(ทำรายงาน) การสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย ชนชั้นในสังคมสุโขทัย การสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย


2,549 ผู้ชม


การสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย
          อาณาจักรสุโขทัยเป็นอาณาจักรของคนไทยที่ได้รับการสถาปนาขึ้นใน พ.ศ. 1792  ก่อนหน้าที่จะมีการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยขึ้นมานั้น  สุโขทัยเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อน  จากการตีความในศิลาจารึกหลักที่ 2 (วัดศรีชุม)  พอจะสรุปความได้ว่า  เมืองสุโขทัยแต่เดิมมีผู้นำคนไทยชื่อ  พ่อขุนศรีนาวนำถุม  เป็นเจ้าเมืองปกครองอยู่  เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์  ขอมสบาดโขลญลำพง  ขุนนางขอมได้นำกำลังเข้ายึดกรุงสุโขทัยไว้ได้
          เมื่อพวกขอมเริ่มเสื่อมอำนาจลง  ในปี พ.ศ. 1780  ได้มีผู้นำ 2 ท่าน  คือ  พ่อขุนบางกลางหาว  และพ่อขุนผาเมือง  ซึ่งเป็นผู้นำคนไทยได้ร่วมมือกันรวบรวมกำลังเข้าขับไล่ขอมออกจากดินแดนแถบนี้และตั้งตนเป็นอิสระ  พร้อมกับสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีของอาณาจักรไทย  และได้สถาปนาพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองกรุงสุโขทัยทรงพระนามว่า  พ่อขุนศรีอินทราทิตย์  นับเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สุโขทัยหรือราชวงศ์พระร่วง  นับตั้งแต่ พ.ศ. 1792  เป็นต้นมา
               ปัจจัยที่เอื้อต่อการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยเป็นราชธานี  มีดังนี้
               1.  ปัจจัยภายใน  ได้แก่  การมีขวัญและกำลังใจดีของประชาชนเนื่องจากมีผู้นำที่เข้มแข็งและมีความสามารถ  การมีนิสัยรักอิสระ  ไม่ชอบให้ผู้ใดมากดขี่ข่มเหง  บังคับและบ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์
               2.  ปัจจัยภายนอก  ได้แก่  การเสื่อมอำนาจของขอม  หลังจากที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สิ้นพระชนม์ลง  กษัตริย์องค์ต่อมาไม่สามารถรักษาอำนาจของตนในดินแดนที่ยึดครองมาได้  ทำให้หัวเมืองต่าง ๆ พากันตั้งตนเป็นอิสระ
          ระยะเริ่มต้นของการสถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี  โดยเฉพาะในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  บ้านเมืองยังไม่มั่นคงมากนัก  คนไทยยังอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย  บางเมืองยังคงมีอิสระในการปกครองตนเอง  ไม่มีการรวมอำนาจไว้ ณ ศูนย์กลางเมืองใดเมืองหนึ่งโดยตรง  บางครั้งจึงมีการทำสงครามกันเพื่อแย่งชิงอำนาจและขยายอาณาเขตของเมือง  เช่น  ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดได้ยกทัพมาตีเมืองตาก 
          เมื่อสิ้นรัชสมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  พระราชโอรสองค์ใหญ่  คือ  พ่อขุนบานเมือง  ได้ขึ้นครองราชย์  สมัยนี้สุโขทัยได้ขยายอำนาจทางการเมืองด้วยการทำสงครามกับหัวเมืองต่าง ๆ โดยมีพระอนุชา  คือ  พระรามคำแหง  เป็นกำลังสำคัญ  ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์สืบต่อจากพ่อขุนบานเมือง
          ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง  พระองค์ทรงเป็นแม่ทัพไปปราบเมืองต่าง ๆ จนเป็นที่เกรงขามของอาณาจักรอื่น ๆ ดังนั้นเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์จึงมีหลายเมืองที่ยอมอ่อนน้อมเข้ารวมอยู่กับอาณาจักรสุโขทัย  โดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชมิได้ส่งกองทัพไปรบ  ได้แก่  เมืองหงสาวดี  เมืองสุพรรณบุรี  เมืองเพชรบุรี  เมืองราชบุรี  เมืองหลวงพระบาง  เมืองเวียงจันทน์  และเมืองนครศรีธรรมชาติ  ทำให้อาณาจักรสุโขทัยมีอาณาเขตแผ่ขยายออกไปกว้างขวางมาก  ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ดังนี้
