อาการของโรคแอลดี โรคแอลดีคือ ลักษณะเด็กที่เป็นโรคแอลดี


1,185 ผู้ชม


อาการของโรคแอลดี โรคแอลดีคือ ลักษณะเด็กที่เป็นโรคแอลดี

 

 

LD คืออะไร

จะทราบได้อย่างไรว่า เด็กคนไหนเป็น LD

รักษาได้หรือไม

LD หรือ Learning Disabilities หมายถึง ความบกพร่องทางด้านการเรียนรู้ แสดงออกมาในรูปของปัญหาด้านการอ่าน การเขียน การสะกดคำ การคำนวณและเหตุผลเชิงคณิตศาสตร์ รศ. พญ. ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์ ผู้อำนวยการสถาบันสร้างสรรค์ศักยภาพสมองครีเอทีฟเบรน กล่าวว่า เด็ก LD หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ เป็นเด็กที่มีวงจรการทำงานของสมองไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็นเซลล์สมองบางส่วนอยู่ผิดที่ ทำให้มีปัญหาในการเรียน เรียนอ่อนบางวิชา หรือหลายๆ วิชา ทั้งที่สติปัญญาปกติ

บางคนมีปัญหาในการอ่านทั้งที่มีสายตาหรือประสาทตาปกติ แต่การแปลภาพในสมองไม่เหมือนคนทั่วไป ทำให้เห็นตัวหนังสือกลับหัวกลับหาง ลอยไป ลอยมา ไม่คงที่ บางครั้งเห็นๆ หยุดๆ มองเห็นตัวหนังสือหายไปเป็นบรรทัด บางครั้งเห็นตัวหนังสือแต่ไม่รู้ความหมาย

บางคนมีปัญหาการฟัง ทั้งที่การได้ยินปกติ แต่สมองไม่สามารถแยกแยะเสียงสูง- ต่ำ จึงมักเขียนสะกดผิด และไม่ทราบความหมายของคำ

บางคนมีปัญหาเรื่องทิศทาง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับภาษา ไม่รู้ว่าซ้ายหรือขวา กะระยะทางไม่ถูก ทำให้เดินชนอยู่บ่อยๆ

บางคนคำนวณไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจสัญลักษณ์ตัวเลข ฯ

จากการวิจัยในประเทศไทยพบว่า ปัจจุบันมีเด็กไทย โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษาปีที่ 1-2 กว่า 700,000 คน มีความบกพร่องทางการ เรียนรู้ อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ตามวัย ทั้งที่มีระดับสติปัญญา (IQ) ปกติ

หรือสูงกว่าปกติได้ในบางคน ซึ่งเป็นอาการของเด็ก LD

สาเหตุของเด็ก LD

ศ. ดร. ผดุง อารยะวิญญู อาจารย์ประจำภาควิชาการศึกษาพิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระบุว่า มีสาเหตุสำคัญ 3 ประการ ประการแรก คือ กรรมพันธุ์ เด็กบางคนอาจมีญาติผู้ใหญ่ที่ เป็น LD แต่สังคมในสมัยก่อนยังไม่รู้จัก LD ประการที่สอง การที่เด็กคลอดก่อนกำหนด ทำให้เซลล์สมองผิด ปกติ และสุดท้ายคือ สารเคมีเข้าสู่ร่างกายและสะสมในปริมาณที่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารตะกั่วซึ่งมาจากอากาศและอาหารที่ปนเปื้อนสารเหล่านี้

นอกจากนี้ โรค LD ยังอาจมีสาเหตุมาจากเคยมีโรคติดเชื้อหรืออุบัติเหตุรุนแรงที่สมอง เป็นโรคลมชัก โรค LD มักพบร่วมกับโรคสมาธิสั้น โรคกระตุก (Tic Disorders) และกลุ่มที่มีความล่าช้าในภาษาและการพูด โดยเฉพาะกับโรคสมาธิสั้น พบว่าเป็นร่วมกันถึง 30-40% คือในเด็กที่เป็น LD หรือสมาธิสั้น 10 คน จะมี 4 คน ที่จะเป็นทั้งสมาธิสั้นและ LD

