สถานพยาบาลรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แนวทางการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ


888 ผู้ชม


สถานพยาบาลรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แนวทางการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

              สถานพยาบาลรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

สถาบันวิจัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ แปซิฟิก ริม โรงพยาบาลกรุงเทพ

สถาบันวิจัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ แปซิฟิก ริม โรงพยาบาลกรุงเทพ
(Pacific Rim Electrophysiology Research Institute at Bangkok Hospital)

นายแพทย์ กุลวี เนตรมณี อายุรแพทย์หัวใจ ผู้เชี่ยวชาญการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงในวงการแพทย์หัวใจระดับโลก และมีประสบการณ์มากว่า 30 ปี เป็นผู้อำนวยการของ Pacific Rim Electrophysiology Research Institute at White Memorial Medical Center, Los Angeles, USA และ Pacific Rim Electrophysiology Research Institute at Maui Memorial Hospital, Maui, Hawaii ท่านมีความคิดอยู่เสมอในการก่อตั้ง สถาบันวิจัยและรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ในประเทศไทย เหมือนที่ท่านเคยทำในต่างประเทศแล้วหลายแห่ง เพื่อทำประโยชน์ให้แก่คนไทย แพทย์ไทย และประเทศชาติ ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ นายแพทย์ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยากให้ประเทศไทยมีชื่อเสียงทั่วโลก (Put Thailand on the World Map) ทั้ง นายแพทย์ กุลวี เนตรมณี และ นายแพทย์ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ จึงดำริก่อตั้ง สถาบันวิจัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ แปซิฟิก ริม โรงพยาบาลกรุงเทพ ขึ้น ด้วยความมุ่งมั่นในการทำสถาบันนี้ให้เป็น World-Class Cardiac Electrophysiology Research Institute โดยได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหารของศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ โดยเฉพาะ นายแพทย์ ชาตรี ดวงเนตร ประธานคณะผู้บริหารศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ และ นายแพทย์ ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ แปซิฟิก ริม โรงพยาบาลกรุงเทพ ยังได้รับความร่วมมือจากอายุรแพทย์หัวใจ จากหลายสถาบัน ทั้งจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาลในภาครัฐอื่นๆ เช่น ร.พ.ศิริราช ร.พ.รามาธิบดี ร.พ.จุฬาลงกรณ์ ร.พ.ภูมิพลอดุลยเดช และ วชิรพยาบาล เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน คือ

  1. ดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งปัจจุบันสถาบันนี้ ได้มีส่วนร่วมกับ ศูนย์ป้องกันและพัฒนาการการรักษาโรคหัวใจ ร.พ.ภูมิพลอดุลยเดช ดำเนินงานวิจัยในหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ยังไม่ทราบสมมุติฐาน เช่น โรคใหลตาย และเป็นที่สนใจของต่างชาติ จนได้รับการถ่ายทอดทางรายการ National Geographic และการวิจัยเกี่ยวกับโรคใหลตายของผู้วิจัยกลุ่มเดียวกันนี้ ยังได้รับการยอมรับในการแสดงผลงานในการประชุมของสมาคมหัวใจระดับโลกที่ สหรัฐอเมริกา
  2. เป็นสถาบันที่ให้การศึกษาต่อเนื่องเกี่ยวกับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ สำหรับอายุรแพทย์หัวใจ ทั้งแพทย์ไทยและแพทย์ต่างชาติ
  3. ให้บริการตรวจและรักษาผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะทุกประเภท โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้วยมาตรฐานสากล (JCI-Joint Commission International)
  4. เป็นสถาบันวิจัยและรักษาผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ด้วยเทคโนโลยีล่าสุด เช่น การหาจุดกำเนิดของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยใช้ภาพหัวใจ 3 มิติตามความซับซ้อนของคลื่นหัวใจและรักษาด้วยการใช้ไฟฟ้าพลังงานเท่าคลื่น วิทยุจี้ทำลายจุดกำเนิดของการเต้นผิดจังหวะนั้น และการใช้หุ่นยนต์ช่วยตรวจและรักษาผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ

      Link     https://www.bangkokhospital.com

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++=


               แนวทางการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

     

การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยการผ่าตัด

     
        คนไทยมีชีวิตยืนยาวกว่าในอดีตมาก ประชากรอายุมากกว่า 70 ปีมีสัดส่วนมากขึ้น  หลายคนยังแข็งแรง แต่มีปัญหาทางสุขภาพที่พบได้บ่อยและอาจทำให้ทุพลภาพคือ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เรียกว่า Atrial fibrillation– AF ประชากรอายุมากขึ้นก็จะป่วยด้วยโรคนี้มากขึ้น โรคนี้อาจพบร่วมกับโรคหัวใจอื่น ๆ เช่น ลิ้นหัวใจพิการ หลอดเลือดหัวใจตีบตัน หรืออาจไม่พบร่วมกับโรคหัวใจอื่น เรียกว่า Lone atrial fibrillation     
        โรคนี้กล้ามเนื้อหัวใจจะทำงาน ปกติ แต่ความผิดปกติเกิดที่หัวใจห้องบนทั้งซีกซ้าย และ ขวา มีกระแสไฟฟ้าผิดปกติ ทำให้หัวใจห้องบนเต้นเร็วมากจนไม่สามารถบีบตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีผลให้เลือดไหลเวียนในหัวใจในห้องบนนาน อาจเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ ห้องบน โดยพบที่ซีกซ้ายบ่อยกว่าซีกขวา ลิ่มเลือดนี้อาจหลุดออกมาผ่านหัวใจห้องซ้าย ล่างออกไปที่ หลอดเลือดแดงใหญ่ และหลุดไปอุดเส้นเลือดแดงต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น หลอดเลือดแดงของสมอง และหลอดเลือดแดงของแขน ขา หลอดเลือดแดงในช่องท้อง เช่น ไต ตับ  ลำไส้เล็ก เป็นผลให้อวัยวะเหล่านี้ขาดเลือดและตายได้ อันเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อชีวิตคนไข้


สถานพยาบาลรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แนวทางการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

