โรคริดสีดวงทวารมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง โรงพยาบาลที่เกี่ยวกับโรคริดสีดวง โรคริดสีดวงทวารหนักรักษาอย่างไรหายเร็ว


3,123 ผู้ชม


โรคริดสีดวงทวารมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง โรงพยาบาลที่เกี่ยวกับโรคริดสีดวง โรคริดสีดวงทวารหนักรักษาอย่างไรหายเร็ว

             โรคริดสีดวงทวารมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

ริดสีดวงทวาร วิธีรักษาและป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ โดย เภสัชกร อุทัย สุขวิวัฒน์ศิริกุล


เมื่อรู้แน่ว่าคุณกำลังทนทรมาณจากโรคลมเย็นนี้แล้ว มาทบทวนวิธีการรักษาโรคและบรรเทาอาการที่น่ารำคาญต่างๆ รู้จักยาที่ใช้ รวมไปทั้งหลังจากอาการดีขึ้นแล้ว คุณควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำได้อีกหน่ะครับ

ริดสีดวงทวารมีรักษาอย่างไร

เมื่อคุณไปพบแพทย์แล้ว การรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะที่เป็น

ในระยะที่ 1 การรักษาไม่ว่าจะมีเลือดออกมาหรือไม่ จะเน้นการใช้ยาและการปฏิบัติตัวควบคู่ไปด้วย

  • การใช้ยามักให้ยาในรูปแบบยาภายนอก ได้แก่ยาครีมหรือยาสอดทวารหนักที่มีตัวยาผสม ได้แก่ยาหดหลอดเลือดเพื่อไปลดอาการบวม ยาชาเพื่อไปลดการคัน และยาฝาดสมานเพื่อไปทำให้แผลแห้งบรรเทาอาการระคายเคือง และมักให้ยาที่ทำให้อุจจาระนุ่มเพื่อลดอาการอักเสบ
  • การปฏิบัติตัวคือแนะนำให้รับประทานทานอาหารมีกาก เส้นใยมากๆ  ดื่มน้ำมากๆ และ หลีกเลี่ยงการเบ่งหรือนั่งนานๆ

ระยะ 2 และ 3ที่เป็นไม่มาก การรักษายังคงเหมือนด้วยระยะแรกคือการให้ยารวมทั้งการปรับลักษณะนิสัยเหมือนเดิม

  • อาจจ่ายยาเพิ่ม โดยเป็นยาที่ไปเพิ่มประสิทธิ์ภาพการทำงานของหลอดเลือดดำให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น จึงลดอาการอักเสบและบวมได้
  • หากมีอาการปวดมาก ให้รับประทานยาแก้ปวด หรือควรนั่งแช่ในน้ำอุ่นจัดๆ วันละ 2-3ครั้ง ครั้งละ 30นาที
  • ถ้าหัวริดสีดวงหลุดออกมาภายนอก ล้างมือให้สะอาดหรืออาจใส่ถุงมือ ดันหัวริดสีดวงกลับเข้าไป แล้วรีบไปพบแพทย์ต่อไป
  • อาจจะให้เข้ารับการรักษาด้วยวิธีฉีดยาเข้าที่หัวริดสีดวงให้ฝ่อไป หรือใช้วิธีใช้ยางรัดที่ไปทำให้หัวริดสีดวงฝ่อ หรือใช้แสงเลเซอร์รักษา

ระยะ 3 ที่เป็นมากๆ ถึง 4 รวมทั้งคนไข้ที่มีภาวะแทรกซ้อน คงต้องเข้ารับการผ่าตัด

วิธีป้องกันริดสีดวงทวาร

ตัวโรคนี้เอง ไม่ได้มีอันตรายมากนัก สามารถรักษาด้วยยาควบคู่ไปกับการปรับลักษณะนิสัย มีส่วนน้อยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ในบางรายอาจเกิดการกลับมาเป็นซ้ำได้เนื่องจากมีริดสีดวงหัวใหม่ๆเกิดขึ้นมาอีก  

  • ลดอาการท้องผูก โดยการดื่มน้ำให้มากๆ และเลือกรับประทานอาหารที่มีกากเส้นใยมากๆ เช่นผักและผลไม้ ถ้ายังท้องผูกอีกให้เลือกใช้ยาระบายแบบสารเพิ่มกากใยหรือสารที่ไปทำให้อุจจาระนุ่ม
  • ถ้านั่งทำงานนานๆ ควรเปลี่ยนอิริยาบถในเวลาพักบ้าง โดยลุกขึ้นเดินอย่างน้อยชั่วโมงละครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุราที่จะไปทำให้ร่างกายขาดน้ำ ผลที่ตามมาจะส่งผลให้อุจจาระแข็ง ขับถ่ายลำบาก

หากอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับริดสีดวงทวาร ยาที่ใช้ในการรักษา การดูแลตัวเองและคนรักในครอบครัว สามารถขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้จากเภสัชกรใจดีที่ร้านยาหรือที่โรงพยาบาลได้เลยครับ พวกเราเภสัชกรยินดีและเต็มใจรับใช้พี่น้องครับ

แหล่งข้อมูล

  • สูรเกียรติ์ อาชานุภาพ, ริดสีดวงทวาร , ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป
  • ธเนศ พัวพรพงษ์ , ริดสีดวงทวาร , www.thaiclinic.com

               Link        https://www.oknation.net

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++


              โรงพยาบาลที่เกี่ยวกับโรคริดสีดวง

ศูนย์รักษาโรคริดสีดวงทวารหนักโรงพยาบาลพญาไทศรีราชา มีระบบการบริการที่ให้ความเป็นส่วนตัวแก่ผู้ป่วย หมดความกังวลเรื่องการที่ต้องเปิดเผยเรื่องอาการเจ็บป่วย เปิดบริการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือทันสมัย และระบบการดูแลรักษาที่ได้มาตรฐาน สำหรับคนไข้ที่มีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ทางโรงพยาบาลมีทีม แพทย์ ดมยา และทีมการพยาบาลผู้ชำนาญการในการช่วยศัลยแพทย์ ทุกราย รวมทั้งการดูแลก่อนผ่าตัด และ หลังผ่าตัด ที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพ
อาการแสดงทางทวารหนักบุคคลส่วนใหญ่ มักปกปิดเอาไว้ทำให้ อาการลุกลามไปเรื่อย บางครั้งทำให้การเจ็บ ป่วยเล็กน้อย กลายเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งบางครั้ง การเป็นแผลเรื้อรังในทางเดินอาหารส่วนล่าง อาจทำให้เกิดมะเร็งได้


 

บริการตรวจรักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก

1. ให้คำปรึกษาอาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโรคริดสีดวงทวารหนักโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

2. การใช้ยารักษา เช่น ยากิน , ยาระบาย , ยาเหน็บ และยาทา ซึ่งมักใช้กลุ่มระยะเริ่มต้น

3. การฉีดหัวริดสีดวง

4. การรัดหัวริดสีดวงทวารด้วยยางรัด

5. การจี้หัวริดสีดวงทวาร

6. การผ่าตัด ซึ่งจะทำในรายที่เป้นมากๆ หรือในระยะที่ 4 โดยวิธีผ่าตัดธรรมดา หรือ ผ่าตัดด้วยเครื่องมือตัดเย็บ

7. แผลหายเร็ว การผ่าตัดด้วยเครื่องจี้ Ligasure ระยะการนอนโรงพยาบาลสั้นกว่า


 

กลไกการเกิดริดสีดวงทวารหนัก

ทวารหนักเป็นส่วนติดต่อมาจากลำไส้ใหญ่ และมาเปิดออกนอกร่างกายมีควมยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ถูกแบ่งครึ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยเส้นรอบวงที่เรียกว่า แนวเส้นประสาท (Dentate line) ส่วนที่อยู่สูงกว่าแนวเส้นประสาท เรียกว่า รูทวารหนัก (Anal canal) จะไม่มีเส้นประสาทรับความเจ็บปวดมาเลี้ยง ที่ผนังของรูทวารหนักปกติจะมีก้อนเนื้อนูนออกมาเป็นระยะโดยรอบ เรียกว่า เบาะรอง (Cushion) ซึ่งภายในมีกลุ่มเส้นเลือดและกล้ามเนื้อ โดยทฤษฎีใหม่ล่าสุดของการเกิดริดสีดวงทวารหนักนั้นเชื่อว่าการเบ่งอุจจาระมากๆ ภาวะท้องผูก ความดันจากการเบ่งที่สูงขึ้นและอุจจาระก้อนใหญ่จะดันให้เบาะรองเลื่อนลงมาเรื่อยๆ จนยื่นออกมานอกทวารหนัก เรียกว่า ริดสีดวงทวารหนักชนิดภายใน (Internal hemorrhoid) ส่วนของทวารหนักที่อยู่ใต้ต่อแนวเส้นประสาท จะมีเส้นประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวดมาเลี้ยง เรียกว่า ปากทวารหนัก (Anal margin) เมื่อเบาะรองจากบริเวณรูทวารหนักเลื่อนตัวลงมาเรื่อยๆ จนถึงปากทวารหนักก็จะดันกลุ่มส้นเลือดและเนื้อเยื่อของปากทวารหนักให้เลื่อนต่ำลงและเบียดออกด้านข้าง จนกลายเป็นก้อนนูนที่ปากทวารหนัก เรียกว่า ริดสีดวงทวารหนักชนิดภายนอก ( External hemorrhoid )


