อาเซียนประเทศไทย ประวัติอาเซียนประเทศกัมพูชา ข้อมูลอาเซียนประเทศไทย
ไทยกับอาเซียน
ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 5 ของสมาชิกผู้ก่อตั้งและเป็นจุดกำเนิดของอาเซียน ไทยมีบทบาทอย่างแข็งขันในกิจกรรมของอาเซียนตลอดมา รวมทั้งยังมีส่วนผลักดันให้อาเซียนมีโครงการความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่ทันการณ์และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ระหว่างประเทศ อาทิ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน การประชุมอาเซียนว่าด้วยความ ร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะเดียวกันอาเซียนก็มีความสำคัญต่อประเทศไทยโดยนอกจากจะสร้างพันธมิตรและความเป็นปึกแผ่น ตลอดจนเสถียรภาพและสันติภาพในภูมิภาคแล้ว ยังช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาระหว่างประเทศ และร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาข้ามชาติ และการพัฒนาขั้นพื้นฐานต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนั้น ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมภายในอาเซียนได้เปิดโอกาสให้มีการขยายตัวด้านการค้าและการลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งนำผลดีมาสู่เศรษฐกิจของประเทศไทยและของประเทศสมาชิกอาเซียนโดยส่วนรวม
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย
- ประเทศไทยได้รับสิทธิพิเศษทางด้านการค้า ด้วยการได้ลดหย่อนอัตราภาษีศุลกากร
- ด้านอุตสาหกรรม ไทยได้รับสิทธิในการผลิตเกลือหิน และโซดาแอช ตัวถังรถยนต์
- ด้านการธนาคาร จัดตั้งบรรษัทการเงินของอาเซียน จัดตั้งคณะกรรมาธิการว่าด้วยการประกันภัยแห่งอาเซียน
- ด้านการเกษตร การสำรองอาหารเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โครงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โครงการปลูกป่า
- ด้านการเมือง สมาชิกของอาเซียนช่วยแบ่งเบาภาระของประเทศไทยเกี่ยวกับปัญหาผู้อพยพ
- ด้านวัฒนธรรม มีโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศสมาชิก ทำให้แต่ละประเทศมีความเข้าใจดีต่อกัน
ประเทศไทยมีบทบาทเชิงรุกทั้งในแง่การก่อตั้งและการพัฒนาให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีความสำเร็จ เพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญของภูมิภาคนี้ ในส่วนของการก่อตั้ง ไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียนในปี พ.ศ. 2510 ในส่วนของการพัฒนา ไทยยังมีบทบาทที่สำคัญ ดังนี้
- มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพในกัมพูชา
- การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area) ในปี พ.ศ. 2535
- ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก หรือ ARF- ASEAN Regional Forum ซึ่งเป็นเวทีที่ใช้พูดคุยปัญหาความมั่นคงในภูมิภาค ในปี พ.ศ. 2537
- ความริเริ่มเชียงใหม่และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี พ.ศ. 2540
การก่อตั้งในช่วงนั้นเกิดขึ้นท่ามกลางความคุกกรุ่นของสงครามเย็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างประเทศมหาอำนาจในโลกเสรีประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ ท่ามกลางความหวาดวิตกของประเทศในโลกเสรีประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกาที่หวั่นเกรงถึงการแพร่ขยายของแนวคิดคอมมิวนิสต์ของรัสเซียและจีนที่จะครอบคลุมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามทฤษฎีโดมิโน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาอาเซียนได้มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาสำคัญในภูมิภาคนี้ เช่น กรณีเวียดนามรุกรานกัมพูชาเมื่อเดือนธันวาคม 1978 (พ.ศ.2521) โดยอาเซียนได้ปฏิเสธความชอบธรรมของรัฐบาลในพนมเปญที่ตั้งคณะรัฐบาลด้วยการยึดครองของกองทัพเวียดนาม พร้อมกับเรียกร้องให้เวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชาในเดือนกันยายน 1989 (พ.ศ.2532) หรือการก่อตั้งการประชุมอาเซียนว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือเออาร์เอฟ ภายหลังความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกัมพูชาในปี 1993 (พ.ศ.2536) เพื่อให้เป็นเวทีที่ขยายกว้างขึ้นในการหารือประเด็นเรื่องความมั่นคง
ส่วนในประเด็นเศรษฐกิจ อาเซียนได้มีการบรรลุข้อตกลงในการก่อตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) จากการประชุมสุดยอดที่สิงคโปร์ในปีเดียวกัน และหลังจากนั้นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็ได้กำหนดวิสัยทัศน์อาเซียน 2020 ที่จะให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้ โดยมุ่งให้เกิดการไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้า การบริการ การลงทุน เงินทุน การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการลดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมภายในปี 2020 (พ.ศ.2563) พร้อมมุ่งที่จะจัดตั้งให้อาเซียนเป็นตลาดเดียวและเป็นฐานการผลิต โดยจะริเริ่มกลไกและมาตรการใหม่ๆ ในการปฏิบัติตามข้อริเริ่มทางเศรษฐกิจที่มีอยู่แล้ว และให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน อันได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม หรือ CLMV เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนา และช่วยให้ประเทศเหล่านี้เข้าร่วมในกระบวนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือในนโยบายการเงินและเศรษฐกิจมหภาค ตลาดการเงิน และตลาดเงินทุน การประกันภัยและภาษีอากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม กรอบความร่วมมือด้านกฎหมาย การพัฒนาความร่วมมือด้านการเกษตร พลังงาน การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการยกระดับการศึกษาและการพัฒนาฝีมือ
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 4 ปี 2535 (ค.ศ. 1992) ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน
- มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area – AFTA) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในฐานะที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญเพื่อป้อนสินค้าสู่ตลาดโลก
- โดยอาศัยการเปิดเสรีด้านการค้าและการลดภาษีและอุปสรรคข้อกีดขวางทางการค้าที่มิใช่ภาษี รวมทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีศุลกากรเพื่อเอื้ออำนวยต่อการค้าเสรี
ตั้งแต่ปี 2540 (ค.ศ. 1997) อาเซียนได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน โดยได้มีการแถลง ASEAN Vision 2020 ซึ่งต่อมาได้กำหนดให้มีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) ภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) รวมทั้งได้ริเริ่มการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting – AFMM)1/ และความร่วมมือกับประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี
จากความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 13 ปี 2550 (ค.ศ. 2007) ณ ประเทศสิงคโปร์ ผู้นำอาเซียนได้เห็นชอบที่จะให้เร่งการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจากปี 2563 (ค.ศ. 2020) เป็นปี 2558 (ค.ศ. 2015) โดยได้ร่วมลงนามในแผนการดำเนินงานไปสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint – AEC Blueprint)
ในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 13 ที่สิงคโปร์ ผู้นำอาเซียนยังได้ให้การรับรองกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งกรอบทางสถาบันและกฎหมายสำหรับอาเซียนในการเป็นองค์กรระหว่างประเทศชั้นนำในภูมิภาค โดยกฎบัตรอาเซียนจะมีผลบังคับใช้หลังประเทศสมาชิกทุกประเทศให้สัตยาบัน
แหล่งที่มา : baanjomyut.com