โรคถุงลมโป่งพอง โรคถุงลมโป่งพอง คือ โรคถุงลมโป่งพอง ส่งผลต่อร่างกาย
โรคถุงลมโป่งพอง โรคร้ายที่มากับ บุหรี่
รู้กันดีอยู่แล้วว่า โรคถุงลมโป่งพอง เกิดขึ้นเพราะมีสาเหตุสำคัญมาจากการสูบบุหรี่ แล้วคุณรู้จัก โรคถุงลมโป่งพอง ดีแล้วหรือยัง วันนี้กระปุกดอทคอม มีข้อมูลเรื่อง โรคถุงลมโป่งพอง มาฝากกัน
โรคถุงลมโป่งพอง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตลำดับที่ 6 ของประชากรทั่วโลก ในปี ค.ศ.1990 (พ.ศ.2533) และเป็นลำดับที่ 5 ในปี ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) ซึ่งองค์การอนามัยโลก ประมาณการว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยเสียชีวิตจาก โรคถุงลมโป่งพอง ประมาณปีละ 3 ล้านคน และมีการคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) โรคถุงลมโป่งพอง จะขยับขึ้นมาเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลกในลำดับที่ 4
สำหรับในประเทศไทย โรคถุงลมโป่งพอง เป็นปัญหาสาธารณสุขที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในลำดับต้น ๆ ของคนไทย ประมาณการว่ามีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วย โรคถุงลมโป่งพอง ประมาณปีละ 15,000 คน และในจำนวนผู้สูบบุหรี่ 10 ล้านคน จะมีผู้ป่วยด้วย โรคถุงลมโป่งพอง 1 ล้านคน ในจำนวนนี้ 3 แสนคน มีอาการชัดเจนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง
รู้จัก โรคถุงลมโป่งพอง
โรคถุงลมโป่งพอง (Pulmonary Emphysema) เป็นโรคที่มีภาวะของการอุดกั้นอย่างเรื้อรังของหลอดลมทั่วปอดทั้ง 2 ข้าง โดยมีพยาธิสภาพเกิดขึ้นที่หลอดลมขนาดเล็กและที่ถุงลม โดยสาเหตุสำคัญของ โรคถุงลมโป่งพอง มาจากการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยสารมลพิษในควันบุหรี่หลายชนิดจะก่อการระคายเคืองต่อหลอดลมและทำลายผนังถุงลม ทำให้เนื้อเยื่อซึ่งโยงยึดหลอดลมและถุงลมเสื่อมลง หลอดลมเล็ก ๆ ขาดการยึดโยงที่ดีจึงแฟบตัวได้ง่าย เกิดการอุดกั้นของอากาศที่ผ่านหลอดลม โดยเฉพาะในจังหวะของการหายใจออก ทำให้มีลมค้างอยู่ในถุงลมมากขึ้น หรือ เรียกว่า " ถุงลมโป่งพอง " และการที่มีลมค้างอยู่ในถุงลม ทำให้ผู้ป่วยสูดหายใจเข้าได้ไม่เต็มที่ และเกิดอาการเหนื่อยหอบ อีกทั้งควันบุหรี่ที่ระคายเคืองหลอดลมอยู่นาน ๆ จะทำให้ผนังหลอดลมอักเสบและหนาขึ้น มีเสมหะมากขึ้น
โรคถุงลมโป่งพอง เป็นหนึ่งในอาการของ "โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง" ซึ่งรวมเอา "โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง" (Chronic Bronchitis) และ "โรคถุงลมปอดโป่งพอง" (Pulmonary Emphysema) เข้าด้วยกัน เนื่องจากโรคทั้งสองเกิดจากการหายใจเอามลภาวะที่เป็นพิษ ในรูปของก๊าซหรือฝุ่น อย่างเช่นควันบุหรี่ และควันจากการเผาไหม้เข้าไปก่อให้เกิดอาการอักเสบ และการทำลายระบบทางเดินหายใจ ซึ่งได้แก่ หลอดลม และปอดเหมือนกัน อีกทั้งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการของโรคทั้งสองร่วมกัน ต่างกันตรงที่อาจมีอาการของโรคหนึ่งมากกว่ามีผู้ป่วยน้อยรายที่มีเพียงอาการเดียว
สาเหตุของ โรคถุงลมโป่งพอง
สำหรับสาเหตุการเกิด โรคถุงลมโป่งพอง ร้อยละ 90 มาจากการสูบบุหรี่ มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดจากการขาดเอนไซม์ โดย โรคถุงลมโป่งพอง นี้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่จะเป็นผู้ติดบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็น โรคถุงลมโป่งพอง ได้ทุกคน ต่างกันที่ช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการสูบบุหรี่ และปริมาณการตอบสนองของร่างกายต่อควันบุหรี่และพันธุกรรม เช่น โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้ หรือบิดามารดาเป็นโรคนี้อยู่แล้ว ฯลฯ
อาการของ โรคถุงลมโป่งพอง
ผู้ที่เป็น โรคถุงลมโป่งพอง ในขั้นต้นจะไม่ค่อยปรากฎอาการมากนั้น โดยมีอาการทั่วไปคือ ไอเรื้อรัง มีเสมหะ เป็นหวัดง่าย เหนื่อย คออักเสบ หลอดลมอักเสบบ่อย ๆ และหายยาก ต่อมาจะหอบเหนื่อย เพราะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ หายใจมีเสียง หายใจลำบาก เพราะหลอดลมตีบขึ้น อาการจะมากขึ้นตามการเสื่อมของถุงลมในปอด
ในรายที่เป็นมากจะมีอาการหอบเหนื่อยมาก จนไม่สามารถทำงาน เดิน หรือใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้ ต้องนอนพักให้ออกซิเจนตลอดเวลา เพราะมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ สร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งญาติพี่น้องและผู้พบเห็นต้องทุกข์ใจเช่นกัน อาการหอบเหนื่อยที่มีอยู่ตลอดเวลาจะสร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยจนกว่าจะเสียชีวิต และผู้ป่วย โรคถุงลมโป่งพอง เหล่านี้จะเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม ภาวะการหายใจวายและภาวะหัวใจวาย
