บุคคลสําคัญสมัยรัตนโกสินทร์ - ประวัติบุคคลสําคัญสมัยรัตนโกสินทร์2


1,384 ผู้ชม


พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 

                                   พระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่า ด้วง  ประสูติในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ  เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙  พระบิดามีพระนามเดิมว่า ทองดี พระมารดาชื่อ หยก

                เมื่อทรงมีพระชันษา ๒๑ พรรษา  ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ๓ เดือน  เมื่อลาสิกขาก็ทรงเข้ารับราชการในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ครั้นถึงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศทรงได้รับตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตร  ประจำเมืองราชบุรี  พระองค์ทรงมีความชำนาญในการรบอย่างยิ่ง  จึงได้รับพระราชทานปูนกำเหน็จความดีความชอบให้เลื่อนเป็นพระราชวรินทร์  พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยายมราชว่าที่สมุหนายก  เจ้าพระยาจักรี  และในที่สุดได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก   มีเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม  เมื่อทรงตีได้เวียงจันทร์   พระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)  จากเมืองจันทน์มายังกรุงธนบุรีด้วย  ต่อมาเกิดเหตุจลาจลได้สำเร็จ  ข้าราชการและประชาชนจึงอัญเชิญเป็นพระมหากษัตริย์แทนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

                                     พระราชกรณียกิจ

           พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเป็นทั้งนักปกครองและนักการทหารที่ยอดเยี่ยม  ทรงแต่งตั้งให้เจ้านายที่เคยผ่านราชการทัพศึกมาทำหน้าที่ช่วยในการปกครองบ้านเมืองโปรดเกล้าฯ

                  - ให้ชำระกฎหมายให้สอดคล้องกับยุคสมัยของบ้านเมือง คือ กฎหมายตราสามดวง

                 - รวมถึงการชำระพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์อันเป็นเครื่องส่งเสริมความมั่นคงของกรุงรัตนโกสินทร์

                  - นอกจากนี้พระองค์ยังคงทรงส่งเสริมวัฒนธรรมของชาติ  ทั้งด้านวรรณกรรมที่ทรงแสดงพระปรีชาสามารถในการประพันธ์  โดยพระราชนิพนธ์  บทละครเรื่องรามเกียรติ์  บทละครเรื่องอุณรุท  บทละครเรื่องอิเหนา  บทละครเรื่องดาหลัง  เพลงยาวรบพม่าที่ท่าดินแดง  นอกจากด้านวรรณกรรมแล้ว  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยังทรงส่งเสริมศิลปะด้านสถาปัตยกรรม  ประติมากรรม  และนาฏกรรม

                 - ภายหลังที่ครองกรุงรัตนโกสินทร์เพียง ๓ ปี  ได้เกิดศึกพม่ายกทัพมาตีเมืองไทย  พระองค์ทรงจัดกองทัพต่อสู้จนทัพพม่าแตกพ่าย  ยังความเป็นเอกราชให้กับแผ่นดินไทยมาจนทุกวันนี้  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นต่อพสกนิกรชาวไทย เป็น มหาราช อีกพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยและทรงเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชจักรีวงศ์  ที่ปกครองบ้านเมืองให้เกิดความสงบสุขจวบจนปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

                        พระราชประวัติ
        พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ  เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒  กับกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑๗  ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๔๗ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะเสด็จสวรรคตนั้น  พระองค์มิได้ตรัสมอบราชสมบัติให้แก่เจ้านายพระองค์ใด  ที่ ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่จึงปรึกษายกราชสมบัติให้แก่พระเจ้า ลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ฝ่ายเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งทรงผนวชตามราชประเพณีก่อนพระราชบิดาสวรรคตไม่กี่วัน จึงได้ดำรงอยู่ในสมณเพศต่อไปถึง ๒๖ พรรษา ทำให้พระองค์มีเวลาทรงศึกษาวิชาการต่างๆ อย่างมากมาย  โดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ เป็นเหตุให้ทรงทราบเหตุการณ์โลกภายนอกอย่างกระจ่างแจ้ง  ทั้งยังได้เสด็จธุดงค์จาริกไปนมัสการปูชนียสถานตามหัวเมืองห่างไกล ที่ทำให้ทรงทราบสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรเป็นอย่างดี               

