ความสุขที่แท้จริง ความสุขคืออะไร การใช้ชีวิตให้มีความสุข ด้วย 108 วิธี


1,006 ผู้ชม


ความสุขที่แท้จริง ความสุขคืออะไร การใช้ชีวิตให้มีความสุข ด้วย 108 วิธี
“สุข” ด้วยการ “ให้” 108 วิธี

หลายๆ ครอบครัวพร้อมที่จะเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ หรือทำอะไรดีๆ ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ทุกคนในครอบครัวมีความสุข และหากทุกคนมีความสุขแล้ว รู้จักการให้แก่คนในบ้านมาพอสมควร วันนี้ลองมาปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อเป็นผู้ให้แก่คนอื่นบ้างก็คงจะดีไม่น้อย

ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ก็มอบน้ำใจแก่กันได้ทั้งสิ้น
        ทั้ง นี้วิธีมอบน้ำใจให้แก่ผู้อื่น เราสามารถเริ่มต้นด้วยการมองและยิ้ม ต่อจากนั้นก็ใช้การทักทาย ฟัง และพูด น้ำใจสามารถส่งถึงกันได้ด้วยการเขียน และการกระทำ ทั้งต่อคนที่รู้จักกันแล้ว และที่ยังไม่รู้จักกัน ไม่ว่าเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ สามารถมอบน้ำใจให้แก่กันได้ทั้งสิ้น

      วันนี้ จึงขอเสนอ วิธีการ 108 วิธีเพื่อมอบน้ำใจให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งมันจะทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เป็นที่รัก และชื่นชมสำหรับบุคคลอื่นเพิ่มขึ้น และโลกนี้จะน่าอยู่ น่าชื่นอยู่ขึ้นอีกมากทีเดียว
       มองและยิ้ม
       1. มองทุกคนที่พบกันด้วยสายตาที่เป็นมิตร อย่าคิดว่าคนอื่นจะประสงค์ร้ายต่อเราทั้งหมด แต่ก็ต้องระวังคนหลอกลวงไว้บ้าง      
      2. ยิ้มให้ทุกคนที่พบกัน ยิ้มด้วยสายตา ยิ้มด้วยใบหน้า ยิ้มด้วยจิตใจ อย่าทำหน้าบึ้งหน้างอ ถ้าวันไหนอารมณ์ไม่ดี ลองมองดูหน้าตนเองในกระจกเงาบ้าง
      3. ทำความรู้จักกับคนที่ไม่รู้จัก โดยพยายามยิ้มให้และกล่าวคำทักทาย
      4. โบกมือส่งยิ้มให้เด็กๆ ในรถนักเรียนที่แล่นผ่านไป ยิ้มให้เด็กๆในรถข้างๆ หรือเด็กที่มองตาของท่านผ่านกระจกหลังของรถคันหน้าที่ติดไฟแดง
       5. มองคนในแง่ดี มองคนในแง่บวก พิจารณาว่า เขาทำอะไรด้วยความหวังดีอย่างไรบ้าง อย่ามองคนในแง่ร้าย หรือมองในแง่ลบ อย่าเพิ่งคิดว่าเขาจะทำความชั่ว ความเลวเสียทั้งหมด น่าจะมีความดีอยู่บ้าง หรือเขาอาจทำไปเพราะความไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดก็ได้

       6. มองว่าคนเราสามารถเป็นมิตรกันได้ แม้ว่าจะมีความคิดเห็นต่างกัน หรือมีความเชื่อต่างกัน มองว่าการกระทำบางอย่างอาจทำได้หลายวิธี ไม่จำเป็นว่ามีวิธีหนึ่งที่ถูกต้องแล้ว อีกวิธีหนึ่งจะผิด

