โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ สมุนไพรรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ


1,155 ผู้ชม


โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ สมุนไพรรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 


           “การเรียนรู้เท่าทันธรรมชาติของโลกต่างๆ ซึ่งมีลักษณะจำเพาะของแต่ละโรค จะช่วยให้เราสามารถหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรค และหากเลี่ยงไม่พ้นการเจ็บป่วยขึ้นมา ก็จะรู้จักหาทางดูแลรักษา เพื่อลดอันตรายมีชีวิตยืนยาวและอยู่ร่วมกับภาวการณ์เจ็บป่วย อย่างมีความสุข” 


กระเพาะปัสสาวะอักเสบ

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ สมุนไพรรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ


          โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้หญิงแทบจะกล่าวได้ว่า ผู้หญิงทุกคนมีโอกาสเป็นโรคนี้ในทุกช่วงของชีวิต นับตั้งแต่เด็กถึงวัยชรา โรคนี้สามารถป้องกันและรักษาได้ง่ายๆ แต่ถ้าปล่อยให้ลุกลามจนกลายเป็นโรคกรวยไตอักเสบเรื้อรัง ก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง ซึ่งยากแก่การเยียวยาได้


           ชื่อภาษาไทย : กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, ทางเดินปัสสาวะอักเสบ
           ชื่อภาษาอังกฤษ : Cystitis , Urinary  tract  infection  (UTI)
           
สาเหตุ :
      เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่มักจะเป็นเชื้อโรคที่มีอยู่ในอุจจาระของคนเรา เช่น เชื้อ อีโคไล  เคล็บซิลลา สูโดโมแนส เอนเทอโรแบกเตอร์ เป็นต้น เชื้อเหล่านี้มักจะแปดเปื้อนอยู่ตรง บริเวณรอบๆ ทวารหนัก เนื่องจากการชำระหลังถ่ายอุจจาระไม่ถูกต้องสมบูรณ์ เชื้อโรคก็จะแปดเปื้อนต่อผ่านท่อปัสสาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่มีท่อปัสสาวะสั้นและอยู่ใกล้ทวารหนักจึงง่ายที่จะติดเชื้อเข้าไปในท่อปัสสาวะ ส่วนผู้ชายมีโอกาสติดเชื้อน้อยมาก  เนื่องจากท่อปัสสาวะยาวและอยู่ห่างจากทวารหนักมาก

           เมื่อเชื้อโรคเข้าไปอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ถ้ามีการถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่รู้สึกปวด ก็สามารถขับเอาเชื้อโรคนั้นออกมาได้ ไม่เกิดการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ แต่ถ้าอั้นปัสสาวะอยู่นาน เช่น เวลารถติด หรือเดินทางไปต่างจังหวัด (ไม่สามารถเข้าห้องน้ำ หรือ กลัวห้องน้ำสาธารณะไม่สะอาด) หรือนอนกลางคืนแล้วขี้เกียจลุกเข้าห้องน้ำ  หรือหน้าน้ำท่วมไม่กล้าเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนกลัวมีงูเขี้ยว หรือทำอะไรเพลินจนลืมเข้าห้องน้ำ เป็นต้น เชื้อโรคที่เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ จึงมีเวลานานพอที่จะแบ่งตัวเจริญแพร่พันธุ์ จนทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะ  เกิดอาการขัดเบาขึ้นมาได้  
 
         ด้วยเหตุนี้ โรคนี้จึงมักพบได้ในผู้หญิงทั่วไปที่ไม่ระมัดระวังในการชำระล้างทวารหนัก และชอบอั้นปัสสาวะ
 
           นอกจากนี้ ในคนบางคนยังอาจมีเหตุชักนำให้เกิดโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป (เรียกว่ากลุ่มเสี่ยง) เช่น
           - คนที่เป็นเบาหวาน ซึ่งร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ มีโอกาสติดเชื้อง่าย ก็อาจเป็นโรคนี้ได้บ่อย ถ้าหากพบว่ามีอาการของโรคนี้เกิดขึ้นซ้ำซาก ก็ควรจะตรวจดูว่ามีโรคเบาหวานซ่อนเร้น (ไม่แสดงอาการ) อยู่หรือไม่
           - หญิงตั้งครรภ์ อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคนี้มากขึ้น เนื่องจากศีรษะเด็กในท้องกดดันให้เกิดการคั่งของปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ
           - ผู้มีภาวะอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ เช่น ต่อมลูกหมากโต (ในคนสูงอายุ) ท่อปัสสาวะตีบ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ผู้ป่วยที่ถ่ายปัสสาวะไม่ได้เนื่องจากเป็นอัมพาต เป็นต้น
           - ผู้ป่วยที่มีการสวนปัสสาวะ หรือมีการคาสายสวนปัสสาวะ หรือใช้เครื่องมือแพทย์สอดใส่ท่อปัสสาวะ
            
