ยาสมุนไพรแก้หอบหืด ภาพพืชสมุนไพรไทยรักษาโรคหอบหืด สมุนไพรแ้ก้หอบหืด
ตำรายาสมุนไพร แต่ละภาคจะแตกต่างกันไปตามลักษณะการนำพืชสมุนไพรแต่ละชนิดไปเป็นส่วนประกอบ บางครั้งตัวยาชนิดเดียวกันหมอยาพื้นบ้านแต่ละภาคนำไปผสมกับตัวยาอย่างอื่นสามารถใช้รักษาโรคได้ไม่เหมือนกัน ซึ่ง “กระเจียวบัว” เป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่หมอยาพื้นบ้านภาคอีสานนิยมนำไปใช้เป็นยาแก้ “โรคหืด” มาแต่โบราณ
โดย มีวิธีง่ายๆคือ เอาเหง้าหรือหัวของ “กระเจียวบัว” แบบสดหรือแบบแห้งก็ได้ กับใบของต้น หนุมานประสานกาย แบบสดหรือแห้งก็ได้เช่นกัน น้ำหนักเสมอกัน กะมากน้อยตามต้องการ ต้มกับน้ำจนเดือดแล้วเทดื่มขณะอุ่นประจำหรือเรื่อยๆ จะช่วยให้ อาการของ “โรคหืด” ค่อยๆดีขึ้น หากเป็นมานานก็ต้องใช้เวลาหน่อย เพิ่งเป็นใหม่ๆดื่มไม่นานอาจหายได้
อย่างไรก็ตาม “โรคหืด” เป็นโรคเฉพาะ เมื่อเป็นแล้วจะทรมานมาก หายใจไม่สะดวก เหนื่อยง่าย เป็นมากๆหรืออาการกำเริบหนักต้องไปพบแพทย์จ่ายยาให้รับประทานเป็นประจำและพ่นยาช่วยขยายหลอดลมทำให้หายใจได้ดีขึ้น
ซึ่งคน ที่เป็น “โรคหืด” จะรู้ดีเกี่ยวกับข้อปฏิบัติหรือข้อห้ามที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ “โรคหืด” กำเริบว่ามีอะไรบ้าง เช่น ไม่กินน้ำเย็น หรือน้ำแข็ง งดอาหารที่มีมัน ต่างๆ อย่าอาบน้ำหลังห้าโมงเย็นเด็ดขาด ห้ามเป่าพัดลมเวลานอน หน้าอกจะต้องอบอุ่นตลอดเวลา เหล้าเบียร์และบุหรี่เลิกเลย สุดท้ายต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอควบคู่กับการพบแพทย์ประจำ หรือเอา “กระเจียวบัว” กับใบของต้นหนุมานประสานกาย ต้มน้ำดื่มด้วยจะช่วยได้อีกทางหนึ่ง
กระเจียวบัว หรือ CURCUMA SPAR GANIfOLIA GAGNEP. อยู่ในวงศ์ ZINGIBERACEAE เป็นไม้ล้มลุกจำพวกมีหัวหรือเหง้าใต้ดิน ต้นสูง 15-30 ซม. ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปใบคล้ายกับใบขิง
ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ลักษณะดอกคล้ายดอกกระเจียว เป็นสีชมพูหรือสีแดง ปลายมีแต้มสีขาวหรือเขียว มีดอกเป็นสีขาวซ่อนอยู่ในซอกของกลีบเลี้ยง “ผล” รูปค่อนข้างกลม มีเมล็ด เนื้อหุ้มเมล็ดเป็นสีขาว เป็นไม้เจริญเติบโตดีในฤดูฝน ทรุดโทรมหรือตายในช่วงฤดูแล้ง โดยจะฝังหัวอยู่ใต้ดิน เมื่อถึงฤดูฝนมีเม็ดฝนโปรยปรายลงมาจะแตกต้นขึ้นมาใหม่ เป็นวัฏจักร พบขึ้นทั่วไปตามป่าทุกภาคของประเทศไทย พบมากที่สุดทางภาคอีสาน ที่ จ.อุบลฯ เรียกว่า ต้น “ชู้กระเจียว” ครับ.
“นายเกษตร”
ไทยรัฐออนไลน์
แหล่งที่มา : soclaimon.wordpress.com