น่ารู้ แฟรนไชส์ชาไข่มุก แฟรนไชส์ชาไข่มุกโอชายะ แฟรนไชส์ชาไข่มุกมิสเตอร์เชค
เทคนิคการวางสินค้าอย่างไรให้ขายออก
อ้างอิงจาก NEC โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่
ตลาดชาสไตล์ไต้หวัน ถือเป็นเทรนด์ที่เคยเกิดขึ้นแล้วในเมืองไทย แต่ด้วยกระแสแรงของตลาดในตอนนั้น ทำให้มีผู้เล่นเข้ามาหลายราย รวมทั้งสินค้าคุณภาพต่ำและหลายเจ้าที่ไม่สามารถรักษามาตรฐานของรสชาติได้ ทำให้หลายรายจึงต้องตายไปจากตลาด
10 ปีของตลาดชานมไข่มุกเหลือเพียงรายที่แข็งแกร่งซึ่งมีจุดเด่นของการใช้ชาจาก ไต้หวันแท้อยู่ไม่กี่ราย โดยรายที่เป็นผู้นำตลาด อย่างเด่นชัดคือ “มิสเตอร์เชค” (Mr.Shake) และวันนี้ตลาดชาจากไต้หวัน หรือที่เรียกคุ้นปากคนไทยว่า “ชานมไข่มุก” กำลังกลับมาบูมอีกครั้ง จากรายเล็กๆ ที่เปิดขึ้นมาใหม่ และรายใหญ่ในวงการอาหารเครือซูกิชิ ที่ลงมาเล่นตลาดนี้อย่างจริงจัง
“วาวาชา” หว่าน 200 สาขาใน 3 ปี
นางสาวลลินทิพย์ จิรวราพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซูกิชิ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด เจ้าของแบรนด์ “วาวาชา” เปิด เผยว่า เทรนด์ของอาหารและชานมไต้หวันเป็นที่น่าสนใจของตลาด บริษัทจึงได้ขยายธุรกิจร้านอาหาร มาสู่ร้านวาวาชา เป็นร้านชาสไตล์ไต้หวัน เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายนักเรียน นักศึกษา และคนทำงานรุ่นใหม่ โดยเริ่มสาขาแรกที่สยามสแควร์ซอย 11 และขยายจนมี 9 สาขาในปีที่ผ่านมา ในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มอีก 20 สาขา ในห้างสรรพ สินค้าชั้นนำ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลและแหล่งชุมชน โดยใน 3 ปีนี้ มีเป้าหมายขยายสาขาให้ครบ 200 แห่งทั่วประเทศ
สำหรับตลาดเครื่องดื่มชาในประเทศไทย ทั้งแบบชงและบรรจุขวดมีมูลค่ากว่า 7.8 พันล้านบาท มีอัตราการเติบโต 15% โดยกลุ่มชาชงสดจากไต้หวันถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ เนื่องจากมีคู่แข่งไม่มากนัก อีกทั้งกระแสด้านสุขภาพยังเข้ามากระตุ้นตลาดชาในรูปแบบนี้ โดยผู้บริโภคเริ่มมีความรู้เรื่องชาจากไต้หวันมากขึ้น และสามารถแยกความแตกต่างจากชาเขียวญี่ปุ่นได้ ปัจจุบันวาวาชามีจำหน่าย 9 หมวด รวมกว่า 40 รายการ ทั้งชาจากไต้หวัน ฮ่องกง และญี่ปุ่น ราคา 40-60 บาท
โดยในทุกเดือนจะมีโปรโมชั่นไม่ซ้ำกัน รวมทั้งโปรโมชั่น ซื้อ 1 แถม 1 สำหรับวันเปิดสาขาใหม่ นอกจากนั้นจะใช้งบประมาณทางการตลาด 10 ล้านบาท เพื่อสร้างแบรนด์ในปีนี้ โดยวางเป้าหมายยอดขายปีแรกที่ 30 ล้านบาทในปีแรก“แม้ว่าตลาดชานมไต้หวันจะมีคู่แข่งอยู่บ้าง แต่เนื่องจาก ‘วาวาชา’ เป็นแบรนด์น้องใหม่ในเครือซูกิชิ ซึ่งประสบความสำเร็จในธุรกิจร้านอาหารปิ้งย่างสไตล์เกาหลีและอาหารญี่ปุ่นมา ถึง 11 ปี ความเชี่ยวชาญในการทำตลาด และความชำนาญในการคัดเลือกวัตถุดิบ จะเป็นเส้นทางการเติบโตของวาวาชาได้เป็นอย่างดี”
เจ้าตลาดชี้กระแสอดีตซ้ำรอย
นางณชญาดา ชูชัยศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิสเตอร์ เช็ค จำกัด เปิดเผยว่า “ตลาดชานมไข่มุกกลับมาบูมอีกครั้งเหมือนเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ซึ่งในตอนนั้นมีการแข่งขันสูงมาก ซึ่งมิสเตอร์เชค ถือเป็นแบรนด์แรกที่เข้ามาปลุกตลาดจนได้รับความนิยม ส่งผลต่อแบรนด์คู่แข่งที่เพิ่มมากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วกระแสของชานมไข่มุกก็อยู่ได้เพียง 2-3 ปีแล้วหายไป เหลือเพียงแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งอยู่ในตลาดเพียงไม่กี่แบรนด์ ซึ่งมิสเตอร์เชคถือเป็นเจ้าตลาดที่อยู่มานานถึง 12 ปี การกลับมาบูมอีกครั้งของตลาดชานม ซึ่งมีรายใหม่เข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังนั้น จะไม่เห็นภาพการแข่งขันที่รุนแรงเท่ากับช่วงแรก
