ผักไฮโดรโปนิกส์ ต้นทุนการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์แบบประหยัด
การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์
ไฮโดรโปนิกส์ ( Hydroponics) คือ เป็นการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน นับเป็นวิธีการใหม่ในการปลูกพืช โดยเฉพาะการปลูกผักและพืชที่ใช้เป็นอาหาร เนื่องจากประหยัดพื้นที่ และไม่ปนเปื้อนกับสารเคมีต่างๆ ในดิน ทำให้ได้พืชผักที่สะอาดเป็นอาหาร ปัจจุบันนี้ในเทคนิคการปลูกพืชแบบไร้ดินหลายแบบด้วยกัน
นักวิจัยด้านเมตาบอลิซึมของพืชได้ค้นพบว่าพืชจะดูดซึมสารอาหารมาเป็นไอออนในน้ำ ซึ่งมีโครงสร้างไม่ซับซ้อน ในสภาพตามธรรมชาตินั้น ดินจะทำหน้าที่เป็นแหล่งสารอาหาร แต่ดินเองนั้นไม่จำเป็นต่อการเติบโตของพืช เมื่อสารอาหารในดินละลายไปกับน้ำ รากของพืชก็จะสามารถดูดซึมสารอาหารนั้นได้ เมื่อใส่สารอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชไว้ในแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ดินเพื่อเป็นแหล่งอาหารของพืชอีกต่อไป พืชส่วนใหญ่จะเติบโตด้วยวิธีไฮโดรโปนิกส์ได้ แต่เติบโตได้ดีมากน้อยแตกต่างกัน การปลูกพืชไร้ดินนี้ทำได้ง่าย สะดวก และประหยัดพื้นที่ แต่ต้องมีอุปกรณ์ที่จำเป็น นั่นคือสารอาหารสำหรับพืชที่ละลายอยู่ในน้ำแล้ว
ประโยชน์ของการปลูกพืชไร้ดิน ไฮโดรโปนิกส์นั้นมีประโยชน์หลักๆ 2 ประการด้วยกัน ประการแรกคือช่วยให้มีสิ่งแวดล้อมที่ควบคุมได้มากขึ้นสำหรับการเติบโตของพืช แทนที่จะเป็นการใช้ดินอย่างเดิม ทำให้กำจัดตัวแปรที่ไม่ทราบออกไปจากการทดลองได้จำนวนมาก ประการที่สองก็คือ พืชหลายชนิดจะให้ผลผลิตได้มากในเวลาที่น้อยกว่าเดิม และบางครั้งก็มีคุณภาพที่ดีกว่าเดิมด้วย ซึ่งในสภาพแวดล้อมและสภาพการเศรษฐศาสตร์หนึ่งๆ การปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์จะให้ผลกำไรแก่เกษตรกรได้มากขึ้น และด้วยการปลูกที่ไม่ใช้ดิน จึงทำให้พืชไม่มีโรคที่เกิดในดิน ไม่มีวัชพืช และไม่ต้องจัดการดิน และยังสามารถปลูกพืชใกล้กันมากได้ ด้วเหตุนี้พืชจึงให้ผลผลิตในปริมาณที่มากกว่าเดิม ขณะที่ใช้พื้นที่จำกัด นอกจากนี้ยังมีการใช้น้ำน้อยมาก เพราะมีการใช้ภาชนะหรือระบบวนน้ำแบบปิด เพื่อหมุนเวียนน้ำ เมื่อเทียบกับการเกษตรแบบเดิมแล้ว นับว่าใช้น้ำเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้น
ด้วยคุณภาพที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ไฮโดรโปนิกส์มีประโยชน์กับการปลูกพืชที่ไม้ใช่วิธีการแบบเดิมๆ นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ได้เสนอมานานแล้วว่า ไฮโดรโปนิกส์จะทำให้สถานีอวกาศ หรือ ยานอวกาศ สามารถปลูกพืชไร้ดินได้เอง และคุณสมบัติดังกล่าวนี้ทำให้ไฮโดรโปนิกส์เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกพืชโดยการการควบคุมปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้มากที่สุด และมีความหนาแน่นสูงสุด
NFT (Nutrient Film Technique)
