โรคพุ่มพวง คืออะไร แพทย์โรคพุ่มพวง ยาแก้โรคพุ่มพวง
โรคSLE หรือคนไทยรู้จักกันในชื่อ”โรคพุ่มพวง”
โรค Systemic lupus erythematosus หรือที่รู้จักกันว่า SLE เป็นโรคที่มีการอักเสบอย่างเรื้อรังในหลายอวัยวะในร่างกาย ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจาก ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำร้ายเซลล์ของร่างกายตัวเอง เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย ทำให้มีอาการปวด บวม และมีการทำลายอวัยวะต่าง เช่น ไต
ผู้ป่วยด้วยโรคแอส เอล อี ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง อายุระหว่าง 20-45 ปีโดยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 30 ปี ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าผู้ชายประมาณ 9-10 เท่า
ผู้ป่วย SLE จะมีหลายระยะ เิริ่มแรกอาจจะมีอาการไม่ชัดเจน ทำให้ยากในการวิินิจฉัยในช่วงแรก เมื่ออาการแย่ลงจะมีอาการให้เห็นชัดเจนขึ้น และอาการจะดีขึ้น สลับกับช่วงที่มีอาการรุนแรงเป็นพัก ๆ บางคนมีอาการรุนแรงได้ การรักษาเน้นที่การลดอาการและลดการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย และลดความเสียหายของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย
สาเหตุ
สาเหตุที่แน่ชัดสำหรับโรคนี้ ยังไม่ชัดเจน แต่ว่ามีแนวโน้มที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมในครอบครัว และอาจจะเกิดการกระตุ้นให้มีอาการจากกรติดเชื้อ การตั้งครรภ์ การผ่าตัด หรือจากแสงแดด
อาการของ SLE
อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาจากการอักเสบในร่างกาย โดยอาจมีอาการต่าง ๆ คือ โดยอาจแบ่งเป็นอาการโดยรวม และอาการที่เกิดขึ้นในแต่ละอวัยวะ
อาการของร่างกายโดยรวม
คนส่วนใหญ่ที่เป็นจะมีอาการอ่อนเพลีย มีไข้ น้ำหนักลด ในช่วงใดช่วงหนึ่งของการเจ็บป่วย
อาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง Fatigue
เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด ในคนไข้เกือบทุกคน อาการนี้เกิดจากตัวโรคเอง ยิ่งถ้าเป็นคนที่ไม่แข็งแรงไม่ค่อยดูแลสุขภาพอาการนี้จะเป็นมากขึ้น นอกจากนี้อาจจะมีอาการนอนไม่หลับ
น้ำหนักเปลี่ยน
SLE อาจจะทำให้มีน้ำหนักเปลี่ยน ทั้งน้ำหนักขึ้นหรือน้ำหนักลงก็ได้ ในรายที่น้ำหนักลงเป็นเพราะไม่อยากอาหาร เป็นผลข้างเคียงจากยา หรือมีโรคของทางเดินอาหาร ส่วนในรายที่น้ำหนักขึ้นเกิดจากมีเกลือหรือน้ำคั่งในร่างกายจากโรคไต ทำให้มีอาการบวม หรือจากผลข้างเคียงของยาสเตียรอยด์ที่ใช้ในการรักษา
ไข้
ส่วนใหญ่จะพบว่ามีไข้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีอาการกำเริบของโรค ซึ่งถ้าหากทานยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้น อาจจะต้องพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่ามีการติดเชื้อหรือไม่
อาการที่เกิดขึ้นในแต่ละอวัยวะ
ปวดข้อและข้ออักเสบ
อาการปวดตึงอักเสบข้อ เป็นอีกอาการที่พบได้บ่อย และมักจะเป็นอาการแรก ๆ ที่เป็นในคนไข้ SLE มักจะสลับกันเป็นทีละข้าง ไม่ค่อยเป็นพร้อม ๆ กันทั้งสองข้าง อาจจะแค่ปวด ตึง หรือบวมแดงร้อนก็ได้
ผื่นผิวหนัง
เรื่องผิวหนังที่ผิดปกติไปก็พบได้ค่อนข้าง โดยมีสองสามรูปแบบ ที่พบบ่อยที่สุดเรียกว่า Butterfly rash ซึ่งจะพบเป็นรอยแดง ๆที่บริเวณแก้มและจมูกหลังจากโดนแดด โดยผื่นจะอยู่สองสามวัน และกลับมาเป็นพักๆ บางคนจะมีผื่นตามตัวเรียกว่า discoid rash เป็นวงกลม ๆ ที่มีขอบนูนขึ้นรอบนอก และมักจะทำให้เกิดแผลเป็น ผมร่วงเป็นอีกอาการที่พบได้ แต่จะไม่ถึงกับทำให้หัวล้าน บางคนมีแผลที่ศีรษะแต่จะไม่เจ็บ
เส้นเลือดที่นิ้วมือนิ้วเท้า อาจจะหดตัวเมื่อเจออากาศเย็น มีความเครียด สูบบุหรี่ หรือดื่มกาแฟ ทำให้การไหลเวียนเลือดแย่ลง ปลายมือปลายเท้าจะซีด เขียว ได้