อาการ :    
  
           จะมีอาการขัดเบา คือถ่ายปัสสาวะกะปริดกะปรอยออกทีละน้อย รู้สึกปวดขัดหรือแสบร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ มักจะต้องเข้าห้องน้ำทุกชั่วโมงหรือชั่วโมงละหลายครั้ง มีอาการคล้ายถ่ายไม่สุดอยู่ตลอดเวลา
 
            บางคนอาจมีอาการปวดตรงบริเวณท้องน้อย (หัวหน่าว) ร่วมด้วย
 
            ปัสสาวะมักจะออกใสๆ แต่บางคนอาจขุ่นหรือมีเลือดปน  
 
            มักไม่มีไข้ ยกเว้นถ้ามีกรวยไตอักเสบร่วมด้วย จะมีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่น ปวดเอวร่วมด้วย
 
            ในเด็กเล็กอาจมีอาการปัสสาวะรดที่นอน และอาจมีไข้ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย
 
            อาการมักเกิดหลังอั้นปัสสาวะนานๆ หรือมีการสวนปัสสาวะ


โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ สมุนไพรรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ


การแยกโรค :

            อาการขัดเบาหรือปัสสาวะบ่อยอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
            1. โรคหนองใน (gonorrhea) จะมีอาการหนองไหลออกจากท่อปัสสาวะ หรือตกขาวออกเป็นหนองร่วมกับถ่ายปัสสาวะแสบขัด
            2. นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ จะมีอาการขัดเบาร่วมกับถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด
            3. กรวยไตอักเสบ จะมีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่นข้น ปวดเจ็บตรงสีข้าง (เอว) ด้านใดด้านหนึ่ง  อาจมีอาการขัดเบา (ถ้ามีกระเพาะอักเสบร่วมด้วย)
            4. เบาหวาน จะมีอาการถ่ายปัสสาวะบ่อย ออกทีละมากๆ และใส ไม่มีอาการแสบขัด ที่สำคัญจะมีอาการกระหายน้ำบ่อย หิวข้าวบ่อย อาจมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลดร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้จะไม่พบในคนที่เป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
สาเหตุดังกล่าว หากสงสัยควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ
การวินิจฉัย :

            มักจะวินิจฉัยจากอาการแสดง คืออาการขัดเบา ถ่ายปัสสาวะกะปริดกะปรอย โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ
 
            ในรายที่อาการแยกจากสาเหตุอื่นๆไม่ชัดเจน หรือ เป็นๆ หายๆ เรื้อรัง อาจจำเป็นต้องทำการตรวจปัสสาวะ (ถ้าเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จะพบปริมาณเม็ดเลือกขาวในปัสสาวะมากกว่าปกติ หรืออาจตรวจพบเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุ)
 
            บางครั้งอาจต้องตรวจเลือด หรือทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น ใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ  , กระเพาะเชื้อ เป็นต้น  
การดูแลตนเอง :
 

            เมื่อมีอาการขัดเบา ซึ่งสงสัยเป็นกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ควรปฏิบัติตัวดังนี้
 
