สาเหตุโรคเริมที่ปาก สาเหตุของการเกิดโรคเริมที่อวัยวะเพศ ปฎิบัติตัวอย่างไรหลังเป็นโรคเริม
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์คืออะไร?
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือเรียกย่อว่า โรคเอสทีดี (Sexually trans mitted disease/STD บางคนเรียกว่า Sexually transmitted infection หรือเรียกย่อว่า โรคเอสทีไอ/STI) คนไทยมักเรียกว่า กามโรค โรคบุรุษ หรือโรคผู้หญิง (Venereal disease หรือเรียกย่อว่า โรควีดี/ VD) คือโรคติดเชื้อที่เกิดจากการสัมผัสทางเพศ เชื้อโรคจะติดต่อจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งโดยผ่านทางเลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งจากช่องคลอด หรือสารคัดหลั่งจากส่วนอื่นๆของร่าง กาย ในบางกรณี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจติดต่อได้แม้จะไม่มีการสัมผัสทางเพศก็ตาม เช่น จากแม่สู่ทารก ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในขณะที่ตั้งครรภ์และจากการคลอด หรืออาจติดเชื้อจากการได้รับเลือด หรือจากเข็มฉีดยาที่ใช้ร่วมกัน
การติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจพบได้แม้แต่ในกรณีที่มีสัมพันธ์ทางเพศกับบุคคลซึ่งแลดูมีสุขภาพดี ทั้งนี้เพราะผู้ที่เป็นโรคอาจไม่ปรากฏอาการให้เห็นอย่างชัดเจน
อาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นอย่างไร?
อาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีหลากหลาย บางครั้งอาจไม่ปรากฏอาการให้เห็นจนกระทั่งมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้วจึงรู้ว่าเป็นโรค หรือรู้ว่าตัวเองอาจติดโรคก็ต่อเมื่อคู่นอนได้รับการวินิจฉัยว่าติดโรคแล้ว
อาการที่อาจบ่งชี้ว่าติดโรคแล้วมีดังต่อไปนี้ คือ อาการเจ็บ หรือมีก้อนบวม (Lump) หรือแผล ที่บริเวณปาก และทวารหนัก ปัสสาวะแสบขัด มีน้ำ หรือหนองออกมาจากอวัยวะเพศชาย หรือจากช่องคลอด มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด มีต่อมน้ำเหลืองบวม หรือมีอาการปวดที่บริเวณต่อมน้ำเหลือง โดยเฉพาะที่ขาหนีบ เป็นต้น
ภายหลังจากที่มีการสัมผัสโรค ระยะเวลาที่จะปรากฏอาการ (ระยะฟักตัวของโรค) หรือมีรอยโรคเกิดขึ้น อาจใช้เวลา 2-3 วันจนถึง 3 เดือน ในบางราย อาการ หรือรอยโรคที่ปรากฏอาจหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์แม้จะไม่ได้รักษาก็ตาม อย่างไรก็ดี อาจมีการกลับเป็นซ้ำของโรคได้ โรคที่เคยหายไปอาจรุนแรงขึ้น และก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ในภายหลัง ดังนั้นเมื่อมีการสัมผัสทางเพศกับผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือมีอาการ หรือมีรอยโรคที่ชวนสงสัยว่าจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรรีบปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (การตรวจโรคในขณะยังไม่มีอาการ) ตั้งแต่แรกก่อนที่จะมีการสัมผัสทางเพศ และควรตรวจเป็นระยะๆตามแพทย์แนะนำถึงแม้จะมีคู่นอนเพียงคนเดียวก็ตาม ในกรณีมีคู่นอนหลายคน ควรตรวจโรคนี้ทุกครั้งก่อน และหลังมีคู่นอนคนใหม่ หรือตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อป้องกันโรค ติดต่อสู่ผู้อื่น และเพื่อการรักษาตัวเองแต่เนิ่นๆ
สาเหตุของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอะไรบ้าง?
เชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีดังนี้
- แบคทีเรีย ได้แก่ โกโนเรีย หรือหนองในแท้/โรคหนองใน ซิฟิลิส/โรคซิฟิลิส คลามัยเดีย (Chlamydia infection) หรือหนองในเทียม
- พยาธิ ชนิดทริโคโมแนส (Trichomonas vaginalis)
- ไวรัส ได้แก่ เชื้อ Human papillomavirus/HPV/เอชพีวี เชื้อเริม/ เริมที่อวัยวะเพศ เชื้อเอดส์/โรคเอดส์ หรือ Human immunodeficiency virus/HIV/เอชไอวี
อนึ่ง การมีกิจกรรมทางเพศเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการติดโรค อย่างไรก็ตาม เชื้อโรคบางประเภทอาจติดเชื้อได้ถึงแม้จะไม่มีกิจกรรมทางเพศก็ตาม เช่น ไวรัสตับอักเสบ ชนิดเอ (ไวรัสตับอักเสบ เอ) และชนิดบี (ไวรัสตับอักเสบ บี) เป็นต้น ที่อาจติดต่อจากการให้เลือด หรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
ปัจจัยเสี่ยงของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอะไรบ้าง?
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือการมีกิจกรรมทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ไม่ได้สวมใส่ถุงยางอนามัยชนิดลาเท็กซ์ (Latex condom) และการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด หรือทางทวารหนักกับผู้ที่เป็นโรคหรือผู้ติดเชื้อ มีข้อมูลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียวกับผู้ชายที่มีเชื้อโกโนเรีย หรือหนองในแท้โดยไม่สวมใส่ถุงยาง จะมีโอกาสติดเชื้อประมาณ 70-80%
การสวมใส่ถุงยางอนามัยที่ไม่ถูกวิธี หรือมีการสวมใส่บ้างไม่สวมใส่บ้างนั้น เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรค นอกจากนี้ ความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว -ตามจำนวนของคู่นอน -ตามประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อเคยเป็นโรคชนิดหนึ่ง ก็จะทำให้ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกชนิดหนึ่งได้ง่ายขึ้น เช่น ถ้าคุณเป็น โรคเริม/โรคเริมที่อวัยวะเพศกามโรค/โรคซิฟิลิส หนองในแท้/โรคหนองใน หรือหนองในเทียม และมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อเอดส์ หรือ เอชไอวี/HIV กรณีนี้คุณมีโอกาสที่จะติดเชื้อเอดส์เพิ่มสูงขึ้น -การติดสุรา และ/หรือยาเสพติด ทำให้ความสามารถในการตัดสินใจแย่ลง อันจะนำพาไปสู่การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศได้ -การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่นอาจทำให้เกิดการติดเชื้อเหล่านี้ได้ เช่น ไวรัส HIV หรือไวรัสตับอักเสบ บีและเมื่อติดเชื้อแล้ว ก็สามารถแพร่กระจายเชื้อต่อโดยผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย –และในผู้หญิงวัยรุ่น ซึ่งเซลล์บริเวณปากมดลูกยังเจริญไม่เต็มที่ จึงมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ตลอดเวลา เซลล์ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้จะไวต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้โดยง่าย
การติดเชื้อจากแม่ไปสู่ลูกนั้น พบได้ในการติดเชื้อหนองในแท้ หนองในเทียม เริม และกามโรค โดยมีการติดเชื้อได้ทั้งในขณะตั้งครรภ์ และในขณะคลอด ทารกที่ติดเชื้อจะมีปัญหาต่างๆเกิดขึ้นตามมาค่อนข้างมาก (เช่น เจริญเติบโตผิด ปกติ และพิการ) และอาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นสตรีที่ตั้งครรภ์จึงควรต้องได้รับการตรวจคัดกรอง และรักษาโรคต่างๆดังกล่าวข้างต้นอย่างเหมาะสม
ควรเตรียมตัวก่อนพบแพทย์อย่างไร?
การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์ คือ ควรทำการนัดหมายเพื่อพบแพทย์ จดบัน ทึกอาการต่างๆที่เกิดขึ้น ยาที่เคยใช้ และกำลังใช้อยู่ ตลอดจนคำถามที่ต้องการถามแพทย์
คำถามพื้นฐานที่ควรสอบถามแพทย์ ได้แก่ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่คุณเป็น มีชื่อทางการแพทย์ว่าอะไร? โรคดังกล่าวมีการติดต่ออย่างไร? มีวิธีป้อง กันที่จะไม่ให้ติดไปสู่ลูกได้อย่างไร? หากมีการตั้งครรภ์ จะมีวิธีป้องกันไม่ให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อได้หรือไม่? หากรักษาหายแล้วจะกลับมาเป็นอีกได้หรือไม่? การมีเพศสัมพันธ์เพียงครั้งเดียวจะทำให้ติดโรคได้หรือไม่? หมอคิดว่าฉันติดโรคมานานเท่าไหร่? ขณะที่กำลังรักษาจะมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่? คู่นอนจะต้องมาพบแพทย์ด้วยหรือไม่? เป็นต้น
เมื่อพบแพทย์ คุณควรมอบบันทึกอาการ หรือบอกเล่าอาการต่างๆที่คุณเป็นให้แพทย์ได้รับรู้ ตลอดจนประวัติการมีเพศสัมพันธ์ หรือพฤติกรรมทางเพศ
แพทย์อาจสอบถามคุณในสิ่งต่อไปนี้ คุณคิดว่าคุณติดโรคติดต่อทางเพศ สัมพันธ์หรือไม่? เพราะอะไร? คุณมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายหรือผู้หญิงหรือทั้งสองเพศ? คุณมีสัมพันธ์ทางเพศกับคนเดียวหรือกับหลายคน? คุณมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนคนปัจจุบัน (คนเดียวหรือหลายคนก็ตาม) เป็นระยะเวลานานเท่าไหร่? คุณเคยฉีดยาให้ตัวเองหรือไม่? คุณเคยมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ฉีดยาเสพติดหรือไม่? คุณรู้จักวิธีป้องกันตนเองจากการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่? คุณคุมกำเนิดหรือไม่? คุมกำเนิดโดยวิธีไหน? คุณเคยเป็นโรคหนองในแท้ หนองในเทียม โรคเริม/โรคเริมที่อวัยวะเพศ โรคซิฟิลิส หรือโรคเอดส์/ติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่? คุณเคยรักษาตกขาวผิดปกติ แผลที่อวัยวะเพศ ปัสสาวะแสบขัด หรือโรคติดเชื้อที่อวัยวะเพศหรือไม่? คุณมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? เป็นต้น
มีวิธีการตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคอย่างไรบ้าง?
ในกรณีที่ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ และอาการ บ่งชี้ว่าคุณอาจติดเชื้อ การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการจะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรค และตรวจหาโรคติดเชื้ออื่นๆที่อาจพบร่วมได้
การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมอาจทำได้โดยการตรวจ เลือด น้ำลาย และ/หรือสารคัดหลั่ง เช่น จากแผล และจากน้ำปัสสาวะ การตรวจคัดกรองโรคเอดส์ในผู้ที่ไม่มีอาการ ทำได้โดยการตรวจเลือด หรือตรวจน้ำลาย
ในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ทุกราย แพทย์จะทำการตรวจคัดกรองโรคเอดส์ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และโรคซิฟิลิส แพทย์จะทำการตรวจคัดกรองโรคหนองในแท้ และการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี เพิ่มเติมเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อดังกล่าว ในผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือมีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองความผิดปกติของปากมดลูก ที่สำคัญได้แก่ การอักเสบ การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในระยะก่อนเป็นมะเร็ง และโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อเรียกว่า HPV/เอชพีวี
ในผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายจะมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคต่างๆ ได้แก่ เอดส์ ซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม โรคเริม/โรคเริมที่อวัยวะเพศ และการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
การตรวจคัดกรองการติดเชื้อหนองในแท้ และหนองในเทียมควรกระทำในผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว และควรทำอีกทุกครั้งเมื่อเปลี่ยนคู่นอนคนใหม่
ในผู้ที่ติดเชื้อ HIV/เอชไอวี จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคติดต่อทางเพศ สัมพันธ์เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นควรรับการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม และโรคเริม นอกจากนี้ผู้หญิงที่ติดเชื้อ HIV จะมีโอกาสในการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่มีความรุนแรงมาก ดังนั้นควรตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก และตรวจหาการติดเชื้อ HPV ปีละ 2 ครั้ง ในผู้ชายที่ติดเชื้อ HIV ควรตรวจคัดกรองการติดเชื้อ HPV ที่ทวารหนักด้วยโดยเฉพาะในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เพราะการติดเชื้อดังกล่าวอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งทวารหนักได้
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอะไรบ้าง?
