สมาคมอาเซียนประเทศลาว อาหารที่ขึ้นชื่อของ อาเซียนประเทศมาเลเซีย ข้อมลูเกี่ยวกับอาเซียนประเทศเวียดนาม
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับประเทศลาว
(Association of South East Asian Nations and Laos)
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อังกฤษ: Association of South East Asian Nations) [1] หรือ อาเซียน (ASEAN) เป็นองค์การทางภูมิศาสตร์การเมืองและองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม และพม่า ตอนก่อตั้งมีประเทศที่ร่วมกันก่อตั้งมี 5 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมมือกันในการเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม การพัฒนาวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในพื้นที่ และเป็นการเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ โดยมีหลักการสำคัญๆดังนี้
1.ให้ความเคารพแก่เอกราช อำนาจอธิปไตย ความเท่าเทียม บูรณภาพแห่งดินแดนและเอกลักษณ์ของชาติสมาชิกทั้งหมด
2.รัฐสมาชิกแต่ละรัฐมีสิทธิที่จะปลอดจากการแทรกแซงจากภายนอก การรุกรานดินแดนและการบังคับขู่เข็ญ
3.จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของรัฐสมาชิกอื่น ๆ
4.ยอมรับในความแตกต่างระหว่างกัน หรือแก้ปัญหาระหว่างกันอย่างสันติ
5.ประณามหรือไม่ยอมรับการคุกคามหรือการใช้กำลัง
6.ให้ความร่วมมือระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ประเทศลาว หรือชื่ออย่างเป็นทางการ คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ลาว:ສາທາລະນະລັດປະຊາທິປະໄຕປະຊາຊົນລາວ, อักษรย่อ: ສປປລ.; อังกฤษ: Lao People's Democratic Republic) เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทะเล มีพื้นที่236,800 ตารางกิโลเมตร มีพรมแดนติดจีนและพม่าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดต่อกับเวียดนามทางทิศตะวันออก ติดต่อกับกัมพูชาทางทิศใต้ และติดต่อกับประเทศไทยทางทิศตะวันตก
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมีระบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ (ทางการลาวใช้คำว่า ระบอบประชาธิปไตยประชาชน) โดยมีพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นองค์กรชี้นำประเทศ ซึ่งพรรคนี้เริ่มมีอำนาจสูงสุดตั้งแต่ลาวเริ่มปกครองในระบอบสังคมนิยมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ประธานประเทศ (ประธานาธิบดี) ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวคนปัจจุบัน ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี คือ พลโทจูมมะลี ไซยะสอน (ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาวอีกตำแหน่งหนึ่ง) ส่วนนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือนายบัวสอน บุบผาวัน สินค้าส่งออกที่สำคัญของลาว ได้แก่เสื้อผ้าสำเร็จรูป ไม้ซุง ไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ไม้ สินแร่ เศษโลหะ ถ่านหิน หนังดิบ และหนังฟอก ข้าวโพด ใบยาสูบ กาแฟ โดยส่งออกไปยังประเทศไทย เวียดนาม ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ส่วนการนำเข้าสินค้า ประเทศลาวได้นำเข้าสินค้าจากไทย จีน เวียดนาม สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เยอรมนี โดยสินค้าที่สำคัญได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน อาหาร ผ้าผืน สารเคมี และเครื่องอุปโภคบริโภค
ลาวได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกประเทศที่แปด ในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ต่อจากประเทศเวียดนามที่เข้าร่วมก่อนหน้าแล้ว
บทบาทลาว : เจ้าภาพจัดประชุมผู้นำอาเซียน 2547