ส่วนการที่เทรนด์นี้จะกลับมาอีกครั้ง คงเพราะมีผู้ประกอบการอยากทำธุรกิจของตัวเองมากขึ้น จึงหันมาจับตลาดชานม ซึ่งยังมีกลุ่มผู้ที่นิยมดื่มอยู่ในตลาด ซึ่งคาดว่าน่าจะเห็นภาพความคึกคักอีกประมาณ 2-3 ปี จากนั้นเจ้าที่ไม่แข็งแกร่งจริงก็จะหายไปเหมือนในอดีต ขณะที่รายหลักก็ยังคงทำตลาดต่อไปโดยไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากลูกค้ามีความภักดีต่อแบรนด์”
“กรณีคู่แข่งแบรนด์ใหม่ที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจร้านอาหารมาก่อนเข้ามาทำ ตลาดชานมไข่มุก ตีตลาดกับเรานั้น เรามองว่าใครอยากทำธุรกิจอะไรก็ทำไป เพราะเราไม่แข่งกับเขา เราอยากอยู่แบบสมถะ และเรามองว่าลูกค้าที่ยังคงชอบแบรนด์ และติดใจในรสชาติของมิสเตอร์ เชคยังคงมีอยู่อีกมาก ซึ่งก็เปรียบได้กับเอ็มเค สุกี้ ซึ่งเป็นเจ้าแรกๆ ในการทำตลาดสุกี้ยังจริงจัง แม้จะมีแบรนด์ใหม่ๆ อาทิ ฮอตพอต เข้ามาแข่งขัน แต่เอ็มเคก็ยังอยู่ได้เพราะยังมีลูกค้าที่ชื่นชอบในความเป็นเอ็มเคอยู่ ดังนั้น ธุรกิจของมิสเตอร์เชคก็จะเป็นรูปแบบนั้นเช่นกัน”
สำหรับผลกระทบจากการเข้ามาของแบรนด์ใหม่ ส่งผลต่อยอดขายของมิสเตอร์เชคที่ลดลงประมาณ 10-20% เนื่องจากลูกค้าหันไปทำการทดลองแบรนด์ใหม่ แต่คาดว่าลูกค้าที่ชื่นชอบในรสชาติของมิสเตอร์เชค จะกลับมาเหมือน เดิมหลังจากผ่านช่วงทดลองไปแล้ว ซึ่งมิสเตอร์เชคก็ไม่ได้มีการจัดกลยุทธ์ใดๆเป็นพิเศษ แต่คงต้องจับตาดูว่า คู่แข่งรายใหม่จะมีกลยุทธ์อย่างไรต่อไป และ 4 เดือนหลังจากนี้จะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง แต่จะไม่ใช้กลยุทธ์ซื้อ 1 แถม 1 แบบที่คู่แข่งรายใหม่ทำ เนื่องจากตลอด ระยะเวลาที่ผ่านมามิสเตอร์เชคไม่เคยทำโปรโมชั่นในลักษณะนั้นเลย
“โอชายะ” ย้ำกระแสนี้มีลูกค้าตัวจริง
ด้าน “โอชายะ” (Ochaya) เป็นอีกแบรนด์ที่ชูจุดเด่นของชาจากไต้หวันที่ชงสด ต้มสด โดยมีร้านแฟรนไชส์กระจายอยู่กว่า 60 สาขาทั่วกรุงเทพฯ เป็นอีกเจ้าที่กำลังมาแรง “คุณเพ็ญ” หนึ่งในเจ้าของแฟรนไชส์โอชายะ เปิดเผยว่า เหตุผลของการเลือกทำธุรกิจนี้เป็นเพราะเห็นว่าประเทศไทยเป็นเมืองร้อน มีอากาศร้อนอบอ้าวเกือบตลอดปี ดังนั้นธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวจึงน่าจะสามารถเติบโตได้ดีในไทย
แม้ธุรกิจประเภทนี้ซึ่งเคยเป็นที่นิยมเมื่อ 10-12 ปีก่อนและได้เสื่อมความนิยมไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องปกติสำหรับความนิยมของผู้บริโภค ในเรื่องหนึ่งๆ ที่จะมีขึ้นและลงเป็นวัฏจักร ด้านกลยุทธ์การตลาดนั้น จะมุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักเรียน นักศึกษาและคนทำงาน จากนั้นจึงมองหาทำเลที่ตั้งร้านในบริเวณที่มีกลุ่มคน
ดังกล่าวอยู่ และเหตุผลที่เลือกแฟรนไชส์นี้ (Ochaya) เนื่องจากเห็นว่าเครื่องดื่มของแบรนด์นี้ มีความแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ โดยเฉพาะกลิ่นชาที่หอมเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งหากมองในระยะยาวแล้ว หลังจากนี้ความนิยมของผู้บริโภคที่มีต่อธุรกิจชานมคงจะเริ่มลดลงอีกครั้ง แต่จะไม่ถึงกับหมดความนิยมโดยสิ้นเชิง เพราะผู้บริโภคส่วนหนึ่งยังคงมีความชอบที่จะดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้อยู่
อ้างอิงจาก สยามธุรกิจ