การดำเนินโรคของ โรคถุงลมโป่งพอง
โรคถุงลมโป่งพอง มีการดำเนินโรคอยู่ 4 ขั้น คือ
ขั้นที่ 1 เป็นขั้นที่มีปัจจัยเสี่ยงและเริ่มมีการอุดกั้นของหลอดลมเล็ก ๆ ซึ่งเป็นระยะที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ และพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในหลอดลมเล็ก ๆ เหล่านั้น สามารถกลับคืนสู่ปกติได้เมื่อหยุดบุหรี่สำเร็จ
ขั้นที่ 2 มีการอุดกั้นของหลอดลมและความเสื่อมของถุงลมชัดเจน โดยทราบได้จากการตรวจสมรรถภาพปอด ในขั้นนี้ผู้ป่วยจะมีอาการไอและเหนื่อยไม่มาก
ขั้นที่ 3 ผู้ป่วยจะมีอาการไอและเหนื่อยมากขึ้น ผลการตรวจสมรรถภาพปอดเสื่อมลงอีก
และขั้นที่ 4 ผู้ป่วย โรคถุงลมโป่งพอง จะมีการเสื่อมของหลอดลมและถุงลมมาก มีภาวะการหายใจวายและหัวใจวายเกิดขึ้น ระยะนี้ผู้ป่วย โรคถุงลมโป่งพอง จำเป็นต้องพึ่งออกซิเจน
การรักษา โรคถุงลมโป่งพอง
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถทำให้ โรคถุงลมโป่งพอง หายได้ แต่การใช้ยาจะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและปอดถูกทำลายช้าลง โดยยาที่รักษา โรคถุงลมโป่งพอง คือ
ยาขยายหลอดลม
มีทั้งชนิดกิน ฉีด และพ่น ปัจจุบันนิยมใช้ยาพ่นที่ออกฤทธิ์นาน ส่วนยาพ่นชนิดออกฤทธิ์เร็วมักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยเริ่มหอบ
ยาสเตียรอยด์
มักใช้ในกรณีที่ผู้ป่วย โรคถุงลมโป่งพอง มีอาการรุนแรง หรือมีอาการหลอดลมอักเสบร่วมด้วย เพราะยาสเตียรอยด์ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดี แต่ไม่นิยมใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน เพราะมีผลข้างเคียงมาก ปัจจุบันนิยมใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดพ่นมากกว่าชนิดรับประทานหรือฉีด
ยาปฏิชีวนะ
จะใช้กรณีพบว่ามีการอักเสบติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ พบการอักเสบของหลอดลม โดยผู้ป่วยจะไอมีเสมหะมากขึ้น และเสมหะเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีเหลือง หรือสีเขียว หรือเป็นหนอง
ยาละลายเสมหะ
ใช้เมื่อมีเสมหะเหนียว และมีเสมหะมาก ผู้ป่วยควรทานน้ำให้มากขึ้น เพราะน้ำเป็นตัวละลายความเหนียวของเสมหะได้ดีที่สุด
การป้องกัน โรคถุงลมโป่งพอง
โรคถุงลมโป่งพอง สามารถป้องกันได้ด้วยการงดสูบบุหรี่ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการทำงาน และการเข้าไปอยู่ในบริเวณที่มีควันพิษ หรือในที่ที่มีผู้สูบบุหรี่ และแม้ว่า โรคถุงลมโป่งพอง นี้ จะทำให้เกิดโรคเมื่อมีอายุมากก็ตาม แต่ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคควรรับการตรวจสมรรถภาพปอด เพราะหากตรวจพบ โรคถุงลมโป่งพอง ในระยะเริ่มแรกก็อาจหลีกเลี่ยง หรือป้องกันได้
วันรณรงค์ถุงลมโป่งพองโลก (World COPD Day)
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) และองค์การโรคถุงลมโป่งพองแห่งโลก (Global Initiative for Chronic Obstructive Lung Disease-GOLD) ได้กำหนดให้มี วันรณรงค์ถุงลมโป่งพองโลก หรือ World COPD Day ซึ่งตรงกับวันพุธที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี โดยวันถุงลมโป่งพองโลก เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.2002 (พ.ศ.2545) โดยมีจุดประสงค์ในการกำหนด วันรณรงค์ถุงลมโป่งพองโลก เพื่อกระตุ้นเตือนให้บุคลากรทางการแพทย์ และการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักว่า โรคถุงลมโป่งพอง เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศที่สำคัญโรคหนึ่ง อันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่ ผู้ป่วยด้วย โรคถุงลมโป่งพอง นี้ต้องทุกข์ทรมานจากอาการไอเรื้อรัง เหนื่อย และหายใจลำบาก เนื่องจากความเสื่อมของถุงลมและปอด ซึ่งควรจะได้รับการดูแลรักษาเพื่อให้มีคุณภาพ
นอกจากนี้เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนตระหนัก และรับรู้พิษภัยของการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิด โรคถุงลมโป่งพอง
สำหรับใครที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง โรคถุงลมโป่งพอง สามารถติดต่อ มูลนิธิโรคหืดแห่งประเทศไทยและชมรมถุงลมโป่งพอง เลขที่ 1281 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. 10400 โทร. 0 2617 0649