ธุรกิจไฮโดรโปนิกส์ แผนธุรกิจ ขายผัก ไฮโดรโปนิกส์ เมล็ดผักไฮโดรโปนิกส์ แบบซอง


2,099 ผู้ชม


ธุรกิจไฮโดรโปนิกส์ แผนธุรกิจ ขายผัก ไฮโดรโปนิกส์ เมล็ดผักไฮโดรโปนิกส์ แบบซอง


ไฮโดรโปนิกส์
แนวความคิด

บริษัท ศูนย์เกษตรกรรมบางไทร จำกัด ได้ทำการค้นคว้า พัฒนา การปลูกพืชผักแผนใหม่ โดยไม่ใช้ดินเป็นเวลามากกว่า 6 ปี จนประสบความสำเร็จ และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป บริษัท ได้พัฒนารูปแบบการปลูกชนิดของพืชที่ปลูก ตลอดจนอุปกรณ์ที่ใช้ในการปลูกให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ ลักษณะนิสัยการบริโภคการคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ และความปลอดภัยของผู้บริโภค และที่สำคัญเทคโนโลยี ตลอดจนอุปกรณ์ทั้งหมดผลิตขึ้นเองภายในประเทศ จึงทำให้ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศทำให้การลงทุนถูกลงมาก และสามารถแข่งขันได้กับต่างชาติ อีกทั้งยังสามารถปลูกผักได้ทุกชนิด และทุกสภาพอากาศทุกพื้นที่การเกษตร ขั้นตอนการปลูกก็ไม่ยุ่งยาก ดูแลรักษาง่าย ได้ผลผลิตที่แน่นอน และสูงกว่าการปลูกแบบไร้ดินของต่างประเทศ ผลผลิตที่ได้จะปราศจากสารพิษ 100% ปัจจุบันผู้บริโภคได้ตื่นตัวอย่างมากต่อการบริโภคพืชผักที่ปราศจากสารพิษ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า การปลูกพืชแบบดั้งเดิมไม่อาจหลีกเลี่ยงสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้เพราะการระบาดของศัตรูพืช และการดื้อยาของศัตรูพืช ถึงเวลาแล้วที่ควรจะส่งเสริมให้มีการปลูกพืชผักในรูปแบบใหม่ที่ไม่ยุ่งยากและได้ผลผลิตที่ปลอดสารพิษ เพื่อให้ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการผลิตพืชแผนใหม่ บริษัทฯ จึงได้ค้นคว้า และพัฒนาเทคนิคใหม่ในการปลูกพืชไร้ดิน จนประสบความสำเร็จ และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการเกษตรแผนใหม่ และมีความพร้อมอย่างมากที่จะเผยแพร่เทคโนโลยีการเกษตรแผนใหม่เพื่อให้ภาคการเกษตรไทยมีความก้าวหน้า และรองรับความต้องการของผู้บริโภคให้ทัน และยกระดับความรู้ให้แก่เกษตรกรเพื่อความก้าวหน้าของวงการเกษตรประเทศไทยต่อไป

หลังจากได้ศึกษาและอบรมดูงานด้านต่างๆ แล้วก็ได้เริ่มทดลองการปลูกพืชไร้ดิน โดยใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่มีอยู่ในท้องตลาด เช่น ท่อน้ำ PVC หลังคากระเบื้องโฟมแผ่นทั่วไป และใช้ธาตุอาหารจากแหล่งที่พอจะหาได้รวมถึงการสั่งเข้ามาจากต่างประเทศประมาณ 1 ปี ผลผลิตที่ได้ และการดูแลไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจนัก จึงได้เริ่มทดลองผสมธาตุอาหารเอง และออกแบบระบบปลูกใหม่ทั้งหมด โดยนำเอาปัญหาต่างๆ ที่พบมาแก้ไข ทำให้ได้ระบบการปลูกที่ดี และเหมาะสมที่สุดสำหรับสภาพต่างๆ ของประเทศ ทำให้ต้นทุนผักสดลดต่ำลงอย่างมาก และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตลาดมีความต้องการสูง จึงได้จัดตั้งบริษัทขึ้นเพื่อผลิตผักสด และจำหน่ายระบบการปลูกทั้งเพื่อการพาณิชย์ และการศึกษา ใช้เงินลงทุน 12 ล้านบาท ผลิตผักสดวันละ 1,000 กก. (มากที่สุดในประเทศ) บนเนื้อที่ 9 ไร่ ผลผลิตจัดจำหน่ายให้กับห้างสรรพสินค้า และหน้าฟาร์มผลปรากฏเป็นที่น่าพอใจมากผู้บริโภคให้ความสนใจ และยังสามารถจำหน่ายแปลงปลูกชุดเล็กให้กับสถาบันการศึกษา และผู้สนใจนำไปปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนเป็นงานอดิเรก นอกจากนี้ยังได้รับความสนใจจากภาครัฐฯ เข้าเยี่ยมชมศึกษาดูงานจำนวนมาก และปัจจุบันได้ร่วมกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี กรมอาชีวศึกษา จัดให้สถานที่ฝึกงานในโครงการทวิภาคี ทุกปีเป็นการวางรากฐานของการพัฒนาการเกษตรแผนใหม่ต่อไป ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าแนวทางในการพัฒนาด้านการเกษตรยังมีช่องทางอีกมากสำหรับผู้สนใจ และเกษตรกรที่จะพัฒนาเทคโนโลยี และคิดค้นสิ่งใหม่ที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในวงการเกษตรของบ้านเรา เพื่อยกระดับองค์ความรู้ให้กว้างขวางเพื่อให้การเกษตรของประเทศมีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด
เหตุผลและทางเลือกในการลงทุนการปลูกพืชไร้ดิน

