เมนูอาหารโรคหัวใจ การตรวจโรคหัวใจ โรคหัวใจรูมาติก


907 ผู้ชม


เมนูอาหารโรคหัวใจ การตรวจโรคหัวใจ โรคหัวใจรูมาติก

         เมนูอาหารโรคหัวใจ       อาหารต้านโรคหัวใจกับ 8 เมนูอาหารโรคหัวใจที่สุดยอดจริง!!      
อาหารต้านโรคหัวใจ
เลือกกินอาหารให้ถูก ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้        สาเหตุของโรคเกิดจากการกินอาหารบางชนิดที่ทำให้หลอดเลือดแดงตีบและ แข็ง มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้เป็นอับดับต้นๆเลยทีเดียว อาหารที่ทำลายหลอดเลือดได้แก่ ไขมันสัตว์ และอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง อาหารที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจได้แก่
  • ผักที่มีเบต้าแคโรทีน เช่นใบยอ ใบย่านาง ใบชะพลู ใบตำลึง ใบบัวบก ใบแมงลัก ยอดแค ฟักทอง ใบกระเพรา ใบขี้เหล็ก
  • ปลาทะเล และปลาน้ำจืดบางชนิด เช่น ปลาสวาย ปลานิล ปลาดุก ปลาช่อน ซึ่งมีโอเมก้า-3 ช่วยป้องกันโรคความดันสูง โรคไมเกรนและโรคหัวใจได้
  • วิตามินซี เช่นส้ม ฝรั่ง มะละกอสุก มะนาว สับประรด เป็นต้น
  • วิตามินอี เช่น น้ำมันพืชต่างๆ ถั่ว และข้าวกล้อง
  • อาหารต้านโรคหัวใจควรเป็นอาหารรสไม่เค็ม ไขมันต่ำ วิธีหุงต้มที่เหมาะสม คือ ต้ม อบ นึ่ง ย่าง ดีกว่าทอดด้วยน้ำมันมาก

       นอกจากนี้ไม่ควารทานอาหารมากเกินไปในแต่ละมื้อ เพราะกระเพาะอาหารจะพองโตจนไปดันกระบังลม ซึ่งส่งผลให้หัวใจทำงานไม่สะดวกยิ่งขึ้น การดื่มน้ำมาก จะไปเพิ่มปริมาณของโลหิต ทำให้หัวใจต้องทำงานมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นคนป่วยต้องดื่มน้ำแต่พอควร
8 สุดยอดอาหาร ต้านโรคหัวใจ โรคหัวใจ เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีความสัมพันธ์กับเรื่องอาหารการกินค่อนข้างมาก ถ้าในแต่ละมื้อประกอบด้วยอาหารจาก 8 กลุ่มต่อไปนี้ ก็จะเป็นการช่วยป้องกันโรคหัวใจได้อีกทางหนึ่ง
  1. ปลาทะเลหรือปลาน้ำจืด ที่มีไขมัน (Oily Fish) เช่นปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาช่อน ปลาดุก จะมีกรดไขมันโอเมก้า 3 (EPA และ DHA) อยู่มาก ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับหลอดเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น และลดความเสี่ยงจากการอุดตันของหลอดเลือด
  2. ใช้ น้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวสูง เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว ประกอบอาหารแทนน้ำมันพืชที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูงอย่างน้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ก็จะช่วยลดคอเลสเตอรอลตัวร้าย (LDL - C) ลงได้ โดยไม่ลดคอเลสเตอรอลตัวดี (HDL - C)
  3. ผัก และผลไม้หลากสี จะให้สารอนุมูลอิสระจำนวนมาก ช่วยป้องกันการเกิดออกซิเดชั่นของ LDL – Cที่จะทำให้ผนังหลอดเลือดหนาตัวขึ้น จนเป็นสาเหตุของหลอดเลือดหัวใจตีบได้
  4. ไฟ เบอร์ที่ได้จากธัญพืชที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี รวมทั้งซีเรียลจากธัญพืชต่างๆ และขนมปังโฮลวีท จะช่วยให้หัวใจแข็งแรง และป้องกันความเสี่ยงจากโรคหัวใจวายได้มากกว่าไฟเบอร์จากผักผลไม้
  5. ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วลิสง อัลมอนด์ วอลนัท นอกจากมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวค่อนข้างสูงที่ช่วยลด LDL – C แล้ว ยังมีกรดอะมิโนอาร์จินีนสูง ซึ่งช่วยเสริมสร้างการทำงานของหลอดเลือด และช่วยลดความดันเลือด
  6. วิตามินอีจากธรรมชาติ จะทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าวิตามินอีในรูปอาหารเสริม ช่วยป้องกันการเกิดออกซิเดชั่นของ LDL – C จึง ช่วยลดความเสี่ยงของการอุดตันในผนังหลอดเลือดแดง อาหารที่อุดมไปด้วย วิตามินอี ได้แก่ อโวคาโด ผักสีเขียวแก่ ธัญพืชไม่ขัดสี และน้ำมันพืช โดยเฉพาะน้ำมันรำข้าว มีวิตามินอีถึง 2กลุ่ม คือ โทโคฟีรอล และโทโคไตรอีนอล
  7. สมุนไพรและเครื่องเทศ เช่นกระเทียมสด จะมีสารอัลลิซินช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและสารแคปไซวินในพริก จะช่วยชะลอการเกาะตัวของลิ่มเลือดและเพิ่มการละลายลิ่มเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจวาย
  8. อาหารที่มี Plant Sterols หรือ Phytosterols สูง ได้แก่ ธัญพืชและถั่วต่าๆง เช่น งา จมูกข้าว เมล็ดทานตะวัน ถั่วพิสตาชิโอ รวมทั้งน้ำมันพืชบางชนิดอย่างน้ำมันรำข้าว ปริมาณเพียง 1 ช้อนโต๊ะจะมี Phytosterols สูงถึง 250 มิลลิกรัม ซึ่ง Phytosterols จะช่วยลดการดูดซึมคอลเลสเตอรอลในลำไส้เล็กทำให้ระดับคอเลสเตอรอลรวมและ LDL – C ลดลง

