  เป็นต้น   การปกครอง                 ทรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคนแรกเป็นเวลานานถึง ๒๓ ปี ติดต่อกันตั้งแต่  พ.ศ. ๒๔๓๕ - ๒๔๕๘  ทรงมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานระบบการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคในแนวใหม่  โดยยกเลิกการปกครองที่เรียกว่า  ระบบกินเมือง   ซึ่งให้อำนาจเจ้าเมืองมาก มาเป็นการรวมเมืองใกล้เคียงกันตั้งเป็นมณฑล  และส่งข้าหลวงเทศาภิบาลไปปกครองและจ่ายเงินเดือนให้พอเลี้ยงชีพ  ระบบนี้เป็นระบบการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง  นอกจากนี้มีการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นในกระทรวงมหาดไทย  เพื่อทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขราษฎร  เช่น  กรมตำรวจ  กรมป่าไม้  กรมพยาบาล  เป็นต้น  ตลอด เวลาที่ทรงดูแลงานมหาดไทย ทรงให้ความสำคัญแก่การตรวจราชการเป็นอย่างมาก เพราะ ต้องการเห็นสภาพเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎร ดูการทำงานของข้าราชการ และเป็นขวัญกำลังใจแก่ข้าราชการหัวเมืองด้วย   งานพระนิพนธ์

                ทรงนิพนธ์งานด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมไว้เป็นจำนวนมาก  ทรงใช้วิธีสมัยใหม่ในการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์และโบราณคดี  จนได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ไทย    สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘  ในสมัยรัชกาลที่ ๖  เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ แต่ต่อมาเสด็จกลับเข้ารับราชการอีกครั้ง    ในตำแหน่งเสนาบดีมุรธาธร   และเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ ๗  ทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรี งานสำคัญอื่นๆ ที่ทรงวางรากฐานไว้  ได้แก่  หอสมุดสำหรับพระนคร  และงานด้านพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖  ทรงเป็นต้นราชสกุล ดิศกุล  ใน พ.ศ. ๒๕๐๕  ยูเนสโกประกาศยกย่องพระองค์ให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมระดับโลก นับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับเกียรติจากสถาบันแห่งนี้ 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ

รมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ  

           สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าวัญอุไทยวงศ์  ประสูติเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๑  เป็นพระเจ้าลูกยาเธอองค์ที่สองในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และเจ้าจอมมารดาเปี่ยม

              เมื่อมีพระชันษา ๑๗ ปี  ทรงเข้ารับราชการทำหน้าที่ตรวจบัญชีคลังร่วมกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศร์วรฤทธิ์  ในสมัยนั้นการเก็บภาษีอากรของแผ่นดินยังไม่เป็นระเบียบ ผลประโยชน์ของแผ่นดินรั่วไหลมาก  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงปฏิรูปการปกครองแผ่นดินด้วยการตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์  อันเป็นต้นกำเนิดของกระทรวงการคลังขึ้น  มีการตั้งสำนักงานออดิต ออฟฟิศ  แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์เป็นหัวหน้าพนักงาน  ซึ่งทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดี  ทรงพระปรีชารอบรู้ทั้งภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ  และวิชาเลข  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงโปรดเกล้าฯ  ให้ไปรับราชการช่วยเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร  บุนนาค)  ราชเลขฝ่ายต่างประเทศ  หลังจากนั้นทรงดำรงตำแหน่งเป็นราชเลขาธิการ  และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  สถาปนาให้ทรงกรม  เป็นกรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ 

 เมื่อ  พ.ศ. ๒๔๒๔  กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ  ทรงริเริ่มให้มีการตั้งทูตไทยประจำราชสำนักต่างประเทศ เพื่อความสะดวกในการเจรจากับกงสุลต่างประเทศ  และทรงดำริที่จะทำสัญญากับอังกฤษจัดตั้งศาลต่างประเทศขึ้นที่เชียงใหม่ อันเป็นการ

เริ่มนำคนในบังคับต่างประเทศมาไว้ในอำนาจศาลไทย

ใน พ.ศ. ๒๔๒๔  ตำแหน่งเสนาบดีกรมท่าว่างลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งกรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการเป็นเสนาบดีกรม  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  เลื่อนเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมชั้นผู้ใหญ่เป็นกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ  ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ  ทรงพยายามที่จะหาทางรักษาไมตรีระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ  ให้ดำเนินไปด้วยดี  กรณีวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒  มีการปะทะกันระหว่างเรือของฝรั่งเศสกับไทย  พระองค์ทรงช่วยผ่อนคลายสถานการณ์อันตึงเครียดถึงแม้ว่าจะต้องสูญเสียดินแดนไปบ้าง แต่ก็ยังคงรักษาเอกราชของไทยไว้ได้ นสมัยรัชกาลที่ ๖ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีสืบมา และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว   ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระอิสริยยศเป็นกรมพระเทวะวงศ์วโรปการ

                เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙  ทรงเป็นมหาอำมาตย์ยศเทียบเท่ากับจอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๖  พระชันษา ๖๕ ปี  ทรงเป็นต้นราชสกุล  เทวกุล

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ

จ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

  

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์   เป็นเจ้าฟ้าผู้ทรงพระปรีชาสามารถในวิชาการหลายแขนง ทรงเป็นปราชญ์ทางอักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ดนตรี และงานช่าง  พระองค์มีพระนามเดิมว่า  พระองค์เจ้าจิตรเจริญ  เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับหม่อมเจ้าหญิงพรรณราย  ประสูติที่ตำหนักในพระบรมมหาราชวัง  เมื่อวันที่  ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๖  ทรงได้รับการศึกษาขั้นต้นที่โรงเรียนคะเด็ตทหาร  จากนั้นผนวชเป็นสามเณรอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร  หลังจากนั้นทรงศึกษาวิชาการต่าง ๆ  และราชประเพณี

พระองค์เจ้าจิตรเจริญทรงผนวชเป็นพระภิกษุใน พ.ศ. ๒๔๒๗  ครั้นลาผนวชแล้ว  ทรงรัชราชการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระสติปัญญารอบรู้  เป็นที่วางพระราชหฤทัยจนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น  พระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ ทรงรับราชการในตำแหน่งสำคัญ  อยู่หลายหน่วยงานเพื่อวางรากฐานในการบริหารราชการให้มั่นคง ทั้งกระทรวงโยธาธิการ  กระทรวงพระคลัง  และกระทรวงวัง

               ใน พ.ศ. 2452  ทรงกราบบังคมลาออกจากราชการ เนื่องจากประชวร    ด้วยโรคพระหทัยโต  ทรงปลูกตำหนักอยู่ที่คลองเตย และเรียกตำหนักนี้ว่า  บ้านปลายเนิน  ครั้นเมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์  และโปรดเกล้าฯ  ให้ทรงกลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง  จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  จึงทรงพ้นจากตำแหน่ง

                ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้เลื่อนกรมขึ้นเป็น  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์   ในบั้นปลายพระชนม์ทรงประทับที่บ้านปลายเนินจนสิ้นพระชนม์ลงเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐  พระชันษา ๘๓ ปี  ทรงเป็นต้นราชสกุล  จิตรพงศ์ 

                สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศนุวัดติวงศ์  ทรงมีพระปรีชาสามารถในงานช่างหลายแขนง ได้ทรงงานออกแบบไว้เป็นจำนวนมาก  ทั้งงานภาพเขียนในวรรณคดี  ภาพประดับผนัง  พระราชลัญจกรและตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ  ตาลปัตร  ตลอดจนสถาปัตยกรรม  ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลาย เช่น พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม  พระอุโบสถวัดราชาธิวาส  พระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ ฯลฯ  ด้วยพระปรีชาสามารถทางด้านงานช่างนี้เอง  ทำให้ทรงได้รับพระสมัญญานามว่า  นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม 

                 นอกจากนี้ยังทรงพระปรีชาสามารทางด้านดนตรี  ทรงพระนิพนธ์เพลงเขมรไทรโยค เพลงตับนิทราชาคริต เพลงตับจูล่ง ฯลฯ  ส่วนด้านวรรณกรรมทรงมีลายพระหัตถ์โต้ตอบกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นเอกสารที่มีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรมประเพณีและอักษรศาสตร์ ที่รู้จักกันทั่วไปในนาม  สาส์นสมเด็จ ความที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงพระปรีชาสามารถในวิชาการหลายแขนงจึงมิได้เป็นบุคคลสำคัญของชาติไทยเท่านั้น  หากแต่ทรงเป็นบุคคลที่ชาวโลกพึงรู้จัก โดยใน พ.ศ. ๒๕๐๖  อันเป็นวาระครบรอบร้อยปีแห่งวันประสูติ ยูเนสโกได้ประกาศให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญของโลกพระองค์หนึ่ง