· การแพ้แสง ประมาณ 60-100%ของผู้ป่วยจะไวต่อแสง UV ซึ่งทำให้มีอาการผื่นขึ้นภายหลังได้รับรังสี UV จากแสงแดดหรือหลอดไฟ
สามารถดูแลตัวเองได้โดยลดการได้รับรังสี UV โดย
หลีกเลี่ยงการได้รับแสงแดด โดยเฉพาะในช่วง 10โมงเช้าถึงบ่ายสามโมงเย็น
หลีกเลี่ยงยาที่จะทำให้เกิดการแพ้แสงมากขึ้น ดังนั้นควรพบแพทย์ก่อนจะทานยา
ใช้ครีมกันแดด ที่มี SPF 50 ขึ้นไป และทาครีมก่อนออกภายนอก 30-60 นาที และทาครีมกันแดดซ้ำทุก 4-6 ชั่วโมง
ระบบทางเดินปัสสาวะ
การเปลี่ยนแปลงของการทำงานไต เป็นอีกอันที่พบได้บ่อย โดยจะเป็นในช่วงสองสามปีแรกของอาการป่วย การติดตามตรวจปัสสาวะและตรวจการทำงานไตเป็นสิ่งที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง
· การอักเสบของตัวทำหน้าที่กรองของไต Glomerulus ทำให้มีการทำลายของไต จนการกรองของเสียจากร่างกายแย่ลง
· เริ่มแรกจะตรวจพบว่ามีโปรตีนปนออกมาในปัสสาวะ ถ้าเป็นมากขึ้นจะทำใ้ห้มีอาการตัวบวม โดยพบว่ามีบวมเท้าและขา
อาการทางไต หากไม่รักษาอาจจะนำไปสู่ภาวะไตวายได้ ถ้าหากว่าไตถูกทำลายมากเกินไป
ระบบทางเดินอาหาร
มักจะเป็นอาการที่เกิดจากผลข้างเคียงของยาที่ใช้รักษา เช่นยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs หรือจากสเตียรอยด์ ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ อย่างไรก็ตามตัวโรคเองอาจจะทำให้เกิดตับอ่อนอักเสบ และมีอาการปวดท้องคลื่นไส้ อาเจียน และอาจทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุภายในช่องท้อง หรือลำไส้ใหญ่อักเสบได้
ระบบทางเดินหายใจ
มีอาการที่เกิดขึ้นได้หลายอย่างเช่น
. อาการเจ็บในขณะหายใจ เนื่องจากมีการอักเสบของเยื่อหุ้มปอด อาการปวดจะมากขึ้นเวลาที่หายใจเข้าลึก ๆ
· อาการหายใจไม่ทัน เหนื่อย อาจจะเนื่องจากหลายสาเหตุ เช่นมีน้ำในช่องปอดที่ทำให้ปอดขยายตัวไม่ไ้ด้ หรือมีอาการอักเสบของปอดทำให้หายใจลำบากได้ สามารถแยกได้โดยการเอ๊กซเรย์ปอด
ระบบหลอดเลือดหัวใจ
ในด้านระบบหลอดเลือดและหัวใจ มีอาการที่พบได้หลายอย่างทีเดียว เช่น
· อาการเจ็บหน้าอกเวลาออกแรงหรือออกกำลังกาย อาการเจ็บหน้าอกนี้อาจจะเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มปอดแบบข้างต้น หรืออาจจะเกิดจากการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจก็ได้ โดยเฉพาะการเจ็บหน้าอกในขณะออกกำลัง หากมีอาการแน่นหน้าอก หรือเจ็บแน่นแบบเฉียบพลัน และเป็นอยู่หลายนาทีอาจจะต้องนึกถึงโรคหัวใจวายเฉียบพลันด้วย
· อาการเจ็บหน้าอกจากเยื่อหุ้มหัวใจ โรคนี้อาจทำให้มีการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ pericarditis ทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกได้เหมือนกัน
· อาการเหนื่อยหายใจไม่ทัน ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ คือโรคลิ้นหัวใจรั่ว ซึ่งเกิดจากการทำลายผิวของหัวใจและลิ้นหัวใจจากโรคนี้
ระบบประสาท
สำหรับระบบประสาทจะมีอาการที่เกิดขึ้นได้หลายแบบ อาการที่พบได้ ได้แก่
· ไม่สามารถมีสมาธิ หรือสมองไม่แจ่มใส
· สับสน หรือความจำเสื่อม
· ซึมเศร้า หรือ วิตกกังวล
· ปวดหัว
· ชัก
· ปวดมือปวดเท้า จากปลายประสาท
· อ่อนแรง หรือ ชา
สายตา
อาการที่เกิดขึ้นกับตา ที่พบบ่อยที่สุดก็คืออาการตาแห้ง ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการใช้น้ำตาเทียม
จะเห็นว่าอาการของโรค SLE มีได้หลายระบบ และตอนเริ่มต้นอาจจะมีอาการเพียงระบบใดระบบหนึ่ง ทำให้ยากต่อการวินิจฉัย ในตอนต่อไปจะเล่าให้ฟังถึงการวินิจฉัยและการตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับโรคนี้
ขอบคุณข้อมูลโดย: หมอหมี Dr.Carebear Samitivej
แหล่งที่มา : thaihealthonline.com