ที่มา www.baanidin.com

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


            การตรวจโรคหัวใจ

การตรวจทางหัวใจ

การตรวจพื้นฐาน 

        การตรวจร่างกาย เพื่อดูน้ำหนัก ส่วนสูง อ้วนหรือไม่ การจับชีพจร อัตราและความสม่ำเสมอของการเต้นของหัวใจ ความดัน โลหิต ฟังเสียงหัวใจว่ามีเสียงผิดปกติไหม เช่น เสียงสาม เสียงสี่ หรือ เสียงฟู่ นอกจากนั้นแล้วแพทย์จะตรวจร่างกาย ทุกระบบด้วย เพื่อดูว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือไม่ และ ดูโรคอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วย 

        คลื่นไฟฟ้าหัวใจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจจะบอกจังหวะการเต้นของหัวใจ บอกขนาดห้องหัวใจ(แต่ไม่ดีนัก) บอกโรคของเยื่อหุ้มหัวใจ บางชนิด หรือ กล้ามเนื้อหัวใจตาย หลายคนคิดว่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการ "เช็ค" หัวใจคล้ายเช็คเครื่อง แต่ความจริงแล้ว ไม่ใช่เช่นนั้น คลื่นไฟฟ้าหัวใจจะผิดปกติก็ต่อเมื่อมีโรคหัวใจที่รุนแรง เช่น หัวใจขาดเลือดรุนแรง กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจเต้น ผิดจังหวะ เป็นต้น ต้องเข้าใจว่าคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่ปกติ ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้เป็นโรคหัวใจ 

      เอกซเรย์ทรวงอก หรือเรียกง่ายๆว่าเอกซเรย์ปอด ซึ่งจะเห็นทั้งปอด หลอดเลือดแดงใหญ่ การกระจายของเลือดในปอด ภาวะน้ำท่วมปอด หรือ หัวใจล้มเหลว เงาของหัวใจซึ่งบอกขนาดหัวใจได้ดีพอควร 

        ตรวจเลือด การตรวจหาระดับสารต่างๆในเลือด ส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหัวใจโดยตรง แต่เป็นการดูเพื่อหาปัจจัยเสี่ยง ของโรคหัวใจ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค และ การใช้ยาต่างๆ (เพื่อลดปัญหาแทรกซ้อนจากยา) 