               เมื่อ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่จึงมีมติให้อัญเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎ ขึ้นครองราชย์สมบัติ ในวันที่  ๒  เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๔  ขณะที่มีพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา  

                                    พระราชภารกิจที่สำคัญ

           - การทำสนธิสัญญากับอังกฤษ  เพื่อแลกกับเอกราชของประเทศ  ยอมให้ตั้งสถานกงสุลและมีสิทธิสภาพนอกราชอาณาเขต  ยอมเลิกระบบการค้าผูกขาดเป็นการค้าเสรี  เก็บภาษีขาเข้าในอัตราร้อยชักสาม

                  - ทรงปรับปรุงการรักษาความมั่นคงของประเทศ  มีการตั้งข้าหลวงปักปันพระราชอาณาเขตชายแดนด้านตะวันตกร่วมกับอังกฤษ  ทรงจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวยุโรปมาสำรวจทำแผนที่พระราชอาณาเขตชายแดนด้านตะวันออก  จ้างนายทหารยุโรปมาฝึกสอนวิชาทหารแบบใหม่  ทรงให้ต่อเรือกลไฟขึ้นใช้หลายลำและผลจากการทำสัญญากับอังกฤษทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองมาก

                  - พระองค์จึงขยายพระนครออกไปทางทิศตะวันออก  ได้มีการขุดคลองและสร้างถนนขึ้นมากมาย เช่น คลองผดุงกรุงเกษม คลองภาษีเจริญ คลองดำเนินสะดวก ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร

                 - ได้เกิดกิจการแบบตะวันตกขึ้นหลายอย่าง เช่น ใช้รถม้าเดินทาง มีตึกแบบฝรั่ง มีโรงสีไฟ โรงเลื่อยจักร เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการรับชาวต่างประเทศเข้ามารับราชการ  ออกหนังสือราชกิจจานุเบกษา  ตั้งโรงกษาปณ์ ฯลฯ - พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเสรีภาพในการนับถือศาสนา  เพราะทรงเห็นว่าไม่มีผลต่อกิจการแผ่นดิน

                 - พระองค์ได้ทรงบัญญัติกฎหมายขึ้นเกือบ 500 ฉบับ ซึ่งเป็นกฎหมายที่เต็มไปด้วยมนุษยธรรม

                - พระองค์ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทรงยอมรับวิชาการทางตะวันตกมาใช้ เช่น การถ่ายรูป การก่อสร้าง และงานเครื่องจักร เป็นต้น  ทั้งยังทรงมีพระปรีชาสามารถในด้านดาราศาสตร์ คือ ทรงคำนวณเวลาเกิดสุริยุปราคาหมดดวงในประเทศไทย  ที่ตำบลหว้ากอ  แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์  ได้ว่าจะเกิดขึ้นวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑  เวลา ๑๐.๓๒ นาฬิกา  เวลาดวงอาทิตย์มืดเต็มดวง  คือ  ๖ นาที ๔๖ วินาที และเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นจริงตามที่ทรงคำนวณไว้ทุกประการ

               ในการเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาครั้งนั้นทำให้พระองค์ประชวรด้วยไข้จับสั่นอย่างแรง และเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑  ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑  สิริพระชนมายุได้ ๖๔ พรรษา  รวมเวลาครองราชย์ได้ ๑๗ ปีเศษ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

                           พระราชประวัติ
                  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๔  และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี  พระราชสมภพเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖  มี พระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงได้รับการศึกษาขั้นต้นในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพระชนมายุ ๑๓ พรรษา ทรงเป็นกรมขุนพินิตประชานาถ เสวยราชย์เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑

                ขณะมีพระชนมพรรษาเพียง ๑๕ พรรษา  โดยมีเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง  บุนนาค)  เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน  จนถึง พ.ศ. ๒๔๑๖ ทรงบรรลุนิติภาวะ  พระชนมพรรษาครบ ๒๐ พรรษา จึงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ทรงครองราชสมบัติยาวนานถึง ๔๒ ปี  สวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓

 พระราชกรณียกิจที่สำคัญ

        เพื่อให้ไทยเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศและรอดพ้นจากภัยจักรวรรดินิยมที่กำลังคุกคามภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ขณะนั้น  รัชกาลที่ 5 ทรงพัฒนาและปรับปรุงประเทศทุกด้าน เช่น 

การปกครอง

                ทรงปฏิรูปการปกครองใหม่ตามอย่างตะวันตก  แยกการปกครองออกเป็น 3 ส่วน คือการปกครองส่วนกลาง  แบ่งเป็นกระทรวงต่างๆ การปกครองส่วนภูมิภาคโดยระบบเทศาภิบาลและการปกครองส่วนท้องถิ่นในรูปสุขาภิบาล กฎหมายและการศาล

                ให้ตั้งกระทรวงยุติธรรมรับผิดชอบศาลยุติธรรม  เป็นการแยกอำนาจตุลาการออกจากฝ่ายบริหารเป็นครั้งแรก  ยกเลิกจารีตนครบาล

                ที่ใช้วิธีโหดร้ายทารุณในการไต่สวนคดีความ  ตั้งโรงเรียนกฎหมายขึ้น และประกาศใช้ประมวลกฎหมายลักษณะอาญาอันเป็นประมวลกฎหมายฉบับแรกของไทย  การปรับปรุงกฎหมายและการศาลนี้เป็นลู่ทางที่ทำให้ประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตได้ในภายหลัง 

สังคมและวัฒนธรรม 

               ทรงยกเลิกระบบทาสและระบบไพร่ ให้ประชาชนมีอิสระในการดำรงชีวิต  ยกเลิกประเพณีที่ล้าสมัย  และรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา 

การเงิน การธนาคารและการคลัง

                ผลจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยรัชกาลที่ ๔  ทำให้เศรษฐกิจการค้าขยายตัว  มีชาวต่างประเทศเข้ามาทำกิจการในประเทศไทยมากขึ้น  รัชกาลที่ ๕  จึงให้ออกใช้ธนบัตรและมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่แน่นอนเป็นครั้งแรก  ทรงอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ของต่างประเทศเข้ามาตั้งสาขาและสนับสนุนให้คนไทยตั้งธนาคารพาณิชย์ขึ้น  ในด้านการคลัง มีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินเป็นครั้งแรก  และปรับปรุงระบบจัดเก็บภาษีอากรให้มีประสิทธิภาพขึ้น 

สาธารณูปโภค

                ทรงให้สร้างถนนเพิ่มเติม ขุดคลองใหม่และลอกคลองเดิม  เพื่อใช้ในการคมนาคมและขยายพื้นที่เพาะปลูก  ทรงริเริ่มให้จัดกิจการสาธารณูปโภคหลายอย่างขึ้นเป็นครั้งแรก เช่น รถไฟ  รถราง  โทรเลข  ไปรษณีย์  โทรศัพท์  ไฟฟ้า  ประปา  การ

แพทย์และการสาธารณสุข

                ทรงปรับปรุงกิจการด้านนี้ให้เป็นแบบสมัยใหม่ เช่น ตั้งโรงพยาบาลวังหลัง (ศิริราช)  สภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดไทย)  กรมสุขาภิบาล  โรงเรียนสอนแพทย์  โรงเรียนผดุงครรภ์และพยาบาล  เป็นต้น 

ารศึกษา

                มีการสร้างโรงเรียนหลวง  เพื่อ ให้การศึกษาแก่ราษฎรและทรงส่งพระราชโอรสและพระบรมวงศานุวงศ์ไปศึกษาต่าง ประเทศ จุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาก็เพื่อฝึกคนให้มีความรู้สำหรับเข้ารับราชการ               