ขรัวอินโข่ง  

ขรัวอินโข่ง  เป็นชื่อเรียกพระอาจารย์อิน  ซึ่งเป็นจิตรกรในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ขรัวอินโข่งเป็นชาวบางจาน จังหวัดเพชรบุรี  บวชอยู่จนตลอดชีวิตที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ)  กรุงเทพฯ  การที่ท่านบวชมานานจึงเรียกว่า ขรัว ส่วนคำว่า โข่ง นั้นเกิดจากท่านบวชเป็นเณรอยู่นานจนใคร ๆ  พากันเรียกว่า  อินโข่ง  ซึ่งคำว่า โข่ง หรือโค่ง หมายถึง ใหญ่หรือโตเกินวัยนั่นเอง

           ขรัวอินโข่ง  เป็น ช่างเขียนไทยคนแรกที่มีความรู้ในการเขียนภาพทั้งแบบไทยที่นิยมเขียนกันมาแต่ โบราณ และทั้งแบบตะวันตกด้วย นับเป็นจิตรกรคนแรกของไทยที่มีพัฒนาการเขียนรูปจิตรกรรมฝาผนังโดยการนำทฤษฎี การเขียนภาพแบบสามมิติแบบตะวันตกเข้ามาเผยแพร่ในงานจิตรกรรมของไทยในยุคนั้น ภาพต่าง ๆ  ที่ขรัวอินโข่งเขียนจึงมีแสง  เงา  มีความลึกและเหมือนจริง        

                                                                     

                                                ภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดย ขรัวอินโข่ง   

ผลงานของขรัวอินโข่งเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาก เคยโปรดเกล้าฯ  ให้เขียนรูป

ต่างๆ  ตามแนวตะวันตกไว้ที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นภาพเขียนแรก ๆ  ของขรัวอินโข่ง  นอกจากนั้นมีภาพเหมือนพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่หอพระราชกรมานุสรณ์

          ภาพของขรัวอินโข่งเท่าที่มีปรากฏหลักฐานและมีการกล่าวอ้างถึง อาทิ ภาพเขียนชาดก เรื่องพระยาช้างเผือก  ที่ผนังพระอุโบสถ  และภาพสุภาษิตที่บานแผละ  หน้าต่างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ภาพพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ในหอพระราชพงศานุสรณ์ในพระบรมมหาราชวัง ภาพปริศนาธรรมที่ผนังพระอุโบสถวัดบรมนิวาส  ภาพพระบรมรูปรัชกาลที่ ๔ ฯลฯ          

การเขียนภาพแบบตะวันตก

ที่ใช้แสงและเงาสร้างเป็นภาพ 3 มิติ

          ภาพเขียนจากฝีมือขรัวอินโข่งเหล่านี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว    โดดเด่น  แปลกตา  ใช้สีเข้มและสีอ่อน  แตกต่างจากงานจิตรกรรมที่เคยเขียนกันมาในยุคนั้น  ทำให้เกิดรูปแบบใหม่ของงานจิตรกรรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เรียกกันว่า  จิตรกรรมสกุลช่างขรัวอินโข่ง  ที่เป็นต้นกำเนิดของงานจิตรกรรมไทยในยุคต่อ ๆ  มา           

พระประดิษฐ์ไพเราะ  

(มี  ดุริยางกูร)  

              พระประดิษฐ์ไพเราะ  เป็นครูดนตรีไทยคนสำคัญของกรุงรัตนโกสินทร์  สันนิษฐานว่าเกิดตอนปลายสมัยรัชกาลที่ ๑  คนทั่วไปมักเรียกท่านว่า  ครูมีแขก  สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงสืบประวัติไว้ว่า  ครูปี่พาทย์ชื่อครูมีแขกนั้น  คือเป็นเชื้อแขก  ชื่อมี  ครูมีแขกเป็นผู้เชี่ยวชาญคนตรีไทยเกือบทุกประเภท  ทั้งยังแต่งเพลงด้วย เพลงที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ทยอยนอก ทยอยใน 3 ชั้น

           ในสมัยรัชกาลที่ 4  เจ้านายหลายพระองค์รวบรวมคนหัดปี่พาทย์ขึ้นเล่นประชันวงกัน  ครูมี ได้เป็นครูปี่พาทย์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระประดิษฐ์ไพเราะ  ตำแหน่งปลัดจางวางมหาดเล็ก

           ได้ว่ากรมปี่พาทย์ฝ่ายพระบรมมหาราชวัง ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เป็นครูมโหรีของกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร  นอกจากมีความสามารถในการเป่าปี่แล้ว  ครูมีแขกยังชำนาญในการสีซอสามสาย  โดยได้แต่งเพลงเดี่ยวเชิดนอกทางซอสามสายไว้ด้วย