การตรวจพิเศษ

Echocardiogram หรือ อัลตราซาวน์หัวใจ

ด้วยหลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งจะส่งผ่านผนังทรวงอกไปถึงหัวใจโดยหัวตรวจชนิดพิเศษ เมื่อคลื่นเสียงความถี่สูง ผ่านอวัยวะต่างๆจะเกิดสัญญาณสะท้อนกลับ ซึ่งแตกต่างกันระหว่างน้ำ เนื่อเยื่อ คอมพิวเตอร์จะนำเอาสัญญาณเหล่านี้มาสร้างภาพ ดังนั้น ภาพที่เห็นก็คือหัวใจของผู้ป่วย   Echocardiogram จึงช่วยให้ แพทย์สามารถวินิจฉัยโรค พยากรณ์โรค ตรวจหาความรุนแรง ติดตามผลการรักษา ในโรคหัวใจและ หลอดเลือดได้อย่างมี ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจพิการ   โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ   โรคของเยื่อหุ้มหัวใจ แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้จะไม่เห็นหลอดเลือดหัวใจโดยตรง และ อาจได้ภาพ ไม่ชัดเจนในผู้ป่วยที่อ้วนหรือผอมมาก หรือ มีถุงลมโป่งพอง เนื่องจากไขมันและอากาศขัดขวางคลื่นเสียงความถี่สูง

Exercise Stress Test การเดินสายพาน

 หลักการ คือ ให้ผู้ป่วย(หรือผู้ที่ต้องการตรวจ)ออกกำลังกายโดยการเดินบนสายพานที่เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ (บางแห่งอาจให้ปั่นจักรยานแทน) เมื่อออกกำลังกายหัวใจจะเต้นเร็วขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับเลือดมาเลี้ยงมากขึ้นด้วย หากมีหลอดเลือดหัวใจตีบ เลือดจะไม่สามารถ เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอ จะเกิดอาการแน่นหน้าอก และ มีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจให้เห็น การทดสอบนี้ยังช่วย บอกแพทย์ด้วยว่าผู้ป่วยเหนื่อยง่ายกว่าคนปกติหรือไม่ และ ใช้ในการติดตามผู้ป่วยภายหลังได้รับการรักษา ไม่ว่าจะด้วยยา หรือ การขยายหลอดเลือด หรือ การผ่าตัด

โดยการให้ผู้รับการทดสอบเดินบนสายพาน ต่อขั้วและสายนำไฟฟ้าบริเวณหน้าอก 10 สาย เข้ากับเครื่อง Computer ในขณะที่ เดินอยู่ เครื่อง Computer จะบันทึกและแสดงลักษณะของคลื่นนำไฟฟ้าภายในหัวใจพร้อมทั้งความดันโลหิต ตลอดเวลา ในขณะ ทดสอบจะมีการเพิ่มความเร็ว และ ความชัน ของเครื่องเป็นระยะๆตามโปรแกรมที่จะเลือกให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ทดสอบ โดยเฉพาะเป็นรายๆไป เมื่อเสร็จสิ้นการทดสอบ ผู้ทดสอบสามารถทราบผลการทดสอบจากแพทย์ ซึ่งจะเฝ้าสังเกตอาการอยู่ ด้วยตลอดการทดสอบได้ทันที

Tilt Table Test

เป็นการตรวจพิเศษที่ใช้ทดสอบในกลุ่มผู้ป่วย ที่มีอาการเป็นลมโดยไม่ทราบสาเหตุ เพื่อหาทางแก้ไขหรือรักษาให้ถูกต้องต่อไป เนื่องจากอาการเป็นลมหมดสติ เกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจจะมาจากปัญหาทางด้านสมอง หรือ หัวใจก็ได้

คำจำกัดความของ " อาการเป็นลม , หมดสติ "
คือ การไม่รู้สติสัมปชัญญะอย่างเฉียบพลัน ( โดยทั่วไปมักน้อยกว่า 1 นาที ) อันเป็นผลมาจากสมองเกิดภาวะขาดออกซิเจน โดยไม่มีความผิดปกติทาง ระบบประสาทเฉพาะที่ เช่น โรคลมชัก เป็นต้น แม้ว่าภาวะการเป็นลม จะไม่ค่อยก่อให้เกิดอันตราย ถึงแก่ชีวิต แต่การเกิดซ้ำๆ ก็ก่อให้เกิดความกังวลใจและ อาจทำให้เกิดบาดแผลต่อร่างกาย หรือเกิดอาการผิดปกติทางสมองได้

การทดสอบชนิดนี้ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการเป็นลมบ่อยๆ หรือเป็นลมง่าย เช่น เห็นเลือดแล้วเป็นลม เปลี่ยนท่าแล้วเป็นลม หรือ เสียใจ ดีใจมาก ก็เป็นลม

การทดสอบชนิดนี้ทำได้ง่าย ไม่ต้องนอนพักต่อในโรงพยาบาล การทดสอบจะกระทำในห้องที่มีเตียงพิเศษ สามารถปรับระดับองศา ของเตียงได้ ผลการทดสอบ แพทย์จะวิเคราะห์จาก อัตราชีพจร ความดันโลหิต ลักษณะคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และ อาการของผู้ป่วย ขณะที่ถูกเปลี่ยนระดับเตียง จากนอนราบเป็นประมาณ 70-80 องศา เป็นเวลาประมาณ 15-20 นาที บางครั้งอาจ จำเป็นต้องใช้ยาร่วมด้วย

การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24-48 ช.ม.

