การสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย
https://www.act.ac.th/group_department/social/act4_3/pic/Picture.jpg
การก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย เท่าที่ปรากฏหลักฐาน แว่นแคว้นสุโขทัยได้ก่อตั้งขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ โดยศูนย์กลางอำนาจของสุโขทัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำยม และลุ่มแม่น้ำน่าน อันเป็นที่ตั้งของเมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัยในลุ่มแม่น้ำยม สระหลวง และสองแควในลุ่มแม่น้ำน่าน ต่อมาจึงได้ขยายตัวไปทางด้านตะวันตกบริเวณลุ่มแม่น้ำปิง และทิศตะวันออกบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก ในรัชสมัยของพ่อขุนศรีนาวนำถุม ขุนในเมืองเชลียง(ศรีสัชนาลัย) เป็นเจ้าเมืองปกครองในฐานะเมืองขึ้นขอม ได้ครองเมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัยเมื่อประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการขยายเมือง โดยการรวบรวมเมืองเป็นเมืองคู่ เรียกว่า “นครสองอัน” การรวมเมืองเป็นเมืองคู่นี้ เป็นการรวมทรัพยากรสำหรับการขยายเมืองให้เป็นแว่นแคว้นใหญ่โตขึ้น พระองค์มีโอรส ๒ พระองค์ คือ พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด และพระยาคำแหงพระราม เจ้าเมืองสระหลวง สองแคว (เมืองพิษณุโลก)
พ่อขุนผาเมือง ปรากฏความในจารึกว่ากษัตริย์ขอมในสมัยนั้น ซึ่งสันนิษฐานว่า คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ยกราชธิดาคือ ”นางสุขรมหาเทวี” ให้เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีพร้อมทั้งพระราชทานเครื่องราชูปโภค คือพระขรรค์ชัยศรี และพระนามเฉลิมพระเกียรติว่า ศรีอินทราทิตย์ หรือ ศรีอินทรบดินทราทิตย์
อาณาเขตของกรุงสุโขทัยในสมัยพ่อขุนศรีนาวนำถุม ไม่กว้างขวางเท่าใด แต่ครอบคลุมถึงเมืองฉอด (เมืองสอด) ลำพูน พิษณุโลก และอำนาจในสมัยของในการควบคุมเมืองในอาณาเขตในสมัยของพ่อขุนศรีนาวนำถุมคง ไม่มั่นคง แต่ละเมืองคงเป็นอิสระในการปกครองตนเอง เมืองหลายเมืองคงเป็นเมืองในระบบเครือญาติ หรือเมืองที่มีสัมพันธไมตรีต่อกัน
ภายหลังเมื่อพ่อขุนศรีนาวนำถุมสิ้นพระชนม์ คงเกิดความวุ่นวายในเมืองสุโขทัย ขอมสบาดโขลญลำพง เป็นขุนนางขอมที่กษัตริย์ขอมส่งมากำกับดูแลอยู่ที่สุโขทัย ได้นำกำลังเข้ายึดเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย และเมืองใกล้เคียงไว้ได้ พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด และพระสหายคือ พ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง ได้รวมกำลังกันปราบปรามจนได้ชัยชนะ พ่อขุนบางกลางหาวยึดได้เมืองศรีสัชนาลัย ส่วนพ่อขุนผาเมืองเข้ายึดเมืองสุโขทัยไว้ได้ เมื่อได้เมืองสุโขทัยแล้ว พ่อขุนผาเมืองได้มอบเมืองสุโขทัยให้แก่พ่อขุนบางกลางหาว พร้อมทั้งพระนามที่กษัตริย์ขอมเคยแต่งตั้งตั้งพ่อขุนผาเมืองคือ “ศรีอินทรบดินทราทิตย์” ด้วยเหตุดังกล่าวนี้พ่อขุนบางกลางหาว จึงได้ขึ้นครองราชย์ ณ เมืองสุโขทัย มีพระนามว่า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง ส่วนพ่อขุนผาเมืองได้กลับไปครองเมืองราดดังเดิม