          ครูมีแขกถึงแก่กรรมในสมัยรัชกาลที่ ๕  ประมาณระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๗ ๒๔๒๑   ทิ้งไว้เพียงชื่อเสียง คุณงามความดี และคุณูปการอันมากล้นสำหรับวงดนตรีไทย

ดร.แดน บีช แบรดเลย์

(Dr.Dan Beach Bradley)   

ดร.แดน บีช แบรดเลย์  ชาวไทยเรียกกันว่า  หมอบรัดเลย์  หรือ  ปลัดเล  เป็นชาวนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา  เกิดเมื่อ  พ.ศ. ๒๓๔๕  หมดบรัดเลย์เดินทางเข้ามายังสยาม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๘   โดยพักอาศัยอยู่กับมิชชันนารี ชื่อ จอห์นสัน ที่วัดเกาะ  เมื่อเข้ามาอยู่เมืองไทย  ในตอนแรกหมอบรัดเลย์เปิดโอสถศาลาขึ้นที่ข้างใต้วัดเกาะ  รับรักษาโรคให้แก่ชาวบ้านแถวนั้น  พร้อมทั้งสอนศาสนาคริสต์ให้แก่ชาวจีนที่อยู่ในเมืองไทย  ส่วนซาราห์ ภรรยาของหมอเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ

 

ต่อมาหมอบรัดเลย์ย้ายไปอยู่แถวโบสถ์วัดซางตาครูส  ขยายกิจการจากรับรักษาโรคเป็นโรงพิมพ์  โดยรับพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับศาสนาคริสต์แจก  และพิมพ์ประกาศของทางราชการ  เรื่องห้ามนำฝิ่นเข้ามาในประเทศสยาม  เป็นฉบับแรก  จำนวน ๙,๐๐๐ แผ่น   เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๘๒  อีกด้วย   กิจการโรงพิมพ์นี้นับเป็นประโยชน์สำหรับคนไทยมาก  เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญซึ่งคนรุ่นหลังได้ศึกษาส่วนหนึ่งก็มาจากโรงพิมพ์ของหมอบรัดเลย์  นอกจากนี้ท่านได้ออกหนังสือพิมพ์รายปีฉบับหนึ่ง ชื่อว่า  บางกอกคาเลนเดอร์ (Bangkok Calender)  ต่อมาได้ออกหนังสือพิมพ์รายปักษ์อีกฉบับหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ ชื่อว่า  บางกอกรีคอร์เดอร์ (Bangkok Recorder)  นอกจากหนังสือพิมพ์แล้วยังได้พิมพ์หนังสือเล่มจำหน่ายอีกด้วย เช่น ไคเภ็ก  ไซ่ฮั่น  สามก๊ก  เลียดก๊ก  ห้องสิน ฯลฯ  หนังสือของหมอบรัดเลย์นั้น  เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่ขุนนางและราชสำนัก  โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ที่ลงบทความแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง

 

นอกจากงานด้าน โรงพิมพ์ที่หมอบรัดเลย์เข้ามาบุกเบิกและพัฒนาให้วงการสิ่งพิมพ์ไทยแล้ว งานด้านการแพทย์และด้านสาธารณสุขที่ท่านทำไว้ก็มิได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน  หมอบรัดเลย์นับว่าเป็นหมอฝรั่งคนแรกที่ได้นำเอาหลักวิชาแพทย์สมัยใหม่เข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทย  มีการผ่าตัดและช่วยรักษาโรคต่างๆ  โดยใช้ยาแผนใหม่  ซึ่งช่วยให้คนไข้หายป่วยอย่างรวดเร็ว  ที่สำคัญที่สุด คือ การปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ

              ด้วยคุณงามความดีที่หมอบรัดเลย์มีต่อแผ่นดินไทย  พระ บาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พวก มิชชันนารีและหมอบรัดเลย์เช่าที่หลังป้อมวิไชยประสิทธิ์อยู่จนถึงรัชสมัยพระ บาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานให้อยู่โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าจนกระทั่งหมอบรัดเลย์ถึงแก่กรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖  รวมอายุได้ ๗๑ ปี 

               พระกัลยาณไมตรี                                                

                                          (ดร.ฟรานซิส บี แซร์)   

                                    (Dr. Francis Bowes Sayre)

   ประวัติและผลงานที่สำคัญ

              พระยากัลยาณไมตรี  เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘   ที่มลรัฐเพนซิลวาเนีย  สหรัฐอเมริกา  สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  และได้เป็นศาสตราจารย์วิชากฎหมายของมหาวิทยาลัยแห่งนี้  ก่อนที่จะเข้ามารับราชการในประเทศไทยในตำแหน่งที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๖ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๘

