ความหมายของการสังคมสงเคราะห์
นักสังคมสงเคราะห์ศาสตร์หลายท่านได้ให้คำจำกัดความ และคำอธิบายความหมายของงานสังคมสงเคราะห์ ไว้ดังนี้
Helen I. Clarke ศาสตราจารย์ทางสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัย Wisconsin ได้อธิบายความหมายของ “การสังคมสงเคราะห์”ไว้ว่า “การสังคมสงเคราะห์เป็นรูปแบบหนึ่งของการบริการวิชาชีพซึ่งประกอบด้วยความรู้และทักษะ (Knowledge and skills) ในอันจะช่วยเหลือปัจเจกชน (Individual) ให้มีความพึงพอใจตามความต้องการทางสังคมของเขา ทั้งยังเป็นการขจัดปัดเป่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคของมวลชน และช่วยให้เขาสามารถทำงานใดๆ สำเร็จลุล่วงลงด้วยดีที่สุด”
Herbert H. Stroup ศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา แห่ง Brooklyn College ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า “การสังคม คือ ศิลปะของการนำเอาทรัพยากรตลอดจนความคิดมาพิจารณาใช้เพื่อช่วยบรรเทาความต้องการของเอกชน กลุ่มชน และชุมชน โดยใช้วิธีการตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อจะช่วยให้บุคคลช่วยตัวเองได้”
T. Bernnan ศาสตราจารย์แห่งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ออสเตรเลีย อธิบายความหมายของการสังคมสงเคราะห์ สรุปได้ว่า “งานสังคมสงเคราะห์ เป็นทั้งวิชาชีพ ทั้งความรู้ และวิชาการที่นำเอาทฤษฎีและวิยาการสาขาต่างๆ มาใช้ปฏิบัติ เช่น วิชาการด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา จิตวิทยา และอื่น ๆ “
Arthur E. Fink ได้อธิบายไว้ว่า “การสังคมสงเคราะห์เป็นศาสตร์ และศิลป์ของการจัดหาบริการเพื่อช่วยส่งเสริมความสามารถภายในส่วนบุคคลและหน้าที่ทางสังคม (Social Functioning) ของบุคคลซึ่งใช้กับบุคคลแต่ละคนหรือเป็นกลุ่มก็ได้ คำว่าศิลป์ (Art) หมายถึง ความเหมาะสมกลมกลืนเข้ากันได้ ส่วนศาสตร์ หมายถึง รู้ หรือความรู้”
Zofia T.Butrym ให้คำนิยามของการสังคมสงเคราะห์ไว้ว่า “การสังคมสงเคราะห์เป็นวิชาชีพของการให้ความช่วยเหลือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสวัสดิภาพของมนุษย์”
รองศาสตราจารย์ นันทนีย์ ไชยสุต คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ให้ความหมายของการสังคมสงเคราะห์ไว้ว่า “การสังคมสงเคราะห์หมายถึง การจัดให้มีมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นรายบุคคล เป็นกลุ่ม หรือทั้งชุมชนโดยใช้หลักทฤษฎีของการสังคมสงเคราะห์เป็นแนวปฏิบัติ ผู้ที่ปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์หรือที่เรียกว่า “นักสังคมสงเคราะห์”จะต้องปฏิบัติงานนี้โดยใช้หลักวิชาชีพ หรือนัยหนึ่งคือ ให้หลักการ วิธีการ และกระบวนการของการสังคมสงเคราะห์ ไม่ใช่เพียงแต่หยิบยื่นสิ่งที่ผู้มีปัญหาต้องการก็เป็นอันใช้ได้ นับว่าให้บริการสังคมสงเคราะห์แล้ว”
พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) (๒๕๓๒, น. ๗๒ ) ได้ให้ความหมายสังคมสงเคราะห์ไว้ว่า สังคมสงเคราะห์ หมายถึงการยึดเหนี่ยวจิตใจ ประสานหมู่ชนไว้ให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือการให้สังคมเกาะกุมคุมกันอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่แตกไม่กระจัดกระจาย ดังนั้น ความมุ่งหมายของสังคมสงเคราะห์ จึงไม่เป็นเพียงเอาอะไรไปให้เขา ไม่ใช่เอาบริการไปให้ เอาทรัพย์สินเงินทองไปให้ แต่หมายถึงการทำให้สังคมรวมใจกันผนึกยึดเหนี่ยวกันไว้ได้ การสังคมสงเคราะห์ เป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เพื่อให้เขาสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหลักธรรมในทาง พระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าทรงวางหลักแห่งการสงเคราะห์ไว้ สามารถนำมาใช้ในงานสังคมสงเคราะห์ได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันก็ได้กล่าวเชิงสรุปเกี่ยวกับพุทธศาสนากับงานสังคมสงเคราะห์ดังนี้