นับเป็นเวลากว่า 700 ปีมาแล้วดินแดนที่มีชื่อว่า สุโขทัย ซึ่งมีความหมายว่า "รุ่งอรุณแห่งความสุข" แห่งนี้ เป็นแหล่งก่อกำเนิดความเป็นอาณาจักรของคนชาติไทยขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่สร้างบ้านแปงเมืองจน อาณาจักรสุโขทัยมีอาณาเขตกว้างขวางที่สุดยุคหนึ่ง ทั้งยังเป็นผู้ที่ก่อให้เกิด "ลายสือไทย" ซึ่งกลายมาเป็นตัวหนังสือที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
มรดก โลกล้ำเลิศ กำเนิดลายสือไทย เล่นไฟลอยกระทง ดำรงพุทธศาสนา งามตาผ้าตีนจก สังคโลก ทองโบราณ สักการแม่ย่าพ่อขุน รุ่งอรุณแห่งความสุข
มรดกโลกล้ำเลิศ
อาณาจักรสุโขทัยนับเป็นอาณาจักรแรกของชาวสยาม มีอายุยาวนานเกือบ ๒๐๐ ปี เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาและศิลปวิทยาการ
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์สถาปนาอาณาจักร สุโขทัยขึ้นในปี พ.ศ. 1800 กระทั่งถึงสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล) กษัตริย์องค์ที่ 9 สุโขทัยก็เสื่อมอำนาจลงในปี 1981 เป็นช่วงเวลาเกือบ 200 ปีที่อาณาจักรสุโขทัยสั่งสมความยิ่งใหญ่ทางศิลปวัฒนธรรม ดังเช่นการประดิษฐ์อักษรไทยครั้งแรกในสมัยพ่อขุนรามคำแหง การสร้างพระพุทธรูปที่งดงามไม่มียุคสมัยใดเทียบได้ รวมถึงสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์อย่างเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ศิลปะสมัยสุโขทัยมีลักษณะเฉพาะอันโดดเด่นจนเรียกขานกันว่า "สกุลช่างสุโขทัย"
ด้วยความสำคัญดังกล่าว ปี 2534 อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจึงได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดก โลกทางวัฒนธรรม ร่วมกับเมืองศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร
กำเนิดลายสือไทย
พ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์องค์ที่ 3 แห่งกรุงสุโขทัย โปรดให้ประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้นใช้เป็นครั้งแรก
ในอดีต คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ตัวอักษรขอมและมอญโบราณ กระทั่งในปี 1826 พ่อขุนรามคำแหงทรงคิดประดิษฐ์ลายสือไทยขึ้นใช้เพื่อให้เข้ากับสำเนียงพูดของ ชาวอาณาจักรสุโขทัย โดยดัดแปลงจากอักษรขอมโบราณ ลายสือไทยที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ปรากฏอยู่บนศิลาจารึกหลักที่ 1 (ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) มีลักษณะเด่นคือ สระและพยัญชนะเขียนอยู่ในบรรทัดเดียวกัน มีวรรณยุกต์ 2 รูปคือเอก ( ่ ) และโท ( + ) ลายสือไทยถือเป็นต้นแบบอักษรไทยซึ่งมีการพัฒนากันต่อมาในสมัยพระมหาธรรมราชา ที่ 1 (ลิไทย) และสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนเป็นภาษาไทยที่ใช้กันในปัจจุบัน
เล่นไฟลอยกระทง
งานประเพณีเล่นไฟลอยกระทงของ จ. สุโขทัย มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ
งานประเพณีเล่นไฟลอยกระทง จ. สุโขทัย เกิดจากการตีความของนักประวัติศาสตร์จากหลักฐานในศิลาจารึก จนได้ความว่าในสมัยพระยาเลอไทย (ครองราชย์ พ.ศ. 1841 ถึงปีใดไม่ปรากฏ) ชาวอาณาจักรสุโขทัยนิยมเผาเทียนเล่นไฟในช่วงหลังออกพรรษา และมีประเพณีลอยพระประทีปด้วย ท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นและตามประทีปบนกระทงนั้นแล้วลอย ไปเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท
ปัจจุบันการเผาเทียนเล่นไฟและลอยพระ ประทีปได้กลายเป็นประเพณีเล่นไฟลอยกระทงในคืนวันเพ็ญเดือน 12 (ราวเดือน พ.ย.) โดยจัดขึ้นในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีการจุดไฟส่องสว่าง ลอยโคม จุดพลุ เล่นดอกไม้ไฟ ตลอดจนการแสดงแสงสีเสียงจำลองเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สมัยสุโขทัย
ดำรงพุทธศาสนา
สุโขทัยเป็นแหล่งกำเนิดงานพุทธ ศิลป์สกุลช่างสุโขทัยอันงดงาม พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ทรงยึดมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทั้งทรงพระราชนิพนธ์วรรณคดีสำคัญอันเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาด้วย
ผู้คนในอาณาจักรสุโขทัยมีความเป็นอยู่ ดี ดำรงตนอยู่ในแนวทางแห่งพุทธศาสนา ดังปรากฏวัดพระศรีรัตนมหาธาตุในเมืองเชลียง และในเมืองเก่าสุโขทัยก็มีวัดมหาธาตุอันเป็นสัญลักษณ์แห่งพระพุทธศาสนาในพระ นคร นอกจากนี้ยังมีงานพุทธศิลป์ต่างๆ เช่นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยอันงดงาม เป็นต้น
ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไทย) กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่งกรุงสุโขทัย (ครองราชย์ พ.ศ. 1890 - 1911) เป็นยุคที่พุทธศาสนารุ่งเรือง พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ ไตรภูมิพระร่วง วรรณคดีอันเกี่ยวกับการทำความดีความชั่ว นอกจากนี้ยังมีสุภาษิตพระร่วง ที่สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นในสมัยสุโขทัย เป็นคติคำสอนทางพุทธศาสนาสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน
งามตาผ้าตีนจก
ผ้าตีนจกเป็นผ้าทอของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว ต. หาดเสี้ยว อ. ศรีสัชนาลัย มีลวดลายวิจิตรงดงาม
ชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยวอพยพจากเมืองพวน แคว้นเชียงขวาง ประเทศลาว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นกลุ่มคนที่มีฝีมือในการทอผ้าตีนจก
ผ้าซิ่นตีนจกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่เป็นผ้าซิ่นที่ชาวไทยพวนเรียกว่าหัวและตัวผ้า นิยมทอเป็นผ้าพื้นสีเขียว เหลือง แดง หรือสลับสีกันเป็นลายขวาง ส่วนตีนผ้านั้นมีลวดลายงดงาม เกิดจากการสอดเส้นฝ้ายสีสันต่างๆ ด้วยขนเม่น เรียกว่าการจก เป็นที่มาของชื่อผ้าตีนจก หญิงไทยพวนนิยมนุ่งผ้าซิ่นตีนจกในงานบุญประเพณีสำคัญ
สังคโลก
เครื่องสังคโลกสมัยสุโขทัยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ เป็นสินค้าส่งออกไปยังอินเดีย เกาะสุมาตรา และญี่ปุ่น