 

อาการและพฤติกรรมของเด็ก LD

อาการของเด็ก LDจะมีมาตั้งแต่กำเนิด ทั้งที่มี IQ และร่างกายทุกส่วนปกติ และจะปรากฎชัดเมื่อเข้าเรียน คือ เบื่อการอ่าน อ่านหนังสือตะกุกตะกักไม่สมกับวัย เมื่อพ่อแม่ ครู ให้อ่านหรือทำการบ้าน ก็จะไม่ยอมอ่าน ทำให้สอบตก ถึงขั้นต้องเรียนซ้ำชั้น โดยวิชาที่เป็นปัญหามากที่สุด คือ คณิตศาสตร์ เนื่องจากอ่านไม่ออก จับความไม่ได้ ตีความโจทย์ไม่เป็น ทั้งที่เมื่ออ่านให้ฟังก็สามารถตอบได้ถูก

อาการของ LD อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

1. มีปัญหาในการอ่านหนังสือ (Dyslexia) อาจจะอ่านไม่ออก หรืออ่านได้บ้าง แต่สะกดคำไม่ถูก ผสมคำไม่ได้ สลับตัวพยัญชนะ สับสนกับการผันสระc]t วรรณยุกต์ บางทีสนใจแต่การสะกดคำ ทำให้อ่านแล้วจับความไม่ได้

2.มีปัญหาในการเขียนหนังสือ (Dysgraphia) ทั้งๆที่รู้ว่าจะเขียนอะไร แต่ก็เขียนไม่ได้ หรือเขียนได้ช้า เขียนตกหล่น เขียนพยัญชนะสลับกัน หรือคำเดียวกันแต่เขียนสองครั้งไม่เหมือนกัน บางคนเขียนแบบสลับซ้ายขวาเหมือนส่องกระจก ลายมือโย้เย้ ขนาดของตัวอักษรไม่เท่ากัน ขึ้นลงไม่ตรงบรรทัด ไม่เว้นช่องไฟ อาจจะเกิดจากมือและสายตาทำงานไม่ประสานกัน หรือการรับภาพของสมองไม่เหมือนคนอื่นๆ

3. มีปัญหาในการคำนวณ (Dyscalculia) อาจจะคำนวณไม่ได้เลย หรือทำได้แต่สับสนกับตัวเลข ไม่เข้าใจสัญลักษณ์ ไม่เข้าใจค่าของตัวเลข บางคนสับสนตั้งแต่การจำเครื่องหมายบวก ลบ คูณ หาร ไม่สามารถจับหลักการได้ เช่น หลักหน่วย หลักสิบ หลักร้อยต่างกันอย่างไร บางคนบวกลบเป็น เข้าใจเครื่องหมาย แต่ตีโจทย์คณิตศาสตร์ไม่ได้ เช่น ถามว่า 2+2 เท่ากับเท่าไร ตอบได้ แต่ถ้าบอกว่ามีส้มอยู่ 2 ลูก ป้าให้มาอีก 2 ลูก รวมเป็นกี่ลูก เด็กกลุ่มนี้จะตอบไม่ได้

 

จะทราบได้อย่างไรว่าเด็กคนไหนเป็น LD

แม้เด็ก LD จะไม่สามารถวินิจฉัยได้ชัดเจนในเด็กต่ำกว่า 6 ขวบ แต่ก็สามารถค้นหากลุ่มเสี่ยงได้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล โดยเฉพาะในกลุ่มที่ใช้มือไม่เก่ง งุ่มง่าม ซุกซน พูดช้า การทรงตัวไม่ดี สับสนทิศทาง สับสนซ้ายขวา หรือเด็กที่อายุเกินชั้นป. 1 แล้วยังพูดไม่ชัด มีปัญหาเรื่องของการใช้ภาษา พูด อธิบายหรือเล่าอะไรไม่ได้ ประโยคไม่ปะติดปะต่อ ก็อาจจะมี LD ร่วมด้วย และเมื่อถึงวัยประถมศึกษาที่ต้องแสดงความสามารถทางการเรียนแยกย่อยรายวิชา อาการของโรค ก็จะแสดงให้เห็นเด่นชัดขึ้น