        การที่หัวใจห้องบนเต้นเร็ว อาจมีการนำกระแสไฟฟ้ามาที่ห้องล่าง ทำให้หัวใจห้องล่างเต้นเร็วด้วย ซึ่งส่งผลให้สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงร่างกายลดน้อยลง ทำให้มีอาการใจสั่น เหนื่อย หน้ามืดเป็นลมได้ 
        คนไข้ที่มีอายุมาก และเป็นอัมพาตร่างกายครึ่งซีก และตรวจพบว่าเป็น AF มักได้รับการรักษาด้วยยาป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัวง่าย คือ warfarin  ซึ่งช่วยให้เลือดในหัวใจห้องบนแข็งตัวได้ยากขึ้น โอกาสเกิดลิ่มเลือดลดลง แต่การรับประทานยานี้จำต้องตรวจระดับการแข็งตัวของเลือดของคนไข้สม่ำเสมอ ที่เรียกว่า prothrombin time (PT)  หรือเจาะหา INR ยานี้มีผลกับยาและอาหารมาก เช่นถ้ารับประทานยาแก้ปวดเข่า ปวดกล้ามเนื้อ อาจทำให้ระดับของ PT สูงมากจนอาจเกิดเลือดออกผิดปกติในร่างกาย เช่นที่สมอง ตามผิวหนัง เลือดออกในอวัยวะภายใน เช่นในกระเพาะอาหาร ในกระเพาะปัสสาวะ ล้วนก่อให้เกิดอันตรายจากผลข้างเคียงของยานี้ได้ ในทางตรงข้ามถ้าทานยาน้อยเกินไป ก็ไม่สามารถป้องกันการแข็งตัวของเลือดได้ดี คนไข้ก็ยังเสี่ยงต่อลิ่มเลือดในหัวใจ 
        คนไข้ที่เป็นโรค หัวใจเต้นผิดจังหวะนี้มานาน เช่น นานกว่า 6 เดือน โอกาสที่จะใช้ยาแก้ให้หัวใจเต้นจังหวะปกติจะมีน้อยมาก แต่ยาจะช่วยลดการกระตุ้นของกระแสไฟฟ้าที่หัวใจห้องล่าง ทำให้หัวใจห้องล่างเต้นไม่เร็วนัก คนไข้ก็จะไม่มีอาการขาดเลือดของสมองและอวัยวะต่าง ๆ ความดันโลหิตก็จะไม่ต่ำ 
        ดังนั้นคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะในรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคแล้วเคยเป็นอัมพาต เคยมีหลอดเลือดแดงของอวัยวะต่าง ๆ อุดตัน การรักษาด้วยยาป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัวง่ายอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ต้องรักษาโดยมีเป้าหมายให้หัวใจเต้นจังหวะปกติ ในปัจจุบันมีการรักษาได้สองวิธี คือ การรักษาด้วยสายสวนโดยช่างไฟฟ้าหัวใจ และการรักษาด้วยการผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ทรวงอก 
        การรักษาด้วยสายสวน ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อหาจุดในหัวใจที่ก่อให้เกิดการเต้นผิดจังหวะ นี้ และใช้คลื่นความถี่สูงจี้ทำลายจุดกำเนิดไฟฟ้านี้ หัวใจก็จะเต้นจังหวะปกติ ข้อดีของวิธีนี้คือไม่ต้องมีแผลผ่าตัด ไม่ต้องดมยาสลบ ความเจ็บปวดมีน้อยมาก ข้อเสียคือ ยังเป็นวิธีที่ค่อนข้างใหม่ ทำให้เวลาที่ใช้ทำยังนานมาก อาจนานหลายชั่วโมง และผลที่ได้คือ การที่หัวใจเต้นจังหวะปกติยังได้ประมาณร้อยละ 70 ค่าใช้จ่ายยังสูง อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายมาก เช่น ทำให้หลอดเลือดดำจากปอดที่กลับเข้าหัวใจห้องซ้ายบนตีบ บางรายอาจทำให้อวัยวะข้างเคียงได้รับบาดเจ็บที่เป็นอันตรายมากคือ หลอดอาหารทะลุทำให้มีหนองในทรวงอก เกิดการติดเชื้อรุนแรง 
        การรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งอาจทำได้สองวิธี คือ 
              1.  การรักษาภายนอกห้องหัวใจ ไม่ต้องใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม อาจใช้คลื่นความถี่สูงทำให้มีแผลเป็นที่หลอดเลือดดำจากปอดทั้งสองข้าง (เพื่อให้ไม่นำกระแสไฟฟ้า) ซึ่งพบว่าจุดที่ก่อให้เกิดการเต้นผิดจังหวะนี้มักอยู่ใกล้หลอดเลือดดำจากปอด การรักษาด้วยวิธีนี้มีข้อดีคือ รอยแผลผ่าตัดเล็ก ไม่ต้องใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม ข้อเสียของวิธีนี้คือ ความสำเร็จได้ประมาณ 80%
              2.  การรักษาด้วยการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดโดยใช้วิธีตัดแล้วเย็บ และจี้ในห้องหัวใจบางจุดด้วยความเย็นจัด หรือใช้สายความถี่สูงจี้ภายในห้องหัวใจซีกบนเพื่อให้เกิดแผลเป็น ไฟฟ้าที่กำเนิดมาจากจุดกำเนิดจะนำไปอย่างมีระเบียบ หัวใจก็จะเต้นจังหวะปกติ ข้อดีของวิธีนี้คือได้ผลดีที่สุด คือการใช้วิธีตัดและเย็บได้ผลสำเร็จมากกว่า ร้อยละ 90 ส่วนวิธีใช้สายจี้คลื่นความถี่สูงจะได้ผลประมาณ ร้อยละ 85  แม้ว่าการผ่าตัดจะมีแผลยาวกว่าวิธีอื่น ๆ และต้องใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม แต่มีข้อดีที่ชัดเจนคือ 
        อัตรา ตายและเกิดภาวะแทรกซ้อนไม่สูง อัตราตายประมาณ ร้อยละ 2 และอัตราเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นหัวใจเต้นช้า ต้องใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจแบบถาวรประมาณ ร้อยละ 5  ภาวะเลือดออกมากหลังผ่าตัดอาจพบได้ถ้าใช้วิธีตัดและเย็บ แต่ถ้าศัลยแพทย์มีความชำนาญสูง โอกาสจะมีเพียง ร้อยละ 2-3 ถ้ามีโรคหัวใจอื่นร่วมด้วย เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจพิการ ก็สามารถทำพร้อมกันอย่างปลอดภัย คนไข้ที่ได้รับการซ่อมลิ้นหัวใจ ก็จะไม่ต้องรับประทานยาป้องกันเลือดแข็งตัวง่ายไปตลอด 
        เวลา ในการผ่าตัดมักไม่เกิน 4-5 ชั่วโมง วิธีนี้ยังถือเป็นวิธีมาตรฐานในปัจจุบัน ได้ใช้มาประมาณ 10 ปีแล้ว ภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวมีน้อยมาก เช่นต้องให้เครื่องกระตุ้นหัวใจพบได้ประมาณร้อยละ 4    ค่าใช้จ่ายไม่สูงมากกว่าค่าใช้จ่ายผ่าตัดหัวใจเปิดทั่วไป เพราะไม่ต้องการเครื่องมือพิเศษที่มีราคาแพงมากนัก 
        ใน ปัจจุบันเป็นที่น่าเสียดายที่คนไข้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ มักไม่ได้รับการแนะนำให้รักษาโดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้หัวใจเต้นจังหวะปกติ แต่ให้รับประทานยา ซึ่งคนไข้หลายคนจะเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคหลายครั้งจนเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือเกิดทุพลภาพรุนแรง เช่น อัมพาตครึ่งซีก แขนขาเน่าตายต้องตัดแขนขากลายเป็นคนพิการ ทั้ง ๆ ที่การรักษาที่กล่าวนี้ จะป้องกันภาวะแทรกซ้อนของหัวใจเต้นผิดปกติอย่างได้ผลดีมาก และทำให้โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหายได้