 
       ทักทาย 
       7. ทักทายกับคนอื่น เมื่อได้พบกัน ด้วยการกล่าวคำสวัสดี ยกมือไหว้ ยิ้ม หรือก้มหัว ตามความเหมาะสม พยายามเรียกชื่อของเขา เพราะทุกคนมีความภูมิใจในชื่อของตน ระวังอย่าเรียกชื่อผิดคน       
       8. สนทนาทักทายกับเพื่อนร่วมงาน ถามไถ่ทุกข์สุข คุยเรื่องที่เขาสนใจ อย่านั่งใกล้กับใครโดยไม่พูดกัน
       ฟัง
       9. ตั้งใจฟังคนอื่นพูด ให้เวลาเขาพูด อย่าเพิ่งขัดคอ ขัดใจ อย่าพูดสอดแทรกขัดจังหวะ อย่าทักท้วงให้เขาเสียหน้า ต่อคนหมู่มาก      
       10. รับฟังสิ่งที่เขากำลังทำ หรือที่เขากำลังสนใจ แล้วหาทางสนับสนุนสิ่งที่ดี รับฟังความทุกข์ของเขา แล้วหาทางช่วยแก้ปัญหา บรรเทาความทุกข์ รับฟังความสำเร็จและความสุขของเขา แล้วร่วมยินดีด้วย