วิธีป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) อันเนื่องมาจากการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คือการตรวจคัดกรองเพื่อวินิจฉัยโรคในระยะเริ่มต้น และรีบให้การรักษา ทั้งนี้เพราะผู้ติดเชื้อในระยะแรกหลายรายมักจะไม่มีอาการ หรือมีความผิดปกติ
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น อาการปวด หรือมีก้อนบวมที่ใดก็ได้ในร่างกาย มีอาการเจ็บเป็นๆหายๆที่อวัยวะเพศ มีผื่นแดงที่ผิวหนังทั่วร่างกาย มีอาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ มีอาการเจ็บ บวม แดงที่ลูกอัณฑะ ปวดอุ้งเชิงกราน (ท้องน้อย) เรื้อรัง มีฝีหนองที่ขาหนีบ ดวงตาอักเสบ ข้ออักเสบ อุ้งเชิงกรานอัก เสบ (การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน) มีบุตรยาก และโรคมะเร็งที่อวัยวะอื่นๆ เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในผู้ติดเชื้อ HIV โรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งที่ลำไส้ตรง/โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือโรคมะเร็งทวารหนักในผู้ที่ติดเชื้อHPV การติดเชื้อต่างๆในผู้ที่เป็นโรคเอดส์ ตลอดจนการติดเชื้อของทารกในครรภ์ในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรค อันจะก่อให้เกิดอันตราย และความผิดปกติ/ความพิการแต่กำเนิดของทารกได้
มีวิธีรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างไร?
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสามารถรักษาได้ไม่ยาก ส่วนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส สามารถรักษา และควบคุมโรคได้แต่มักจะไม่หายขาด หากตรวจพบว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์ การรักษาที่เหมาะสมจะสามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไปสู่ทารกในครรภ์ได้
การรักษาประกอบด้วยสิ่งต่างๆต่อไปนี้ ได้แก่
- การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อพยาธิ เช่น หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส และทริโคโมแนส หรือการให้ยาต้านไวรัส ในกรณีที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น โรคเริม/โรคเริมที่อวัยวะเพศ โรคเอดส์ เป็นต้น แล้วแต่กรณี การให้ยาต้านไวรัสทำให้สามารถควบ คุมการติดเชื้อ HIV/เอชไอวี ได้หลายปี ถึงแม้ว่าเชื้อไวรัส HIV จะยังคงอยู่ในร่าง กาย และสามารถถ่ายทอดสู่ผู้อื่นได้ก็ตาม หากคุณสัมผัสกับผู้ที่ติดเชื้อ HIV และเริ่มรับประทานยาภายใน 28 วันภายหลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อ คุณอาจหลีกเลี่ยงการติดโรคได้
- งดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาโรคหายแล้ว
- การตรวจติดตามภายหลังการรักษา เพื่อความมั่นใจว่าหายจากโรคแล้วหรือไม่ หากไม่สามารถใช้ยาตามที่แพทย์สั่งได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการรักษา
- การป้องกันการติดเชื้อไปยังคู่นอน หากพบว่าคุณเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คุณควรบอกให้คู่นอนของคุณคนปัจจุบัน และคู่นอนในอดีตภายในช่วง เวลา 3-12 เดือนทราบ เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาที่เหมาะสมต่อไป การกระทำดังกล่าวจะช่วยลดการแพร่กระจายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ โดยเฉพาะโรคซิฟิลิส และโรคเอดส์ จากการที่โรคต่างๆที่กล่าวมาติดต่อผ่านการสัมผัสทางเพศ ดังนั้นหากคู่นอนของคุณติดโรคจากคุณ และไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ถึงแม้ ว่าคุณจะรักษาหายแล้วก็ตาม คุณก็มีโอกาสที่จะติดเชื้ออีกครั้งจากคู่นอนของคุณได้
วิธีป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีอะไรบ้าง?