ชาวสุโขทัยเรียนรู้การผลิตเครื่องสังค โลกจากชาวจีน ราวพุทธศตวรรษที่ 20 - 21 การผลิตเครื่องสังคโลกของสุโขทัยเติบโตเป็นลำดับ ดังปรากฏซากเตาทุเรียงที่ใช้เผาเครื่องสังคโลกจำนวนหลายเตาในพื้นที่บ้านป่า ยางและบ้านเกาะน้อย ต. หนองอ้อ อ. ศรีสัชนาลัย และในตัวเมืองเก่าสุโขทัย ต. เมืองเก่า อ. เมือง
ชื่อเตา "ทุเรียง" สันนิษฐานว่ามาจากชื่อ "พูเหลียง" ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งในมณฑลเจียงซี ประเทศจีน เป็นแหล่งเตาเผาที่สำคัญที่สุดสมัยราชวงศ์ฮั่น (พ.ศ. 337 - 552) ถ้วยชามสังคโลกที่ผลิตจากเตาเผาในสุโขทัยมีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของประเทศในแถบเอเชีย ช่วงที่จีนประสบปัญหาสงครามกลางเมืองราว พ.ศ. 1900 - 1960 เครื่องสังคโลกของสุโขทัยก็ยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้น
ปัจจุบันเครื่องสังคโลกสุโขทัยมีหลาย รูปแบบ นอกจากถ้วย จาน และไหแล้ว ยังมีเครื่องตกแต่งอาคาร อย่างช่อฟ้า หัวนาค บราลี และตุ๊กตารูปคน รูปสัตว์ ลักษณะเด่นของเครื่องสังคโลกสุโขทัยคือ มีน้ำหนักมาก เนื้อหนา และมักมีสีเขียวไข่กา
ทองโบราณ
ทองโบราณของสุโขทัยเลียนแบบลวดลายจากเครื่องทองโบราณที่พบตามแหล่งโบราณคดีและลายปูนปั้นตามโบราณสถาน เป็นงานอันวิจิตรบรรจง
นายเชื้อ วงศ์ใหญ่ ช่างทองบ้านท่าชัย ต. ท่าชัย อ. ศรีสัชนาลัย เป็นผู้ริเริ่มทำทองโบราณสุโขทัย โดยเลียนแบบลวดลายจากเครื่องทองโบราณที่ขุดค้นพบในเขต อ. ศรีสัชนาลัย ต่อมาได้พัฒนานำลายปูนปั้นตามโบราณสถาน อย่างลายเครือเถาที่ผนังวิหารวัดนางพญาในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย มาเป็นลวดลายทองโบราณจนเป็นเอกลักษณ์ของสุโขทัย
ช่างทำทองโบราณต้องมีความชำนาญในการรีดเส้นทองให้เล็กบางเพื่อนำมาถักเป็นลายสี่เสา หกเสา หรือแปดเสา นอกจากนี้ยังมีลายฉลุและลงยาด้วย
สักการแม่ย่าพ่อขุน
ชาวสุโขทัยเคารพนับถือพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์ผู้ทรงอัจฉริยภาพแห่งกรุงสุโขทัย และแม่ย่าซึ่งเป็นพระมารดาของพระองค์
เทวรูปแม่ย่าประดิษฐานในศาลบริเวณศาลา กลางจังหวัดสุโขทัย องค์เทวรูปสลักจากหินชนวนสูงราว 1 ม. ประดับเครื่องทรงแบบนางพญา ชาวบ้านอัญเชิญมาจากยอดเขาพระแม่ย่าบนเทือกเขาหลวง ชาวสุโขทัยเชื่อว่าพ่อขุนรามคำแหงสร้างเทวรูปนี้ขึ้นเพื่ออุทิศแด่นางเสือง พระมารดาของพระองค์ จึงพากันเรียกเทวรูปนี้ว่าแม่ย่า
ชาวสุโขทัยยังเคารพศรัทธาพ่อขุนราม คำแหงอีกด้วย เนื่องมาจากพระปรีชาสามารถของพระองค์ ทั้งในแง่การเมืองการปกครอง อาณาจักรสุโขทัยในสมัยของพระองค์มีอาณาเขตกว้างขวางมั่นคง นอกจากนี้ยังทรงปกครองแบบพ่อปกครองลูก ทั้งเปิดเสรีทางการค้า ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นใช้เอง
รุ่งอรุณแห่งความสุข
เมื่ออาณาจักรพุกามและขอมที่ เป็นใหญ่ในภูมิภาคนี้อ่อนแอลง อาณาจักรสุโขทัยก็รุ่งเรืองขึ้น สมดังชื่อสุโขทัย อันหมายถึงรุ่งอรุณแห่งความสุข
