โรคฮีน็อค ชอนไลน์ เพอพูรา เป็นอย่างไร โรคฮีน็อคชอนไลน์ เพอพูรา
โรคฮีน็อคชอนไลน์ เพอพูรา
แพทย์เผยผลวินิจฉัยเด็ก 6 ขวบที่ จ.ฉะเชิงเทรา ป่วยเป็นโรค "ฮีน็อค ชอนไลน์ เพอพูรา" ยันไม่เกี่ยวกับโรคผิวหนังที่พบระบาดในเวียดนาม
กรณี เด็กหญิง 6 ขวบ ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ป่วยเป็นโรคผิวหนังอักเสบแดงเป็นจ้ำๆ แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับโรคผิวหนังที่พบการระบาดในเวียดนามขณะ นี้ แต่เด็กรายนี้ป่วยเป็นโรค "ฮีน็อค ชอนไลน์ เพอพูรา" (HenochSchonlein-Purpura) ที่เกิดจากมีระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นโรคที่พบมานาน และไม่ใช่โรคติดต่อ โดยพบได้ประมาณ 22 ต่อประชากร 1 แสนคน
นพ.ธวัช ชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับรายงานจาก นพ.ประชา ชยาภัม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา (พุทธโสธร) ยืนยันว่า เด็กที่ป่วยรายนี้ไม่เกี่ยวข้องกับโรคผิวหนังที่พบในประเทศเวียดนาม ซึ่งล่าสุดอาการของเด็กรายดังกล่าวดีขึ้น ผื่นแดงลดลง เด็กกินอาหารได้ การทำงานของไตปกติ อาการปวดข้อ ปวดท้องทุเลาลง โดยอยู่ในความดูแลของกุมารแพทย์ และแพทย์ผิวหนังขอให้ประชาชนสบายใจได้
ทั้ง นี้ โรคฮีน็อค ชอนไลน์ เพอพูรา มักเกิดในวัยเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉลี่ยพบอายุ 6 ปี และมักเป็นในชายมากกว่าเด็กหญิง โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อหรือโรคระบาดแต่อย่างใด แต่เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับ ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่มีมากกว่าปกติ ซึ่งอาจถูกกระตุ้นด้วยการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดเช่นสเตร็ปโตคอคคัส อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ปวดตามข้อ และอาการไตอักเสบ การรักษาจะรักษาตามอาการเป็นหลัก เช่น หากมีปัญหาเลือดจาง ซีด จะให้เลือด เป็นต้น