ด้วยความสนใจในความเป็นไปของวงการเกษตรทั้งเรื่องของผลผลิต วิธีการผลิต การจัดจำหน่าย การจัดการการผลิตและเทคโนโลยีการผลิตของประเทศไทย พบว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังไม่สมบูรณ์ยังขาดการพัฒนา หรือแนวคิดที่ยังขาดๆ เกินๆ อีกมากตัวอย่างเช่น เกษตรกรผลิตคะน้าออกมาในแต่ละวันมีจำนวนมาก และราคาถูกแต่ขณะเดียวกันยังมีการนำเข้าคะน้าฮ่องกงจากประเทศจีนในแต่ละวันเป็นจำนวนไม่น้อยเพื่อรองรับกับความต้องการของผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่ง หรือการใช้ปุ๋ย และสารกำจัดศัตรูพืชในประเทศที่สูงกว่าอีกหลายประเทศมากในขณะที่ผลผลิตที่ได้น้อยกว่ากันหลายเท่าตัวแม้แต่การใช้พื้นที่ หรือแรงงานในการเกษตรของบ้านเราก็ไม่คุ้มค่า และขาดประสิทธิภาพจนเกิดสภาพขาดความสามารถในการแข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมากเพราะประเทศเราเป็นประเทศกสิกรรมมาอย่างยาวนาน แต่การพัฒนาหรือเทคโนโลยีที่จะนำมาพัฒนาด้านการเกษตรยังไม่กว้างขวางลงไปสู่ภาคการผลิตและเกษตรกรอย่างทั่วถึง และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง องค์ความรู้ด้านการเกษตรแบบใหม่ๆ ก็กระจุกอยู่ตามสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานราชการต่างๆ การถ่ายทอดไปยังเกษตรกรเป็นไปอย่างเชื่องช้า นโยบายภาครัฐก็มีอยู่ทุกๆ สมัยที่จะยกระดับ และพัฒนาการเกษตรของประเทศงบประมาณในแต่ละปีที่ภาครัฐจัดสรรให้กับการเกษตรก็มีมากมายมหาศาลแต่ผลของการใช้งบประมาณของภาครัฐก็ปรากฏออกมาอย่างที่เราเห็นกัน จากปัญหาหลายสิ่งหลายอย่างที่ข้าพเจ้าพบเห็นก็เกิดมีแนวคิดว่าจะทดลองทำการปลูกพืชผักในวิธีการที่น่าจะเป็นไปได้ทั้งเรื่องของการผลิต การตลาด การจัดการ และใช้เทคโนโลยีที่การเกษตรแผนใหม่มาผสมผสานโดยเริ่มจากการสำรวจข้อมูลด้านการตลาดทั้งในส่วนของผู้บริโภค ช่างทางการจัดจำหน่าย ผลกำไร และอุปสรรคของการจัดจำหน่าย ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจพบว่ายังมีช่องทางที่จะทำตลาดได้อีกไม่น้อย
ด้านการผลิต