การไม่มีเพศสัมพันธ์ เป็นวิธีดีที่สุดในการป้องกันการเป็นโรคติดต่อทางเพศ สัมพันธ์ (แต่เป็นเรื่องเป็นไปได้ยาก) นอกจากนี้ การไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ไม่มีคู่นอนหลายคน และการอยู่กับคู่นอนที่ไม่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างถาวร จะช่วยลดโอกาสการเป็นโรคได้ การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV (วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก) และวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี โดย เฉพาะอย่างยิ่งในระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนที่จะเริ่มมีเพศสัมพันธ์จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อไวรัสเหล่านี้ได้ การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี ในประเทศไทย มักจะเริ่มตั้งแต่ขณะที่อยู่ในวัยเด็ก ส่วนการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV มักจะแนะนำให้ผู้หญิงฉีดในช่วงอายุ 9-26 ปี
กรณีที่จะมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนคนใหม่ คุณและคู่คนใหม่ควรเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์
ควรใช้ถุงยางอนามัยอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดโอกาสติดโรค อย่างไรก็ดีหากใช้สารหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของน้ำมันเพื่อหล่อลื่นถุงยางอนามัยชนิดลาเทกซ์ การกระทำดังกล่าวจะลดประสิทธิภาพในการป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะจะทำให้เนื้อยางชำรุด การยืดหยุ่นของยางลดลง ถุงยางจึงแตกได้ง่าย และยังลื่นหลุดได้ง่ายอีกด้วย
ควรหลีกเลี่ยงการดื่มสุรามากเกินไป และการใช้สารเสพติด ทั้งนี้เพราะการกระทำดังกล่าว จะทำให้คุณขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง และนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่เสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่เคยรู้จัก หรือการมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่รู้จักทางอินเทอร์เนต ในบาร์ หรือสถานที่เที่ยวต่างๆ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงอย่างมากในการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ก่อนที่จะมีสัมพันธ์ทางเพศ ควรพูดคุยและตกลงกับคู่ของคุณในเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยว่า กิจกรรมใดที่ควรทำ และไม่ควรทำ
ในผู้ที่มีบุตร ควรปลูกฝังให้มีพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสมในวัยอันควร ทั้ง นี้เพราะการมีเพศสัมพันธ์ขณะอายุยังน้อยจะเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรคต่างๆได้ง่าย
การมีเพศสัมพันธ์กับคู่เพียงคนเดียวจะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้
การขลิบอวัยวะเพศชายจะช่วยลดความเสี่ยงในการที่ผู้ชายจะติดเชื้อ HIV จากผู้หญิงที่เป็นโรคได้ถึง 50-60% นอกจากนี้การขลิบยังช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV และเริมได้อีกด้วย
จะปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์?
