หลักคําสอนของศาสนาอิสลาม บทความอิสลาม


1,547 ผู้ชม


หลักศรัทธา 6 ประการ
1. ศรัทธาในพระองค์เดียว คือ อัลลอฮ ไม่ใช่พระอ้าหล่า อิสลามถือว่าในสากลจักรวาลทั้งหลายมีพระเจ้าที่เที่ยงแท้เพียงองค์เดียว เป็นผู้สร้างสากลจักรวาลและเป็นผู้บริหารควบคุม โลกนี้มิใช่เกิดมาโดยบังเอิญ ถ้าเกิดโดยบังเอิญมันจะมีระเบียบแบบแผนในการโคจรไม่ได้ โลกและดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ได้หมุนโคจรอย่างมีระบบ รักษาตำแหน่งหน้าที่ของมันอย่างคงเส้นคงวานับเป็นเวลานานไม่รู้กี่ล้านปี โดยที่มันไม่เคยได้ชนกันเลย นี่ต้องแสดงว่ามีผู้บริหาร และต้องมีผู้ควบคุมมัน
2. ศรัทธาในบรรดามลาอีกะฮของพระองค์ มลาอีกะฮ คือ ผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างพระผู้เป็นเจ้ากับศาสดาทั้งหลาย เพื่อจะได้ให้ศาสดาดังกล่าวได้เข้าถึงอัลลอฮ มนุษย์เราแม้จะมีปัญญาสักปานใดก็ต้องอาศัยสื่อภายนอกด้วยเหมือนกัน เช่น มนุษย์นั้นแม้จะมีสายตาดีสักเพียงใดก็ตาม เขาก็ไม่สามารถมองเห็นวัตถุใด ๆ ได้เลย ถ้าหากไม่มีแสงสว่างเป็นสื่อ คำว่ามลาอีกะฮหาคำศัพท์แปลเป็นภาษาไทยไม่ได้ มลาอีกะฮ เป็นนามธรรม ไม่ใช่เทวทูต, เทวดา, ทูตสวรรค์ แต่ในศาสนาอิสลามถือว่า มลาอีกะฮไม่มีเพศ ไม่ขัดขืนคำสั่งของอัลลอฮ ไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่หลับไม่นอน มลาอีกะฮ คืออำนาจแห่งความดี ส่วนอำนาจแห่งความชั่วนั้น คือ ชัยตอน หรือซาตานหรือมาร นั่นเอง ดังนั้น มลาอีกะฮจึงไม่ใช่เทวดา และนางฟ้า
3. ศรัทธาในบรรดาคัมภีร์ทั้งหลายของพระองค์ มุสลิมต้องเชื่อถือต้นฉบับเดิมของคัมภีร์ทั้งหลายทุก ๆ เล่มในอดีตรวมทั้งอัล-กุรอานด้วย ทั้งนี้โดยมีเงื่อนไขว่าคัมภีร์เหล่านั้นต้องเป็น วะฮีย์ (ได้รับการดลใจ) มาจากอัลลอฮและต้องมีเนื้อหาสาระตรงกับอัล-กุรอาน มุสลิมต้องเชื่อถือในส่วนบริสุทธิ์ของคัมภีร์เท่านั้น อิสลามถือว่าคัมภีร์ที่สมบูรณ์ที่สุดและเป็นคัมภีร์สุดท้ายคือ คัมภีร์อัล-กุรอาน อัล-กุรอานเป็นคัมภีร์ที่มาต่อเนื่องและมาสรุปรวบยอดเนื้อหาจากคัมภีร์ก่อน ๆ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่มาจากอัลลอฮและให้ศาสดามุฮัมมัดมาประกาศใช้ ต่อมวลมนุษยชาติทั้งหลาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความสันติสุขแก่มวลมนุษย์ทุกคน
4. ศรัทธาในบรรดานบี (ศาสดา) ทั้งหลาย มุสลิมทุกคนต้องยอมรับนับถือศาสดาทั้งหลายที่มาเทศนาก่อนศาสดามุฮัมมัด ไม่ว่าศาสดาเหล่านั้นจะปรากฎชื่ออยู่ในคัมภีร์อัล-กุรอานหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าศาสดาเหล่านั้นจะเป็นชนชาติใดอยู่ที่ไหน พูดภาษาอะไรก็ตาม มุสลิมต้องให้เกียรติยกย่องบรรดาศาสดาเหล่านั้นอย่างเท่าเทียมกันหมด ศาสดามุฮัมมัดเป็นศาสดาสุดท้ายของโลก ที่มารับภารกิจต่อจากศาสดาก่อน ๆ ที่เชิญชวนมนุษย์ให้รู้จักพระเจ้าและดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระองค์ ศาสดามุฮัมมัดได้กล่าวว่าหลังจากท่าน แล้วจะไม่มีศาสดาเกิดขึ้นมาอีก เพราะถือว่าท่านได้นำคำสอนหรือแนวทางแห่งการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์มาสู่ มนุษยชาติแล้ว
