โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาหารสําหรับโรคกระเพาะ วิธีรักษาโรคกระเพาะอาหาร


866 ผู้ชม


โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ อาหารสําหรับโรคกระเพาะ วิธีรักษาโรคกระเพาะอาหาร

 

 

 

โรคแผลในกระเพาะอาหารและอีกหนึ่งสาเหตุที่น่ารู้ 

…....การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโรไล ( Helicobacter Pylori )

 
 

“ผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโรไล มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มากกว่าคนทั่วไปถึง 3-6 เท่า”

 
 

         เมื่อพูดถึงโรคแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer) ในความเป็นจริงแล้วยังต้องพูดรวมไปถึงโรคแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenal ulcer) ด้วย เพราะสามารถก่อให้เกิดอาการได้เหมือนกับอาการอันเนื่องมาจากแผลในกระเพาะอาหาร รวมทั้งการรักษาก็ยังใช้ยาในกลุ่มเดียวกันอีกด้วย ดังนั้นโดยทั่วไปแพทย์จึงสื่อสารกับผู้ป่วยโดยใช้คำรวมว่าแผลในกระเพาะอาหารเพื่อให้เข้าใจง่ายครับ

 

         ผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหารอาจมีอาการได้หลายรูปแบบ ได้แก่ อาการปวดจุกแน่นหรือแสบร้อนบริเวณท้องส่วนบน อาการท้องอืดท้องเฟ้อเหมือนอาหารไม่ย่อย ทานอาหารแล้วอิ่มเร็วกว่าปกติ อาการคลื่นไส้อาเจียน ร่วมกับเบื่ออาหาร ซึ่งส่วนใหญ่เรามักจะคิดว่าอาการเหล่านี้เกิดจากการทานอาหารรสจัด การทานอาหารผิดประเภทหรือผิดเวลา แต่จริงๆแล้วถ้าเราสามารถตรวจพบสาเหตุได้ว่าเกิดเนื่องมาจากโรคแผลในกระเพาะอาหาร การให้ยารักษาร่วมกับการแก้ไขที่สาเหตุจะทำให้แผลหายและลดโอกาสการเกิดเป็นซ้ำได้

 

         หมออยากจะแนะนำผู้ป่วยที่มีอาการของโรคกระเพาะอาหารว่าควรจะสังเกตอาการผิดปกติบางอย่างซึ่งเป็นอาการเตือนถึงโรคร้ายแรง โดยอาการดังกล่าวเรียกว่าเป็น สัญญาณเตือนภัย ซึ่งได้แก่ อาการปวดท้องร่วมกับท้องอืดท้องโตเป็นเวลานาน คลำได้ก้อนในท้อง เบื่ออาหาร น้ำหนักลด กลืนอาหารติด กลืนลำบาก มีอาการอาเจียนบ่อยๆ มีประวัติครอบครัวของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มีอายุเกิน 40 ปีหรือมีประวัติเคยได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารมาก่อน ซึ่งลักษณะอาการดังกล่าว แสดงว่าผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร (Gastric Cancer)

 

         ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการของโรคแผลในกระเพาะอาหารมานาน แต่ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อันเนื่องมาจากแผลในกระเพาะอาหาร ได้แก่

 