       Link    https://guru.sanook.com

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

             การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (arrhythmia)

คำจำกัดความ

ในภาวะปกติ ที่บริเวณหัวใจห้องบน จะทำหน้าที่สร้างสัญญาณไฟฟ้า เพื่อมากระตุ้นการเต้นของหัวใจเอง

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (arrhythmia) เป็นคำรวมของโรคที่เกิดจากสัญญาณไฟฟ้าที่หัวใจสร้างขึ้นมีความผิดปกติไปจาก เดิม ทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ โดยหัวใจอาจเต้นเร็วขึ้นหรือเต้นช้าลงหรือเต้นไม่เป็นจังหวะ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะนี้ บางภาวะไม่อันตรายและคนส่วนใหญ่มีโอกาสเป็นได้ โดยอาจรู้สึกหัวใจเต้นเร็วและแรง หรือใจสั่นเป็นครั้งคราวและหายได้เอง แต่บางโรคอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น ทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองอุดตันหรือหัวใจหยุดเต้นกระทันหันได้ (sudden cardiac arrest)

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ สาเหตุแบ่งเป็นกลุ่มได้หลายแบบ
ถ้าแบ่งตามตำแหน่งของหัวใจที่ส่งสัญญาณไฟฟ้าผิดปกติ : แบ่งได้เป็น 4 ชนิด คือ

  • หัวใจห้องบนผิดปกติ (Atrium) เช่น Atrial flutter, Atrial fibrillation, Premature atrial contraction (PAC) เป็นต้น
  • ทางเชื่อมระหว่างหัวใจห้องบนและห้องล่างผิดปกติ (Atrio-ventricular node) เช่น Wolff-Parkinson-White syndrome
  • Junctional arrhythmia เช่น supraventricular tachycardia
  • หัวใจห้องล่างผิดปกติ (Ventricle) เช่น Premature ventricular contraction (PVC), Ventricular fibrillation

ถ้าแบ่งตามอัตราการเต้นของหัวใจ : แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

  • อัตราการเต้นของหัวใจเร็วกว่าปกติ (Tachycardia) : อัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 100 ครั้ง/นาที
  • อัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ (bradycardia) : อัตราการเต้นของหัวใจน้อยกว่า 60 ครั้ง/นาที

ถ้าแบ่งตามกลไกการเกิดโรค : แบ่งได้เป็น

  • Automaticity : เกิดจากมีจุดอื่นในหัวใจสร้างกระแสไฟฟ้าออกมากระตุ้นหัวใจได้เร็วกว่าสัญญาณไฟฟ้าปกติ
  • Reentry : เกิดจากกระแสไฟฟ้าที่สร้างจากจุดกำเนิดปกติในหัวใจ มากระตุ้นที่หัวใจแล้ววกกลับมากระตุ้นหัวใจใหม่อีกซ้ำๆ เป็นวงกลม

อาการ

1. การที่หัวใจเต้นผิดปกติ ส่วนหนึ่งของผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติอะไร แพทย์ก็ตรวจพบโดยบังเอิญ
2. ผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจรับรู้ได้ถึงหัวใจที่เต้นผิดปกติ คือ มีอาการสั่นระรัวที่บริเวณหน้าอกหรือใจสั่น : เป็นการที่ผู้ป่วยรับรู้ถึงการที่หัวใจเต้น (ในภาวะปกติ เราจะไม่รู้สึกว่าหัวใจเต้น)
3. ผู้ป่วยส่วนหนึ่งมีอาการจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดตามหลังภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น