 

อาการ

- ถ่ายเป็นเลือดสด

- มีก้อนยื่นออกมาจากทวารหนัก

- คันและระคายเคืองปากทวารหนัก จากเมือก ผนังลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย

- ปวด โดยเฉพาะริดสีดวงภายนอก เนื่องจากการฉีกขาดของเส้นเลือดและเป็นบริเวณที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยงมาก หรือริดสีดวงภายในที่มีการยื่นออกมาแล้วกลับไม่ได้


 

ปัจจัยที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวารหนัก

1. ภาวะท้องผูกเรื้อรัง

2. ท้องเสียถ่ายอุจจาระบ่อยๆ

3. อุปนิสัยแบ่งอุจจาระอย่างมากเพื่อพยายามขับอุจจาระก้อนสุดท้ายให้ออกไป

4. อุปนิสัยใช้เวลานั่งถ่ายอุจจาระนาน เช่น อ่านหนังสือขณะถ่ายอุจจาระ

5. ชอบใช้ยาสวนอุจจาระหรือระบายพร่ำเพรื่อ

6. หญิงตั้งครรภ์ทำให้ถ่ายอุจจาระไม่สะดวก

7. ภาวะโรคตับแข็งทำให้เลือดดำไหลเข้าตับไม่ได้ ทำให้เส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักโป่งพอง

8. อายุสูงวัยขึ้นทำให้กล้ามเนื้อหย่อนยานลง จนทำให้เบาะรองเลื่อนลงมาจนยื่นออกมาจากทวารหนัก

9. โดยไม่ทราบสาเหตุพบว่าบุคคลที่มีประวัติในครอบครัวเป็นริดสีดวงทวารหนัก จะมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าปกติ


 

ระยะของริดสีดวงทวารหนัก แนวทางการรักษา

ระยะที่ 1 หัวริดสีดวงจะอยู่ภายในรูทวารหนักมักจะมีปัญหาเลือดออก - รักษาได้โดยการให้ยาฉีดเข้าไปในตำแหน่งเลือดออก หรือใช้ยาเหน็บ ยากิน
ระยะที่ 2 หัวริดสีดวงที่อยู่ภายในจะโผล่เมื่อถ่ายอุจจาระและหดกลับมาได้เอง - ยิงยางรัดโคนหรือหัวของริดสีดวงที่โผล่ออกมาก็จะทำให้หัวริดสีดวงนั้นฝ่อและหลุดไปได้หรือผ่าตัดด้วยเครื่องตัดเย็บอัตโนมัติ
ระยะที่ 3 หัวริดสีดวงโผล่ และใช้มือดันกลับได้ - ผ่าตัดด้วยมือ เครื่องตัดเย็บอัตโนมัติหรือใช้ยางรัด
ระยะที่ 4 หัวริดสีดวงยื่นออกมาใหญ่ดันกลับไม่ได้ - ผ่าตัดด้วยมือ และเครื่อง Ligasure


ทำอย่างไรเมื่อรู้ตัวว่าเป็นริดสีดวงทวาร

การรักษาริดสีดวงขึ้นกับระยะที่เป็น ซึ่งจะได้รับคำแนะนำจากการปรึกษาศัลยแพทย์เป็นผู้พิจารณาเลือกการรักษาที่เหมาะสม

1. เปลี่ยนพฤติกรรมการนั่งถ่ายอุจจาระ

2. การใช้ยารักษา เช่น ยากิน, ยาระบาย, ยาเหน็บ และยาทา ซึ่งมักใช้กลุ่มระยะเริ่มต้น

3. การฉีดหัวริดสีดวง

4. การรัดหัวริดสีดวงทวารด้วยยางรัด

5. การจี้หัวริดสีดวงทวาร

6. การผ่าตัด ซึ่งจะทำในรายที่เป็น ในระยะที่ 1-3 ใช้วิธีผ่าตัดด้วยเครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ หรือวิธีธรรมดา

7. การผ่าตัดในระยะที่ 4 อาจทำการผ่าตัดธรรมดาหรือ ด้วยเครื่องจี้ Ligasure ระยะการนอนโรงพยาบาลสั้นกว่า แผลหายเร็ว เลือดออกน้อยระยะเวลาในการผ่าตัดสั้นกว่า