  1. ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร (Hemorrhage) ทำให้เกิดอาการถ่ายอุจจาระเป็นเนื้อเละๆสีดำ หรืออาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ในกรณีที่เลือดออกมากอุจจาระอาจมีสีออกดำปนแดงและผู้ป่วยอาจมีอาการหน้ามืดเป็นลม หรือมีความดันโลหิตต่ำจนเกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว
  2. ภาวะกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้นทะลุ (Perforation) ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องรุนแรงมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อาจมีอาการปวดร้าวทะลุไปที่หลัง หรือปวดท้องบริเวณลิ้นปีและลุกลามไป มีอาการปวดทั่วท้องในเวลาต่อมาซึ่งแสดงถึงภาวะทะลุของกระเพาะอาหาร และมีการรั่วของกรดในกระเพาะอาหารออกไปสู่ช่องท้อง 
    มีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยจำนวนมากถึง 10-25% ที่มีภาวะกระเพาะอาหารทะลุโดยไม่เคยมีอาการของโรคแผลในกระเพาะอาหารมาก่อนเลยก็ได้
  3. ภาวะทางเดินอาหารส่วนบนตีบตัน (Obstruction) อันเนื่องมาจากการมีแผลในกระเพาะอาหารบริเวณทางออกของกระเพาะอาหาร (Pyloric ulcer)
    หรือลำไส้เล็กส่วนต้น ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อึดอัดแน่นท้อง ทานอาหารได้น้อย ทานแล้วอิ่มเร็วกว่าเดิม น้ำหนักลด มีอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังทานอาหารไปแล้ว1/2 -1 ชั่วโมง โดยเฉพาะหลังอาหารเย็นหรือหลังอาหารมื้อใหญ่

 

แผลในกระเพาะอาหารเกิดจากอะไร...และจะรักษาได้อย่างไร?

 

         ความจริงแล้ว แผลในกระเพาะอาหารเกิดขึ้นเนื่องจากมีการทำลายกลไกป้องกันตนเองของกระเพาะอาหาร ซึ่งทำให้มีการเสียการทำงานของชั้นสารเคลือบปกป้องผิวเยื่อบุภายในกระเพาะอาหาร การเสื่อมสภาพของเซลล์เยื่อบุผิว การลดปริมาณการคัดหลั่งสารที่มีฤทธิ์เป็นด่างซึ่งทำหน้าที่เจือจางกรดในกระเพาะอาหาร รวมทั้งการที่มีเลือดไหลเวียนไปยังเซลล์เยื่อบุผิวลดลง การสูญเสียกลไกป้องกันตนเองดังกล่าวของกระเพาะอาหารมีสาเหตุที่สำคัญ ดังนี้ครับ

 

  1. การติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโรไล ( Helicobacter pylori ) เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มีรูปร่างเป็นเกลียวและมีหาง มีความทนกรดสูงเนื่องจากสามารถสร้างสารที่เป็นด่างออกมาเจือจางกรดที่อยู่รอบๆตัวมัน  มันจึงสามารถอาศัยอยู่ในชั้นผิวเคลือบภายในกระเพาะอาหารได้ และยังสร้างสารพิษไปทำลายเซลล์เยื่อบุผิวของกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดการอักเสบและเกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร แบคทีเรียนี้เป็นสาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารคิดเป็นสัดส่วน 60% ของสาเหตุทั้งหมด และยังเป็นสาเหตุของการเกิดแผลในลำไส้เล็กส่วนต้นคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 80% นอกจากนี้มีการศึกษาวิจัยซึ่งสมาคมแพทย์ทั่วโลกและองค์การอนามัยโลก พบว่าเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ไพโรไล เป็นสารก่อมะเร็ง ( Carcinogen group 1) ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งของกระเพาะอาหาร มากกว่าประชากรทั่วไปถึง 3-6 เท่า  และยังสามารถทำให้เกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่บริเวณกระเพาะอาหารได้เช่นกัน
    เชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1979 และทำให้แพทย์ผู้ค้นพบได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์เมื่อปี ค.ศ.2005 ส่วนสาเหตุของการติดเชื้อมีความเชื่อว่าอาจติดมาจากการปนเปื้อนอยู่ในอาหารและอุจจาระ ซึ่งเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางปาก โดยส่วนมากจะพบอัตราการติดเชื้อตั้งแต่ในวัยเด็ก แต่การแสดงออกทางอาการส่วนมากจะพบได้เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว และจะพบมากในช่วงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป  มีการศึกษาประชากรในกรุงเทพฯพบว่ามีความชุกของการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้สูงถึง 37% เห็นมั้ยครับว่าแบคทีเรียนี้มีอยู่ใกล้ตัวเรามากทีเดียวนะครับ
  2. การรับประทานยาบางชนิด โดยเฉพาะยาในกลุ่มแก้ปวดที่เป็นยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal antiinflammatory drugs-NSAIDs)  ซึ่งพบว่ามีการใช้ยาชนิดนี้กันอย่างแพร่หลายเนื่องจากมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและโรคข้อได้เป็นอย่างดี  รวมทั้งยาแอสไพรินที่เป็นยาในกลุ่มเดียวกันนี้ซึ่งมีประโยชน์ในการป้องกันเส้นเลือดแดงตีบตัน แต่ก็พบว่ามีผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้นอกจากนี้ยังมียาในกลุ่มอื่น เช่น ยารักษาอาการกระดูกพรุนในกลุ่มที่เรียกว่า Bisphosphonate ยาโปแตสเซียมชนิดเม็ด เป็นต้น การทานยาต่างๆเหล่านี้จึงเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องรับประทานยาหลายอย่าง ทั้งโรคกระดูกและโรคหัวใจ
  3. ภาวะมีกรดมากเกินในกระเพาะอาหาร ทำให้กลไกการป้องกันตนเองไม่สามารถทนต่อสภาวะกรดรุนแรงได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากเนื้องอกบางชนิด หรือกลไกการควบคุมการหลั่งกรดสูญเสียไป

