อาหารอาเซียนประเทศลาว อาเซียนประเทศเขมร สมาคมอาเซียนประเทศเวียดนาม


642 ผู้ชม


อาหารอาเซียนประเทศลาว อาเซียนประเทศเขมร สมาคมอาเซียนประเทศเวียดนาม

 

 


สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
The Lao People's Democratic Republic

ที่ตั้ง ตั้งอยู่ทางหนือของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทิศเหนือติดกับจีน ทิศตะวันตกติดกับพม่าและไทย ทิศตะวันตกติดกับเวียดนาม และทิศใต้ติดกับกัมพูชา
เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล
พื้นที่ 236,880 ตร.กม. (1/2 เท่าของประเทศไทย)
เมืองหลวง นครหลวงเวียงจันทน์ (Vientiane)
ประชากร ประมาณ 6 ล้านคน (2552)
ภูมิอากาศ ทางตอนเหนือมีภูมิอากาศเย็น
ทางตอนกลางและตอนใต้คล้ายคลึงกับประเทศไทย
ภาษา ภาษาลาว
ศาสนา ศาสนาพุทธ (เถรวาท) ร้อยละ 75 และนับถือผี ร้อยละ 16-17
วันชาติ 2 ธันวาคม (2518)
วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย 19 ธันวาคม 2493
การเมืองการปกครอง
รูปแบบการปกครอง ระบอบสังคมนิยม โดยมีพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นองค์กรการเมืองสูงสุดชี้นำการบริหารประเทศ
ประมุข
พลโท จูมมาลี ไซยะสอน (Lt. Gen. Choummaly Sayasone) ประธานประเทศ สปป. ลาว (President of the Lao PDR)
หัวหน้ารัฐบาล
นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรี
เศรษฐกิจการค้า
หน่วยเงินตรา กีบ (1 บาท เท่ากับประมาณ 250 กีบ) (2553)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 4.01 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2551)
รายได้ประชาชาติต่อหัว 835 ดอลลาร์สหรัฐ (2551)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 7.9 (2551)
สินค้านำเข้าสำคัญ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอุปโภคบริโภค
สินค้าส่งออกสำคัญ ไม้ซุง ไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ไม้ สินแร่ เศษโลหะ ถ่านหิน เสื้อผ้าสำเร็จรูป
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)


1. ภาพรวมความสัมพันธ์ทั่วไป
ความสัมพันธ์ไทย - ลาวในปัจจุบันดำเนินไปอย่างราบรื่นใกล้ชิดบนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกันและผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีปัจจัยเกื้อกูล ได้แก่ ความใกล้ชิดทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม โดยเฉพาะพระราชวงศ์ไทยมีบทบาทสำคัญยิ่งในการเสริมสร้างความใกล้ชิดสนิทสนมในหมู่ประชาชนไทย-ลาว เป็นผลให้ทั้งสองฝ่ายสามารถใช้กลไกความร่วมมือด้านต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นทั้งในกรอบทวิภาคีและ
พหุภาคี ผลักดันความร่วมมือให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องและปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาและหาทางออกร่วมกันได้อย่างสันติ
กลไกความร่วมมือทวิภาคีที่สำคัญ ได้แก่
(1) คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือ (Joint Commission on Cooperation : JC) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานร่วม เป็นกลไกกำกับดูแลความร่วมมือระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ในภาพรวมในทุกมิติ
(2) กลไกทวิภาคีด้านการเมืองและความมั่นคง ได้แก่ คณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไป (General Border Committee: GBC) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานร่วม
การประชุมคณะผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าแขวงชายแดนไทย-ลาว มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทยเป็นประธานร่วม
(3) กรอบอื่นๆ เฉพาะเรื่อง อาทิ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานร่วม และความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ
ซึ่งครอบคลุมทุกสาขาหลักของความร่วมมือ ที่สำคัญ ได้แก่ การประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด การประชุมว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ การประชุมว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา ฯลฯ
(4) Track II ได้แก่ สมาคมไทย-ลาว เพื่อมิตรภาพ และสมาคมลาว-ไทย เพื่อมิตรภาพ เป็นเครื่องมือเสริมการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทย-ลาว โดยเฉพาะในระดับประชาชนสู่ประชาชน นอกจากนั้น สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนของไทยและ สปป.ลาว มีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด
ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ไทย-ลาวมีพัฒนาการเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง ความคืบหน้าที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาเครือข่ายคมนาคมเชื่อมโยงไทย-ลาว การแก้ไขปัญหาชาวม้งลาวลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยใช้กลไกคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไป ไทย-ลาว (GBC) การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน และการขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาวเพิ่มจาก 5,000 เมกะวัตต์เป็น 7,000 เมกะวัตต์ ภายในหรือหลังปี 2558 รวมทั้งความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งไทยยังคงเป็นประเทศคู่ค้าและผู้ลงทุนที่มีมูลค่าลงทุนสะสมเป็นอันดับ 1 ใน สปป.ลาว
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนในความสัมพันธ์ไทย-ลาว ได้แก่ ความหวาดระแวงไทยของลาวในเรื่อง “คนบ่ดี”และการนำเสนอของสื่อไทยในลักษณะที่ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าไทยดูถูกเหยียดหยามลาว หรือเป็นประเด็นการเมืองภายในของไทยที่อาจส่งผลต่อการเมืองภายในของ สปป. ลาว