ธรรมเนียมปฏิบัติของอาเซียนที่ประเทศสมาชิกจะเวียนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำอาเซียนตามลำดับอักษรชื่อประเทศ โดยในปี 2547 ลาวในฐานะสมาชิกใหม่อาเซียนได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 10 ณ กรุงเวียงจันทน์ ในวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2547 นับเป็นครั้งแรกของลาวที่จัดการประชุมระดับนานาชาติ โดยลาวได้จัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงถนนและการตกแต่งประดับประดาถนนสายหลักๆ อย่างสวยงาม เพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้เข้าร่วมประชุม แสดงถึงความเป็นหน้าตาของประเทศลาวในฐานะเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดอาเซียน และถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ซึ่งจะมีขึ้นในปี 2552 อีกด้วย
ลาวเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนรุ่นเดียวกับพม่าในปี 2540 หลังจากเวียดนามเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนปี 2538 ส่วนกัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนปี 2542 รวมเรียก 4 ประเทศนี้ว่า ประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน รวมกับประเทศสมาชิกเดิมอีก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย บรูไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ รวมเป็น 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีประชากรรวมกันกว่า 520 ล้านคน ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกันราว 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อาเซียนอนุญาตให้ประเทศสมาชิกใหม่มีความยืดหยุ่นในการลดภาษีตามข้อผูกพันของกรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) ทำให้ลาวซึ่งเข้าเป็นสมาชิกช้ากว่าสมาชิกอื่นๆ (ยกเว้นพม่าที่เข้าเป็นสมาชิกพร้อมกัน และกัมพูชาที่เข้าเป็นสมาชิกช้ากว่า2 ปี) มีกำหนดเวลาการลดภาษีช้ากว่าอาเซียนเดิม โดยภาษีจะลดเหลือ 5% ในปี 2551 ยกเว้นสินค้าอ่อนไหว (Sensitive Products) กำหนดให้ลดภาษีภายในปี 2558 นับว่าลาวยังมีเวลาในการทยอยลดภาษี รวมถึงการปรับตัวและพัฒนาประเทศเพื่อยกฐานะประเทศสู่เวทีเศรษฐกิจกับอาเซียนอย่างเต็มตัว
ลาว - ส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน & โลก
ในฐานะที่ลาวเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก แต่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทำให้ลาวเล็งเห็นความสำคัญของความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน เพื่อช่วยกันประสานศักยภาพแต่ละประเทศสมาชิก ก่อให้เกิดความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยรวม ดังนั้นลาวจึงสนับสนุนให้อาเซียนดำเนินการเพื่อเร่งรัดการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ให้แล้วเสร็จในปี 2563 เพื่อทำให้อาเซียนมีฐานการผลิตร่วมกัน โดยเปิดเสรีทั้งการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานที่มีทักษะ รวมทั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างอิสระ และในโอกาสการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งนี้ ผู้นำอาเซียนจะลงนามพิธีสารกรอบความตกลงว่าด้วยการรวมกลุ่มสินค้าและบริการสำคัญของอาเซียน เพื่อเร่งรัดสู่ข้อตกลง AEC พร้อมกับพิธีสารว่าด้วยการรวมกลุ่มรายสาขา 11 ฉบับ ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มสินค้าและบริการนำร่อง ได้แก่ เกษตร ประมง ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ผลิตภัณฑ์สุขภาพ การท่องเที่ยว การบิน โดยการเร่งลดภาษีสินค้า 9 รายการ ให้เร็วขึ้น 3 ปีจากกรอบ AFTAคือ จากปี 2553 เป็นปี 2550 แต่สมาชิกใหม่มีเวลาลดภาษีสินค้าถึงปี 2558