อาณาจักรสุโขทัยเป็นอาณาจักรหนึ่งใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผู้นำท้องถิ่นลุกขึ้นปลดแอกอาณาจักรของตนจากอำนาจ ของอาณาจักรขอมในกัมพูชา และถูกหยิบยกให้เป็นอาณาจักรแรกของชาวสยาม ตามการรับรู้ของชนชั้นนำในสมัย ร. 4 - ร. 5 จนกลายเป็นประวัติศาสตร์ชาตินิยมที่ยังคงเรียนอยู่ในปัจจุบัน
////
รัชกาลที่ 1 พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
เริ่มครองราชย์ประมาณ พ.ศ. 1792
ในระยะเริ่มต้นอาณาจักร ในสมัยนั้นมีอาณาเขตไม่กว้างขวางนักเมื่ออาณาจักรสุโขทัยได้รับการสถาปนา ขึ้นเป็นอิสระจากขอม เจ้าเมืองต่างๆในดินแดนใกล้เคียงจึงอ่อนน้อมรวมอยู่กับอาณาจักรสุโขทัย แต่เจ้าเมืองบางเมืองคิดว่าตนมีอำนาจเข้มแข็งพอ ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อกรุงสุโขทัย จึงมีการทำสงครามขึ้น ขุนสามชน เจ้าเมืองฉอดได้ยกทัพมาตีเมืองตากซึ่งเป็นเมืองในอาณาเขตของสุโขทัยพ่อขุน ศรีอินทราทิตย์ จึงยกทัพไปปราบเจ้าเมืองฉอด เกิดสงครามครั้งสำคัญขึ้น ในการรบครั้งนี้พระราชโอรสองค์เล็ก มีอายุ 19 ปี เข้าชนช้างกับเจ้าเมืองฉอดจนได้รับชัยชนะ ทำให้กองทัพเมืองฉอดแตกพ่ายไป พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงประทานนามพระราชโอรสว่า พระรามคำแหง
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ปกครองประชาชนในฐานะบิดากับบุตร ทั้งบิดาและบุตรมีหน้าที่เป็นทหารป้องกันประเทศในยามสงคราม แต่ยามสงบพระมหากษัตริย์เป็นผู้นำในการบริหาร
ราชการแผ่นดิน ด้วยการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร
-----------------------------------------------
รัชกาลที่ 2 พ่อขุนบานเมือง
สวรรคตประมาณ พ.ศ. 1822
เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ระหว่างครองราชย์ ได้รวบรวมหัวเมืองต่างๆไว้ในอำนาจ โดยมีพระอนุชาคือ พระรามคำแหง เป็นกำลังสำคัญ
------------------------------------------------------------------
รัชกาลที่ 3 พ่อขุนรามคำแหง
ประมาณ พ.ศ. 1822-1841
กรุงสุโขทัยโดยการปกครองของพ่อขุนรามคำแหง มีการเปลี่ยนแปลงและเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าไปจากเดิมมาก เพราะเป็นกษัตริย์ที่มีความเข้มแข็งด้านการปกครองและใกล้ชิดราษฎร ไพร่ฟ้าประชาชนมีความอยู่ดีกินดี มีการนำระบบชลประทานมาใช้ทางการเกษตรทำให้ได้ผลผลิตดีขึ้น มีการค้าขายกับต่างประเทศ เศรษฐกิจและการเมืองมั่นคง ขยายอำนาจและอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล จนได้รับการเทิดพระเกียรติว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
พระองค์ทรงชนช้างชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงเชี่ยวชาญด้านการศึกสงคราม จนเป็นที่เกรงขามของอาณาจักรอื่นๆเมื่อพระองค์ขึ้นครองราชย์มีหลายเมืองยอม อ่อนน้อม ทำให้มีอาณาเขตแผ่ขยายออกไปกว้างขวางมากดังนี้
ทิศเหนือ มีอาณาเขตครอบคลุมเมืองแพร่ น่าน
ทิศใต้ มีอาณาเขตครอบคลุมเมืองคณฑี (กำแพงเพชร )
ทิศตะวันออก มีอาณาเขตครอบคลุมเมืองสระหลวง สองแคว
ทิศตะวันตก มีอาณาเขตครอบถึงเมืองฉอด ทวาย