2. ความสัมพันธ์ด้านการเมืองและความมั่นคง
ด้านการเมือง รัฐบาลไทยและ สปป.ลาว มีความร่วมมือใกล้ชิดทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ และการสนับสนุนกันในเวทีระหว่างประเทศต่าง ๆ
ด้านการทหาร กองทัพไทย-ลาวมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่น มีความร่วมมือทางวิชาการทหารและแลกเปลี่ยนการเยือนอย่างต่อเนื่อง สามารถแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างความมั่นคงทำให้พื้นที่บริเวณชายแดนไทย-ลาวส่วนใหญ่มีความสงบเรียบร้อย พัฒนาการที่สำคัญ ได้แก่ การลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านความมั่นคงบริเวณชายแดนไทย-ลาว ระหว่างรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงกลาโหมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ เมื่อเดือนตุลาคม 2546 ที่กรุงเทพฯ และการต่ออายุความตกลงฯ ในปี 2552 ให้มีผลบังคับใช้ต่อไปอีก 5 ปี เพื่อเป็นกรอบในการปฏิบัติงานให้ชายแดนไทย-ลาวเป็นชายแดนแห่งมิตรภาพ สันติภาพ และความมั่นคง และทั้งสองฝ่ายได้ปรึกษาหารือเพื่อผลักดันและติดตามความร่วมมืออย่างสม่ำเสมอ

การแก้ไขปัญหาบุคคลผู้ไม่หวังดีต่อความสัมพันธ์ไทย-ลาว หรือ “คนบ่ดี” ทางการไทยได้ยืนยันกับฝ่ายลาวในทุกโอกาสว่ารัฐบาลไทยมีนโยบายชัดเจนที่จะไม่ยินยอมให้กลุ่มหรือบุคคลใดใช้ดินแดนไทยเป็นฐานหรือทางผ่านเข้าไปก่อความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน และได้ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำหรับการแก้ไขปัญหาชาวม้งลาวลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยเฉพาะที่อยู่ที่ บ้านห้วยน้ำขาว อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ประมาณ 7,800 คน และที่ สตม. หนองคาย จำนวน 158 คน ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดนทั่วไปไทย-ลาว (GBC) โดยสามารถส่งทั้งหมดกลับสู่ สปป. ลาว ได้ภายในปี 2552 ตามที่ได้ตกลงกันไว้
การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย-ลาว เขตแดนไทย-ลาวมีระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 1,810 กิโลเมตร แบ่งเป็นเขตแดนทางบก 702 กิโลเมตร และเขตแดนทางน้ำ 1,108 กิโลเมตร ไทยและลาว ได้ลงนามความตกลงเกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตลอดแนวร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะจัดทำหลักเขตแดนตลอดแนวเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายรู้ที่ตั้งของเส้นเขตแดนอย่างแน่ชัดและได้จัดตั้งคณะ กรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-ลาวขึ้น เพื่อเป็นกลไกกำกับดูแลการดำเนินงานดังกล่าว มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยและลาวเป็นประธานร่วม นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2540 ที่สองฝ่ายได้เริ่มสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในภูมิประเทศจริงจนถึงปัจจุบัน สามารถจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมกันได้ 204 หลัก ซึ่งรับรองแล้ว 190 หลัก ระยะทางประมาณ 676 กิโลเมตร ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายได้กำหนดเป้าหมายที่จะสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนให้แล้วเสร็จตลอดแนวโดยเร็ว

ความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ไทยและ สปป. ลาว ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการควบคุมยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและสารตั้งต้น เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2544 ปัจจุบัน หน่วยงานด้านการปราบปรามยาเสพติดไทย-ลาว มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิด และได้รับผลสำเร็จในการสกัดกั้น การลักลอบค้าขายและการลำเลียงขนส่งยาเสพติดตามบริเวณชายแดน นำไปสู่การจับกุมนักค้ายาเสพติดที่สำคัญ และฝ่ายไทยได้เห็นชอบที่จะให้ความร่วมมือด้านวิชาการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และการพัฒนากฎหมายยาเสพติดให้แก่ฝ่ายลาวในระยะต่อไป
ความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกด้านการสัญจรของประชาชน ไทยและสปป. ลาว มีพรมแดนติดต่อกันรวม 11 จังหวัด / 9 แขวง สองฝ่ายได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2547 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2547 และได้ร่วมมือเพื่อเปิดและยกระดับจุดผ่านแดนในพื้นที่ที่มีความพร้อมอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2551 ฝ่ายลาวได้ยกระดับด่านท้องถิ่นเมืองเงิน แขวงไชยะบุลี ตรงข้ามจุดผ่านแดนถาวรห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน เป็นด่านสากลให้เท่ากับระดับด่านฝั่งไทยเพิ่มอีก 1 จุด

3. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
ด้านการค้า การค้าไทย-ลาวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง แต่ในปี 2552 มีมูลค่ารวม 71,989.4 ล้านบาท ลดลงจากปี 2551 (78963.9 ล้านบาท) ร้อยละ 8.8 ทั้งนี้ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ตาม ไทยยังเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า 40,101.3 ล้านบาท (ปี 2551 ได้เปรียบดุลการค้า 37,820.6 ล้านบาท) สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภค บริโภค ยานพาหนะและอุปกรณ์ สิ่งทอ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้านำเข้าจาก สปป.ลาว ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้และไม้แปรรูป เชื้อเพลิง สินแร่โลหะ
ด้านการลงทุน ในช่วงปี 2543 – 2552 (เดือนกันยายน) ไทยเป็นประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนสะสมใน สปป.ลาว มากที่สุด มีโครงการลงทุนรวมจำนวน 237 โครงการ มูลค่า 2,645 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สาขาการลงทุนที่สำคัญ ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า ขนส่งและโทรคมนาคม ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ธนาคาร อุตสาหกรรมไม้แปรรูป เครื่องนุ่งห่มและหัตถกรรม นักลงทุนต่างชาติอันดับรองลงมา ได้แก่ จีน (324 โครงการ 2,241 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เวียดนาม (207 โครงการ 2,011 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และฝรั่งเศส (67 โครงการ 453 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
ด้านการท่องเที่ยว รัฐบาล สปป.ลาว ชุดปัจจุบันให้ความสำคัญต่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบริการซึ่งเป็นสาขาที่สร้างรายได้ที่สำคัญให้แก่ สปป.ลาว (148 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2548 ซึ่งเพิ่มเป็น 173, 275 และ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2549, 2551 และ 2552 ตามลำดับ) ทั้งนี้ ในปี 2551 ไทยเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับหนึ่งที่เดินทางไป สปป.ลาว (จำนวน 891,448 คน จากนักท่องเที่ยวทั้งหมดประมาณ 1.7 ล้านคน) อันดับรองลงมา ได้แก่ เวียดนาม จีน และฝรั่งเศส ทั้งนี้ สปป.ลาวเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนไทยนิยมมากเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอินโดจีน และเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียนรองจากมาเลเซีย โดยมีปัจจัยเกื้อหนุน ได้แก่ การยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดา (มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2547) รวมทั้งการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างกันให้มีความสะดวกมากขึ้น
ด้านไฟฟ้าและพลังงาน รัฐบาลไทย-ลาวได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว 2 ฉบับ เมื่อเดือนมิถุนายน 2536 และเดือนมิถุนายน 2539 สรุปว่า
ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาวเพื่อจำหน่ายให้แก่ไทยจำนวน 3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2549 ต่อมาเนื่องจาก สปป.ลาว มีศักยภาพที่จะพัฒนาโครงการพลังงานไฟฟ้าอีกหลายโครงการและไทย มีความต้องการพลังงานเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลไทยจึงได้ตกลงขยายการรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เพิ่มเป็น 7,000 เมกะวัตต์ภายในหรือหลังปี 2558 ปัจจุบัน มีโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแล้ว 2 โครงการ รวม 346 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการเทิน-หินบูน (เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2541) และโครงการห้วยเฮาะ (เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2542) มีกำลังผลิต ณ จุดส่งมอบ 220 เมกะวัตต์ และ 126
เมกะวัตต์ ตามลำดับ และโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ น้ำเทิน 2 น้ำงึม 2
และเทินหินบูน (ส่วนขยาย) รวมกำลังการผลิต 1,755 เมกะวัตต์ รวมทั้งมีโครงการที่มีศักยภาพอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจารับซื้อไฟฟ้า รวมกำลังการผลิตประมาณ 5,000 เมกะวัตต์
ด้านการพัฒนาเครือข่ายคมนาคม เป็นความร่วมมือที่สำคัญเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนไทย-ลาว สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้สะดวกยิ่งขึ้น และนำไปสู่การขยายความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกัน และเป็นการสนับสนุนให้ สปป.ลาวปรับเปลี่ยนจากประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลเป็นจุดเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคตามนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาล สปป.ลาวด้วย ปัจจุบัน โครงการพัฒนาเครือข่ายคมนาคมที่ไทยให้ความช่วยเหลือแก่ สปป.ลาว รวมมูลค่าประมาณ 6,681 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการก่อสร้างถนน โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเหืองและแม่น้ำโขง โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ โครงการปรับปรุงสนามบินในแขวงสำคัญต่าง ๆ รวมมูลค่าโครงการที่เสร็จสมบูรณ์แล้วประมาณ 2,517 ล้านบาท ที่สำคัญได้แก่ โครงการปรับปรุงสนามบินวัดไต นครหลวงเวียงจันทน์ โครงการก่อสร้างเส้นทางถนนเชื่อมโยงไทย-ลาว-จีน (R3) และโครงการก่อสร้างทางรถไฟระหว่างไทย-ลาว (หนองคาย-ท่านาแล้ง) มีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการรวมมูลค่าประมาณ 4,142 ล้านบาท ที่สำคัญได้แก่ โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม–คำม่วน) และแห่งที่ 4 (เชียงราย-บ่อแก้ว) โครงการปรับปรุงสนามบินปากเซ (ระยะที่ 1) และโครงการพัฒนาถนนระหว่างห้วยโก๋น (จังหวัดน่าน)–ปากแบ่ง (แขวงไชยะบุลี)

4. ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม
ความร่วมมือด้านแรงงาน ไทยและ สปป.ลาว ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงานเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2545 ทั้งสองฝ่ายได้หารือทั้งในระดับนโยบายและระดับเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่องเพื่อกำหนดแนวทางร่วมมือในการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง กำหนดขั้นตอนการจ้างแรงงาน และให้การคุ้มครองแรงงานสัญชาติของแต่ละฝ่ายอย่างเหมาะสม ปัจจุบันความร่วมมือมีความคืบหน้าตามลำดับ ดังนี้
- การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาวในไทย ทางการลาวได้จัดส่งคณะเจ้าหน้าที่ มาพิสูจน์สัญชาติแรงงานลาวในไทยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2548 สรุปผลการดำเนินการ ณ เดือนกรกฎาคม 2552 สามารถพิสูจน์สัญชาติและออกเอกสารรับรองให้แก่แรงงานลาวได้จำนวน 58,430 คน (หลังจากเดือน กรกฎาคม 2552 ฝ่ายลาวยังไม่ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่มา) คงเหลือแรงงานลาวตกค้างที่ได้รับ การผ่อนผัน และแรงงานที่ยื่นขอจดทะเบียนรอบใหม่ (มิถุนายน-กรกฎาคม 2552 และที่ผ่อนผันให้ยื่นเพิ่มภายหลัง) ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติ จำนวน 110,406 คน ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
- การนำแรงงานลาวกลุ่มใหม่มาทำงานในไทยโดยถูกกฎหมาย ทางการลาวได้จัดส่ง
แรงงานลาวเข้ามาทำงานในไทยโดยถูกกฎหมายแล้ว จำนวน 10,212 คน (ธันวาคม 2552) อย่างไรก็ดี จำนวนดังกล่าวยังต่ำกว่าความต้องการแรงงานลาวที่นายจ้างแจ้งความประสงค์ไว้ (ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2552 ประมาณ 73,000 คน) ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและลาวอยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการ
ความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์ ไทยและลาวได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็กไทย-ลาว เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 ทั้งสองฝ่ายได้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมและผู้ประสานงานกลาง มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ในปัจจุบันเกี่ยวกับการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก การเคลื่อนย้ายแรงงาน และสนับสนุนให้จังหวัดกับแขวงชายแดนที่มีพรมแดนติดกัน มีความร่วมมือด้านการประสานการต่อต้านการค้ามนุษย์เพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ในบริเวณชายแดนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ความร่วมมือด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ไทยได้เริ่มดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับสปป. ลาวเมื่อปี 2516 เน้นด้านการพัฒนาบุคลากรในลักษณะการให้ทุนการศึกษา ทุนฝึกอบรม/ดูงาน และโครงการพัฒนาใน 3 สาขาหลัก ได้แก่ การเกษตร การศึกษาและสาธารณสุข ความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างประเทศทั้งสองเป็นไปตามแผนงานโครงการ ความร่วมมือทางวิชาการรายปี ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันกำหนดขึ้นโดยคำนึงถึงความต้องการ ขีดความสามารถและความพร้อมของแต่ละฝ่าย ทั้งนี้ ในช่วงปี 2539-2552 ไทยได้ให้ความร่วมมือทางวิชาการแก่ สปป. ลาว (เฉพาะที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ) รวมมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท (ปี 2552 มูลค่าประมาณ 90 ล้านบาท) โดย สปป.ลาวเป็นประเทศที่ไทยให้ความสำคัญในลำดับแรก
โครงการสันถวไมตรี กระทรวงการต่างประเทศได้จัดสรรงบประมาณภายใต้โครงการสันถวไมตรีเพื่อช่วยเหลือ สปป.ลาว พัฒนาด้านการศึกษาและสาธารณสุข อาทิ ได้สนับสนุนงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนที่โรงเรียนประถมแขวงสะหวันนะเขต (1 ล้านบาท) แขวงบ่อแก้ว (2.3 ล้านบาท) แขวงอุดมไชย (3 ล้านบาท) แขวงจำปาสัก (1.5 ล้านบาท) การสร้างหอนอนที่โรงเรียนเด็กกำพร้า แขวงไชยะบุลี (2.4 ล้านบาท) การสร้างสุขศาลาที่เมืองดอนโขง แขวงจำปาสัก (3.2ล้านบาท) และต่อมาได้ริเริ่มโครงการโรงเรียนเพื่อนมิตรสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนที่โรงเรียนในแขวงชายแดนไทย-ลาว ได้แก่ อาคารเรียนที่โรงเรียนมัธยมสงฆ์แขวงบ่อแก้ว (2 ล้านบาท) โรงเรียนประถมสมบูน แขวงสะหวันนะเขต (2 ล้านบาท) และที่โรงเรียนมัธยมสมบูนบ้านนาข่า เมืองนาทรายทอง นครหลวงเวียงจันทน์ (2 ล้านบาท)
การอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทาน กระทรวงการต่างประเทศได้เชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายยังวัดใน สปป. ลาว นับตั้งแต่ปี 2538 อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2552 ได้ดำเนินการที่วัดสีสะเกด นครหลวงเวียงจันทน์

