พระราชดํารัส เศรษฐกิจพอเพียง ใน ชุมชนมุสลิม ก็ทำได้


1,071 ผู้ชม


พระราชดํารัส เศรษฐกิจพอเพียง ใน ชุมชนมุสลิม ก็ทำได้

เศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนมุสลิม - ทิศทางเกษตร

บ้านบางโรง ตำบลป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นในเรื่องความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะป่าชายเลน และความเข้มแข็งของชุมชน อยู่ห่างจากเมืองภูเก็ตประมาณ 22 กิโลเมตร ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประกอบอาชีพการเกษตร  ทำการประมงและรับจ้าง  ชุมชนบ้านบางโรงเป็นชุมชนที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประเภทชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง ครั้งที่ 2 ในงาน “84 พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา” ปี 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับ มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย กองทัพไทย และสถาบันวิจัยและพัฒนาประเทศตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ตัวอย่างความสำเร็จของชุมชน ที่ได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ในการดำเนินชีวิต และการพัฒนาชุมชนจนประสบความสำเร็จเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม

จุดเด่นของชุมชนแห่งนี้คือมีการพัฒนาในมิติที่หลากหลาย มีกลุ่มออมทรัพย์และสถาบันการเงิน ที่พัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนด้านสวัสดิการ การปลดเปลื้องหนี้สินนอกระบบ การจัดหาที่อยู่อาศัย การดำเนินธุรกรรมทางการเงินตามหลักศาสนา ในระบบทุนชุมชน และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นับเป็นชุมชนต้นแบบในการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้จนประสบความสำเร็จ ปัจจุบันเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการทุนโดยชุมชน  บ้านบางโรง เมื่อ 30 ปีที่แล้วเป็นพื้นที่หนึ่งที่ประสบกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในชุมชน ป่าชายเลนถูกทำลายภายหลังจากที่รัฐบาลได้เปิดสัมปทานป่าเมื่อปี  2513 ทรัพยากรสัตว์น้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ลดน้อยลง  ส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยวที่ใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่ การทำนากุ้ง เกิดปัญหาป่าชายเลนทรุดโทรม การขายที่ของชาวบ้านให้กับนายทุนเพื่อทำธุรกิจนากุ้งและการท่องเที่ยว ทำให้คนในชุมชนไม่มีที่ดินทำกินและอยู่อาศัย มีปัญหาหนี้สินติดตามมา ประชาชนรอพึ่งราชการและนายทุนเป็นหลักในการยังชีพในที่สุดก็ยังยากจน

ภายหลังจากการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติใช้ด้วยการกำหนดทิศทางภายใต้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจชุมชนวิถีพอเพียง มีการอบรมเชิงปฏิบัติการเศรษฐกิจพอเพียงระดับครัวเรือน  ระดับชุมชนและระดับตำบล  สนับสนุนแผนลดรายจ่ายของครัวเรือน มีการพัฒนาร้านค้าชุมชนระดับหมู่บ้าน   มีการพัฒนาตลาดสดตำบล  พัฒนาศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในระดับตำบล   ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรในชุมชน มีการใช้พลังงานทดแทนในการดำเนินกิจการด้านการผลิตภายหลังจากมีการประกาศปิดการสัมปทานป่าทั่วประเทศ จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้ชาวบ้านในชุมชนได้เข้าไปดูแล และรักษาป่า ซึ่งสิ่งแรกที่ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ได้ดำเนินการคือการฟื้นฟูป่า และการปลูกป่า ควบคู่กับการจัดตั้งกองทุน เพื่อลดหนี้สินของชาวบ้าน โดยใช้เงินของมัสยิด ที่รวบรวมมาจากประชาชนในพื้นที่ทุกเดือน นำไปไถ่ถอนที่ดินของชาวบ้านที่ประสบหนี้สินจนถูกยึดที่ทำกินและที่อยู่อาศัยคืนมา

จากการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จจึงนำไปสู่การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์แบบอิสลามขึ้นมา คือกลุ่มออมทรัพย์ที่ไม่มีดอกเบี้ย โดยเริ่มจากสมาชิก 20 คน มีเงินทุนประมาณ 20,000 บาทในวันเริ่มต้น จนปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมกว่า 500 คน มีเงินทุนหมุนเวียนให้บริหารประมาณ 50–60 ล้านบาท ซึ่งเหล่านี้เป็นจุดหนึ่งที่เข้ามาทำให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเอง พลิกฟื้นชุมชน วิถีชีวิตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจนสามารถส่งลูกหลานเข้าสู่ระบบการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยกันแทบทั้งชุมชน.

อัพเดทล่าสุด