               ทิศเหนือ           ครอบคลุมเมืองแพร่  น่าน  พลัว  จนถึงเมืองหลวงพระบาง
               ทิศใต้               ครอบคลุมเมืองคณฑี (กำแพงเพชร)  พระบาง (นครสวรรค์)  แพรก (ชัยนาท)  สุพรรณบุรี  ราชบุรี  เพชรบุรี  นครศรีธรรมราช  จนถึงแหลมมลายู
               ทิศตะวันออก      ครอบคลุมเมืองสระหลวงสองแคว (พิษณุโลก)  ลุมบาจาย (หล่มเก่า)  สระคา  และข้ามฝั่งแม่น้ำโขงไปถึงเมืองเวียงจันทน์และเวียงคำ
               ทิศตะวันตก        ครอบคลุมเมืองฉอด  หงสาวดี  จนถึงชายฝั่งทะเลด้านอ่าวเบงกอล
          ขณะเดียวกันพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงใช้หลักธรรมในการปกครองเพื่อให้ประชาชนได้อยู่เย็นเป็นสุข  ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เจ้าเมืองต่าง ๆ เหล่านี้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ  ทำให้สุโขทัยปราศจากข้าศึกศัตรูในทุกทิศ  นับได้ว่าในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช  เป็นช่วงสมัยที่อาณาจักรสุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด
          หลังจากสิ้นรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช  มีกษัตริย์ขึ้นครองราชย์อีก 2 พระองค์  คือ  พญาเลอไทย  และพญางั่วนำถม  แต่อาณาจักรสุโขทัยก็เริ่มเสื่อมอำนาจลง  บรรดาเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของสุโขทัยได้แยกตัวเป็นอิสระและเมืองประเทศราชที่มีกำลังเข้มแข็งต่างพากันแยกตัวไม่ขึ้นต่อกรุงสุโขทัย  เช่น  เมืองพงสาวดี  เมืองนครศรีธรรมราช  เป็นต้น  นอกจากนี้ในตอนปลายรัชสมัยพญางั่วนำถมยังเกิดจลาจลขึ้นอีก  เนื่องจากมีการแย่งชิงราชสมบัติจนพญาลิไทยเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยต้องยกกำลังมาปราบ  ทำให้บ้านเมืองสงบลง
          หลังทรงปราบจลาจลในกรุงสุโขทัยได้สำเร็จ  พญาลิไทยได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ครองราชสมบัติ  ทรงพระนามว่า  พระมหาธรรมราชาที่ 1  พระองค์ทรงพยายามสร้างอำนาจทางการเมือง  เพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้เข้มแข็งมาใหม่  อย่างไรก็ตามอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1  ก็ได้ลดลงไปมากกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช  ต่อมาเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 1 แล้ว  มีพระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชย์สืบต่อมาอีก 3 พระองค์  คือ  พระมหาธรรมราชาที่ 2  พระมหาธรรมราชาที่ 3  (ไสลือไทย)  และพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล)  แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวอาณาจักรสุโขทัยเริ่มเสื่อมอำนาจ
          กรุงสุโขทัย  มีกษัตริย์ปกครอง 9 พระองค์  ดังนี้
          1.  พ่อขุนศรีอินทราทิตย์                                              2.  พ่อขุนบานเมือง
          3.  พ่อขุนรามคำแหงมหาราช                                        4.  พญาเลอไทย
          5.  พญางั่วนำถม                                                      6.   สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย)
          7.  สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 2                                   8.  สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 3  (ไสลือไทย)
          9.  สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 4  (บรมปาล)
 