5. ความสัมพันธ์ด้านการทูต
ไทยกับ สปป.ลาวสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2493 และได้ดำเนินสัมพันธไมตรีมาด้วยความราบรื่น โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อฉลองโอกาสครบรอบ 60 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2553
ปัจจุบัน นายวิบูลย์ คูสกุล ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ (เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม 2550) และนายอภิชาติ เพ็ชรรัตน์ ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต (เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม 2550) สำนักงานของไทยใน สปป.ลาว ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนนะเขต สำนักงานผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร (ทหารบกและทหารอากาศ) และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ
สำหรับฝ่ายลาว ปัจจุบัน นายอ้วน พมมะจัก ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต สปป.ลาวประจำประเทศไทย (รับหน้าที่เมื่อเดือนมิถุนายน 2549) และนายสีสะหวาด ดนละวันดี ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ สปป.ลาว ประจำ-จังหวัดขอนแก่น สำนักงานของ สปป.ลาวในไทย ได้แก่ สถานเอกอัครราชทูต สปป.ลาว ณ กรุงเทพ และสถานกงสุลใหญ่ สปป.ลาว ณ จังหวัดขอนแก่น

6. ความสัมพันธ์ด้านต่างประเทศ
การเสด็จฯ เยือนอย่างเป็นทางการ และการเยือนอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ
ฝ่ายไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
- วันที่ 8-9 เมษายน 2537 เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เยือน สปป. ลาว (ภายหลังจากที่ทรงเป็นประธานร่วมกับนายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศ สปป. ลาว ในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่จังหวัดหนองคาย) โดยได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว อันเป็นโครงการในพระราชดำริ ร่วมกับประธานประเทศ สปป. ลาว ที่เมืองนาทรายทอง แขวงเวียงจันทน์ รวมทั้งทอดพระเนตรโครงการส่งเสริมกิจกรรมโรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า หลัก 67 ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- เดือนมิถุนายน 2535 เสด็จฯ เยือน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการตามคำกราบบังคมทูลเชิญ ของนายไกสอน พมวิหาน ประธานประเทศ สปป.ลาว
- เดือนพฤศจิกายน 2535 เสด็จฯ ทรงร่วมพิธีศพนายไกสอน พมวิหาน ประธานประเทศ สปป.ลาว พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- เดือนมีนาคม 2533 เสด็จฯ เยือน สปป.ลาว เป็นครั้งแรก ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของรัฐบาลลาว
- เดือนตุลาคม 2535 เสด็จฯ เยือน สปป. ลาว เพื่อทรงถวายผ้าพระกฐินพระราชทานและทรงติดตามผลการดำเนินโครงการส่งเสริมกิจกรรมโรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า หลัก 67 แขวงเวียงจันทน์ ตามพระราชดำริ
- วันที่ 8-11 เมษายน 2539 เสด็จฯ พร้อมด้วยพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เยือนแขวงเซกอง และแขวงอัตตะปือ และเป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยซอนและระบบส่งน้ำของโครงการ
- วันที่ 21-24 มกราคม 2540 เสด็จฯ เยือนแขวงอุดมไซและแขวงหลวงน้ำทา
- วันที่ 19-20 มีนาคม 2541 เสด็จฯ เยือน สปป. ลาว เพื่อทรงติดตามความคืบหน้าของโครงการตามพระราชดำริ
- วันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ 2542 เสด็จฯ เยือนแขวงพงสาลี
- วันที่ 23-25 พฤษภาคม 2544 เสด็จฯ เยือน สปป. ลาวเพื่อทรงติดตามความก้าวหน้าของโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร (หลัก 22) และโรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า หลัก 67 ที่แขวงเวียงจันทน์ และเสด็จฯ เยือนแขวงเชียงขวาง
- วันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2545 เสด็จฯ เยือนแขวงหัวพัน (โรงเรียนมัธยมสมบูนพันซำ โรงพยาบาลแขวงหัวพัน วัดโพไซซะนาราม และอนุสรณ์สถานถ้ำผู้นำ)
- วันที่ 17-18 มีนาคม 2547 เสด็จฯ เยือนนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อทรงติดตามความคืบหน้าของโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร (หลัก 22) และโรงเรียนวัฒนธรรมเด็กกำพร้า หลัก 67 แขวงเวียงจันทน์
- วันที่ 14-16 มีนาคม 2548 เสด็จฯ เยือนนครหลวงเวียงจันทน์ แขวงสะหวันนะเขต และแขวงจำปาสัก
- วันที่ 20 ธันวาคม 2549 เสด็จฯ เยือนแขวงสะหวันนะเขต ในโอกาสทรงเป็นประธานร่วม ในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต)
- วันที่ 9 พฤศจิกายน 2550 เสด็จฯ เยือนแขวงจำปาสัก เพื่อทรงนำคณะกรรมการ รางวัลนานาชาติมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลติดตามโครงการแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน ที่มหาวิทยาลัยจำปาสัก
- วันที่ 25-28 พฤศจิกายน 2550 เสด็จฯ เยือนนครหลวงเวียงจันทน์ เพื่อทรงติดตาม ความคืบหน้าของโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร (หลัก 22) และโรงเรียนวัฒนธรรม เด็กกำพร้า หลัก 67 และเสด็จฯ เยือนแขวงคำม่วน เพื่อทอดพระเนตรโครงการก่อสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ “น้ำเทิน 2”
- วันที่ 5-6 มีนาคม 2552 เสด็จฯ เยือน สปป.ลาวเพื่อทรงติดตามความคืบหน้าและฉลองครบรอบ 15 ปีของการดำเนินโครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตรห้วยซอน-ห้วยซั้ว (หลัก 22) และในโอกาสดังกล่าวทรงเป็นประธานร่วมในพิธีเปิดเดินรถไฟไทย-ลาวขบวนปฐมฤกษ์ (หนองคาย – ท่านาแล้ง) และพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 (นครพนม – คำม่วน)
- วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 เสด็จฯ เยือน สปป. ลาว เพื่อ ทรงเปิดโครงการแปลงสาธิตการเกษตรแบบผสมผสาน มหาวิทยาลัยจำปาสัก แขวงจำปาสัก

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
- เดือนพฤศจิกายน 2537 เสด็จเยือน สปป.ลาว
- เดือนมกราคม 2539 เสด็จเยือน สปป.ลาว
- วันที่ 28-29 ตุลาคม 2541 เสด็จเยือน สปป.ลาว เพื่อทรงถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ที่วัดแสนสุขาราม เมืองหลวงพระบาง

ฝ่ายลาว
นายไกสอน พมวิหาน ประธานประเทศลาว และภริยา
- วันที่ 6-11 มกราคม 2535 เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
นายหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาว และภริยา
- วันที่ 14-19 กุมภาพันธ์ 2538 เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
นายจูมมาลี ไซยะสอน ประธานประเทศลาว และภริยา
- วันที่ 12 – 14 พฤษภาคม 2552 เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

 

แหล่งที่มา : sites.google.com


อัพเดทล่าสุด