 

         นอกจากนี้พบว่ามีอีกหลายปัจจัยที่เป็นตัวส่งเสริมให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา ความเครียด พันธุกรรม และโรคร่วม เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคตับแข็ง โรคไตวายเรื้อรัง  ส่วนการรับ ประทานอาหารที่หลายคนเข้าใจว่าทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารนั้นยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยัน  แต่พบว่าการรับประทานอาหารรสจัด ชา กาแฟ น้ำอัดลม จะทำให้เกิดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง การวินิจฉัยโรคแผลในกระเพาะอาหารในปัจจุบันถือว่าการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน ( Esophagogastroduodenoscopy-EGD ) เป็นวิธีที่เป็นมาตรฐานและดีที่สุด ในทางการแพทย์ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคกระเพาะอาหารและได้รับการรักษาด้วยยาลดกรดแล้วอย่างน้อย 1 เดือนแล้วอาการไม่ทุเลา ควรได้รับการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน ซึ่งแพทย์สามารถตรวจพิสูจน์โดยนำตัวอย่างเนื้อเยื่อขนาดเล็ก 1-2 มิลลิเมตรจากบริเวณแผลและเนื้อเยื่อใกล้เคียงไปตรวจหาแบคทีเรียโดยนำตัวอย่างชิ้นเนื้อใส่บนแผ่นทดสอบทางเคมี ซึ่งถ้ามีเชื้อแบคทีเรียจะสามารถสร้างสารที่มีสภาพเป็นด่างและเปลี่ยนสีของแผ่นทดสอบให้เห็นได้ นอกจากนี้ตัวอย่างชิ้นเนื้อจะถูกส่งไปให้พยาธิแพทย์ทำการตรวจเพื่อหาเชื้อแบคทีเรียซ้ำอีกครั้ง ในกรณีตรวจเบื้องต้นด้วยแผ่นทดสอบทางเคมีแล้วได้ผลลบ รวมทั้งตรวจเพื่อแยกโรคระหว่างแผลในกระเพาะอาหารกับโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร หรือโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่กระเพาะอาหารที่มีลักษณะเป็นแผลได้  ดังนั้นการตรวจส่องกล้องกระเพาะอาหารจึงถือว่าเป็นการตรวจที่สำคัญมากทีเดียวเลยนะครับสำหรับผู้ป่วยโรคนี้

 
 