การสังคมสงเคราะห์ คือการสงเคราะห์สังคมแต่ถ้าแปลให้ลึกกว่านั้น ก็มีความหมายทางธรรมสงเคราะห์ คำบาลีเป็น สงฺคห (สังคห) แปลว่า ประมวล รวบรวม จับมารวมเข้าด้วยกัน ยึดเหนี่ยวใจให้รวมกันเป็นหนึ่ง ผูกใจกันไว้
สังคห ที่แปลว่า ยึดเข้าไว้ด้วยกันนั้น หมายถึง ยึดในแง่นามธรรมและยึดในแง่รูปธรรม ทางนามธรรม คือยึดเหนี่ยวผูกจิตใจให้รวมกันไว้เป็นหนึ่ง
ทางรูปธรรม คือให้คนมารวมกัน ประสานเข้าด้วยกัน
ดังนั้น สังคมสงเคราะห์ตามแนวทางพระพุทธศาสนา คือ ทำให้สังคมรวมกันได้เป็นหนึ่งเดียวทั้งรวมใจและรวมกาย
โดยสรุป การสังคมสงเคราะห์ เป็นศาสตร์ เป็นศิลป์ และวิชาชีพ ในอันที่จะดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขช่วยเหลือผู้ที่ประสบความเดือดร้อนต่างๆ ซึ่งไม่สามารถจะช่วยเหลือตนเองได้ ให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของตนต่อไป ทั้งนี้โดยการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ เพื่อช่วยบรรเทาความต้องการและปัญหาทั้งของเอกชน กลุ่มชน และชุมชน โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) จุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ ช่วยเขาเพื่อให้เขาช่วยตนเองได้ (Help them to help themselves) (วิไลวัจส์ กฤษณะภูติ.สังคมสงเคราะห์ศาสตร์เบื้องต้น:๒๕๒๙ น.๖-๗)
คำนิยามที่เกี่ยวข้อง
สวัสดิการสังคม
สวัสดิการสังคม หมายถึง ระบบการจัดบริการทางสังคมซึ่งเกี่ยวข้องกับการป้องกัน การแก้ไขปัญหา การพัฒนาและการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม เพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึง เหมาะสมเป็นธรรมและให้เป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งทางด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย ที่อยู่อาศัยการทำงานและการมีรายได้ นันทนาการ กระบวนการยุติธรรม และการบริการสังคมทั่วไปโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิที่ประชาชนจะต้องได้รับและมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ
เป้าหมายงานสวัสดิการสังคม
มุ่งหวังให้ประชาชนมีการกินดีอยู่ดี
ปรัชญาการดำเนินงานสวัสดิการสังคม
เป็นการทำงานร่วมกับประชาชนแบบมีส่วนร่วม เคารพในสิทธิและศักดิ์ศรี คือ ความเท่าเทียมกันของความเป็นมนุษย์
เป็นการดำเนินงานเพื่อให้ประชาชนช่วยตนเองได้บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นของความเป็นมนุษย์
การพัฒนาสังคม
การพัฒนาสังคม หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ดีทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม การเมือง การปกครอง วัฒนธรรม เพื่อประชาชนจะได้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทั้งด้านอาหาร ที่อยู่อาศัย การศึกษา สุขภาพอนามัย การมีงานทำ มีรายได้เพียงพอในการครองชีพ ประชาชนได้รับความเสมอภาค ความยุติธรรม มีคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทุกขั้นตอนอย่างมีระบบ
ความมั่นคงของมนุษย์
ความมั่นคงของมนุษย์ หมายถึง การที่ประชาชนได้รับหลักประกันด้านสิทธิ ความปลอดภัย การสนองตอบต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ตลอดจนได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง
**เอกสารวิชาการ สมพ.1 ลำดับที่ 15 เล่มที่ 8/2547(หน้า 3-8)
**ข้อมูลจาก : แนวทางการดำเนินงานจัดบริการสวัสดิการสังคมขององค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.). กรุงเทพมหานคร :
สำนักมาตรฐานการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2547.