  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ ทำให้แรงบีบตัวของหัวใจในแต่ละครั้งไม่เพียงพอจะสูบฉีดเลือดออกไปเลี้ยงส่วน ต่างๆ ของร่างกาย เช่น เจ็หน้าอก ในรายที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอยู่แล้ว, สับสน มึนงง
  • หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ จนเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่พอ ทำให้มีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลมหรือ เป็นลมหมดสติ
  • มีลิ่มเลือดอยู่ในหัวใจ แล้วลิ่มเลือดหลุดไปที่เส้นเลือดส่วนปลาย ทำให้เกิดอาการจากอวัยวะส่วนปลายอุดตัน เช่น เส้นเลือดสมองตีบ , หลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ไปเลี้ยงแขนขาอุดตันเฉียบพลัน เป็นต้น

สาเหตุ

สาเหตุของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับโรค แต่สาเหตุที่พบได้บ่อย คือ

  • โรคหัวใจบางโรคทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ,โรคลิ้นหัวใจ เป็นต้น
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคเบาหวาน
  • ภาวะฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์สูงเกิน
  • เกลือแร่ในเลือดผิดปกติ
  • การสูบบุหรี่
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ หรือชา/กาแฟ
  • ใช้ยาผิดวิธี
  • ภาวะเครียด
  • อาหารหรือสมุนไพรบางชนิด
  • ยาบางชนิด

การวินิจฉัย

ประวัติ : ผู้ป่วยจะมีอาการดังที่กล่าวมาแล้ว

การตรวจร่างกาย : บ่อยครั้งที่แพทย์ตรวจพบความผิดปกติโดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการ ซึ่งการตรวจร่างกายสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการใช้หูฟังฟังเสียงหัวใจที่เต้นผิดปกติหรือจับชีพจรที่แขนขาแล้วรู้สึก ถึงการเต้นที่ผิดปกติ การตรวจนี้มีข้อจำกัด คือ

  • สามารถบอกได้แค่คร่าวๆ ว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (คืออัตราการเต้นของหัวใจเร็วหรือช้ากว่าปกติ หรือจังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ) แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคอะไร
  • ทุกสัญญาณไฟฟ้าที่สร้างจากหัวใจ โดยเฉพาะที่สร้างออกมาผิดปกติ ไม่ได้สามารถกระตุ้นให้เกิดการเต้นของหัวใจทุกครั้ง จึงไม่สามารถตรวจพบได้จากการฟังเส้นหัวใจเต้นหรือจับชีพจร

การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฎิบัติการ : ประกอบด้วย

  • การตรวจด้วยเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram, EKG) : เป็นการตรวจที่ทำได้ง่ายๆ , ใช้เวลาไม่นานและผู้ป่วยไม่เจ็บ ทำได้โดยใช้เครื่องมือติดที่หน้าอกและแขนขา จากนั้นเครื่องจะตรวจดูสัญญาณไฟฟ้าที่หัวใจสร้าง และแปลผลออกมาเป็นกราฟ
  • การใช้เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง (Holter monitor) : ทำในกรณีที่ตรวจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจแล้วผลออกมาปกติ แต่ผู้ป่วยมีอาการที่ชวนสงสัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพราะคลื่นไฟฟ้าที่สร้างจากหัวใจอาจมีความผิดปกติเป็นๆ หายๆ ได้

ภาวะแทรกซ้อน

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ สามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ดังนี้

  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติจนทำให้แรงบีบตัวของหัวใจในแต่ละครั้งไม่เพียง พอจะสูบฉีดเลือดออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เกิดอาการจากอวัยวะส่วนปลายขาดเลือด เช่น เจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (มักพบในรายที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอยู่ก่อนแล้ว) , สับสนหรือมึนงง จากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ
  • หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ จนทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่พอ : ทำให้มีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลมหรือเป็นลมหมดสติ
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้เลือดบางส่วนคั่งค้างอยู่ในหัวใจ ไม่ไหลออกจากตามปกติ เมื่อมีเลือดค้างอยู่นานๆ เลิอดเหล่านั้นจะมารวมกันจนกลายเป็นลิ่มเลือดอยู่ในหัวใจ ซึ่งลิ่มเลือดนี้มีโอกาสจะหลุดไปอุดที่เส้นเลือดส่วนปลายได้ตลอดเวลา ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการจากอวัยวะส่วนปลายอุดตัน เช่น เส้นเลือดสมองตีบ (Stroke) , หลอดเลือดแดงส่วนปลายที่ไปเลี้ยงแขนขาอุดตันเฉียบพลัน (Arterial occlusion) เป็นต้น