การศาสนา 

               โปรดเกล้าฯ  ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองสงฆ์  จัดตั้งสถานศึกษาสงฆ์ คือ มหามกุฏราชวิทยาลัย  และให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎก 

การทหาร

                ทรงปรับปรุงหน่วยทหารและอาวุธยุทธภัณฑ์ให้ทันสมัย  ตั้งกรมยุทธนาธิการซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นกระทรวงกลาโหม  ตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบก  โรงเรียนนายเรือ  และตราพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหารขึ้นใช้เป็นครั้งแรก

                ในการปรับปรุงพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ  เนื่อง จากในขณะนั้นคนไทยมีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิทยาการสมัยใหม่ยังมีน้อย รัชกาลที่ ๕ จึงต้องทรงจ้างชาวต่างประเทศเข้ามาเป็นที่ปรึกษาและรับราชการเป็นจำนวนมาก ส่งวนใหญ่เป็นชาวตะวันตก เช่น อังกฤษ  อเมริกัน  เยอรมัน  ฝรั่งเศส  เบลเยียม  เดนมาร์ก  ที่เป็นชาวตะวันออกก็มีอยู่บ้าง เช่น ญี่ปุ่น  ลังกา  ปรากฏว่าชาวต่างประเทศที่จ้างมาทำงานได้ผลดีสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยเป็นอย่างมาก  บางคนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นถึงพระยา เจ้าพระยานอกจากนี้รัชกาลที่ 5  ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศ  โดยได้เสด็จประพาสสิงคโปร์ของอังกฤษและเกาะชวาอาณานิคมของฮอลันดา  ต่อมาเสด็จประพาสอินเดียซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ  ทรงนำความเจริญของดินแดนเหล่านี้มาประกอบในการพัฒนาประเทศไทย

                ใน พ.ศ. ๒๔๔๐ รัชกาลที่ ๑  เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๑  ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ  กว่า ๑๐ ประเทศ  เป็นผลดีต่อฐานะของประเทศไทยในสังคมระหว่างประเทศ  ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๔๙ ๒ - ๒๔๕๐ ได้เสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งที่ ๒  เพื่อเยี่ยมพระราชโอรสที่ศึกษาอยู่ในประเทศต่างๆ  และรักษาพระองค์ตามที่แพทย์ถวายคำแนะนำ  ในโอกาสเดียวกันทรงได้เจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองกับประเทศต่าง ๆ ด้วย  แม้ว่ารัชกาลที่ ๕  จะทรงพัฒนาประเทศทุก ๆ  ด้าน และพยายามผูกมิตรกับประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ  แต่ประเทศไทยก็ยังไม่อาจรอดพ้นภัยจากลัทธิล่าอาณานิคมโดยสิ้นเชิง  ดังเช่นเกิดพิพาทกับฝรั่งเศสจนถึงขั้นปะทะกันที่ปากน้ำ สมุทรปราการ  ซึ่งเรียกว่าเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖)  เป็นต้น  รัชกาลที่ ๕ ต้องทรงยอมเสียดินแดนบางส่วนให้แก่ฝรั่งเศสและอังกฤษ  เพื่อรักษาเอกราชและดินแดนส่วนใหญ่ไว้   ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นอาณานิคมเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

                พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทยและประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง  จึงทรงได้รับพระราชสมัญญาว่า  พระปิยมหาราช  อันหมายถึงว่า  ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย  และในโอกาสครบรอบ ๑๕๐ พรรษาแห่งวันคล้ายวันพระราชสมภพ  วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖  องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  หรือยูเนสโก (UNESCO)  ได้ประกาศ ยกย่องให้พระองค์เป็นบุคคลสำคัญและมีผลงานดีเด่นของโลกทางสาขาการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา การพัฒนาสังคมและสื่อสาร 

Source: https://personinhistory.exteen.com/page-5

อัพเดทล่าสุด