เป็นการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง ไว้กับตัวท่าน โดยที่ท่านสามารถกลับไปพักที่บ้าน หรือทำงาน ได้ตามปกติ โดยไม่ต้องเสียเวลานอนพักค้างที่โรงพยาบาล และเมื่อครบกำหนด 24 หรือ 48 ชั่วโมงแล้ว ท่านจึงกลับมา ถอดเครื่อง และรอรับทราบผล การตรวจวิเคราะห์จากแพทย์ได้   การตรวจวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อาจจะมีปัญหาใจสั่นผิดปกติเป็นครั้งคราว หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม อยู่เสมอ เวียนศีรษะ ใจเต้นแรงผิดปกติเป็นประจำ แต่บางครั้งขณะ มาพบแพทย์อาการดังกล่าวก็ไม่ปรากฎ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ณ เวลาที่ไม่มีอาการ ( ECG ) ก็ปกติ ทำให้ไม่ทราบว่าอาการใจสั่นเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่

ข้อห้ามบางประการขณะติดเครื่องบันทึก
1. ห้ามอาบน้ำ ว่ายน้ำ หรือทำให้เครื่องและบริเวณที่ติดสายและขั้วต่อเปียก
2. ห้ามทำเครื่องตก ( เครื่องจะใส่กระเปําและเข็มขัดไว้ให้ท่านอย่างเรียบร้อย )
3. ห้ามออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวของแขนมาก

การฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ

การตรวจสวนหัวใจหรือการฉีดสี หมายถึงการใช้สายสวนขนาดเล็ก ( โดยทั่วไป เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 มม. ) ใส่เข้าไปตาม หลอดเลือดแดง อาจจะใส่จากบริเวณขาหนีบ ( ซึ่งนิยมมากที่สุด ) ข้อพับแขนหรือข้อมือ ไปจนถึง จุดที่เป็นรูเปิดของหลอดเลือด ที่ไปเลี้ยงหัวใจ ( หรือที่รู้จักกันว่าหลอด เลือดโคโรนารี่ ) ทั้งซ้ายและขวา ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวมักจะอยู่ก่อนถึงหัวใจเล็กน้อย จากนั้น แพทย์จะใช้สารละลายทึบรังสีเอ็กซเรย์ ( หรือ "สี" ) ฉีดเข้า ทางสายสวนนั้นไปที่หลอดเลือดโคโรนารี่ เพื่อตรวจสอบดูว่า มีการตีบแคบ หรือตันของหลอดเลือดอันสำคัญนั้นหรือไม่ ถ้ามีการตีบแคบหรือตัน การฉีดสี ก็จะสามารถให้รายละเอียดได้ชัดเจนอีกว่า เป็น ณ บริเวณใดของหลอดเลือด เป็นมากหรือน้อยประการใด ทั้งนี้นอกจากจะช่วยในการวินิจฉัย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ อย่างแม่นยำ แล้ว ยังช่วย ในการตัดสินใจของผู้ป่วยญาติ และแพทย์ อีกด้วยว่าควรจะแก้ไขหรือรักษาด้วยวิธีใด ให้เหมาะสม และเกิดประสิทธิผล แก่ผู้ป่วยอย่างสูงสุด

ปัจจุบันการตรวจสวนหัวใจทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น ใช้เวลาพักอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 1 วัน และขณะทำก็ไม่มี การใช้ยาสลบ แต่อย่างใด จะใช้ยาชา เฉพาะที่เท่านั้น ขณะตรวจผู้ป่วยจะสามารถมองผ่านทางจอภาพได้ตลอดเวลา และเมื่อการตรวจเสร็จ เรียบร้อย ท่านก็จะทราบผลการตรวจได้ทันที