            1. ดื่มน้ำมากๆ วันละ 3 - 4 ลิตร (เฉลี่ยประมาณชั่วโมงละ 1 แก้ว) แล้วถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่รู้สึกปวด  น้ำจะช่วยขับเชื้อโรคออก และช่วยลดอาการปวดแสบปวดร้อนเวลาถ่ายปัสสาวะ
            2. ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 – 3 วัน จึงค่อยกินยาปฏิชีวนะ การใช้ยาปฏิชีวนะควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน โดยทั่วไปถ้าไม่เคยแพ้ยา มักจะแนะนำให้กินยาอะม็อกซีซิลลิน (ขนาด 500 มิลลิกรัม)  หรือยาเม็ดโคไตรม็อกซาโซล วันละ 2 ครั้ง ทุก 12 ชั่วโมง ผู้ใหญ่กินครั้งละ 2 เม็ด เด็กโตครั้งละ 1  เม็ด ถ้ารู้สึกดีขึ้น ควรกินให้ครบ 3 วัน เป็นอย่างน้อย
            3. เมื่อรักษาหายแล้ว ต่อไปต้องพยายามอย่าอั้นปัสสาวะเป็นอันขาด มิเช่นนั้น อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบก็จะกลับมาเป็นได้อีก
            4. ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
                 (1) มีอาการไข้ หนองไหล ตกขาว ถ่ายเป็นเลือด หรือกระหายน้ำบ่อยร่วมด้วย
                 (2) ดูแลตัวเอง 2 - 3 วัน แล้วยังไม่ดีขึ้น
                 (3) เป็นๆ หายๆ บ่อย
                 (4) มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจจะดูแลรักษาตนเอง
                 (5) ผู้ชายทุกคนที่มีอาการขัดเบา แม้ว่าจะเริ่มเป็นครั้งแรก ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุให้แน่ใจ เนื่องจาก สรีระของผู้ชายมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบน้อยมาก ถ้ามีอาการอาจมีโรคอื่นซ่อนเร้นอยู่
การรักษา :

            แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะพื้นฐาน เช่น อะม็อกซีซิลลิน (amoxycillin) โคไตรม็อกซาโซล  (cotrimoxazole) กิน 3 วัน แต่ถ้าสงสัยมีอาการแพ้ยา หรือดื้อยาเหล่านี้ ก็อาจให้ยาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่ง ได้แก่  นอร์ฟล็อกซาซิน (norfloxacin)
  
            ในรายที่เป็นๆ หายๆ บ่อย อาจต้องทำการตรวจพิเศษ เช่น การนำปัสสาวะไปเพาะเชื้อ แล้วให้ยาปฏิชีวนะที่ไวต่อเชื้อที่พบ การใช้กล้องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะแล้วแก้ไขตามสาเหตุที่พบ ตรวจเลือดดูว่าเป็นเบาหวานร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าพบก็ให้ยารักษาเบาหวานไปพร้อมกัน เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อน :

            ส่วนมากมักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง แต่บางรายอาจเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาเชื้อโรคอาจลุกลามขึ้นไปที่ไต ทำให้กลายเป็นโรคกรวยไตอักเสบ และถ้าปล่อยจนเป็นเรื้อรัง ก็อาจมีภาวะไตวายเรื้อรังแทรกซ้อนได้
 
            ในผู้ชาย เชื้อโรคอาจลุกลามทำให้เป็นต่อมลูกหมากอักเสบได้
การดำเนินโรค :
 

            ถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โรคมักจะหายขาดแต่ถ้าปล่อยปละละเลย หรือ เป็นๆ หายๆ บ่อย ก็อาจเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้
การป้องกัน :

            1. พยายามดื่มน้ำให้เพียงพอ และอย่าอั้นปัสสาวะควรฝึกถ่ายปัสสาวะทุกครั้งที่รู้สึกปวดจนเป็นนิสัย เวลาเดินทางไกล ต้องฝึกให้เคยชินที่จะเข้าห้องน้ำนอกบ้าน ถ้ากลัวไม่สะอาด ก็ชำระล้างโถส้วมให้สะอาดเสียก่อน เวลาเข้านอน ถ้าไม่สะดวก จะลุกเข้าห้องน้ำควรเตรียมกระโถนไว้ข้างเตียง
            2. หลังถ่ายอุจจาระ ควรชำระทวารหนักให้สะอาด การใช้กระดาษชำระควรเช็ดจากข้างหน้าไปข้างหลังจนสะอาด เพื่อป้องกันมิให้นำเชื้อโรคจากบริเวณทวารหนักแปดเปื้อนเข้าท่อปัสสาวะ


โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบ สมุนไพรรักษากระเพาะปัสสาวะอักเสบ


แหล่งที่มา : doctor.or.th

อัพเดทล่าสุด