นอกจากการรวมกลุ่มภายในอาเซียนที่กระชับยิ่งขึ้นแล้ว อาเซียนอยู่ระหว่างการจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ทำให้เศรษฐกิจของลาวต้องเชื่อมโยงกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ เช่นกัน ซึ่งการจัดทำ FTA อาเซียน-จีน นับว่ามีความคืบหน้ากว่าประเทศคู่เจรจาอื่นๆ โดยเริ่มจากอาเซียนและจีนได้ลงนามกรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในปี 2545 เพื่อนำไปสู่การเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วยประชากรเกือบ 2,000 ล้านคน และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 2,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2553 และในเดือนกันยายน 2547 ทั้งสองฝ่ายได้ผลสรุปการเจรจาเปิดเสรีด้านสินค้า โดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีน จะลงนามความตกลง FTA อาเซียน-จีนด้านการค้าสินค้า ในช่วงระหว่างการประชุมผู้นำ อาเซียนครั้งนี้ โดยความตกลงฯ จะมีผลในวันที่ 1 มกราคม 2548 และจะเริ่มลดภาษีระหว่างกันในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 โดยสินค้าทั่วไป (Normal Track) ราว 4,000 รายการ ที่อาเซียนและจีนค้าขายระหว่างกัน จะทยอยลดภาษีเป็น 0% ภายใน 5 ปี โดยในปี 2553 จะมีสินค้าอ่อนไหวไม่เกิน 400 รายการ ของมูลค่านำเข้า โดยสินค้าอ่อนไหวจะเริ่มลดภาษีเหลือ 20% ในปี2555 และเหลือ 0-5% ในปี 2561 ส่วนสินค้าอ่อนไหวสูงต้องไม่เกิน 100 รายการ และจะต้องลดภาษีเหลือ 50% ของอัตราภาษีที่มีอยู่ภายในปี 2558 สำหรับก้าวต่อไปของการดำเนินการของอาเซียนและจีน คือ การเจรจาเปิดเสรีด้านการค้าบริการและการลงทุนระหว่างกัน
ในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีน-ลาว : จีนกับลาวมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยจีนให้ความช่วยเหลือมูลค่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แก่ลาวเพื่อใช้ประชุมผู้นำอาเซียนครั้งนี้ เช่น รถตำรวจ รถเมล์เล็ก รถพยาบาล ประตูเอ็กซเรย์ความปลอดภัย และเครื่องตรวจจับสัญญาณ เป็นต้น และในเดือนมีนาคม 2547 ผู้นำจีนกับลาวพบปะกันและเห็นพ้องที่จะทำให้มูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น 2เท่า จาก 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2546 เป็น 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนปี 2548 โดยได้ร่วมมือกันออกมาตรการกระตุ้นการค้า โดยจีนได้ให้ความช่วยเหลือลาวทางการเงินและด้านเทคนิค เช่น ให้เงินช่วยเหลือลาว 3.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับโครงการโรงงานยางที่ตั้งตอนบนของลาว และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 24.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการก่อสร้างโครงข่ายไฟฟ้า และขณะนี้มีผู้ประกอบการจีนจำนวนราว 200 ราย ได้จัดตั้งธุรกิจขึ้นในลาว
สำหรับความสัมพันธ์ไทย-ลาว : ไทยกับลาวมีความสัมพันธ์ทวิภาคีแน่นแฟ้น เนื่องจากเป็นประเทศเพื่อนบ้าน และมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และขนบธรรมเนียมประเพณียาวนาน ในเดือนมีนาคม 2547 ไทยกับลาวได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมกันเป็นครั้งแรก และได้ลงนามความตกลงร่วมกัน 6 ฉบับเกี่ยวกับการศึกษา การสร้างสะพาน โครงการรถไฟ การเชื่อมรถเมล์ของ 2 ประเทศ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจร่วมกัน รวมทั้งยกเว้นวีซ่า นักท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศ นอกจากนี้ไทยได้ให้เงินช่วยเหลือลาวในการดำเนินโครงการปรับปรุงนามบิน 2 แห่งในลาว และล่าสุดวันที่ 28ตุลาคม 2547 ได้มีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย-ลาว ซึ่งถือเป็นการเพิ่มเส้นทางเชื่อมการคมนาคมเพื่อการค้า และส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวไปมาของสองประเทศอีกเส้นทางหนึ่ง
เศรษฐกิจลาว 2548 : เติบโตต่อเนื่อง ... ระวังภัยเงินเฟ้อ & ปัญหาสังคม