เมืองใดที่มาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภารหรือยอมอ่อนน้อมโดยดีแล้ว จะทรงช่วยเหลืออุปการะพระราชทานของกินของใช้และไพร่พลบริวาร ทรงใช้หลักธรรมในการปกครองเพื่อให้ประชาชนพลเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 1826 ทำให้คนไทยมีตัวหนังสือประจำชาติ มีความเจริญรุ่งเรืองทางวรรณกรรม ทรงทำนุบำรุงศาสนาพุทธสืบต่อ รัชกาลก่อนโดยนิมนต์พระภิกษุที่เคร่งครัดในทางพระธรรมวินัยและพระปรมัตถ์จาก เมืองนครศรีธรรมราชมาเป็นผู้สั่งสอน ทรงเป็นผู้นำสร้างชาติให้มั่นคงเป็นแบบอย่างต่อมาคือการบำบัดทุกข์บำรุงสุข แก่ประชาราษฎร์ด้วยความใกล้ชิด ผู้ใดเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือให้ไปสั่นกระดิ่งที่แขวนไว้ที่หน้าประตู วัง จะเสด็จออกมารับเรื่องร้องทุกข์ด้วยพระองค์เอง จึงทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบร่มเย็นเป็นสุข ทรงให้ความอุปถัมภ์สนับสนุนหัวเมืองตามโอกาสเป็นต้นว่ายกพระราชธิดาให้ มะกะโท ( พระเจ้าฟ้ารั่ว ) ผู้นำอาณาจักรขอมซึ่งเข้ามาสวามิภักดิ์
-----------------------------------------------------------------
รัชกาลที่ 4 พระยาเลอไทย
เริ่มครองราชย์ประมาณ พ.ศ. 1841
เป็นพระราชโอรสของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ครองราชย์ประมาณ 40 ปี
พระยาเลอไทยทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทรงศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน การศึกษาพระธรรมและภาษาบาลีได้เริ่มขึ้นและเจริญก้าวหน้าในรัชกาลนี้
--------------------------------------------------------------
รัชกาลที่ 5 พระยางัวนำถม
สวรรคตประมาณ พ.ศ. 1890
เป็นพระอนุชาของพระยาเลอไทย เมื่อราชาภิเษกแล้วได้ทรงแต่งตั้งพระยาลิไทย พระราชโอรสของพระยาเลอไทยไปปกครองเมืองศรีสัชนาลัย ในรัชกาลนี้ได้มีการปราบปรามเมืองต่างๆที่แข็งเมืองมาตั้งแต่รัชกาลพระยาเลอ ไทยแต่ไม่สำเร็จ ตอนปลายรัชกาลจึงเกิดจลาจลขึ้น พระยาลิไทยองค์รัชทายาทจึงยกกำลังจากเมืองศรีสัชนาลัย เข้าเมืองสุโขทัยเพื่อปราบจลาจลได้จนสำเร็จ
-----------------------------------------------------
รัชกาลที่ 6 พระมหาธรรมราชาที่ 1 ( ลิไทย )
เริ่มครองราชย์ประมาณ พ.ศ. 1890
สวรรคตระหว่าง พ.ศ. 1911-1917
พระราชโอรสของพระยาเลอไทย หลังจากปราบการจลาจลในกรุงสุโขทัยได้สำเร็จและขึ้นครองราชย์ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ปกครองประชาชนในฐานะธรรมราชา ทรงยึดมั่นในหลักธรรมของพระพุทธศาสนาในการปกครองคือ ทรงปกครองด้วยหลักทศพิธราชธรรม
เมืองสุวรรณภูมิและเมืองละโว้ ได้รวมกันตั้งอาณาจักรอยุธยาขึ้น มีพระเจ้าอู่ทองเป็นกษัตริย์ประกาศเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อสุโขทัยและได้ขยาย อำนาจและอาณาเขตเข้ามาจดแดนของอาณาจักรสุโขทัย อาณาเขตของสุโขทัยในสมัยของพระองค์ลดลงไปจากสมัยพ่อขุนรามคำแหงมากกว่าครึ่ง มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ถึงเมืองแพร่
ทิศใต้ ถึงเมืองพระบาง
ทิศตะวันออก ถึงแดนอาณาจักรล้านช้าง
ทิศตะวันตก ถึงเมืองฉอด