เมื่อสงสัยว่าตนเองอาจติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรรีบปรึกษาแพทย์ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่น จนกว่าผลการตรวจจะยืนยันว่าคุณไม่ได้เป็นโรค หรือหากเป็นโรคก็ควรงดการมีเพศสัมพันธ์จน กว่าคุณจะรักษาโรคจนหายดีแล้ว
การเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ก่อให้เกิดผลทางจิตใจค่อนข้างมาก คุณอาจรู้สึกโกรธเหมือนว่าถูกหักหลังจากคนที่คุณรัก ละอายใจเมื่อรู้ว่าโรคที่เป็นอาจติดไปสู่คู่นอนของคุณได้ และที่แย่ที่สุดคือ โรคบางอย่างอาจทำให้คุณเจ็บ ป่วยตลอดชีวิต และถึงแก่ชีวิตได้ อีกทั้งอาจส่งผลต่อการตัดสินใจในเรื่องชีวิตครอบครัว การมีบุตร ตลอดจนทัศนคติต่อการมีเพศสัมพันธ์
อย่างไรก็ดี ไม่ควรโทษใคร การได้รับเชื้ออาจไม่ได้เกิดขึ้นจากคู่นอนคนปัจจุบัน แต่อาจเกิดจากคู่นอนคนเดิมที่ผ่านมาของคุณ หรือของคู่นอนคนปัจจุบัน หรือทั้งคู่
สิ่งที่ดีที่สุดคือ การเรียนรู้ที่จะป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ตั้ง แต่วันนี้ดังได้กล่าวแล้ว
บรรณานุกรม
- Swygard H. Screening for sexually transmitted diseases. https://www.uptodate.com/contents/screening-for-sexually-transmitted-diseases. Accessed Jan. 25, 2011.
- Global strategy for the prevention and control of sexually transmitted infections: 2006-2015. Breaking the chain of transmission. World Health Organization.https://www.who.int/reproductivehealth/publications/rtis/9789241563475/en/. Accessed Jan. 25, 2011.
- Centers for Disease Control and Prevention, et al. Sexually transmitted diseases treatment guidelines, 2010. MMWR Recommendations and Reports. 2010;59:1.https://www.cdc.gov/mmwr/preview/mmwrhtml/rr5912a1.htm. Accessed Jan. 25, 2011.
- Quick answers: Sexually transmitted diseases. McGraw Hill's Access Medicine.https://www.accessmedicine.com/content.aspx?aID=3271836. Accessed Jan. 25, 2011.
- Klausner JD. Screening guidelines for sexually transmitted diseases, including HIV. In: Klausner JD, et al. Current Diagnosis and Treatment of Sexually Transmitted Diseases. New York, N.Y.: The McGraw Hill Companies; 2007. https://www.accessmedicine.com/content.aspx?aid=3025000. Accessed Jan. 25, 2011.
- Swygard H, et al. Gonorrhea. In: Klausner JD, et al. Current Diagnosis and Treatment of Sexually Transmitted Diseases. New York, N.Y.: The McGraw Hill Companies; 2007.https://www.accessmedicine.com/content.aspx?aid=3025486. Accessed Jan. 25, 2011.
- Ward H. Prevention strategies for sexually transmitted infections: Importance of sexual network and epidemic phase. Sexually Transmitted Infections. 2007;83:i43.
- Trends in sexually transmitted diseases in the United States: 2009 national data for gonorrhea, chlamydia and syphilis. Centers for Disease Control and Prevention.https://www.cdc.gov/nchhstp/newsroom/docs/2009STDSurvReportMediaFactSheet.pdf. Accessed Jan. 25, 2011.
- Reitmeijer CA. Principles of risk reduction counseling. In: Klausner JD, et al. Current Diagnosis and Treatment of Sexually Transmitted Diseases. New York, N.Y.: The McGraw Hill Companies; 2007.https://www.accessmedicine.com/content.aspx?aid=3026418. Accessed Jan. 25, 2011.
- Centers for Disease Control and Prevention, et al. Antiretroviral postexposure prophylaxis after sexual, injection-drug use, or other nonoccupational exposure to HIV in the United States. MMWR Recommendations and Reports. 2005;54:1.https://www.cdc.gov/mmwr/preview/mmwrhtml/rr5402a1.htm. Accessed Jan. 25, 2011.
- Centers for Disease Control and Prevention, et al. Revised recommendations for HIV testing of adults, adolescents, and pregnant women in health-care settings. MMWR Recommendations and Reports. 2006;55:1. a href="https://www.cdc.gov/mmwr/preview/mmwrhtml/rr5514a1.htm?s_cid=rr5514a1_e. Accessed Jan. 25, 2011.
แหล่งที่มา : haamor.com