ผลแทรกซ้อนจากการตรวจ
มีผลแทรกซ้อนที่เกิดจากการสวนหัวใจและฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจอยู่บ้าง ผลแทรกซ้อนที่ไม่รุนแรง (พบได้น้อยกว่าร้อยละ 5) เช่น ผลต่อหลอดเลือดที่ขา(ตำแหน่งที่แทงเข็ม) เลือดออก แพ้"สี"แบบไม่รุนแรง เป็นต้น หรือ ผลแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น อัมพาต แพ้"สี"รุนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง เสียชีวิต อย่างไรก็ตามผลแทรกซ้อนที่รุนแรงเหล่านี้พบน้อยมาก น้อยกว่าร้อยละ 1 ทำให้เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดี กับ ข้อเสียแล้ว ผู้ป่วยจำนวนมากจะได้ประโยชน์จากการสวนหัวใจและฉีดสีดูหลอดเลือด

การขยายหลอดเลือดหัวใจ (การทำบอลลูน)

ก่อนหน้านี้การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจที่ตีบแคบหรือโรคหลอดเลือดแดงโคโรนารี่ ซึ่งโดยทั่วไปพบว่ามักจะเกิดจาก การอุดตัน ของไขมันนั้น มีเพียงวิธีเดียวเท่านั้นที่ค่อนข้างได้ผล นั่นคือ การผ่าตัดหัวใจ หรือการตัดต่อทำทางเดินของ หลอดเลือดใหม่ หรือ ที่เรามักจะได้ยินว่า การทำ CABG หรือการทำ "Bypass" นั่นเอง แต่ปัจจุบันวงการแพทย์ค้นพบวิธีการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด   ซึ่งสามารถรักษาแก้ไขภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบอย่างได้ผล และ ช่วยชะลอ หรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีผ่าตัดอีกต่อไป วิธีนี้เรียกว่าการทำ PTCA หรือ " การขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ด้วยสายสวนพิเศษชนิดบอลลูน " แพทย์จะพยายามใส่สายสวนนี้เข้าไป ให้ถึงบริเวณหลอดเลือดที่ตีบแคบ (โดยมีลวดนำ )จากนั้นจะใส่ลมเข้าไปให้ ลูกโป่งนั้นพองออก ตรงตำแหน่งของหลอดเลือดที่ตีบแคบพอดี แรงกด ของลูกโป่งจะดัน ผนังของหลอดเลือดที่ตีบแคบ ให้ขยายออก ทำให้เลือดที่มี ออกซิเจนไหลผ่าน หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้มากขึ้น อาการเจ็บจุก หรือแน่น หน้าอกก็จะหายไป

การรักษาด้วยวิธีนี้จะกระทำภายในห้องปฏิบัติการตรวจสวนหัวใจที่มีเครื่องมือและอุปกรณ์พิเศษโดยเฉพาะ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ความสำเร็จในการขยายหลอดเลือดมากกว่าร้อยละ 90 หลังการรักษาท่าน จะได้รับคำแนะนำให้พักในโรงพยาบาลเพียง 1 - 2 วัน เท่านั้น ก็จะสามารถกลับบ้านได้ การขยายหลอดเลือด ด้วยบอลลูนนี้มีเสี่ยง(ต่อการเสียชีวิต)บ้าง แต่อย่างไรก็ตามอัตราเสี่ยงน้อย กว่าร้อยละ 2 (น้อยกว่าการที่ไม่รักษา) ผลแทรกซ้อนที่พบบ่อย (ประมาณร้อยละ 5) คือ เลือดออก หรือ อันตรายต่อหลอดเลือดที่ขา (ตำแหน่งที่แทงเข็ม) ซึ่งสามารถแก้ไขได้

หากท่านได้รับคำแนะนำจากแพทย์ถึงการรักษาชนิดนี้ ท่านจะได้รับคำแนะนำการเตียมตัวล่วงหน้าจากแพทย์ของท่าน โดยละเอียด เช่น ท่านต้อง งดน้ำงดอาหาร อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ เป็นต้น

สิ่งที่ท่านควรทราบอีกประการหนึ่ง คือ การรักษาหลอดเลือดหัวใจตีบ ไม่ว่าจะด้วยยา การขยายหลอดเลือด หรือ การผ่าตัด ไม่ได้ช่วยให้ท่าน "หายขาด" จากโรค เพียงแต่ช่วยลดอาการเจ็บแน่นหน้าอก ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ในบางรายช่วยลดอัตราตายในระยะยาวลง การขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูนนี้ มีโอกาสที่หลอดเลือดบริเวณที่ขยายไว้ จะตีบประมาณร้อยละ 30-40 ใน 6 เดือน พบว่าการขยายหลอดเลือดร่วมกับการใส่ "ขดลวด" หรือ Stent จะช่วยลด การกลับมาตีบซ้ำลงได้เหลือประมาณร้อยละ 15-20 และหากเป็น "ขดลวดเคลือบยา" การตีบซ้ำยิ่งพบน้อยลง แต่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านเกร็ดเลือดไปนาน