ด้วยเหตุที่อาณาจักรอยุธยา มีกำลังอำนาจเข้มแข็งและขยายอาณาเขตรุกเข้ามาในอาณาจักรสุโขทัย พระยาลิไทยจึงจำเป็นต้องสะสมเสบียงอาหารเพื่อการรักษาอาณาจักร มีการขยายพื้นที่ทำกินของราษฎรเพิ่มขึ้น มีการตัดถนนเพื่อใช้ในการคมนาคม และใช้พื้นที่สองฟากถนนทำไร่ ทำนาเป็นการเพิ่มผลผลิต ทรงเป็นผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมาก ทรงบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ทรงสร้างพระพุทธบาทโดยจำลองรอยพระพุทธบาทมาจากลังกา ทรงนิพนธ์หนังสือไตรภูมิพระร่วง ซึ่งจัดเป็นวรรณคดีล้ำค่าที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนเห็นผลของการประพฤติดีและการประพฤติชั่ว
-------------------------------------------------------------------
รัชกาลที่ 7 พระมหาธรรมราชาที่ 2
ประมาณ พ.ศ. 1917-1942
พระมหาธรรมราชาที่ 2 ขึ้นครองราชย์นั้น ขุนหลวงพะงั่วแห่งอาณาจักรอยุธยา มีพระราชประสงค์จะรวบรวมชนชาติไทยให้เกิดเป็นปึกแผ่นเป็นอาณาจักรเดียวกัน จึงยกทัพเข้ารุกรานกรุงสุโขทัยหลายครั้ง พระมหาธรรมราชาที่ 2 ทรงเห็นว่าจะสู้รบต่อไปไม่ได้ จึงยอมอ่อนน้อม ต่ออยุธยา พระบรมราชาธิราชที่ 1(ขุนหลวงพะงั่ว)จึงโปรดให้ครองกรุงสุโขทัยต่อไปในฐานะเมืองประเทศราชจน กระทั่งถึง พ.ศ.1931 กรุงสุโขทัย จึงประกาศตนเป็นอิสระจากอยุธยา
-----------------------------------------------------------------
รัชกาลที่ 8 พระมหาธรรมราชาที่ 3(ไสลือไทย)
ประมาณ พ.ศ. 1942 – 1962
พระองค์ทรงมีพระราชโอรส 2 พระองค์ คือ พระยาบาลเมือง กับพระยาราม แต่มิได้ทรงแต่งตั้งให้พระองค์ใดเป็นรัชทายาท ดังนั้น เมื่อเสด็จสวรรคต พระยาบาลเมืองกับพระยาราม จึงแย่งชิงราชสมบัติกัน เป็นโอกาสให้สมเด็จพระอินทราชาแห่งอาณาจักรอยุธยา เสด็จมาระงับการจลาจล ทรงอภิเษกให้พระยาบาลเมืองเป็นกษัตริย์ เมื่อบ้านเมืองสงบเรียบร้อย สมเด็จพระอินทราชาทรงขอพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 3 อภิเษกสมรสกับเจ้าสามพระยา พระราชโอรสของพระองค์ นับเป็นครั้งแรกที่ราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัยกับราชวงศ์สุวรรณภูมิ แห่งกรุงศรีอยุธยามีความเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกัน
----------------------------------------------------------------------
รัชกาลที่ 9 พระมหาธรรมราชาที่ 4(บรมปาล)
ประมาณ พ.ศ. 1962 – 1981
พระยาบาลเมืองได้รับอภิเษกให้ครองกรุงสุโขทัยในฐานะประเทศราชของอยุธยา ทรงพระนามว่าพระเจ้าสุริยวงศ์บรมปาลมหาธรรมราชา นับว่าพระองค์ได้ทรงเป็นพระมหาธรรมราชาที่ 4 เมื่อพระองค์สวรรคตใน พ.ศ. 1981 สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา)แห่งกรุงศรีอยุธยาได้ส่งพระราเมศวร พระราชโอรสซึ่งประสูติจากพระอัครชายาที่เป็นพระธิดาของ พระมหาธรรมราชาที่ 3 ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรสุโขทัย ทำให้อาณาจักรสุโขทัย รวมกับอาณาจักรอยุธยาเป็นอาณาจักรเดียวกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และนับเป็นการสิ้นสุดของอาณาจักรสุโขทัย