ประวัติบุคคลสําคัญสมัยรัตนโกสินทร์ที่มา นายแพทย์แดน บีช แบรดเลย์


1,742 ผู้ชม


นายแพทย์แดน บีช แบรดเลย์


 

 ประวัติบุคคลสําคัญสมัยรัตนโกสินทร์ที่มา นายแพทย์แดน บีช แบรดเลย์

ประวัติ

๑.หมอบรัดเลย์ มีชื่อเดิมว่า นายแพทย์แดน บีช แบรดเลย์ 

(Dr.Dan BeachBradley,M.D.) คนไทยเรียกกันติดปากว่า หมอบรัดเลย์

   

๒.เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๐๔ (พ.ศ. ๒๓๔๗)

ที่เมืองมาร์เซลลัส ในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

 

๓.ขณะหมอบรัดเลย์เกิดประเทศสหรัฐอเมริกากำลังตื่นตัว

เรื่องการเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ในต่างประเทศ

โดยที่องค์กรต่างๆที่ทำงานด้านนี้ต้องการมิชชันนารี

ที่เป็นแพทย์จำนวนมาก หมอบรัดเลย์ซึ่งต้องการเป็นมิชชันนารีด้วย

ผู้หนึ่ง จึงได้สมัครเข้าเรียนในโรงเรียนแพทย์ในเมืองนิวยอร์ก

และสมัครเป็นมิชชันนารีในองค์กร เอบีซีเอฟเอ็ม

(ABCFM=American Board of Commissioners of Foreign Missions)

 

๔.ท่านจบการศึกษาวิชาแพทย์ใน ค.ศ. ๑๘๓๓ (พ.ศ. ๒๓๗๖) แล้ว

ท่านได้แต่งงานกับ เอมิลี รอยซ์ (Emilie Royce) และเดินทางด้วยเรือใบ

ชื่อ แคชเมียร์ (Cashmere) จากเมืองบอสตัน ในรัฐแมสซาชูเซ็ทท์

มาประเทศไทยพร้อมกับภรรยาและมิชชันนารีคนอื่นๆอีกจำนวนหนึ่ง

เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๔ (พ.ศ. ๒๓๗๗)

 

เหตุการณ์สำคัญ


๑.ท่านถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๓๕ (พ.ศ. ๒๓๗๘)

ซึ่งเป็นวันที่ท่านมีอายุครบ ๓๑ ปีพอดี

จากนั้นท่านได้ร่วมงานเผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์

พร้อมกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในกรุงเทพฯ โดยในตอนแรก

ได้เช่าบ้านของข้าราชการไทยคนหนึ่ง เปิดเป็นที่จ่ายยาและรักษาโรค

ใกล้กับ วัดเกาะ (วัดสัมพันธวงศาราม)

แต่ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านซางตาครูส ฝั่งธนบุรี

 

๒.ผลงานที่สำคัญด้านการแพทย์ของท่านในช่วงนี้ก็คือ

การตัดแขนเพื่อรักษาชีวิตพระภิกษุ รูปหนึ่งของวัดประยุรวงศาวาส

ที่ประสบอุบัติเหตุปืนใหญ่ระเบิดในงานฉลองวัดแห่งนี้

เมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๓๗๙

ซึ่งนับว่าเป็นการผ่าตัดแขนขาผู้ป่วยครั้งแรกใน

ประเทศไทยส่วนงานรักษาโรคอย่างอื่นที่ทำให้ท่านมีชื่อเสียงมาก

เช่นกันก็คือ การผ่าตัด ต้อกระจกในนัยน์ตา และการรักษาโรคฝีดาษ

 

๓.งานรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคฝีดาษนี้ทำให้ท่านได้รับพระราชทานเงิน

จำนวนหนึ่งเป็นรางวัล จาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๘๒

   

๔.ในระยะนั้น การแพทย์แผนตะวันตก หรือแพทย์ทางวิทยาศาสตร์

ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศไทยคนไทยยังรักษาโรคด้วย

การแพทย์แผนไทย คือใช้สมุนไพร

และคนในบางส่วนก็ยังรักษาโรคด้วยไสยศาสตร์ใน พ.ศ. ๒๓๘๘

ท่านได้แต่งหนังสือชื่อ ตำราปลูกฝีโค เพื่อช่วยในการป้องกันโรคดังกล่าว

 