การให้สารละลายผ่านรากพืชเป็นแผ่นบางๆ (Nutrient Film Technique) เป็นเทคนิคที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เป็นการปลูกพืชโดยรากแช่อยู่ในสารละลายโดยตรง สารละลายจะไหลเป็นแผ่นฟิล์มบางๆ (หนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร)
การเพาะเมล็ดด้วยฟองน้ำ
นำแผ่นฟองน้ำใส่ลงไปในกระบะเพาะตามจำนวนก้อนฟองน้ำที่เราต้องการจะเพาะเมล็ดหรือเกินจำนวนไว้สักเล็กน้อย และรดน้ำลงไปในกระบะเพาะพร้อมกับนวดฟองน้ำเพื่อให้ฟองน้ำอุ้มน้ำไว้เต็มที่นำเมล็ดพันธุ์กดลงในฟองน้ำที่มีรอยบากที่เป็นเครื่องหมายบวกไว้แล้ว โดยกดลงไปประมาณ ½ ซ.ม. เท่านั้น (หากลงลึกเกินไปเมล็ดจะแตกใบออกมาช้า และหากตื้นเกินไปเมล็ดจะงอกรากช้า) เมล็ดพันธุ์ที่เหลือควรเก็บไว้ในตู้เย็น
เมื่อนำเมล็ดกดลงในฟองน้ำครบทุกก้อนเรียบร้อยแล้วรดน้ำให้ชุ่มซ้ำอีกครั้งหนึ่งและเก็บกระบะเพาะไว้ในที่ร่ม ระหว่าง 2-3 วันนี้ให้คอยรดน้ำ เช้า-เย็น ลงบนฟองน้ำให้ทั่ว (อย่าให้หน้าฟองน้ำแห้ง) หลังจากการเพาะประมาณ 3 วัน จะเห็นต้นกล้าเล็กๆ งอกออกมา
ต้นกล้าที่งอก อายุประมาณ 1 วัน นำกระบะเพาะต้นกล้าออกมารับแสงแดดประมาณ 5-6 ชั่วโมง (อย่าลืมเอาออกมารับแสงแดด เพราะจะทำให้ยืดลำต้นยาว ซึ่งธรรมชาติของผักสลัดเป็นผักทรงพุ่ม) จากนั้นนำไปเก็บไว้ในที่ที่มีแสงสว่าง ทำเช่นนี้ประมาณ4-5 วัน และคอยเติมน้ำเปล่า (อย่าราดลงบนฟองน้ำ เพราะจะเกิดตะไคร่น้ำไม่สวย ควรราดน้ำบริเวณขอบกระบะเพาะ) ให้ระดับน้ำอยู่ประมาณ ½ ฟองน้ำ ระวังอย่าให้น้ำแห้ง
เมื่อต้นกล้ามีอายุประมาณ 7 วัน หรือมีใบจริง (ใบที่ 3 ) งอกออกมา และจะมีรากโผล่ออกมาจากก้อนฟองน้ำเล็กน้อย ให้เติมน้ำที่ผสมสารละลายธาตุอาหาร A และ B อย่างละ 5 ซี.ซี. ต่อน้ำ 1 ลิตร ให้สูงประมาณ ½ ฟองน้ำ และหมั่นตรวจสอบระดับน้ำอยู่เสมอ ระวังอย่าให้น้ำแห้ง เมื่อต้นกล้าอายุประมาณ 14 วัน หรือมีรากโผล่ออกมาจากฟองน้ำมากขึ้นก็สามารถย้ายลงรางปลูกได้ (ควรทำเวลาเย็น)
การลงรางปลูก (ควรทำเวลาเย็น)
ต้นกล้าอายุได้ประมาณ 14 วัน ก่อนนำลงรางปลูกให้เติมน้ำลงถังน้ำ 40 ลิตร ปรับค่ากรด-ด่าง pH 5.5.-6.5 (ให้วัดค่า pH ก่อน แล้วอ่านค่าถ้าเป็นน้ำประปาจะได้ค่า pH ประมาณ 6.8 ขึ้นไป ให้ใส่ pH down ทีละ 10 cc. แล้ววัดค่า pH ทำสลับกันไปจนปรับค่า pH ที่ 5.5-6.5 ) ให้เติมสารละลายธาตุอาหาร A ก่อนสารละลายธาตุอาหาร B ก่อนประมาณ 30 นาที อย่างละ 200 cc. ต่อน้ำ 40 ลิตร อัตราส่วน 1:200 (ในกรณีที่มีเครื่องวัดEC ให้ความเข้มข้นของสารละลายอยู่ที่ประมาณ 1.2 )
การดูแลระหว่างการปลูก (อายุผัก ระหว่าง วันที่ 14-45 วัน)
หมั่นตรวจเช็คภาพความเป็นกรด-ด่างของน้ำ ให้อยู่ระหว่าง pH 5.5.-6.5 ในระบบรวมทั้งตรวจดูระดับน้ำในถังน้ำ (ถ้าเติมน้ำในถัง 10 ลิตร ให้เติมสารละลายธาตุอาหาร A และ B อย่างละ 50 cc. หรือในกรณีที่มีเครื่องวัดEC ให้ความเข้มข้นของสารละลายอยู่ที่ประมาณ 1.2 )
การเก็บเกี่ยวผลผลิต (อายุผัก ประมาณ 45-55 วัน ควรเก็บผักตอนเช้าที่อากาศเย็นๆ)
ก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 1-2 วัน ให้งดเติมสารละลายธาตุอาหาร ให้เติมน้ำเปล่าแทนเพื่อลดความเข้มข้นของสารละลายธาตุอาหาร
แหล่งที่มา : fafreshfarm.blogspot.com