นอกจากนี้ ครู ผู้ปกครองสามารถสังเกตได้ว่า เด็กมีอาการของโรค LD หรือไม่ ด้วยการดูจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของเด็กที่มักจะไม่มีระเบียบในชีวิต ขี้ลืม หาของไม่ค่อยเจอทั้งที่อยู่ใกล้ตัว เด็ก LD จะไม่ค่อยสนใจอ่าน เขียน และทำการบ้าน มีลายมือสูงๆ ต่ำๆ ผอมๆ อ้วนๆ ปะปนกันในหนึ่งบรรทัด เขียนไม่เป็นระบบ ทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างไม่รอบคอบ ผิดๆ ถูกๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองที่สงสัยว่าลูกเป็น LD สามารถพาลูกไปรับการทดสอบและรับการช่วยเหลือได้ที่ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร) และโรงพยาบาลที่มีเครื่องทดสอบ เช่น โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นต้น

จะช่วยเหลือเด็ก LD ได้อย่างไร

LD ถือเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาให้หายได้เด็ดขาด แต่สามารถรักษาให้มีอาการดีขึ้นตามลำดับ การฝึกฝนอาจจะทำให้ทักษะการอ่าน เขียน หรือคำนวณพัฒนาขึ้นมาได้บ้างเป็นบางส่วน แต่โดยธรรมชาติ วิธีการเรียนรู้ของเด็ก LD จะแตกต่างจากเด็กอื่นๆ เทคนิคที่ใช้จึงแตกต่างกันไป

ผู้ปกครองและครูจะต้องมีความเข้าใจถึงความแตกต่างและข้อจำกัดของเด็ก ต้องสอนเด็กกลุ่มนี้เป็นพิเศษ อาจแยกวิชาที่เด็กอ่อน เช่น อ่อนการสะกดคำ ก็แยกมาสอนเฉพาะเพื่อพัฒนาส่วนนั้น รวมทั้งช่วยฝึกฝนประสาทตาและมือให้เด็ก เพราะสองส่วนนี้เป็นสิ่งสำคัญในการใช้อ่านและเขียน

เมื่อสงสัยว่า เด็กเป็น LD ซึ่งถือว่าเป็นความพิการชนิดหนึ่งที่เด็กจะต้องได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์และการศึกษาตามกฎหมาย ครูมีสิทธิที่จะส่งเด็กไปพบแพทย์ เมื่อตรวจพบ แพทย์จะเป็นผู้ออกใบรับรองเพื่อให้เด็กได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งทั้งพ่อแม่ ครู และแพทย์ต้องทำงานร่วมกันในการให้ความช่วยเหลือเด็ก

ขั้นตอนต่อไปทางการศึกษานั้นคือ ครูจะต้องจัดทำแผนการเรียนเฉพาะบุคคล (IEP - Individualized

Educational Program) สำหรับเด็ก ทั้งนี้เพื่อให้เด็กได้รับการแก้ไขความบกพร่องในการเรียนรู้ได้ตรงเป้าหมายยิ่ง ขึ้น นอกจากนี้ ครูอาจจะปรับกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นการฟัง การเห็น การลงมือปฏิบัติมากกว่าจะเน้นการอ่าน หรือมีสื่อการศึกษาประเภทต่างๆ เข้ามาช่วย เช่น เทปเสียง วิดีโอ คอมพิวเตอร์ เพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้ต่อไป

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

แหล่งที่มา : kroonon.com , braille-cet.in.th

อัพเดทล่าสุด