๕.หมอบรัดเลย์ได้รักษาผู้ป่วยด้วยวิชาแพทย์แผนตะวันตก

ซึ่งเป็นของใหม่สำหรับคนไทยและทำให้ผู้ป่วยที่เป็นชาวบ้านธรรมดา

หายจากโรคต่างๆเป็นจำนวนมาก ต่อมาจึงมีพวก

ขุนนางและข้าราชการไทยไปรับบริการจากท่านด้วย

กิตติศัพท์ของหมอบรัดเลย์ได้ทราบถึงถึงพระกรรณเจ้าฟ้ามงกุฎ

(คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังไม่เสด็จ

ขึ้นครองราชย์) ซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดราชาธิวาส

พระองค์จึงมีรับส่งให้หมอบรัดเลย์ เข้าเฝ้า

เพื่อถวายการรักษาพระโรคลมอัมพาตที่เกิดแก่พระพักตร์ของพระองค์

หมอบรัดเลย์ได้นำภรรยาเข้าเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่

๗  เมษายน พ.ศ. ๒๓๗๙ และต่อมา ได้เข้าเฝ้าถวายพระโอสถที่ใช้รักษา

ในวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๓๗๙ ผลการรักษาได้ผลดี

ทำให้อาการของพระโรคทุเลาลงมากและทำให้หมอบรัดเลย์ได้ใกล้ชิด

เบื้องพระยุคลบาทจนทรงโปรดเป็นพระสหายดังจะเห็นได้จากการที่

โปรดให้หมอบรัดเลย์เข้าถวายพระอักษรภาษาอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๓๘๒

เจ้านายที่ทรงโปรดหมอบรัดเลย์มากอีกพระองค์หนึ่งก็คือ เจ้าฟ้าจุฑามณี

(ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ก็คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ส่วนขุนนางที่สนิทสนมกับ หมอบรัดเลย์ก็คือ หลวงนายสิทธิ์ (ช่วง บุนนาค

ซึ่งต่อมาก็คือเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ในรัชกาลที่ ๔)

๖.หลังจากอยู่ที่บ้านซางตาครูส กุฎีจีนได้ราว ๓ ปี

พวกมิชชันนารีได้ทำสัญญาเช่าบ้าน ๒ หลัง ของเจ้าพระยาพระคลัง

(ดิศ บุนนาค) ข้างวัดประยุรวงศาวาส ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ใช้เป็นที่อยู่ใหม่และเป็นโรงพิมพ์สำหรับพิมพ์หนังสือเผยแผ่คริสต์

ศาสนาโรงพิมพ์แห่งนี้ได้มีส่วนรับใช้ราชการไทยโดยการพิมพ์ประกาศ

ห้ามสูบฝิ่นและห้ามค้าฝิ่นที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

โปรดให้ทำขึ้นจำนวน ๙,๐๐๐ แผ่น เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๘๒

ซึ่งนับว่าเป็นเอกสารราชการไทยฉบับแรกที่พิมพ์ขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์

นับว่าเทคโนโลยีการพิมพ์ได้เข้ามาเผยแพร่ในไทย

 

๗.หมอบรัดเลย์ได้หล่อตัวพิมพ์ภาษาไทยชุดใหม่ขึ้น ใช้เป็นผลสำเร็จ

ในเดือน มกราคม พ.ศ. ๒๓๘๕ และได้นำตัวพิมพ์ชุดนี้ ๑

ชุดไปถวายเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งขณะนั้นทรงย้ายไปประทับที่วัดบวรนิเวศ


๘.ปีเดียวกันหมอบรัดเลย์ได้พิมพ์หนังสือที่เป็นงานแปลของท่าน

ด้านการอนามัยแม่และเด็กออกมาด้วยเล่มหนึ่ง คือ คัมภีร์ครรภ์ทรักษา

ต่อมาอีก ๒ ปี ตรงกับวันชาติของสหรัฐอเมริกา

คณะมิชชันนารีก็ได้จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์รายเดือนภาษาไทยฉบับแรก