จากการศึกษาสภาพการผลิตในประเทศโดยเดินทางไปดูงานในสถานที่ต่างๆ และเข้ารับการอบรมสัมมนาทั้งจากภาครัฐ และเอกชน ผลที่ได้รับไม่เป็นที่น่าพอใจกล่าวคือ การผลิตยังมีปัญหา และอุปสรรคอีกมากรวมถึงผลกระทบจากธรรมชาติ เช่น ปริมาณน้ำฝนที่มาก และน้อยเกินไป ปัญหาเรื่องคุณภาพผลผลิต และปัญหาทางด้านแรงงานรวมถึงต้นทุนด้านปุ๋ย และสารกำจัดศัตรูพืช


ด้านเทคโนโลยี

ปัจจุบันเทคโนโลยีที่ใช้ในการเกษตรแผนใหม่ในประเทศเป็นเทคโนโลยีจากต่างประเทศทั้งสิ้น รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ และธาตุอาหารต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการผลิตอีกทั้งยังไม่สามารถใช้ได้กับพืชผักที่นิยมบริโภคในประเทศ คือ สามารถปลูกได้แต่ผักสลัด เช่น RED OAK, GREEN OAK, COS และ BUTTER HEAD เป็นต้น ทำให้มีปัญหามากทางด้านตลาดเพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่นิยมรับประทาน


ปัญหาและแนวคิดการปลูกพืชไร้ดินเชิงธุรกิจในประเทศไทย

ในปัจจุบันถ้าพิจารณาจากข้อมูล และสภาพความเป็นจริงแล้วสามารถกล่าวได้ว่าการปลูกพืชไร้ดินเชิงการค้าของประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น การผลิตพืชที่เป็นเชิงธุรกิจอย่างจริงจังยังน้อยมาก ทั้งที่การปลูกพืชไร้ดินได้มีการเข้ามาสู่ประเทศไทยกว่า 10 ปีแล้ว เนื่องจากปัญหาและอุปสรรคต่างๆ รวมทั้งขาดข้อมูลทั้งด้านการผลิต การตลาด เทคโนโลยี และที่สำคัญที่สุดคือการบริหารจัดการที่ดีทำให้การปลูกพืชไร้ดินในประเทศไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร ดังนั้น การที่จะพิจารณาหาทางผลิตพืชไร้ดินนั้นควรจะต้องทราบถึงแนวคิด หลักการ และแนวทางปฏิบัติให้ได้เสียก่อน การที่จะผลิตให้ประสบผลสำเร็จนั้นผู้ผลิตจะต้องเข้าใจถึงองค์ประกอบที่สำคัญๆ เช่น วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ สารอาหาร พันธุ์พืช ฯลฯ


ปัญหาการปลูกพืชไร้ดินในประเทศไทย

ปัญหาหลักใหญ่สำหรับการปลูกพืชไร้ดินพอสรุปได้ดังนี้
1. ขาดแหล่งข้อมูล และองค์ความรู้ที่จะค้นคว้า
2. ตลาดยังขาดความเข้าใจในผลผลิต
3. ขาดวัตถุดิบที่เหมาะสมในการผลิต
4. สภาพอากาศไม่เหมาะสม
5. ขาดการส่งเสริมจากภาครัฐอย่างจริงจัง
6. ขาดความรู้ความสามารถในการจัดการที่เหมาะสม

ปัญหานี้จัดว่าเป็นปัญหาใหญ่ และเกี่ยวข้องกับบุคลากรเนื่องจากการปลูกพืชไร้ดินจะต้องเกี่ยวข้องกับโลกของปุ๋ยเคมี ดังนั้นการเรียนรู้ชนิดของปุ๋ย การเลือกใช้ การคำนวณ การผสมปุ๋ยรวมทั้งการควบคุมค่าต่างๆ ของปุ๋ยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ความรู้เกี่ยวกับต้นพืช การเพาะกล้า การดูแล การจัดการศัตรูพืช การบำรุงรักษาระบบปลูก การเก็บผลผลิตให้ได้ตรงตามมาตรฐานของลูกค้า
ความรู้พื้นฐานเชิงช่างเกี่ยวกับการสร้างระบบปลูก ระบบการให้ปุ๋ย ระบบไฟฟ้า และวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการปลูก
ความรู้เกี่ยวกับการตลาด เช่นการวิเคราะห์การตัดสินใจเลือกผลิตพืช กำหนดกลยุทธ์ในการผลิต การกำหนดราคาจำหน่าย การให้ความรู้แก่ผู้บริโภค และการเข้าถึงแหล่งจัดจำหน่ายซึ่งเป็นงานที่ท้าทายละเอียดลออต้องอาศัยการฝึกฝนปฏิบัติอย่างจริงจังจึงจะประสบความสำเร็จได้


แหล่งที่มา : bangsaiagro.com

อัพเดทล่าสุด