       พูด
       11. ใช้คำพูดสี่คำให้ติดปาก คือ ขอบคุณ ขอโทษ ดี ช่วย กล่าวคำขอบคุณ เมื่อมีใครทำดีต่อตน ขอโทษเมื่อทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ ดี เมื่อผู้อื่นทำความดี และช่วย เมื่อต้องการให้ผู้อื่นช่วยเหลือ       
       12. พูดด้วยคำสุภาพ ไพเราะ อ่อนหวานมีคำลงท้าย ครับ หรือ ค่ะ ตามความเหมาะสม ไม่ใช้คำหยาบคาย ดุด่าเสียดสี ขู่ตะคอก หรือพูดเหน็บแนม อย่าจี้จุดอ่อนให้ช้ำใจ หาเรื่องที่สนุกสนาน ตลกขบขันมาเล่าสู่กันฟังบ้าง ถ้าพูดตลกไม่เป็น ให้พยายามจดจำมุขตลกที่คนอื่นเล่าแล้วนำไปเล่าต่อ
      13. พูดชมเชยบุคคลอื่นเป็นประจำ เพื่อสร้างกำลังใจ อย่าเอาแต่ตำหนิต่อว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อบุตร ภรรยา สามี และผู้ใต้บังคับบัญชา เช่น ชมว่ามีความพยายามสูงมาก ทำงานได้ดี เอาใจใส่บ้านดี ทำงานรอบคอบดีมาก อย่าพูดแต่เรื่องของตนฝ่ายเดียว เพราะคู่สนทนาจะเบื่อหน่าย   
       14. พูดถึงคนอื่น และหัวหน้าผู้บังคับบัญชาในด้านดีกับคนที่เขารู้จัก อย่านินทาว่าร้ายผู้บังคับบัญชากับผู้อื่น เพราะอาจจะมีคนเก็บไปรายงานให้ท่านฟังภายหลัง   
       15. รู้จักขัดแย้งโดยไม่ให้เขาเสียน้ำใจ โดยใช้เทคนิค "ใช่...แต่..." เช่น "ที่คุณว่ามานั้นก็ถูกต้อง แต่อาจจะมีอีกวิธีหนึ่ง..." หรือ "ที่คุณคิดนั้นก็ใช่ แต่คนอื่นเขาอาจคิดอีกอย่างหนึ่งก็ได้กระมัง" หรือ "ของบางอย่างอาจจะมิใช่มีสีดำหรือสีขาว แต่อาจเป็นสีเทาที่จะว่าขาวก็ได้ ดำก็ได้" หรือ "วิธีที่ถูกต้องอาจะมีมากกว่าหนึ่งวิธีก็ได้" หรือ "ร้านก๋วยเตี๋ยวที่อร่อยอาจมีมากกวาหนึ่งร้านก็ได้"      
       16. หาเรื่องพูดคุยกับคนที่ขาดเพื่อน คุยกับคนที่เข้ากับคนอื่นไม่ได้ เพราะเขาเป็นคนที่น่าสงสาร และต้องการความช่วยเหลือ      
       17. พูดด้วยเสียงดังพอสมควร ไม่พูดแผ่วเบา หรือ ตะโกนให้ดังเกินไป การพูดด้วยการขึ้นเสียง ก่อให้เกิดความโมโห และนำสู่การทะเลาะวิวาท     
       18. พูดคุยในสิ่งที่เขาสนใจ เช่น เรื่องเกี่ยวกับลูกของเขา หรือสิ่งที่เขามีความเชี่ยวชาญ เช่น เรื่องฟุตบอล กอล์ฟ ละครโทรทัศน์ หรือ หัวข้อข่าวที่เขาสนใจ ระวังไม่คุยคุ้ยเขี่ยสิ่งที่เขาอับอาย หรือต้องการปกปิดไม่ให้ใครรู้       
       19. หาข่าวเรื่องดีๆ หรือ เรื่องคนที่กระทำความดีมาคุยกันบ้าง เพื่อให้จิตใจเบิกบานอย่าคุยแต่ข่าวร้าย ข่าวลือ หลอกลวง หรือข่าวที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง       
       20. ไม่พูดหาเรื่องจับผิดคนอื่น ถ้าจะพูดถึงความดีของตนก็ว่าไป แต่ไม่ควรนินทาว่าร้ายคนอื่น หรือคุยว่าคนอื่นสู้ตนเองไม่ได้     
       21. หาทางพูดคุยกับคนที่ไม่เคยรู้จักพูดคุยด้วย โดยการแนะนำตัวเอง หรือ หาผู้อื่นแนะนำ
       22. โทรศัพท์หรือเขียนจดหมายไปหาเพื่อน หรือคนรู้จักที่ไม่ได้ติดต่อนานเกินหนึ่งปี รวมทั้งเมื่อได้รับข่าวที่น่ายินดี หรือข่าวที่น่าเสียใจ     
       23. ละเว้นการพูดคำที่ไม่ดี และไม่โกรธ โมโห อย่างน้อยหนึ่งวันต่อสัปดาห์ เช่น วันจันทร์ หรือวันศุกร์
       24. เขียนจดหมาย หรือไปเยี่ยมคนที่กำลังกลุ้มใจเสียใจ หรือประสบปัญหาชีวิต
       25. เขียนจดหมายหรือส่งบัตรแสดงความขอบคุณผู้ที่มีน้ำใจไมตรี ผู้ที่ทำคุณกับเรา
       26. เขียนจดหมาย หรือส่งบัตรแสดงความยินดีในวันคล้ายวันเกิด หรือเมื่อมีคนที่รู้จักได้ข่าวดี เช่น ได้เลื่อนตำแหน่ง ได้รับการยกย่องรางวัล       
       27. เขียนจดหมาย หรือส่งบัตรแสดงความเสียใจ เมื่อคนรู้จักได้รับความเสียใจ เช่น เมื่อเจ็บป่วย หรือญาติมิตรเสียชีวิต       
       28. เขียนคำชมเชยหรือมอบรางวัล แก่คนที่ให้บริการดีเป็นพิเศษ พนักงานบริการ แม่ครัว หรือยาม โดยอาจส่งผ่านไปทางผู้จัดการ เพื่อเขาจะได้นำไปประกาศชมเชย หรือให้รางวัลต่อ     
       29. เขียนจดหมายชมเชยการกระทำความดีเป็นพิเศษที่ได้พบเห็นในที่สาธารณะ ผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อเป็นตัวอย่างของบุคคลอื่น แล้วส่งไปลงข่าวหนังสือพิมพ์หรือวิทยุ (เช่น วิทยุร่วมด้วยช่วยกัน หรือ จส.100)       
       30. เขียนป้ายเตือนอันตรายติดไว้ในที่เหมาะสม เพื่อมิให้ผู้อื่นเป็นอันตราย เช่น ระวังพื้นลื่น ระวังผึ้งต่อย ระวังหมาดุ ระวังไฟดูด ระวังคนล้วง-กรีดกระเป๋า       
       31. ดูชื่อเพื่อนเก่าในหนังสือรุ่น หรือรูปญาติในรูปเก่าๆ แล้วเขียนจดหมาย ต่อโทรศัพท์ถึง หรือส่งบัตรอวยพรปีใหม่ ถ้าไม่ทราบที่อยู่ สามารถหาที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ได้จากคนที่รู้วิธีค้นหาจากอินเตอร์เน็ต (https://phonebook.tot.co.th/) หรือโทรศัพท์ถามจากองค์การโทรศัพท์ หมายเลข 1133 (กทม) หรือ 183 (ต่างจังหวัด)