ชนชั้นสังคมสมัยสุโขทัย
     สังคมสุโขทัยประกอบด้วยชนชั้นต่าง ๆ ดังนี้
     1.  ชนชั้นผู้ปกครอง  ได้แก่
          (1)  พระมหากษัตริย์  เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในราชอาณาจักร  กษัตริย์จะมีหน้าที่ปกครองอาณาจักรให้มีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น  รวมไปถึงการดูแลราษฎรให้ทำมาหากินและดำรงชีวิตอย่างปกติสุข
          (2)  เจ้านายหรือขุนนาง  เป็นกลุ่มพระราชวงศ์และข้าราชการที่มีหน้าที่ช่วยเหลือพระมหากษัตริย์ในการปกครองบ้านเมือง
     2.  ชนชั้นผู้ถูกปกครอง  ได้แก่
          (1)  ไพร่  ประชาชน  เป็นชนชั้นกลุ่มใหญ่ของสังคม  ในยามที่บ้านเมืองสงบ  มีหน้าที่ประกอบอาชีพเลี้ยงดูครอบครัว  และช่วยทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม  แต่ในยามศึกสงคราม  ชายฉกรรจ์จะมีหน้าที่รับใช้ชาติบ้านเมือง
          (2)  พระสงฆ์  เป็นกลุ่มนักบวช  มีหน้าที่สั่งสอนหลักธรรมให้แก่ประชาชน  และเป็นผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา
               จากการศึกษาศิลาจารึกหลักที่ 1 ทำให้เราทราบว่า  ในสม้ยสุโขทัยมีการใช้กฎหมายเพื่อควบคุมความเป็นระเบียบเรียบร้อยให้เกิดขึ้นในสังคม  เช่น
               เกี่ยวกับการร้องทุกข์ฎีกาเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม  มีข้อความกล่าวถึงว่า  เมื่อราษฎรคนใดมีคดีความที่จะถวายฎีกาต่อองค์พระมหากษัตริย์  ก็ให้ไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้ที่หน้าประตูพระราชวัง  พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จมาสอบสวนคดีความและตัดสินด้วยความเป็นธรรม  ดังข้อความในจารึกว่า
               ...ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น  ไพร่หน้าปก  กลางบ้าน  กลางเมือง  มีถ้อยมีความ  เจ็บท้องข้องใจ  มันจักกล่าวเถืงเจ้าเถืงขุนบ่ไร้  ไปสั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้  พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยิน  เรียกเมือถามสวนความแก่มันด้วยชื่อ  ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม...
               (ข้อความที่แปล)
               ...ในปากประตูนั้นจะมีกระดิ่งแขวนไว้หนึ่งใบ  ประชาชนที่อยู่ในบ้านเมืองมีความเดือนร้อน  ก็จะนึกถึงพ่อขุน  แล้วไปสั่นกระดิ่งที่ท่านแขวนไว้  เมื่อพ่อขุนรามคำแหงได้ยินก็จะเรียกไปไต่ถาม  ประชาชนในเมืองสุโขทัยจึงมีความยกย่องและชื่นชมท่าน...
               ...ไพร่ฟ้าหน้าใส  ลูกเจ้าลูกขุนผู้ใดแล  ล้มตายหายกว่าเหย้าเรือนพ่อเชื้อเสื้อคำมัน ช้างขอลูกเมียเยียข้าว  ไพร่ฟ้าข้าไท  ป่าหมากป่าพลูพ่อเชื้อมัน  ไว้แก่ลูกมันสิ้น...
               (ข้อความที่แปล)
               ...ประชาชน  ขุนนาง  เจ้านายที่ตายไปแล้ว  มีบ้านเรือนเสื้อผ้า  ช้างที่เลี้ยงไว้  ลูก  เมีย  ฉางข้าว  บ่าวไพร่  สวนหมากพลู  ของผู้นั้นให้ยกแก่ลูกของเขาดูแล...
               เกี่ยวกับการพิจารณาคดีความ  มีข้อความกล่าวถึงว่า  เมื่อมีคดีความเกิดขึ้น  ให้ทำการสอบสวนว่าใคราเป็นฝ่ายผิดใครเป็นฝ่ายถูก  แล้วจึงตัดสินอย่างยุติธรรม  ห้ามมิให้รับสินบนเข้าข้างใดข้างหนึ่ง  ดังข้อความในศิลาจารึกว่า
               ...ไพร่ฟ้าลูกเจ้าลูกขุน  ผิแลผิดแผกแสกกว้างกัน  สวนดูแท้แล  จึ่งแล่งความแก่ขาด้วยซื่อ  บ่เข้าผู้ลักมักผู้ซ่อน  เห็นข้าวท่านบ่ใครพินเห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด...
               (ข้อความที่แปล)
               ...ประชาชน  เจ้านาย  ขุนนาง  ที่ไม่ถูกกัน  ก็ให้ไต่สวนด้วยความซื่อตรง  อย่าเข้าข้างคนผิด  อย่าเห็นแก่ทรัพย์สินที่มีคนนำมาติดสินบน...
 
ที่มาและได้รับอนุญาตจาก  :
เอกรินทร์  สี่มหาศาล  และคณะ . ประวัติศาสตร์ ป.4 . พิมพ์ครั้งที่ 2 . กรุงเทพ ฯ : อักษรเจริญทัศน์
 https://www.trueplookpanya.com

อัพเดทล่าสุด