Economist Intelligence Unit (EIU) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของลาวมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของปี 2547-2548 จะเติบโต ประมาณ 6% เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ที่เศรษฐกิจเติบโตในอัตรา 4.8% ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารโลกที่คาดการณ์เช่นกันว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศลาวจะยังคงขยายตัวในปี 2548 เนื่องจากการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการฟื้นตัวในภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของลาวอย่างจีน ไทย และเวียดนาม ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของลาวมาจากการผลิตภาคเกษตรและป่าไม้มากที่สุดถึงกว่า 50% ภาคบริการ26.4% และภาคอุตสาหกรรม 23.5% อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของลาวอยู่ในระดับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ 10.6% ในปี 2545 และ 15.5% ในปี 2546 และมีแนวโน้มว่าอัตราเงินเฟ้อจะทรงตัวอยู่ที่ระดับเฉลี่ยกว่า 10% ในปี 2547 และ 2548
รัฐบาลลาวมีนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติโดยคาดว่าการลงทุนจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นจาก8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 เป็น 8,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 ปัจจุบันมีนักลงทุนต่างชาติจาก 36 ประเทศ เข้ามาลงทุนในกิจการต่างๆ ในลาว เช่น สหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส จีน มาเลเซีย ไทย และ เวียดนาม ทั้งนี้ ลาวได้แก้ไขกฎหมายส่งเสริมการลงทุนในเดือนตุลาคม 2547เพื่อดึงดูดการ ลงทุนจากต่างชาติ เช่น นักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ที่ยังขาดระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ จะได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้เป็นเวลา 7 ปี หลังจากนั้นจะเสียภาษีเงินได้ในอัตราต่ำเพียง 10% ซึ่งการที่รัฐบาลลาวส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง เพราะต้องการเพิ่มการสร้างงานให้กับประชาชนในท้องถิ่น
ด้านการค้าระหว่างประเทศ ไทยและเวียดนามถือเป็นประเทศคู่ค้าหลักที่สำคัญของลาว โดยลาวส่งออกไปเวียดนามมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 33.8% ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของลาว รองลงมา คือ ไทย (25%) สำหรับการนำเข้า ลาวนำเข้าจากไทยมากที่สุด โดยมีสัดส่วนถึง 61.8% ของการนำเข้าทั้งหมดของลาว รองลงมา คือ เวียดนาม (13%) จีน (8.3%) สิงคโปร์ (4.1%) และญี่ปุ่น (2.7%) ทั้งนี้ สินค้าส่งออกหลักของลาว ได้แก่ ไฟฟ้า คิดเป็น 32.6% ของการส่งออกทั้งหมดของลาว เสื้อผ้า/สิ่งทอ (28.6%) และผลิตภัณฑ์ไม้/ไม้สัก (23.2%) ส่วนสินค้านำเข้าเป็นสินค้าบริโภคถึง49.4% ของการนำเข้าทั้งหมดของลาว สินค้าสำหรับการลงทุน (29.3%) และสิ่งทอ (11.8%)
อย่างไรก็ตาม ลาวยังคงประสบปัญหาการจัดการด้านงบประมาณ โดยขาดดุลด้านการคลังจำนวนมาก นับตั้งแต่ปี 2544 รัฐบาลใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อ ดำเนินโครงการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ รวมทั้งการสร้างเสถียรภาพในระดับมหภาค เน้นการปรับปรุงรายจ่ายสาธารณะ ปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจ แก้ไขกฎหมายภาคการเงิน การพัฒนาภาคเอกชน และปรับปรุงภาษีสำหรับการค้าภายในภูมิภาค นอกจากนี้ องค์กรที่ให้การสนับสนุนการเงินด้านประชากรของสหประชาชาติ (UNFPA) เห็นว่าอัตราการเจริญ เติบโตของประชากรลาวน่าเป็นห่วง จากปัจจุบันลาวมีประชากรประมาณ 5 ล้านคน แต่จำนวนประชากรในวัยเจริญพันธุ์ของลาวเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการตายโดยรวมลดลง ซึ่งการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากรในประเทศอาจก่อให้เกิดปัญหาการพัฒนาประชากรในอนาคต เพราะลาวเป็นประเทศที่มีพื้นที่จำกัด อีกทั้งการให้บริการด้านสาธารณสุขของลาวยังไม่ทั่วถึงประชากรผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ดังนั้น ประชากรลาวต้องพัฒนาความรู้พื้นฐานในการวางแผนครอบครัวและพัฒนาคุณภาพประชากรอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลลาวได้ตระหนักถึงประเด็นเหล่านี้ และอยู่ระหว่างการวางแผนพัฒนาประชากรอย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าหมายที่จะขจัดความยากจนในลาวให้หมดสิ้นไปในปี 2563 หรืออีก 16 ปี ข้างหน้า
