โรคโลหิตจาง พันธุกรรม โรคโลหิตจาง คนท้อง การดูแลรักษาโรคโลหิตจาง
'จะทำอย่างไรเมื่อมีความเสี่ยงเป็นโรคโลหิตจาง พันธุกรรมธาลัสซีเมีย'
โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย คือ โรคพันธุกรรมระบบเลือดที่พบบ่อยในประเทศไทย เกิดความผิดปกติในการสังเคราะห์โปรตีนโกลบิน ซึ่งเป็นโครงสร้างของเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงเปราะแตกง่าย โดยปกติเม็ดเลือดแดงจะทำหน้าที่นำออกซิเจนที่ได้รับจากการหายใจไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น หัวใจ สมอง ไต กล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายอยู่ในสมดุลปกติ
ดังนั้น เมื่อเม็ดเลือดแดงแตกจะส่งผลให้ร่างกายซีด เนื่องจากสารเหลืองจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงจะออกมาในกระแสเลือด ทำให้ตัวเหลือง ตาเหลือง ร่างกายอ่อนเพลีย ถ้าเป็นมาก ตับ ม้าม จะทำงานหนักมากขึ้นในการช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงทดแทนที่ขาดไป และอาจมีภาวะหัวใจล้มเหลวจนถึงแก่ชีวิตได้ โรคธาลัสซีเมียถือได้ว่าเป็น "โรคประจำถิ่น" เป็นได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย สามารถ่ายทอดต่อกันได้ภายในครอบครัวโดยทั่วไป ผู้ที่มีพันธุกรรมของโรคธาลัสซีเมียแบ่งออกเป็น 2ลักษณะ 1.ผู้ที่มียีนแฝง (พาหะ)
ผู้ที่มีพันธุ์ (ยีน) ของโรคธาลัสซีเมียแฝงอยู่จะไม่แสดงอาการ ดังนั้นผู้ที่เป็นพาหะจะมียีนผิดปกติเพียงข้างเดียว และยังคงมียีนที่ปกติเหลือเพียงพอที่จะทำหน้าที่ทดแทนยีนที่ผิดปกติได้ สามารถถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้ ซึ่งคนที่มียีนแฝงจะมีลักษณะหน้าตาปกติ และมีสุขภาพปกติเหมือนบุคคลทั่วๆ ไป ในประเทศไทยพบได้ประมาณร้อยละ 40ของประชากรทั้งหมด หมายความว่าประชากรไทย 60ล้านคน จะมีผู้ที่มียีนผิดปกติเหล่านี้ถึง 24ล้านคน 2.ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย
โรคธาลัสซีเมียมีระดับความรุนแรงที่หลากหลาย ตั้งแต่ซีดเล็กน้อยหรือปานกลาง จนกระทั่งซีดมากและเรื้อรัง ตับและม้ามโต ต้องรับเลือดเป็นประจำ บางรายไม่เคยมีอาการเลย แต่เมื่อต้องประสบภาวะเจ็บป่วย มีไข้ติดเชื้อ บุคคลเหล่านี้จะมีอาการซีดลง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย ในขณะที่บางชนิดทารกที่เป็นโรคนี้อาจเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือตั้งแต่แรกเกิดไม่เกิน 1วัน ในประเทศไทยพบผู้เป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 1ของประชากร หรือประมาณ 6แสนคน โอกาสเสี่ยงและการถ่ายทอดของโรคธาลัสซีเมีย
โรคธาลัสซีเมียถ่ายทอดแบบพันธุ์ด้อย กล่าวคือ หากมีความผิดปกติเพียงยีนเดียวจะไม่ปรากฏอาการ แต่หากมีความผิดปกติของยีนทั้ง 2ข้าง จึงจะแสดงอาการ ซึ่งมีโอกาสเกิดโรคได้ทั้งเพศหญิงและเพศชายเท่าๆ กัน แบ่งได้เป็น 4กรณี ดังต่อไปนี้
กรณีที่ 1ถ้าท่านและคู่ของท่านเป็นพาหะหรือมียีนแฝงทั้ง 2คน ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง ลูกของท่านมีโอกาสเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียร้อยละ 25, มียีนแฝงร้อยละ 50และเป็นปกติร้อยละ 25
กรณีที่ 2ถ้าท่านหรือคู่ของท่านมียีนแฝงคนใดคนหนึ่งและอีกคนปกติ ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง ลูกของท่านมีโอกาสมียีนแฝงร้อยละ 50และเป็นปกติร้อยละ 50
กรณีที่ 3ถ้าท่านหรือคู่ของท่านเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียคนใดคนหนึ่งและอีกคนปกติ ในการตั้งครรภ์ทุกครั้ง ลูกของท่านทุกคนมีโอกาสมียีนแฝง หรือเท่ากับร้อยละ 100
กรณีที่ 4ถ้าท่านหรือคู่ของท่านเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียคนใดคนหนึ่งและอีกคนมียีนแฝง ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง ลูกของท่านมีโอกาสเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียร้อยละ 50และมียีนแฝงร้อยละ 50
แหล่งที่มา : thaihealth.or.th , หนังสือพิมพ์บ้านเมือง