                     ดร.แซร์  มีบทบาทสำคัญในการปลดเปลื้องข้องผูกพันตามสนธิสัญญาเบาว์ริงที่ไทยทำไว้กับประเทศอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ ๔  และสนธิสัญญาลักษณะเดียวกันที่ไทยทำไว้กับประเทศอื่น ๆ  ซึ่งฝ่ายไทยเสียเปรียบมากในเรื่องที่คนในบังคับต่างชาติไม่ต้องขึ้นศาลไทย  และไทยจะเก็บภาษีจากต่างประเทศเกินร้อยละ ๓ ไม่ได้  ประเทศไทยพยายามหาทางแก้ไขสนธิสัญญาเสียเปรียบนี้มาโดยตลอด  ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ มาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๖  ปรากฏว่ามีเพียง ๒ ประเทศที่ยอมแก้ไขให้โดยยังมีข้อแม้บางประการ  ได้แก่  สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ยอมแก้ไขใน พ.ศ. ๒๔๓๖  และญี่ปุ่นยอมแก้ไขใน พ.ศ. ๒๔๖๖                  เมื่อ ดร.แซร์  เข้ามาประเทศไทยแล้ว  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนประเทศไทยไปเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศในยุโรป  ดร.แซร์  เริ่มออกเดินทางไปปฏิบัติงานใน พ.ศ. ๒๔๖๗  การเจรจาเป็นไปอย่างยากลำบาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจรจากับอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งต่างก็พยายามรักษาผลประโยชน์ของตนเต็มที่  แต่เนื่องจาก ดร.แซร์  เป็นผู้มีวิริยอุตสาหะ  มีความสามารถทางการทูต  และมีความตั้งใจดีต่อประเทศไทย  ประกอบกับสถานภาพส่วนตัวของ ดร.แซร์  ที่เป็นบุตรเขยของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกา  จึงทำให้การเจรจาประสพความสำเร็จ  ประเทศในยุโรปที่ทำสนธิสัญญากับไทย ได้แก่  ประเทศอังกฤษ  ฝรั่งเศส  เนเธอร์แลนด์ สเปน โปรตุเกส เดนมาร์ก สวีเดน อิตาลี และเบลเยี่ยม  ยินยอมแก้สนธิสัญญาให้เป็นแบบเดียวกับที่สหรัฐอเมริกายอมแก้ให้                ดร.แซร์  ถวายบังคมลาออกจากหน้าที่กลับไปสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. ๒๔๘๖  แต่ก็ยังยินดีที่จะช่วยเหลือประเทศไทย ดังเช่นใน พ.ศ. ๒๔๖๙  หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ได้ไม่นาน  ดร.แซร์ได้ถวายคำแนะนำเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง และแนวทางแก้ปัญหาต่าง ๆ  ตามที่ทรงถามไป  และยังได้ร่างรัฐธรรมนูญถวายให้ทรงพิจารณาด้วย               จากคุณงามความดีที่ ดร.แซร์  มีต่อประเทศไทย  จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ และต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๑  รัฐบาลไทยได้ตั้งชื่อถนนข้างกระทรวงต่างประเทศ (วังสราญรมย์)  ว่าถนนกัลยาณไมตรีพระยากัลยาณไมตรีถึงแก่อนิจกรรมที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕  อายุได้ ๘๗  ปี    เรื่องน่ารู้

                      ดร.ฟรานซิส บี. แซร์  เป็นชาวตะวันตกคนที่ ๒  ที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยากัลยาณไมตรีชาวตะวันตกคนแรกที่เป็นพระยากัลยาณไมตรี เป็นคนอเมริกันเช่นเดียวกับ ดร.แซร์  มีนามเดิมว่า  เจนส์ ไอเวอร์สัน เวสเตนการ์ด  (Jens Iverson Westengard)  เข้ามารับราชการในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่  ๕ - ๖  โดยใน พ.ศ. ๒๔๔๖ - ๒๔๕๑  เป็นผู้ช่วยที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน  หลังจากนั้นเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินจนถึง พ.ศ. ๒๔๕๘  จึงกราบถวายบังคมลาออกกลับไปสหรัฐอเมริกา  เวสเตนการ์ดได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยากัลยาณไมตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔  และถึงแก่กรรม เมื่อ พ.ศ.  ๒๔๖๑  อายุ ๔๗  ปี

Source: https://personinhistory.exteen.com/page-6

บุคคลสําคัญสมัยรัตนโกสินทร์ - บุคคลสําคัญสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

อัพเดทล่าสุด