การตรวจระบบไฟฟ้าในหัวใจ

หัวใจประกอบไปด้วยส่วนสำคัญหลายส่วน เช่น หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ เป็นต้น แต่การที่หัวใจจะบีบตัว ได้ตามปกตินั้น จำเป็นต้องมีระบบการนำไฟฟ้าหัวใจที่ปกติด้วย การที่หัวใจเต้นผิดปกติ เร็วหรือช้ากว่าปกติ ใจสั่น เต้นผิดจังหวะ ไม่สม่ำเสมอ หรือ หยุดเต้น ล้วนแต่ เกิดจากความผิดปกติในการนำไฟฟ้าหัวใจทั้งสิ้น บางครั้งการตรวจร่างกายตามปกติ รวมทั้ง การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้มากพอ แพทย์โรคหัวใจจะแนะนำ ให้ตรวจวิเคราะห์ระบบไฟฟ้าหัวใจโดยละเอียด

วิธีการตรวจ

แพทย์จะใส่สายสวนหัวใจขนาดเล็กเข้าไปยังตำแหน่งต่างๆภายในหัวใจ ผ่านทางหลอดเลือดดำที่ขาหนีบหรือที่ใต้ไหปลาร้า โดยอาจใช้สายสวนหลายสาย ร่วมกัน และใช้เครื่องเอกซ์เรย์ในการเลือกตำแหน่งที่ถูกต้อง ที่ปลายของแต่ละสายจะมีความ สามารถในการบันทึกไฟฟ้าที่เกิดขึ้นภายในหัวใจ ทำให้ทราบ ว่ามีไฟฟ้าลัดวงจรเกิดขึ้นในหัวใจหรือไม่ และยังสามารถปล่อย กระแสไฟฟ้าจำนวนน้อยๆไปกระตุ้นให้เกิดการเต้นผิดจังหวะที่เป็นอยู่ มาปรากฏต่อแพทย์ได้ หากพบว่ามีวงจรที่ผิดปกติ หรือ มีทางลัดเกิดขึ้นในหัวใจ แพทย์อาจใช้คลื่นวิทยุจี้ ทำลายวงจรที่ผิดปกติโดยผ่านทางสายดังกล่าวได้ ซึ่งนับเป็นการตรวจ วิเคราะห์และการรักษาการเต้นผิดจังหวะที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดปกติด้วยคลื่นวิทยุ

เป็นการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแนวใหม่โดยใช้คลื่นวิทยุความถี่สูง เข้าไปทำลายวงจรไฟฟ้าที่ผิดปกติภายในหัวใจ ซึ่งเชื่อว่า เป็นสาเหตุ ทำให้เกิดการเต้นผิดจังหวะของหัวใจได้ การรักษาโดยวิธีนี้ใชัหลักการเดียวกันกับการสวนหัวใจ และกำลังเป็นที่นิยม ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธี ที่ได้ผลสูงและปลอดภัย ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้แล้ว บางรายไม่ต้องรับประทานยารักษาอาการ หัวใจเต้นผิดจังหวะอีกเลยตลอดชีวิต

การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ

หัวใจเราทำงานบีบตัวได้เพราะมีกลุ่มเซลล์ที่สร้างกระแสไฟฟ้าเป็นจังหวะ 60 - 100 ครั้งต่อนาที และกระแสไฟฟ้าจะเดินทางไป ตามเซลล์ของกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เกิดการบีบตัวเอาเลือดออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย หากเกิดความผิดปกติขึ้นที่กลุ่ม เซลล์เหล่านี้ หรือมีความผิดปกติของการส่งกระแสไฟฟ้า หัวใจ ของเราก็จะเต้นผิดปกติ คือ อาจจะเร็วขึ้นหรือช้าลงได้ โดยเฉพาะ คนที่อายุมากๆ หากมีอัตราการเต้นของหัวใจช้า เพียง 30 - 40 ครั้งต่อนาที หรือมีภาวะหัวใจ เต้นๆ หยุดๆ ซึ่งถ้าหยุดนานเกินกว่า 2.5 วินาที จะมีอาการวูบๆ หน้ามืด หรือ หมดสติได้ อาการเหล่านี้ จะตรวจพบได้ จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ จากการบันทึก คลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง

นับเป็นความก้าวหน้าในวงการแพทย์อย่างยิ่งที่ในปัจจุบันนี้ สามารถคิดค้นวิธีการและเครื่องมือสำหรับการรักษาความผิดปกติของ หัวใจชนิดต่างๆได้อย่างมี ประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึง ภาวะหัวใจเต้นช้าอย่างผิดปกติด้วย หากเกิดอาการดังกล่าว แพทย์จะแนะนำให้ ท่านได้รับการใส่ เครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดถาวร หรือ   " Permanent Cardiac Pacemaker "

เครื่องกระตุ้นหัวใจคืออะไร

เป็นเครื่องมือขนาดเล็กๆ กว้างยาวประมาณ 4 - 5 เซนติเมตร หนาประมาณ 1/2 เซนติเมตร ภายในจะประกอบด้วย
1. ส่วนรับรู้การเต้นของหัวใจ
2. ส่วนส่งพลังงานไฟฟ้าไปกระตุ้นหัวใจ เมื่อพบว่าหัวใจเต้นช้ากว่าความต้องการของร่างกาย
3. ส่วนแบตเตอรี่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักให้พลังงานได้ 5 - 10 ปี แล้วแต่ปริมาณการใช้งาน

Link       https://www.thaiheartweb.com

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

           โรคหัวใจรูมาติก

โรคหัวใจรูมาติก

          ชื่อโรคฟังดูแปลกๆ นะครับ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับโรครูมาตอยเลย ความเป็นจริงแล้วโรคนี้ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุข ของบ้านเราอยู่ เนื่องจากโรคนี้มีความสัมพันธ์กับร่างกายหลายระบบ เช่น ผิวหนัง กระดูก-ข้อ ประสาท และ หัวใจ ทำให้ยัง ไม่มีชื่อโรคเป็นภาษาไทยเพราะๆที่เหมาะสม เลยยังคงเรียกทับศัพท์กันไปก่อน

โรคหัวใจรูมาติก คือ อะไร
          โรคหัวใจรูมาติกเป็นโรคหัวใจที่ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด แต่มักพบในเด็กโดยที่บางครั้งเด็กไม่มีอาการชัดเจน มาทราบอีกครั้ง เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว พบว่าเกิดลิ้นหัวใจพิการขึ้น จัดว่าเป็นสาเหตุของโรคลิ้นหัวใจพิการ(ตีบ รั่ว) ที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย เด็กในวัยเรียนอาจพบโรคหัวใจรูมาติกได้ประมาณ 0.35-1.4 คนต่อเด็ก 1,000 คน และในผู้ที่อายุมากกว่า 15 ปีพบได้ประมาณ 3 คนต่อ 1,000 คน โดยในผู้ใหญ่ลักษณะที่พบจะเป็นผลจากการอักเสบของลิ้นหัวใจในวัยเด็ก ส่วนใหญ่พบในชุมชนแออัด ยากจน ในประเทศกำลังพัฒนา

สาเหตุจากอะไร
          โรคนี้เริ่มต้นจากการติดเชื้อคออักเสบ หรือ ต่อมทอนซิลอักเสบ จากเชื้อโรคที่ชื่อ เบต้าสเตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ (Beta- hemolytic Streptococcus Group A)   ซึ่งติดต่อกันง่ายมากในชุมชนแออัด โรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก หรือที่ๆมีผู้คนอยู่ หนาแน่น ไม่ถูกสุขลักษณะ บางคนได้รับเชื้อนี้แล้ว เกิดคออักเสบขึ้น รักษาแล้วอาการหายไป แต่บางคนไม่เป็นเช่นนั้น ร่างกายมี การตอบสนองต่อการติดเชื้อนี้ผิดปกติ โดยร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาทำลายเชื้อ แต่ภูมิต้านทานเหล่านี้กลับมาทำลายตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ เช่น ผิวหนังอักเสบ (Erythema marginatum, Subcutaneous nodule) ระบบประสาทผิดปกติเกิดชัก หรือ เคลื่อนไหวผิดปกติ (Chorea) ปวดตามข้อหลายๆข้อ (Polyarthritis) หัวใจอักเสบ (Carditis) ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 
          ผลที่ตามมาจากการเกิดลิ้นหัวใจอักเสบคือเกิดผังผืดเกาะยึดบริเวณลิ้นหัวใจ (fibrosis) ทำให้ลิ้นหัวใจแข็งไม่โปกสะบัดเหมือนเคย เปิดได้ไม่เต็มที่ (ลิ้นหัวใจตีบ) หรือปิดไม่สนิท (ลิ้นหัวใจรั่ว) หรือ ทั้งตีบและรั่วในขณะเดียวกัน โดยอาจจะเป็นลิ้นเดียว หรือ หลายลิ้น ก็ได้