       ปิด 
       32. ปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ ขณะที่ไม่ควรพูดโทรศัพท์ เช่น อยู่ในห้องประชุม รับแขก อยู่กับผู้ใหญ่ อยู่ในพิธีการ หรืองานศพ       
       33. ปิดหรือหรี่ เสียงดัง จากวิทยุโทรทัศน์ ที่อาจไปรบกวนเพื่อนบ้านข้างเคียง เขาอาจไม่ชอบเพลงชนิดที่เราชอบฟังก็ได้

       ทำ
       34. เลื่อนจานอาหารไปให้คนอื่นที่เอื้อมไม่ถึง โดยไม่ต้องรอให้เขาขอร้อง       
       35. หาทางปลอบใจคนที่กำลังมีความทุกข์ เช่น มีคนในครอบครัวเสียชีวิต ใช้วิธีปลอบว่า พระพุทธเจ้ายังมีปรินิพาน มนุษย์ก็ต้องมีความตายเป็นธรรมดา       
       36. ทำความประหลาดใจให้แก่บางคน ด้วยการใช้ความพยายามเป็นพิเศษในการหาสิ่งของที่เขาต้องการมาก แต่เขาไม่สามารถหาได้ ด้วยวิธีปกติธรรมดา แล้วจัดส่งไปให้ เช่น ผลไม้นอกฤดูกาล ของที่ต้องการอย่างรีบด่วน ของที่ต้องสั่งทำพิเศษ หรือของที่หายาก ไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด       
       37. พยายามทำศัตรูให้กลายเป็นมิตร ด้วยการให้ของขวัญ การพูดคุย การเป็นเพื่อน การเห็นอกเห็นใจ การไม่เอาเปรียบ และการยอมลดราวาศอกกันบ้าง       
       38. ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ทำให้ผู้รับบริการเกิดความพอใจด้วยความเต็มใจ      
       39. ทำความประทับใจด้วยบริการที่เป็นพิเศษกว่าธรรมดา เช่นที่โรงแรมโอเรียลเต็ล กรุงเทพฯ นั้น พนักงานโรงแรมจะสร้างความประทับใจโดยการทักทายเรียกชื่อแขกที่มาพักทุกคนได้ และหาข้อมูลว่าลูกค้าชอบอะไรจากการสังเกตสิ่งที่เขากิน เขาใช้ในวันแรก