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนทำให้เศรษฐกิจของลาวต้องเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นและเร็วขึ้น รวมทั้งการจัดทำเขตการค้าเสรีกับนอกกลุ่มอาเซียน ซึ่งนอกจากความตกลง FTA อาเซียน-จีน ที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2548 แล้ว อาเซียนกับประเทศคู่เจรจาอื่นๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีเป้าหมายที่จะเริ่มเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างกัน ในปี 2548 และกำหนดให้เจรจาเสร็จสิ้นภายใน 2 ปี ลาวจึงจำเป็นต้องพัฒนาประเทศเพื่อเข้าสู่กระบวนการเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการ รวมทั้ง การลงทุน ตามพันธกรณีของข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของลาวที่มีเป้าหมายในการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อเข้าสู่ระบบการค้าพหุภาคีในอนาคต โดยจะต้องเปิดเสรีการค้าสินค้า การบริการ และการลงทุนให้กับประเทศสมาชิก WTO รวม 147 ประเทศ และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางการค้าสากลด้วย
ไทยและประเทศอาเซียนเดิมซึ่งมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน 4 ประเทศ โดยเฉพาะลาว พม่า และกัมพูชา จึงควร ช่วยเหลือให้ประเทศเหล่านี้พัฒนาเศรษฐกิจ และมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงต่างๆ ของอาเซียนให้สำเร็จลุล่วงเพื่อจะได้สามารถก้าวเดินไปพร้อมๆ กัน 10 ประเทศ และบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ให้ได้โดยเร็ว เพราะจะเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาค และเป็นพลังต่อรองทางการค้ากับประเทศ/กลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ รวมทั้งประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่มักใช้มาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบใหม่ๆ ในปัจจุบันนี้ ดังนั้น การประชุมผู้นำอาเซียน ณ กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ครั้งนี้ จึงเสมือนเป็นการส่งสัญญาณให้ชาวโลกได้รู้ถึงความแข็งแกร่งของความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนอีกคราวหนึ่ง ซึ่งนับวันกลุ่มทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะมีความสำคัญและมีบทบาททางการค้าในเวทีโลกมากขึ้นเป็นลำดับ
ในวันนี้ 5 พ.ย.2552 นาย ทองลุน สีสุลิด รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลาว ได้เสนอในระหว่างการเปิดประชุมว่า อาเซียนควรจะให้ความสำคัญ ในการจัดตั้งเครือข่ายข้อมูลข่าวสาร ภายในสำนักงานเลขาธิการอาเซียน เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว ถูกต้อง ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศสมาชิก ควรจะพัฒนารายการโทรทัศน์และวิทยุอาเซียนขึ้น แต่ละประเทศสมาชิกควรออกอากาศรายการเกี่ยวกับอาเซียนเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้คนภายในภูมิภาคและภายนอกภูมิภาค เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียนได้เป็นประจำ
นาย ทองลุน เสนออีกว่า อาเซียนควรจะขยายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิก และประเทศคู่เจรจา 3 ชาติ คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เพราะอาเซียนให้ความสำคัญ ต่อกรอบความร่วมมือของอาเซียนและประเทศคู่เจรจาในหลายด้าน ซึ่งรวมถึงความร่วมมือทางด้านข่าวสารด้วย เพื่อให้ครอบคลุมและมีขอบข่ายที่กว้างขวางขึ้น การขยายเครือข่ายระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 3 ประเทศ จะทำให้ประชาชนในกลุ่มอาเซียนได้รับข้อมูลข่าวสาร และความเข้าใจอันดีต่อกันในภาวะเศรษฐกิจและสังคม
แหล่งที่มา : chaoprayanews.com , positioningmag.com , oknation.net