  1. การรักษาสาเหตุ ในกรณีตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้การรักษาโดยให้ยารับประทาน 3-4 ชนิดร่วมกัน นาน 1-2 สัปดาห์ สูตรยาส่วนใหญ่เป็นยาปฏิชีวนะอย่างน้อย 2 ชนิดร่วมกับยาลดกรดในกลุ่มที่เรียกว่า Proton Pump Inhibitor ซึ่งมีชื่อย่อว่า PPI ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดได้เป็นอย่างดี ใช้เพื่อรักษาแผลและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจหาเชื้อซ้ำภายหลังจากได้รับประทานยาปฏิชีวนะครบแล้ว โดยอาจเป็นการตรวจโดยการส่องกล้องกระเพาะอาหารอีกครั้งเพื่อทำการพิสูจน์ชิ้นเนื้อ(Tissue Biopsy)ซ้ำ หรือทดสอบโดยการรับประทานยาสำหรับทดสอบเชื้อแบคทีเรียโดยตรง และตรวจวัดสารที่ถูกปล่อยออกมาทางลมหายใจ ( Urea Breath Test-UBT ) ทั้ง 2 วิธีถือเป็นวิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน  หลังตรวจพิสูจน์แล้วว่าไม่พบเชื้อแบคทีเรีย โอกาสการเกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กซ้ำจะมีน้อยกว่า 10% ภายใน 1 ปีหลังได้รับการรักษา ส่วนการรักษาโดยยาลดกรด PPI เพียงอย่างเดียวอาจทำให้แผลหายได้เช่นกัน แต่มีผลเสียคือมีโอกาสเกิดแผลซ้ำได้สูง และทำให้มีโอกาสที่เชื้อแบคทีเรียจะทำลายเยื่อบุผิวกระเพาะอาหารลุกลามมากขึ้นได้ จึงน่าเป็นห่วงสำหรับผู้ป่วยที่มักจะรับประทานยาลดกรดเอง แล้วมีอาการเป็นๆหายๆโดยไม่เคยได้รับการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคที่ไม่หายขาดและส่งผลเสียต่อไปในอนาคตได้นะครับ
             ในกลุ่มผู้ป่วยที่รับประทานยาที่มีผลทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารก็ควรจะหยุดยาและหลีกเลี่ยงที่จะต้องรับยาในกลุ่มนี้ซ้ำอีก ยกเว้นในกรณีที่ยานั้นจำเป็นต่อการรักษาโรคผู้ป่วยควรจะได้รับยาลดกรดรับประทานต่อเนื่องควบคู่ไปกับยาที่ทานอยู่เพื่อรักษาแผล ลดโอกาสการเกิดแผลขึ้นใหม่ และลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากแผล  ส่วนในกรณีผู้ป่วยที่ตรวจพบภาวะกรดเกินจากเนื้องอกควรได้รับการผ่าตัดครับ
  2. การรักษาแผล ผู้ป่วยจะได้รับยาลดกรด PPI ทานเพื่อยับยั้งการหลั่งของกรดและส่งเสริมการสมานแผล โดยเฉลี่ยเป็นเวลานาน 6-8 สัปดาห์ รวมทั้งผู้ป่วยควรงดสูบบุหรี่หรือดื่มสุรา ควบคุมอาหารที่เพิ่มการหลั่งกรดดังกล่าว รวมทั้งลดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งการดูแลตัวเองดังนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการที่ดีขึ้นได้โดยเร็ว 

 

         ถึงตอนนี้หมอว่าทุกคนคงเข้าใจโรคแผลในกระเพาะอาหารกันดีแล้วใช่มั้ยครับ ดังนั้นเราสามารถสังเกตและแสดงความห่วงใยต่อคนรอบข้างเราได้ว่ามีอาการของโรคกระเพาะอาหารหรือไม่ แล้วได้รับประทานยาลดกรดร่วมกับดูแลปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นอย่างดีแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นสัญญาณเตือนภัยถึงโรคร้าย ก็อย่านิ่งนอนใจนะครับ ควรมาพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา เพราะหมออยากให้ทุกคน ปราศจากโรค ดังคำภาษาบาลีที่ว่า อโรคา ปรมา ลาภา ...ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ นะครับ

 
 
 

โดย นพ.กฤษฎา จำนงค์กิจพานิช อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ

แหล่งที่มา : vejthani.com

อัพเดทล่าสุด