       ช่วยเหลือคนที่รู้จัก       
        40. สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว โดยเล่นกับลูก ช่วยน้อง หรือลูกทำการบ้าน พยายามลดงานประจำวันในวันหยุด เพื่อจะได้มีเวลาสำหรับสร้างความอบอุ่นในครอบครัว พาลูกหลานครอบครัวไปเที่ยวด้วยกันอย่างน้อยปีละครั้ง       
       41. ช่วยรับคนที่รู้จักกันขึ้นรถ เมื่อจะไปทางเดียวกัน หรือจะกลับบ้านทางเดียวกัน ชวนคนข้างบ้านที่ไม่มีรถ นั่งรถไปซื้อของที่ตลาดพร้อมกัน       
       42. ทักทาย แนะนำตัวทำความรู้จักกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะผู้ที่ย้ายมาใหม่ เช่นแนะนำเรื่องรถขยะ เรื่องการเก็บค่าไฟฟ้า ประปา       
       43. ส่งอาหารหรือผลไม้ไปให้เพื่อนบ้าน เป็นครั้งคราว       
       44. ให้คนสวนกวาดใบไม้หน้าบ้านของเพื่อนบ้านด้วย       
       45. ชวนเพื่อนบ้านและลูกของเพื่อนบ้านไปเที่ยวด้วยกันในวันหยุด       
       46. รับฝากดูแลเด็กเล็กข้างบ้าน เมื่อพ่อแม่ของเด็กไม่อยู่ ชวนลูกเพื่อนบ้านที่พ่อแม่กลับบ้านดึก มาดูแลก่อนพ่อแม่กลับ ชวนมาเล่นที่บ้านเล่านิทาน ให้อ่านหนังสือการ์ตูน ทำการบ้าน (ระวังแจ้งพ่อแม่เด็กให้ทราบเพื่อป้องกันความเข้าใจผิด)       
       47. ให้ความสนใจกลุ่มเยาวชนในหมู่บ้าน ถ้าขาดกิจกรรมที่เล่นที่พักผ่อน ควรรวมกลุ่มชาวบ้านหารือกันกันเพื่อช่วยเหลือ ถ้าทำเองไม่ได้ควร ติดต่อกลุ่มที่สามารถช่วยได้ หรือจะเขียนจดหมายถึงอำเภอ/หนังสือพิมพ์/โทรทัศน์ หาผู้มีจิตศรัทธาช่วยเหลือ ช่วยป้องกันยาเสพติดในหมู่บ้าน       
       48. ไปเยี่ยมคนแก่ที่อยู่ใกล้บ้านเดือนละครั้ง       
       49. จ่ายเงินค่าอาหารหรือเครื่องดื่มให้เพื่อนร่วมงานเป็นครั้งคราว อย่าให้เขาเลี้ยงฝ่ายเดียว      
       50. ช่วยคนขาดแคลน ถ้ารู้ว่าคนรู้จักคนหนึ่งขาดแคลนเงินมาก ลองใส่ธนบัตรใบละร้อย หรือห้าร้อย ส่งทางไปรษณีย์ไปให้เขา โดยไม่ต้องบอกว่าส่งมาจากใคร       
       51. ตัดหนังสือพิมพ์ส่งไปให้คนรู้จัก เพราะว่ามีข่าวของเขา หรือมีเรื่องที่เขาน่าจะสนใจ       
       52. ส่งอาหารเครื่องดื่ม หรือขนมไปให้เจ้าหน้าที่บริการประชาชน เช่น ตำรวจสายตรวจที่มาหน้าบ้าน พนักงานดับเพลิง บุรุษไปรษณีย์ ยามหมู่บ้าน หรือพนักงานขยะ       
       53. ซื้อตั๋วดูภาพยนตร์/ดนตรี/กีฬา หรือหนังสือการ์ตูนให้เด็กข้างบ้าน       
       54. เมื่อเห็นว่าของบางอย่างเหมาะสมสำหรับบางคนที่รู้จัก ควรซื้อ หรือหาไปฝากเขา       
       55. ส่งหนังสือวารสารที่อ่านแล้วไปให้คนที่เราคิดว่าเขาต้องการ หรือบริจาคให้ห้องสมุดกรมการศึกษานอกโรงเรียน เพราะดีกว่าชั่งกิโลขาย       
       56. จ่ายเงินค่าสมัครสมาชิกวารสารที่เหมาะสมส่งไปให้โรงเรียนเก่า
       57. หาของฝากหรือของขวัญปีใหม่ไปให้คนที่ติดต่อประจำ เช่น แม่ค้าขายผลไม้ แม่ครัวร้านอาหาร ช่างตัดผม คนขับรถ หรือภารโรง       
       58. หาของขวัญของฝากให้ลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงาน เช่น บัตรกินอาหารฟรี บัตรลดราคา บัตรเติมน้ำมันฟรี บัตรดูละครการแสดง หรือตั๋วทัศนาจร แจกเงินหรือขนมให้ลูกของเพื่อนร่วมงานที่มารอพ่อแม่ที่ที่ทำงานหลังเลิก เรียน       
       59. มอบจักรยาน ลูกฟุตบอล หรือขลุ่ย แทนพวงหรีดในงานศพ เพื่อเจ้าภาพจะได้นำไปมอบให้เด็กบ้านไกลโรงเรียนในชนบท หรือมอบผ้าไตรแทนพวงหรีดในงานศพ เพื่อเจ้าภาพจะได้นำไปถวายพระ หรือใช้ในการอุปสมบทพระใหม่       
       60. ชดใช้หนี้ให้ลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงานที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือให้ยืมเงินไม่เสียดอกเบี้ย โดยหวังจะให้เขามีกำลังใจในการสู้ชีวิต และทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อไป (ระวังอย่าเป็นนายประกัน)