การรักษา
          เราอาจแบ่งหลักการรักษาออกได้เป็น
          1. รักษาการติดเชื้อ เบต้าสเตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ โดยใช้ยาฆ่าเชื้อ (ยาปฏิชีวนะ)
          2. ลดการอักเสบที่เกิดขึ้นต่อทุกระบบ ยาที่ได้ผลดีมากที่สุดคือ แอสไพริน (aspirin) ในขนาดสูง
          3. หากเกิดลิ้นหัวใจพิการขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะตีบหรือรั่ว ก็ไม่หายขาด คงเหลือความ”พิการ”นั้นไว้ การรักษาตรงนี้ขึ้นกับตำแหน่งลิ้นหัวใจ ที่พิการ และความรุนแรงที่เป็น การรักษาอาจเพียงขยายลิ้นหัวใจที่ตีบ ผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจ หรือแม้กระทั่งผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ทั้งนี้ไม่ว่าจะทำวิธีใดก็ไม่หายขาดทั้งสิ้น ยังคงมีความผิดปกติหลงเหลืออยู่หรือต้องระวังไปตลอดชีวิต

ป้องกันอย่างไร
          อย่างที่กล่าวแล้วว่าไม่ใช่ทุกคนที่ติดเชื้อ เบต้าสเตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ จะเกิดโรคหัวใจรูมาติก เราไม่ทราบว่าผู้ใดจะเกิดบ้าง หลักการป้องกันที่สำคัญคือ
          1. หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ นั่นคือไม่เข้าใกล้ชิดผู้ป่วยคออักเสบ ไข้หวัด
          2. หากติดเชื้อเกิดคออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบจาก เบต้าสเตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ จะต้องรักษาให้ครบ รับประทานยาฆ่าเชื้อให้ครบ 7-10 วัน
          3. หากเกิดการอักเสบที่หัวใจขึ้นแล้ว หรือ เคยเป็นกลุ่มอาการของโรคหัวใจรูมาติกแล้ว มีโอกาสเป็นซ้ำ และทุกครั้งที่เป็นซ้ำ ความ ”พิการ”ของลิ้นหัวใจจะมากขึ้น ดังนั้นจึงต้อง”ป้องกัน”ไม่ให้ติดเชื่อ เบต้าสเตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ ซ้ำอีกโดยการฉีดยาเพนนิซิลิน ทุก 3-4 สัปดาห์หรือรับประทานยาทุกวันต่อเนื่องไปจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ (โดยมากพบในเด็ก) แล้วค่อยมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะหยุด ป้องกันได้หรือยัง
          4. การป้องกันโรคนี้ให้ได้ผลดีต้องอาศัยการพัฒนาทางสังคมควบคู่ไปด้วย ประชาชนต้องมีเศรษฐานะดีขึ้น ความรู้ของประชาชนดีขึ้น ติดเชื้อยากขึ้น ได้รับการรักษาทันท่วงที ไม่ซื้อยารับประทานเอง เป็นต้น ปัจจุบันโรคหัวใจรูมาติดเป็นโรคหัวใจที ่”หายาก” พบได้น้อย มากในประเทศพัฒนาแล้ว จนกุมารแพทย์ต่างชาติหลายแห่งเดินทางมาดูงาน ดูผู้ป่วยในบ้านเรา ไม่รู้ว่าน่ายินดี หรือ น่าอายกันแน่

          สรุป โรคหัวใจรูมาติกเป็นโรคหัวใจของประเทศกำลังพัฒนา และ เป็นตัวบ่งชี้ (Index) ประการหนึ่งที่แสดงความเป็นประเทศพัฒนา ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้คงได้ประโยชน์บ้างที่ให้ประชาชนตื่นตัว รู้จักโรคนี้ ช่วยกันระวังโรคหัวใจรูมาติก ไม่ให้เกิดขึ้นกับลูกหลาน เรา ในอนาคตเราอาจจะมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจจากโรคนี้ลดลง เรื่อยๆ

        Link       https://blog.eduzones.com

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


 

อัพเดทล่าสุด