ที่ชื่อว่า บางกอกรีคอเดอ ออกจำหน่าย

นับได้ว่าเป็นการนำความก้าวหน้าด้านสื่อสารมวลชนเข้ามาเผยแพร่

เป็นครั้งแรกในประเทศไทยแต่หนังสือพิมพ์ฉบับนี้มีออกมาจนถึง

เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๓๘๘ก็ต้องหยุดพิมพ์ เพราะขาดคนทำต่อ

และภรรยาของหมอบรัดเลย์ถึงแก่กรรมลง

 

๙.หมอบรัดเลย์เดินทางกลับสหรัฐอเมริกา ในอีก ๒ ปีต่อมา

ท่านได้แต่งงานกับภรรยา คนที่ ๒ คือ แซราห์ แบลกเลย์

ก่อนกลับมายังประเทศไทยอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๓หลังจากนี้ ๑ ปี

 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต และเจ้าฟ้ามงกุฎได้

ทรงลาสิกขาเสด็จขึ้นครองราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ส่วนเจ้าฟ้าจุฑามณีได้รับสถาปนาขึ้นเป็น

 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์พระองค์ใหม่ ทรงเห็น

คุณงามความดีของคณะมิชชันนารี

จึงได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เช่าที่ข้าง พระราชวังเดิม

ปากคลองบางหลวง ฝั่งธนบุรี ปลูกเรือนเป็นที่อยู่ และโรงพิมพ์

 

๑o.ในตอนนี้ หมอบรัดเลย์ได้ลาออกจากองค์กรเอบีซีเอฟเอ็ม

และย้ายไปสังกัดองค์กรเอเอ็มเอ (AMA=American Missionary

Association)  แทน แต่เนื่องจากองค์กรใหม่นี้มีฐานะทางการเงินไม่ดี

หมอบรัดเลย์จึงต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการรับพิมพ์หนังสือ ทำปกหนังสือ

และพิมพ์หนังสือต่างๆออกจำหน่าย หนังสือที่โรงพิมพ์หมอบรัดเลย์

พิมพ์ออกจำหน่ายนั้น มีทั้งตำราเรียน ตำราภาษาไทย เช่น

ประถม ก กา แจกลูกอักษร จินดามณี ประถมมาลา

ตำราโหร พระราชพงศาวดาร หนังสือกฎหมาย วรรณคดีเรื่อง

ราชาธิราช และ สามก๊ก นิยายจีน เช่น เลียดก๊ก ไซ่ฮั่น ห้องสิน เป็นต้น

รวมทั้งหนังสือนิราศเมืองลอนดอน ซึ่งหมอบรัดเลย์ซื้อลิขสิทธิ์จากอดีต

ศิษย์ที่เรียนภาษาอังกฤษกับท่าน คือ หม่อมราโชทัย

(หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร) เป็นเงิน ๔๐๐ บาทเ

มื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๔นับเป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์

ครั้งแรกในประเทศไทย) และพิมพ์ออกจำหน่ายครั้งแรก

มื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๔ 

   

๑๑.หมอบรัดเลย์ได้ออกหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอ อีกครั้งหนึ่ง

โดยเริ่มออกฉบับภาษาอังกฤษก่อน เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๘

ส่วนฉบับภาษาไทยออกเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๐๘

วัตถุประสงค์ในครั้งนี้ก็เหมือนเมื่อครั้งก่อน

คือเพื่อเสนอข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ แจ้งราคาสินค้าพืชผล

ต่างๆแจ้งกำหนดเวลาเรือกำปั่นเข้ามายังกรุงเทพฯ และออกจากกรุงเทพฯ

รวมทั้งบทความที่ให้ความรู้ทางวิชาการทั่วๆไป เช่นวิทยาศาสตร์

ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ฯลฯ ที่สำคัญ

ผู้เป็นบรรณาธิการคือหมอบรัดเลย์เองนั้นได้ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียง

ให้แก่ประชาชนระดับล่างโดยการบอกกล่าวให้ทางราชการทราบถึง

การปฏิบัติที่ไม่ชอบธรรมของข้าราชการบางคนหรือแม้แต่

จ้านายบางพระองค์ รวมถึงการเขียนบทความต่อต้าน

ชาวต่างประเทศบางคนที่เป็นภัยแก่ประเทศไทยด้วย

   