5. ศรัทธาในวันสุดท้ายและการเกิดใหม่ในวันปรโลก อิสลามถือว่าโลกที่เราอาศัยอยู่นี้เป็นเพียงวัตถุธาตุชิ้นหนึ่ง ซึ่งต้องมีการแตกสลายเหมือน ๆ กับวัตถุหรือสิ่งอื่น ๆ แน่นอนโลกของเราต้องถึงจุดจบไม่วันใดก็วันหนึ่ง เมื่อโลกแตกสลายแล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็ดับสิ้น นอกจากอัลลอฮเท่านั้นที่ยังดำรงอยู่ และมนุษย์ทั้งหลายก็จะไปเกิดใหม่อีกครั้ง แต่จะไปเกิดสภาพใดนั้นไม่มีมนุษย์ผู้ใดรู้ได้ การเกิดใหม่อีกครั้งนี้ก็เพื่อที่จะให้มนุษย์รับผลตอบแทนตามที่เขาได้กระทำ ไว้เมื่อครั้งที่เขายังมีชีวิตอยู่ ผลงานของเขาในโลกนี้จะเป็นตัวกำหนดว่าเขาจะเป็นผู้ได้รับสวรรค์หรือนรก ไม่มีใครช่วยใครได้ ไม่มีการกลับชาติมาเกิด ถ้าเราไม่เชื่อในเรื่องการเกิดใหม่แล้วสังคมของเราก็จะสับสนปั่นป่วนวุ่นวาย หาความสงบสุขไม่ได้ ดังเช่น พวกอรับในยุคญาฮีลียะฮ (ยุคแห่งความโง่เขลา งมงาย) ซึ่งเชื่อว่าเมื่อพวกเขาเกิดมาแล้วก็ตายไป คือ ตายแล้วสูญ เหมือนดังสัตว์อื่น ๆ ความดีความชั่วที่เขาได้กระทำมานั้นไม่มีการตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น พวกเขาจึงใช้ชีวิตความเป็นอยู่ไปในทางชั่วช้าทุกรูปแบบ จนสร้างความเสียหายปั่นป่วนให้แก่สังคมเป็นอย่างยิ่ง
6. ศรัทธาในกฎกำหนดสภาวะของพระองค์ คือต้องศรัทธาว่าสรรพสิ่งทั้งหลายในสากลจักรวาลนี้ล้วนเกิดขึ้นมาและดำเนิน ไปตามกฎเกณฑ์ของอัลลอฮทั้งสิ้น เช่น ไฟมีคุณสมบัติร้อน น้ำไหลลงจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ แพะ แกะ วัว ควาย สุนัข ออกลูกเป็นตัว นก เป็ด ไก่ ออกลูกเป็นไข่ ต้นมะม่วงต้องออกลูกเป็นมะม่วง ต้นกล้วยจะออกลูกเป็นแอปเปิ้ลไม่ได้ ทุก ๆ ชีวิตต้องตาย นี่คือกฎกำหนดสภาวะของอัลลอฮ หมายความว่า กฎธรรมชาติทั้งหลายนั้น อัลลอฮเป็นผู้ทรงสร้างและควบคุมมัน ส่วนการกำหนดสภาวะในหลักจริยธรรมความดี - ความชั่วนั้น พระองค์จะเป็นผู้บอกเราเองว่า อะไรคือความดีและอะไรคือความชั่ว แต่สิ่งที่ใช้วัดความดีความชั่วนั้นในอิสลามถือว่า มันไม่ได้มาจากมติบุคคลหรือมติของมหาชน มิได้อาศัยขนบธรรมเนียมประเพณี หรือความนิยมหรือสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องกำหนด เพราะถ้ามนุษย์เป็นผู้กำหนดความดีความชั่วแล้วมาตรฐานความดีของมนุษย์ก็จะ แตกต่างกัน
การที่มนุษย์ได้กระทำความดีความชั่วนั้น อัลลอฮไม่ได้เป็นผู้ลิขิตชะตาชีวิตของเขาไว้ล่วงหน้ามาก่อนเลย สิ่งเหล่านี้มันขึ้นอยู่กับการกระทำหรือการตัดสินใจของมนุษย์เอง เพราะอัลลอฮได้ให้ความคิดอิสระเสรีแก่เขาในการที่เขาจะเลือกทางเดินของเขา เอง ดังนั้นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สับสนวุ่นวายอยู่ในบ้านเมืองหรือสังคมนั้น มันเกิดขึ้นมาจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกันเองทั้งสิ้น มิใช่เกิดขึ้นจากการกำหนดหรือการลิขิตของพระผู้เป็นเจ้า ความจน ความรวย ความทุกข์ทรมาน ความทุกข์ยาก ความขมขื่น ที่เกิดแก่มนุษย์นั้น ก็เนื่องมาจากผู้ปกครองขาดความรับผิดชอบนั่นเอง การที่อัลลอฮไม่ได้เป็นผู้ ขีดชะตากรรมของผู้ใดล่วงหน้ามานั้นก็เพื่อที่จะให้มนุษย์ได้มีความรับผิดชอบ ในการงานของตนเองที่ได้กระทำไว้
อบู อารีฟ

อัพเดทล่าสุด