       ช่วยเหลือคนที่ไม่รู้จัก
       61. ช่วยทุกคนที่ประสบความยากลำบาก มีปัญหา มีความทุกข์ เช่นคนหลงทาง คนกำลังหิว คนที่กระหายน้ำ คนกำลังประสบอุบัติเหตุ       
       62. ส่งเงินและสิ่งของไปช่วยคนที่ประสบสาธารณะภัย เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้     
       63. บอกเตือนสิ่งผิดปกติของคนอื่น เช่น ยางรถแบน ซิปกางเกงไม่ได้รูด (เขียนใส่กระดาษไปบอก)      
       64. ช่วยจับประตูที่เปิดเดินออกไปแล้ว เพื่อไม่ให้ตีคนที่กำลังตามมาข้างหลัง       
       65. ช่วยชี้ทาง นำทาง ให้คนต่างถิ่นมาถามทาง หากอยู่ใกล้ๆ พอนำไปส่งได้จะวิเศษมาก      
       66. ช่วยคนที่กำลังหาของที่หาย หาไม่พบ หรือเมื่อเก็บของได้ส่งคืนเจ้าของ     
       67. ช่วยถือของให้คนที่หอบของพะรุงพะรัง (แต่ควรระวังอย่าถือของให้คนไม่รู้จักที่นำมาฝาก เพราะอาจมีของที่ขโมยมา หรือยาเสพติดอยู่ในถุงนั้น ทำให้ต้องตกเป็นผู้ต้องหาได้ ไม่ควรรับฝากของใครไปต่างประเทศ)       
       68. ช่วยคนที่กำลังจะเอื้อมหยิบของบนชั้นสูงไม่ถึง (ระวังของตกใส่หัว หรือของหนักเกินกำลัง เวลายกของต้องใช้กำลังขา อย่างอหลัง มิฉะนั้นจะปวดหลังไปนาน เพราะกระดูกสันหลังอาจเคลื่อน หรืออักเสบ)       
       69. ช่วยเข็นรถยนต์ของคนอื่นที่เครื่องเสีย ต้องหลบเข้าข้างทาง (ระวังถูกรถที่ผ่านไปมาชนเอา)       
       70. หาดอกไม้หรือของไปฝากคนป่วยไม่รู้จัก ที่ไม่ค่อยมีคนเยี่ยม เมื่อไปที่โรงพยาบาล มอบกระดาษเขียนจดหมาย ปากกา และซอง พร้อมแสตมป์ให้ผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาลนานๆ เพื่อเขียนจดหมายถึงญาติมิตร (ผู้ป่วยที่อยู่โรงพยาบาลนานๆ มักมีคนมาเยี่ยมน้อย)       
       71. ช่วยนำคนเจ็บหรือผู้ประสบอุบัติเหตุส่งโรงพยาบาล (ระวังต้องยกตัวในท่าที่ถูกต้อง มิฉะนั้น อาจทำให้เป็นอัมพาต และควรหาพยานที่จะยืนยันว่าท่านมิใช่ต้นเหตุของอุบัติเหตุไว้ด้วย)    
       72. ช่วยผายปอดคนตกน้ำ (ระวังไม่ควรลงไปช่วยคนตกน้ำในน้ำ หากไม่เก่งจริง เพราะอาจถูกดึงให้จมไปด้วยกัน ควรโยนเชือกหรือวัตถุลอยน้ำให้)   
       73. ช่วยแนะนำหางานให้ตกงาน (ระวังไม่ควรลงนามรับประกันความเสียหาย หรือประกันเงินกู้ให้ผู้อื่น เพราะถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ นายประกันอาจต้องตามไปชดใช้หนี้ภายหลัง)   
       74. แนะนำวิธีประกอบอาชีพ หรือฝึกอาชีพให้คนที่ต้องการอาชีพ โดยอาจจัดอบรม นำวิธีทำมาหากินส่งไปให้       
       75. จัดงานเชิญเด็ก คนชรา คนพิการ มาสนุกสนาน หรือไปเที่ยวในวันสำคัญ เช่น วันสงกรานต์ วันเฉลิมพระชนมพรรษา หรือวันสถาปนาหน่วยงาน เดินทางไปเยี่ยมบ้านคนชราบ้านเด็กกำพร้า หรือเด็กพิการ เพื่อเลี้ยงอาหาร และนำของไปเยี่ยม เน้นผู้ที่ไม่ค่อยมีคนมาเยี่ยม ไปอ่านหนังสือให้คนแก่ฟัง เล่นดนตรี หรือเล่านิทานให้เด็กฟัง       
       76. ไปเยี่ยมบ้านแรกรับเด็กอ่อน บ้านราชวิถี บ้านกรุณา บ้านมุทิตา บ้านอุเบกขา เพื่อเยี่ยมเด็กที่ขาดผู้อุปการะ หรือ เด็กที่เคยกระทำความผิดซึ่งไม่ค่อยมีคนมาเยี่ยม เพราะอีกไม่นานเขาจะได้ออกไปอยู่ร่วมกับสังคม ถ้าเขาได้น้ำใจไมตรีที่ดี อาจกลับตัวเป็นคนดีได้ (หากจะไปเยี่ยมนักโทษภายในเรือนจำ ต้องระวังถูกจับเป็นตัวประกัน)      
       77. ช่วยป้องกัน หรือห้ามปราม คนที่กำลังจะทะเลาะวิวาทโกรธเคืองกัน หรือจะทำร้ายกัน แต่ต้องระวังลูกหลง (พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญคนที่ช่วยให้คนที่ทะเลาะกันกลับคืนดีได้ เหมือนที่ทรงห้ามพระญาติไม่ให้ทะเลาะกันคราวแย่งน้ำแม่น้ำโรหิณี)       
       78. สนับสนุนช่วยเหลือหน่วยงานที่สร้างประโยชน์ต่อสังคม เช่นกาชาด วิทยุร่วมด้วยช่วยกัน มูลนิธิร่วมกตัญญู ลูกเสือชาวบ้าน โรตารี่ ไลออนส์ เป็นต้น       
       79. จัดกลุ่มอาสาสมัครช่วยทำงานส่วนรวมนอกเหนือหน้าที่ปกติ เช่นกลุ่มฮักเมืองน่าน กองลูกเสือนอกโรงเรียนวชิรชัย ชมรมอาชีวะบำเพ็ญประโยชน์ แล้วหากิจกรรมไปทำ เช่น ไปทาสีลบรอยขีดเขียนตามกำแพง (ที่เขียนว่าใครเป็นบิดาใคร ฯลฯ) เก็บเศษแก้วของมีคมตามหาดทรายชายทะเล เพื่อป้องกันคนอื่นมาเหยียบเท้าทำให้บาดเจ็บ     
       80. สนับสนุนช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เช่น บริจาคเงินหรือเวลาช่วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลอาสากาชาด โรงเรียนสอนคนตาบอด โรงเรียนสอนคนพิการ บ้านราชวิถี บ้านแรกรับเด็กอ่อน บ้านเมตตา กรุณา หรือรับคนตาบอดมาเป็นพนักงานโทรศัพท์