การรักษาและยา

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค แต่มีหลักการรักษาที่สำคัญ คือ
1.การทำให้หัวใจที่เต้นผิดจังหวะ กลับมาสู่ภาวะปกติ : สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วยและสาเหตุของโรค คือ

  • การใช้วิธีทางกายภาพ (Physical maneuvers) : เพื่อเพิ่มระบบประสาท parasympathetic (ทำหน้าที่ยับยั้งสัญญาณไฟฟ้าที่สร้างจากหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลงและยับยั้งสัญญาณไฟฟ้าที่ผิดปกติ) เช่น การนวดบริเวณเส้นเลือดแดงที่คอ (carotid massage), การประคบน้ำแข็งที่หน้า, การให้เบ่ง เป็นต้น
  • การรักษาด้วยยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Antiarrhythmic drug) : มียาหลายกลุ่มที่มีกลไลการออกฤทธิ์แตกต่างกัน แต่ช่วยให้หัวใจกลับมาเต้นตามปกติ เช่น ยา amiodarone
  • การใช้เครื่องผลิตสัญญาณไฟฟ้ากระตุ้นที่หัวใจของผู้ป่วย เพื่อกระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้นปกติ (electrical cardioversion)
  • การเข้าไปทำลายจุดที่สร้างสัญญาณไฟฟ้าผิดปกติในหัวใจ (Electrical cautery) โดยใช้ความร้อน, ความเย็น, กระแสไฟฟ้า หรือเลเซอร์ มักทำในรายที่กลไกของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเกิดจาก Automaticity ( มีจุดอื่นในหัวใจสร้างกระแสไฟฟ้าออกมากระตุ้นหัวใจได้เร็วกว่าสัญญาณไฟฟ้า ปกติ)

2.ในรายที่ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติเป็นมานานและกำลังรอวิธีการรักษาที่ทำ ให้หัวใจที่เต้นผิดจังหวะกลับมาสู่ภาวะปกติ แพทย์จะให้การรักษาเพื่อควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจให้เหมาะสม เช่น

  • ในกรณีที่หัวใจเต้นเร็วเกินไป แพทย์จะให้ยาช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ เช่น propranolol, verapamil, diltiazem, digoxin เป็นต้น
  • ในกรณีที่หัวใจเต้นช้าเกินไป แพทย์จะให้ผู้ป่วยติดเครื่องกระตุ้นหัวใจ (pacing, ทำหน้าที่ผลิตสัญญาไฟฟ้ามากระตุ้นให้หัวใจบีบตัว ในจังหวะที่ไม่มีสัญญาณไฟฟ้าจากหัวใจมากระตุ้นตามปกติ) ทั้งแบบชั่วคราวและถาวร เพื่อป้องกันภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

3.ให้ยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากลิ่มเลือดหลุดไปอุดที่เส้นเลือดส่วนปลาย
ได้แก่ ยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น aspirin) หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด (เช่น warfarin) แพทย์จะเลือกใช้ยาตัวใด ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากลิ่มเลือดหลุดไปอุดที่เส้น เลือดส่วนปลายในผู้ป่วยแต่ละราย โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดสมองตีบ

ยาที่เกี่ยวข้อง

ยาที่ใช้บ่อย Aspirin, Diltiazem, Verapamil, amiodarone, propranolol, digoxin, warfarin

แหล่งอ้างอิง

1. วิทยา ศรีดามา, บรรณาธิการ. ตำราอายุรศาสตร์4. โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2550, 245-259.
2. Anthony S.Fauci, Eugene Braunwald, et al, editors. Harrison’s principles of internal medicine. 17th edition. 2008, 1416-1442.
3. Ziad F.Issa, John M.Miller, Douglas P.Zipes, editors. Clinical arrhythmology and electrophysiology. 2009.
4. ชาญ ศรีรัตนสถาวร, รุ่งโรจน์ กฤตยพงษ์ และคณะ , บรรณาธิการ. ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ บียอนด์ พับลิสซิ่ง จำกัด. พิมพ์ครั้งที่2. 2546.

     Link   https://healthy.in.th/disease/arrhythmia/

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อัพเดทล่าสุด