 

การทำงานของเครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ

แนวความคิดใหม่ในการผ่าตัดริดสีดวงทวารหนัก คือ การดันเบาะรองกลับสู่ที่เดิม ริดสีดวงทวารหนักชนิดภายนอกก็จะยุบแบนลง และชนิดภายในก็จะถูกดันกลับไป และเย็บแขวนเอาไว้ป้องกันไม่ให้เลื่อนต่ำลงมาอีก


 

ข้อดีของการใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ

1. ตัดริดสีดวงทวารหนักออกได้หมด โดยไม่เกิดรูทวารหนักตีบตัน

2. ผู้ป่วยจะเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยกว่า

3. หลังผ่าตัดไม่ต้องแช่ก้นด้วยน้ำอุ่นเพื่อล้างแผล

4. หลังผ่าตัดไม่ต้องใส่ผ้าอนามัยซับน้ำเหลือง

5. เวลาในการผ่าตัดสั้นกว่า

6. เวลาในการอยู่โรงพยาบาลสั้นกว่า

7. เวลาในการพักฟื้นที่บ้านสั้นกว่า


 

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ :แผนกศัลยกรรม ชั้น 1 โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา 
โทร. : 038-317-333 ต่อ 2115, 2176

        Link      https://www.phyathai-sriracha.com

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

                    โรคริดสีดวงทวารหนักรักษาอย่างไรหายเร็ว

ประธานชมรมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เผยข้อสรุปนวัตกรรมใหม่ในการรักษาริดสีดวง ด้วยวิธีการผ่าตัดแบบสมัยใหม่ โดยใช้เครื่องมือตัดเย็บแบบใหม่ (Stapled hemorrhoidectomy) หรือที่เรียกว่า การผ่าตัดรักษาด้วยวิธี PPH (procedure for prolapsed and hemorrhoid) ช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยและแผลหายเร็วขึ้น

กรุงเทพฯ - มิถุนายน 2552 - พล.ต.รศ.นพ.ปริญญา ทวีชัยการ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ประธานชมรมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (ประเทศไทย) เปิดเผยถึง ข้อสรุปนวัตกรรมใหม่ในการรักษาริดสีดวงทวารหนักในวงการแพทย์ไทย ด้วยนวัตกรรมการผ่าตัดแบบสมัยใหม่ ที่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อยและแผลหายเร็วยิ่งขึ้น ว่าวงการแพทย์ไทยได้มีการจัดประชุมวิทยาการเกี่ยวกับการรักษาโรคริดสีดวงทวาร ซึ่งได้ข้อสรุปทางเทคนิคในการผ่าตัดรักษาริดสีดวงทวารที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย หรือผู้ที่กำลังมีปัญหาการรักษาในปัจจุบัน ด้วยนวัตกรรมวิธีการผ่าตัดแบบสมัยใหม่ ซึ่งนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วย ในกรณีที่ต้องรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักด้วยการผ่าตัด

โดยพบข้อดีสำหรับผู้ป่วยหลังการผ่าตัดด้วยเครื่องมือผ่าตัดแบบใหม่ ที่เรียกว่า Stapled hemorrhoidectomy ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยเจ็บน้อย และใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดและพักฟื้นตัวน้อย ระยะเวลาการฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังการผ่าตัดเร็ว ความต้องการในการรับประทานยาแก้ปวดของผู้ป่วยน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบเดิม รวมถึงผลข้างเคียง หลังการผ่าตัดไม่ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อน ผู้ป่วยจึงกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ไวกว่าการผ่าตัดแบบเดิม

โรคริดสีดวงทวารหนักเป็นโรคที่พบบ่อยทั้งในเพศชายและเพศหญิง แต่ผู้ป่วยจำนวนมาก

มีแนวโน้มที่จะเก็บความทุกข์ทรมานจากโรคนี้ไว้ตามลำพังเนื่องจากความอายและกลัวการผ่าตัด โดยสมาคมศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนักแห่งสหรัฐอเมริการายงานว่า ประชากรประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของประเทศจะมีโอกาสเป็นโรคริดสีดวงทวารหนักในช่วงชีวิตของเขา และเหตุผลหนึ่งที่ผู้ป่วยไม่กล้าปรึกษาแพทย์เพราะกลัวการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบเดิม ซึ่งมีข้อมูลว่าเจ็บปวดแสนสาหัส อีกทั้งผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจากศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบลำไส้ใหญ่และทวารหนัก หรือไปรักษาจากบุคคลากรที่ไม่ใช่แพทย์ มักจะก่อให้เกิดปัญหาโรคแทรกซ้อนตามมา ที่พบบ่อยที่สุดคือรูทวารตีบตันไม่สามารถถ่ายอุจจาระได้ ซึ่งมักพบจากการรักษาริดสีดวงทวารหนัก โดยการจี้ด้วยธูปความร้อน จี้ด้วยกรดหรือสารเคมีกัดผิวหนัง ฉีดสารเคมีที่ไม่ถูกต้องลงไป รวมทั้งการผ่าตัดที่ตัดริดสีดวงออกมากเกินไป ทำให้ต้องใช้เวลารักษาตัวนานอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อให้ทวารหนักใหม่สามารถใช้การได้ดี

ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักที่ถูกต้องมากมายหลายวิธี ที่สามารถขจัดปัญหาเรื่องริดสีดวงทวารหนักออกไป โดยไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานใด ๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของริดสีดวงว่าเป็นริดสีดวงชนิดภายใน (Internal Hemorrhoid) หรือริดสีดวงชนิดภายนอก (External Hemorrhoid) ซึ่งหลัก ๆ แล้ว มีอยู่ 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ การรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัด และการรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเลือกรักษาโดยวิธีการไม่ต้องผ่าตัด หากอาการนั้นยังไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานในการใช้ชีวิตประจำวันมากจนเกินไป

การรักษาด้วยการผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บแบบใหม่ (Stapled hemorrhoidectomy) หรือที่เรียกว่า การผ่าตัดรักษาด้วยวิธี pph (procedure for prolapsed and hemorrhoid) เหมาะกับการรักษาโรคสีดวงทวารหนักชนิดภายใน ในระยะที่ 3 และ 4 หรือริดสีดวงทวารหนักชนิดภายในที่เป็นโดยรอบทวารหนัก โดยการผ่าตัดแบบนี้ เป็นวิธีแก้ไขกลไกที่ทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารหนักโดยตรง เพราะจากทฤษฏีแล้ว ริดสีดวงทวารหนักเกิดจากการเลื่อนตัวของเบาะรอง (cushion) ที่อยู่ภายในทวารหนักออกมาภายนอก วิธีการผ่าตัดนี้จะดันเบาะรองกลับไปสู่ตำแหน่งเดิม และตัดเฉพาะส่วนเกินที่ยื่นออกมาเท่านั้น ไม่ตัดเบาะรองออกทั้งหมด ในความเป็นจริงแล้วเบาะรองมีประโยชน์ในการทำให้ทวารหนักของคนเราปิดสนิท ไม่มีน้ำอุจจาระ เล็ดออกมาได้ในระหว่างที่ไม่ได้ถ่ายอุจจาระ

ซึ่งการผ่าตัดโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บแบบใหม่นี้ ประกอบด้วยอุปกรณ์ที่สำคัญ 3 ส่วน คือ เครื่องมือสอดและถ่างทวารหนัก เครื่องมือช่วยเย็บ และเครื่องมือตัดเย็บหัวริดสีดวง โดยการตัดและเย็บนี้ จะกระทำตามแนวเส้นรอบวงโดยตลอด จึงสามารถตัดหัวริดสีดวงออกได้ทุกหัวและไม่ทำให้รูทวารหนักแคบลง อีกทั้งแนวการเย็บอยู่สูงกว่าเส้นเด็นเต็ท (dentate line) ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่มีเส้นประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวดมาเลี้ยง จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดน้อยลง โดยมีผลศึกษาทางการแพทย์จากรายงานในต่างประเทศที่สอดคล้องกับผลสรุปของการประชุมในครั้งนี้ว่า การผ่าตัดรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักชนิดภายในด้วยเครื่องมือตัดเย็บแบบใหม่นี้ มีข้อดีคือ ตัดหัวริดสีดวงทวารหนักออกได้หมด โดยไม่เกิดผลแทรกซ้อนเรื่องทวารหนักตีบตัน รวมถึงโอกาสเกิดปัญหากลั้นอุจจาระไม่อยู่ก็น้อยกว่าการผ่าตัดแบบเดิม เพราะผู้ป่วยยังคงเหลือส่วนเบาะรอง (Cushion) เอาไว้ทำหน้าที่ได้ แต่จุดเด่นที่สำคัญ ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดและการใช้เวลาพักฟื้นน้อย สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ไวกว่าการผ่าตัดแบบเดิม

นิตยสาร Medical Upgrade ฉบับ 011

        Link     https://www.meedee.net

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

อัพเดทล่าสุด