       ยอม/เสียสละ/ให้
       81. เมื่อเข้าห้องน้ำ ควรหยิบกระดาษเช็ดอ่างน้ำ หรือเช็ดที่นั่งส้วมให้สะอาดก่อนออกไป เพื่อให้คนที่มาใช้ทีหลังจะได้เข้าห้องน้ำสะอาด       
       82. เมื่อ เข้าคิวกดเงินจากเอทีเอ็ม จ่ายเงินตามซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือที่โรงพยาบาล ถ้าไม่รีบร้อนนัก เชิญให้คนที่รอข้างหลังที่รีบเร่งกว่าได้ใช้บริการก่อน       
       83. เมื่อขับรถติดอยู่แต่ไม่รีบเร่งมากนัก โบกมือยอมให้คันหลังที่รีบเร่งกว่าแทรกเข้าหน้าไปได้ก่อน       
       84. เมื่อเข้าคิวส้วม ยอมให้คนข้างหลังที่ปวดมากกว่าได้เข้าส้วมไปก่อน       
       85. ออกเงินซื้ออาหาร เช่นข้าวหน้าเป็ดให้ขอทานที่หิวโซ       
       86. ออกเงินให้คนที่ไม่มีเงินหยอดโทรศัพท์สาธารณะ หรือเข้าส้วมสาธารณะที่ต้องจ่ายเงิน โดยทิ้งเหรียญบาทที่เหลือไว้ในช่องทอนเงิน       
       87. หาของขวัญปีใหม่ หรือของขวัญวันเกิดให้คนที่ไม่เคยได้รับอะไรเลยเมื่อปีก่อน    
       88. ส่งของขวัญให้คนที่เห็นแก่ตัวไม่คิดคนอื่น โดยไม่ให้รู้ว่าใครส่งมา       
       89. ให้ความเห็นใจ ปลอบใจ คนที่กำลังมีความทุกข์ กลุ้มใจหาทางออกไม่ได้       
       90. บริจาคโลหิต ดวงตา อวัยวะหรือเงิน ให้สภากาชาดไทย หรือโรงพยาบาลต่างๆ และชวนให้คนอื่นบริจาคด้วย

