อาการของโรคเริม อาการโรคเริมที่ผิวหนัง อาการโรคเริมที่ปาก


3,807 ผู้ชม


อาการของโรคเริม อาการโรคเริมที่ผิวหนัง อาการโรคเริมที่ปาก


อาการของโรคเริม

          คนที่เป็นเริมมักจะมีอาการแสบๆ คันๆ นำมาก่อน จากนั้นจะมีตุ่มน้ำใสขนาด 2-3 มิลลิเมตรขึ้นเป็นกลุ่มและมีผื่นแดงล้อมรอบ ต่อมาตุ่มน้ำใสจะกลายเป็นสีเหลืองขุ่นและแตกออกกลายเป็นสะเก็ด ซึ่งสามารถหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ หรือเร็วที่สุดประมาณ 3 วัน บริเวณที่พบบ่อย คือ ริมฝีปาก แก้ม จมูก หู ตา ก้น และอวัยวะเพศ นอกจากนั้นอาจมีการโตและเจ็บของต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียงด้วย
          เมื่ออาการหายแล้ว เชื้อมักจะไปหลบอยู่ที่ปมประสาทและอาจปรากฏขึ้นมาใหม่ทำให้โรคเริมสามารถกำเริบได้บ่อยๆ เมื่อร่างกายอ่อนเพลีย ไม่แข็งแรง เช่น มีความเครียด, พักผ่อนไม่เพียงพอ, เจ็บป่วย, ระหว่างมีประจำเดือน หรือเมื่อตั้งครรภ์

อาการของโรคเริม อาการโรคเริมที่ผิวหนัง อาการโรคเริมที่ปาก

ลักษณะของเริมที่เกิดขึ้นในบริเวณต่างๆ
          เริมที่อวัยวะเพศ – มักจะมีอาการแสบๆ คันๆ หลังจากร่วมเพศกับผู้ที่มีเชื้อประมาณ 4 - 7 วัน หลังจากนั้นต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบจะโตและรู้สึกเจ็บ 
          เริมที่ริมฝีปาก – มักเกิดขึ้นใกล้ๆ ริมฝีปาก จะพบเมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือเจ็บป่วย เช่น เวลามีประจำเดือน เครียด หรือถูกแดด
          เริมในช่องปาก – ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อครั้งแรก จะพบในเด็กอายุ 1 - 5 ปี จะมีตุ่มน้ำขึ้นมา รู้สึกเจ็บปวด และแผลจะแตกกลายเป็นแผลตื้นๆ มีฝ้าขาวหรือเลือดแห้งกรังอยู่ บริเวณที่พบ คือ กระพุ้งแก้ม เหงือก เพดานปาก ลิ้น ถ้าอาการรุนแรงอาจทำให้รับประทานอาหารไม่ได้


อาการแทรกซ้อน
          เริมเป็นโรคที่สามารถหายได้เอง อาจมีการกำเริบเป็นครั้งคราว แต่น้อยมากที่จะมีอาการแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำที่แผลทำให้กลายเป็นหนอง, ถ้าติดเชื้อเริมบริเวณปากมดลูก อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ และอีกอาการหนึ่งที่เกิดได้น้อยมากคือ สมองอักเสบ 
    
          มีคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่เสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อนเป็นพิเศษซึ่งอาการแทรกซ้อนเหล่านี้จะมีอันตรายมาก ได้แก่
-    หญิงตั้งครรภ์: เชื้อเริมอาจผ่านไปยังทารก ทำให้ทารกพิการตั้งแต่อยู่ในครรภ์
-    หญิงใกล้คลอด: หากเกิดเริมในช่องคลอด ทารกที่คลอดออกมาอาจได้รับเชื้อ กลายเป็นโรคเริมชนิดรุนแรง ซึ่งอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นควรผ่าตัดทารกออกทางหน้าท้องเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด
การรักษาโรคเริม
1.    รักษาตามอาการ คือ 
-    เมื่อปวดหรือมีไข้ ให้รับประทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น paracetamol
-    ถ้าแสบหรือคัน ให้ทายาแก้ผดผื่น ห้ามใช้ครีมสเตียรอยด์ทาเด็ดขาด เพราะจะทำให้แผลลุกลามหายยากและอาจเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนได้
-    หากตุ่มแผลแตก ให้ใช้ยาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดนไอโอดีน แอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ใส่แผลสด ใส่แผลวันละ 2-3 ครั้ง
-    เด็กที่เป็นเริมในช่องปาก ให้ดื่มน้ำบ่อยๆ บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ แล้วใช้กลีเซอรีนบอแรกซ์หรือเจนเชียนไวโอเลตป้ายภายในช่องปาก วันละ 3-4 ครั้ง

2.    การใช้ยาต้านไวรัส
-    ยาทา Acyclovir สามารถช่วยลดอาการปวด และทำให้แผลแห้งเร็วขึ้นได้ แต่ไม่สามารถลดจำนวนเชื้อหรือลดระยะเวลาที่เป็นโรคลงได้ วิธีใช้ คือ ทายาทุก 3 ชั่วโมง (วันละ 5 ครั้ง) ติดต่อกัน 7 วัน สำหรับยาชนิดนี้ต้องทาค่อนข้างถี่เนื่องมาจากยาออกฤทธิ์สั้น จึงต้องทาบ่อยๆ เพื่อให้ยาสามารถออกฤทธิ์ได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังสามารถใช้ยาครีมพญายอ ซึ่งเป็นสมุนไพรไทย ซึ่งมีการออกฤทธิ์ที่ดีเช่นกัน
-    ยารับประทานต้านไวรัส นิยมใช้สำหรับรักษาเริมที่อวัยวะเพศและผู้ที่กลับมาเป็นซ้ำบ่อยๆ ได้แก่ ยา Acyclovir, Famciclovir, Valacyclovir

อาการของโรคเริม อาการโรคเริมที่ผิวหนัง อาการโรคเริมที่ปาก

          ยาต้านไวรัสทั้ง 3 ตัวสามารถใช้รักษาเริมในหญิงตั้งครรภ์และผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องได้ในขนาดปกติโดยไม่จำเป็นต้องปรับลดขนาดยา แต่ในผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของไตบกพร่องนั้นจำเป็นจะต้องปรับขนาดยา เนื่องจากยาต้านไวรัสเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้เกิดภาวะไตวายได้ การปรับขนาดยานั้นจะพิจารณาตามค่าการขับของเสียของไต (Creatinine clearance: Clcr) 


ข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วย
1.    ควรทำความเข้าใจว่า โรคเริมเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นