กลุ่มอาเซียนประเทศพม่า ประเทศอาเซียนประเทศไทย ประวัติอาเซียนประเทศมาเลเซีย
พิษณุ สุวรรณชฎ ทูตไทยในเมียนมาร์ “อีก 3 ปีเมียนมาร์จะเปลี่ยน…”
กระแสเมียนมาร์ยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง นักธุรกิจ นักท่องเที่ยวนานาชาติต่างขยับเข้าใกล้เมียนมาร์มากยิ่งขึ้น เพื่อทำความรู้จักและใช้โอกาสมหาศาลที่อยู่ในประเทศนี้ และหากอยากรู้จักเมียนมาร์เข้าไปทำธุรกิจในประเทศนี้ ก็ต้องลงไปสัมผัสและคลุกคลีกับที่นั่น “ประชาชาติธุรกิจ” ได้โอกาสพิเศษ “พิษณุ สุวรรณชฎ” เอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งในช่วงการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลของเมียนมาร์ ซึ่งเปิดเผยถึงโอกาสอันมหาศาลของเพื่อนบ้านที่รออยู่ตรงหน้า
- โอกาสทางธุรกิจใหม่ในเมียนมาร์
นอกจากเมืองย่างกุ้งที่เรียกได้ว่ามีโอกาสทางธุรกิจอยู่เต็มไปหมด เมืองศักยภาพทางเศรษฐกิจในภาคบริการคือมัณฑะเลย์ พุกาม และตองยี ที่โดดเด่นสุดเป็นมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวและเศรษฐกิจที่สำคัญ อยู่ห่างจากเมืองหลวงเนปิดอว์ราว 2 ชั่วโมง ขณะนี้เห็นได้ชัดเจนว่าคนที่มาเมียนมาร์ 100% เดินทางไปย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ด้วย สถานที่พักและโรงแรมในมัณฑะเลย์มีอยู่จำกัดมาก ที่นี่สามารถพัฒนาธุรกิจบริการและท่องเที่ยวได้
ส่วนเมืองพุกาม ขณะนี้นักท่องเที่ยวที่ไปที่นั่น ส่วนใหญ่ต้องไปวันเดียวกลับ เนื่องจากที่พักไม่เพียงพอ จึงคิดว่าเหมาะมากสำหรับธุรกิจภาคบริการหากเอสเอ็มอีจะเข้ามาเปิดร้านอาหาร น่าจะได้รับผลตอบรับที่ดี ขณะนี้ในย่างกุ้ง ธุรกิจร้านอาหารได้รับการตอบรับที่ดีมาก ที่ย่างกุ้งมีร้านอาหารญี่ปุ่นฟูจิ เอ็มเคสุกี้ และโคคาเข้าไปแล้ว
พื้นที่ใหม่ ๆ ที่จะเป็นโอกาสในอนาคตที่สำคัญคือการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดน ทั้งเมียวดีและท่าขี้เหล็ก นี่คือลู่ทางที่นักธุรกิจต้องมอง ส่วนอีกเมืองที่จะเกี่ยวข้องกับไทยอย่างมากในอนาคต ทั้งระยะกลางและยาวคือทวาย นอกจากนี้ยังมีโครงการด้านเศรษฐกิจซึ่งอยู่ไม่ห่างจากย่างกุ้ง คือเขตนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือทิลาวา (Thilawa) ส่วนในรัฐยะไข่ ก็มีโครงการท่าเรือน้ำลึกเจ้าผิว ที่เมียนมาร์ร่วมมือกับจีน
ตลาดเมียนมาร์ใหญ่ สินค้าโภคภัณฑ์น่าสนใจ แต่การตั้งโรงงานผลิตเพื่อตลาดเมียนมาร์ ต้องขึ้นอยู่กับเป้าหมายของธุรกิจนั้น เช่น หากต้องการบุกตลาดบังกลาเทศ อินเดีย ก็ต้องตั้งโรงงานในกาญจนบุรี หรือทวาย ภาคธุรกิจต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน
- สิ่งที่นักธุรกิจไทยต้องตระหนัก
สิ่งที่นักลงทุนไทยต้องตื่นตัว ไม่ใช่เพียงแค่เมียนมาร์เปิดประเทศ แต่จะต้องสนใจในทั้ง 5 เรื่องนี้ คือ 1) ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเมียนมาร์ ที่ส่งผลให้เกิดโครงการพัฒนาร่วมกันขึ้น 2) โครงการของรัฐบาลเมียนมาร์ 3) การเปิดประเทศมากขึ้นเพื่อรับประชาคมอาเซียนในปี 2558 4) พัฒนาการในภูมิภาคอาเซียน 5) การเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค การเข้าไปลงทุนที่นั่นไม่สามารถมองแค่ประเทศเมียนมาร์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
นักธุรกิจไทยต้องทำความเข้าใจว่าสภาพแวดล้อมทางธุรกิจไทยและเมียนมาร์ต่างกันมาก เนื่องจากเมียนมาร์กำลังเปิดประเทศและก็ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น ผมต้องวิงวอนกับนักธุรกิจไทยว่าต้องไม่เอามาตรฐานของไทยไปวัด เช่น การทำธุรกิจด้วยเงินสดจำนวนมาก ก็ต้องเข้าใจว่าเขาไม่มีระบบธนาคาร เมียนมาร์มีเงื่อนไขการพัฒนาที่แตกต่างกับไทย
นักธุกิจไทยต้องรับสภาพ 3 ประการ คือ 1) ข้อมูลในการตัดสินใจในการลงทุนมีอยู่จำกัด เนื่องจากสภาพการณ์ในประเทศกำลังเปลี่ยนแปลง หรือหากมีข้อมูลก็ไม่สะท้อนข้อเท็จจริง เพราะที่ผ่านมาไม่ได้จัดทำอย่างเป็นระบบ 2) การทำธุรกิจในเมียนมาร์มีต้นทุนที่แฝงอยู่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเรื่องค่าเช่าที่ดิน อาคารต่าง ๆ และ 3) ต้องศึกษากฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศให้ดี ตั้งแต่การนำเข้าวัตถุดิบ การแปรรูป ไปจนถึงภาษีรายได้
กุญแจแห่งความสำเร็จของการเข้าไปทำธุรกิจของเมียนมาร์คือโครงการที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจนั้น ๆ เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาร์มีนโยบายให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ในประเทศสูงสุด เพื่อพัฒนาทางเศรษฐกิจ เมียนมาร์มีความพร้อมในการเปิดรับการลงทุน แต่ต้องทำธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคมด้วย
สถานเอกอัครราชทูตไทยในเมียนมาร์สามารถสนับสนุนเต็มที่ในด้านข้อมูลทางธุรกิจ แน่นอนว่าธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่ายดาย แต่นักธุรกิจต้องเข้ามาศึกษา เห็นสภาพข้อเท็จจริงในประเทศ
- ปัจจัยผลัก GDP โต 3 เท่าในปีอีก 3 ปี
ปัจจัยที่จะผลักให้ GDP โต 3 เท่า ในปีอีก 3 ปี ตามที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ประกาศไว้ คือการพัฒนาทรัพยากรต่าง ๆของเมียนมาร์ จะมีผลอย่างสูงต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่ผ่านมา แม้เมียนมาร์จะถูกคว่ำบาตรจากนานาชาติ ก็ยังสามารถพัฒนาตัวเองมาได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในมือ แต่ว่าหลังจากนี้ไป การบริหารทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์จะเป็นประเด็นสำคัญ
เชื่อได้เลยว่ารัฐบาลเมียนมาร์จะให้ความสำคัญและเข้มงวดเป็นอย่างมากกับผู้ที่จะเข้าไปลงทุนพัฒนาแหล่งทรัพยากรของเมียนมาร์ ต้องสามารถรักษาความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมและทางผลประโยชน์เศรษฐกิจให้ได้
การเปิดประเทศเป็นแม่เหล็กชิ้นใหญ่ที่จะดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศและส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ในอีก 3 ปีเมียนมาร์จะเปลี่ยน จะมีโครงการต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย และจะมีกฎหมายใหม่ ๆ ออกมาเพื่อรองรับการลงทุนในเมียนมาร์เพิ่มเรื่อย ๆ แน่นอน
- บรรยากาศการลงทุนในปัจจุบัน
คึกคักและเต็มไปด้วยโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งจะเกิดขึ้นอีกมากในเมียนมาร์ ในภาวะที่ประเทศกำลังปฏิรูป กฎหมาย ระบอบ และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่กำลังจะออก มีแรงจูงใจต่อนักลงทุนต่างชาติอย่างสูง ตัวอย่างเช่น การให้เช่าที่ดินระยะยาว 30 ปี และต่อได้อีกทุก 10 ปี การยกเว้นภาษีธุรกิจต่าง ๆเป็นต้น
- อุปสรรคทางเศรษฐกิจเมียนมาร์
รัฐบาลเมียนมาร์ต้องให้ความสำคัญต่อสิทธิพลเมืองที่เรียกร้องในด้านต่าง ๆ นี่จะเป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะทิศทางของประเทศกำลังเดินไปสู่ประชาธิปไตย จะเกิดกระแสเรียกร้องเรื่องต่าง ๆ รวมถึงธุรกิจที่เข้ามาในเมียนมาร์ ดังนั้น เมื่อนักธุรกิจอยากจะได้เต็ม 100% ก็คงได้ไม่หมด
- อนาคตเมียนมาร์ในอาเซียน
การที่เมียนมาร์ได้รับฉันทานุมัติจากอาเซียนให้เป็นประธานอาเซียนปี 2556 ผมถือว่าเป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงการยอมรับจากชาติอาเซียนทั้งมวล เพราะในปีที่เมียนมาร์เป็นประธานอาเซียน คือ 1 ปี ก่อนก้าวเข้าสู่ปีแห่งประชาคมอาเซียน ดังนั้น ผู้ที่เป็นประธานในปีนั้นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก
เมียนมาร์เป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีวิธีคิดที่แตกต่างจากชาติอื่นในอาเซียน มีนโยบายต่างประเทศที่เป็นตัวของตัวเองมาก และมีนโยบายประเทศชัดเจน สำหรับผมมองว่าเมียนมาร์จะเป็นตัวละครที่สำคัญของเวทีอาเซียนอย่างสร้างสรรค์
ที่สำคัญคือเส้นทางการปฏิรูปของการพัฒนาประชาธิปไตยในเมียนมาร์นี้ หากสามารถรักษาไว้ได้ในทิศทางเดิม ความก้าวหน้ามาสู่เมียนมาร์แน่นอน หากมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้น ทำให้กระบวนการนี้ชะลอตัว ก็อาจจะเป็นปัญหา ใครก็ตามที่จะดึงเมียนมาร์ออกมาจากเส้นทางการปฏิรูป จะมีความเสี่ยงสูงมาก
จาก ประชาชาติธุรกิจ
แหล่งที่มา : thai-aec.com