       มีความเกรงใจ
       91. เมื่อโทรศัพท์ไปถึงใคร ควรถามว่าเขากำลังยุ่งอยู่หรือเปล่า ถ้าเขากำลังมีธุระควรถามว่า จะให้โทรกลับอีกเมื่อไหร่       
       92. เมื่อมีคนโทรศัพท์มาถึงและฝากหมายเลขไว้ ควรรีบโทรกลับทันทีเมื่อสะดวก       
       93. ไม่ขอหรือยืมเงิน ของรักของหวงของเพื่อน หรือ ของที่อาจทำให้เพื่อนลำบากใจ เช่น รถยนต์ หรือปืน       
       94. เมื่อยืมของจากผู้ใด ต้องรีบคืนทันทีเมื่อเสร็จงาน ไม่ต้องรอให้ทวง

      
น้ำใจของเด็กเล็ก

       เด็กๆ สามารถมอบน้ำใจไมตรีให้ผู้อื่นได้เหมือนกับผู้ใหญ่ได้ ตัวอย่าง เช่น
       95. ยิ้มหวาน และพูดเพราะกับทุกคน       
       96. ทักทาย ไหว้ สวัสดี ผู้ใหญ่อย่างเหมาะสม
       97. เก็บเสื้อผ้า และของเล่นในห้องตนให้เรียบร้อย ไม่ต้องให้คนอื่นมาตามเก็บให้ทำเตียงตนเอง กวาดห้องตนเอง       
       98. รักษาความสะอาดห้องน้ำ ทิ้งขยะลงถัง ไม่ทิ้งสิ่งสกปรกลงพื้น ถนน หรือแม่น้ำลำคอลง      
       99. ช่วยทำงานบ้าน เช่น ช่วยแม่ล้างจานกวาดบ้าน เช็ดสิ่งสกปรกที่พื้น ไม่ทำบ้านรก      
       100. มอบน้ำใจให้ทุกคนในบ้าน เช่น ยกน้ำเย็นไปให้พ่อ แบ่งขนมให้น้อง เล่นกับน้อง ช่วยสอนน้องทำการบ้าน สอนน้องอ่านหนังสือ ช่วยน้องผูกเชือกรองเท้า ติดกระดุมเสื้อ และหวีผมให้น้อง      
       101. ยอมให้พ่อดูข่าวโทรทัศน์ขณะที่ตนอยากดูการ์ตูน       
       102. ร้องเพลงให้คุณย่าฟัง อ่านหนังสือพิมพ์ นวดขาให้คุณยาย       
       103. เขียนจดหมายพร้อมส่งรูปถ่ายไปให้ญาติผู้ใหญ่       
       104. ช่วยปลอบเพื่อนที่ร้องไห้ หรืออยู่ในภาวะเสียใจ       
       105. พาเพื่อนที่ไม่สบายไปห้องพยาบาล       
       106. แบ่งขนมให้เพื่อน เพื่อกินด้วยกัน ไม่กินคนเดียว       
       107. ช่วยครูยกสมุดการบ้านไปห้องพักครู       
       108. ตั้งใจทำตัวเป็นเด็กดีที่มีน้ำใจ

ที่มา : เว็บไซต์ scimath

อัพเดทล่าสุด