๑๒.การเขียนบทความต่อต้านชาวต่างประเทศบางคนที่เป็นภัยแก่

ประเทศไทยด้วยเป็นที่มาของการที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์

ถูกฟ้องร้องด้วยข้อหาหมิ่นประมาทเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

 

๑๓.มูลเหตุของการฟ้องร้องมาจากการที่หมอบรัดเลย์ตีพิมพ์รายละเอียด

ของสนธิสัญญากลับที่มองซิเออร์โอบาเรกงสุลฝรั่งเศสกับเจ้าพระยา

พระคลังของไทยร่างขึ้นเกี่ยวกับการปกครองประเทศกัมพูชา

โดยที่สนธิสัญญานี้มีข้อความที่ทำให้ไทยเสียเปรียบ

นอกจากนี้หมอบรัดเลย์ยังตีพิมพ์สัญญาอีกฉบับหนึ่งที่กงสุลฝรั่งเศส

แอบทำกับนายอากรสุราของไทย เพื่อให้ขายสุราของฝรั่งเศสใน

กรุงเทพฯได้ ซึ่งก็ขัดกับสัญญาที่ทำไว้กับชาติมหาอำนาจชาติอื่นๆ

การตีพิมพ์ทั้งสองครั้งนี้ทำให้กงสุลฝรั่งเศสโกรธมาก

และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปิดหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอเสีย

แต่ฝ่ายไทยไม่ยอมตาม ต่อมา มองซิเออร์ โอบาเร

ได้ส่งบันทึกกราบบังคมทูลเชิงบังคับให้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงถอดถอนข้าราชการไทยผู้หนึ่งที่ท่านกงสุลรังเกียจออกจาก

ตำแหน่งและเมื่อทางรัฐบาลไทยส่งหม่อมราโชทัย

ในฐานะของผู้พิพากษาศาลระหว่างประเทศของไทยไปชี้แจงโอบาเร

ก็กลับทำร้ายท่านเสียอีกกงสุลโอบาเรบังอาจกราบทูลเชิงบังคับ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกครั้งหนึ่ง

แต่คราวนี้เพื่อให้พระองค์ทรงถอดถอนข้าราชการไทยอีกคนหนึ่งที่

โอบาเรไม่ชอบ ออกจากตำแหน่ง

เมื่อหมอบรัดเลย์ตีพิมพ์เรื่องนี้ในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอ

กงสุลโอบาเรก็ฟ้องร้องท่านต่อศาลกงสุลอเมริกันด้วยข้อหาหมิ่นประมาท

ศาลกงสุลอเมริกันได้นัดไต่สวนพยานในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๑๐

และได้ตัดสินให้หมอบรัดเลย์แพ้ความ และให้เสียค่าปรับเป็นเงิน ๑๐๗

ดอลลาร์ ๗๕ เซ็นต์ เงินค่าปรับนี้

บรรดาเพื่อนๆของหมอบรัดเลย์ได้เรี่ยไรกันช่วยจ่ายให้ นอกจากนี้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานเงิน

อีกจำนวนหนึ่งช่วยด้วย เมื่อจบคดีความกับกงสุลฝรั่งเศสแล้ว

หมอบรัดเลย์ก็ได้ประกาศเลิกพิมพ์หนังสือพิมพ์

บางกอกรีคอเดอโดยให้เหตุผลว่าขาดทุน

และรัฐบาลไทยไม่สนับสนุนอย่างแต่ก่อน

 

๑๔.หลังจากปิดหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอเดอแล้ว

หมอบรัดเลย์ยังคงเลี้ยงชีพด้วยการทำงานพิมพ์ และขายสิ่งพิมพ์อื่นๆ

ต่อมา จนกระทั่งถึงแก่กรรมในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่

๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยงานฝังศพและทำรั้วล้อมหลุมศพ

ของหมอบรัดเลย์ที่สุสานโปรเตสแตนต์ในกรุงเทพฯ

Source: https://social-people.exteen.com/20071103/entry-15

อัพเดทล่าสุด