อาการโรคโลหิตจาง อาหารสําหรับโรคโลหิตจาง อาหารสำหรับโรคโลหิตจาง
โลหิตจาง
โลหิตจางหรือซีด คือ การที่มีร่างกายมีเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ โดยในทางการแพทย์ จะหมายถึงการที่ระดับค่าฮีโมโกลบิน (Hemoglobin, Hb)ในเลือดต่ำกว่า 13 กรัม / เดซิลิตร(gm/dl) ในผู้ชายหรือ 12 กรัม / เดซิลิตร(gm/dl) ในผู้หญิง หรือหากเป็นหญิงตั้งครรภ์ หากมีระดับต่ำกว่า 11 กรัม/เดซิลตร (gm/dl) ถือว่ามีภาวะโลหิตจาง
สาเหตุของโลหิตจางที่พบได้บ่อย
- จากการสูญเสียเลือด โดยพบว่า การเสียเลือดมากกว่าปกติจากประจำเดือนจนทำให้มีภาวะซีด เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยให้ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการตรวจหาสาเหตุโดยพบแพทย์เฉพาะ (สูตินรีแพทย์) เพื่อการวินิจฉัยต่อไป การมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารก็เป็นสิ่งที่พบบ่อยได้ในทั้งหญิงและชาย เช่น โรคกระเพาะอักเสบ ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน หรือมีสีดำ-แดงเข้ม โดยบางครั้ง ผู้ป่วยอาจมีเลือดออกในปริมาณน้อย มองไม่เห็นในอุจจาระด้วยตาเปล่า แต่เมื่อมีเลือดออกเป็นระยะเวลานาน ก็ทำให้โลหิตจางได้ โรคที่ทำให้ถ่ายมีเลือดปนที่พบบ่อยได้แก่ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคริดสีดวงทวาร โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น สาเหตุที่พบบ่อยอีกอย่างคือ การรับประทานยาแก้ปวดแก้เมื่อยเป็นประจำแล้วยาระคายกระเพาะอาหารทำให้เกิดแผล จนมีเลือดออกได้
- จากการที่เม็ดเลือดแดงแตกตัว (Hemolysis) ซึ่งมีได้หลายสาเหตุ เช่น ทางพันธุกรรม ได้แก่โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) ผู้ป่วยโรคนี้จะมีรูปร่างของเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติ ทำให้มีการแตกตัวได้ง่าย การติดเชื้อบางขนิด การได้รับยาบางชนิด ก็สามารถทำให้มีเม็ดเลือดแดงแตกตัว จนเกิดภาวะโลหิตจางได้
- ซีดจากการสารอาหารไม่เพียงพอ เช่น ธาตุเหล็ก, โฟเลต, วิตามินบี 12 โดยผู้สูงอายุบางรายอาจรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ซึ่งอาจจากการที่เบื่ออาหาร มีโรคประจำตัวบางอย่าง เลือกรับประทานอาหาร หรือปัญหารายได้ไม่เพียงพอ อาจทำให้โลหิตจางได้
- ซีดจากโรคเรื้อรังของผู้ป่วย เช่น ภาวะไตวายเรื้อรัง, การที่มีแผลติดเชื้อ-อักเสบเรื้อรัง, ตับแข็ง เป็นต้น ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดได้ปริมาณน้อยกว่าปกติ
- โรคทางระบบเลือด-ไขกระดูก เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไขกระดูกฝ่อ โรคมะเร็งที่มีการกระจายไปที่ไขกระดูก การติดเชื้อกระจายไปที่ไขกระดูกเป็นต้น
อาการของโลหิตจาง
มีได้หลายอาการ ในระยะแรกอาจไม่มีอาการ หรือเพียงได้รับการทักว่าซีด ตัวเหลือง เมื่อมีโลหิตจางมากขึ้น อาจมีอาการเหนื่อยง่าย, อ่อนเพลีย, หน้ามืดได้ง่าย หากมีภาวะโลหิตจางรุนแรงขึ้น ทำให้มีอาการใจสั่น หรือในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ทำให้เกิดหัวใจวายได้ง่ายกว่าเดิม
การป้องกันและรักษา
- รับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีนและอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ ไข่ ตับ ไต เนื้อสัตว์ เมล็ดธัญพืช เช่น ถั่ว งา เมล็ดฟักทอง ลูกเดือย เป็นต้น
- ไม่รับประทานยาชุด แก้ปวดเมื่อย แก้อักเสบ ยาหม้อ ยาลูกกลอนเอง เนื่องจากมักมียาที่ระคายกระเพาะอาหาร ทำให้มีอาการปวดเสียดท้อง ท้องอืด เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือกระเพาะอาหารทะลุได้ หากมีอาการปวดเสียดแน่นท้อง ขับถ่ายอุจจาระผิดปกติไปจากเดิม ถ่ายดำหรือมีเลือดปน เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาออกเรื้อรัง จ้ำเลือดออกตามตัว ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษา
- ถ้ามีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคโลหิตจาง ควรไปตรวจยืนยันและแพทย์ต้องตรวจหาสาเหตุเสมอว่าทำไมถึงโลหิตจาง หลังจากนั้นจึงรักษาสาเหตุ แพทย์อาจให้ยาบำรุงเลือดมารับประทาน รับประทานแล้วอาจมีถ่ายอุจจาระดำได้จากสีของยา
แหล่งที่มา : bangkokhospital.com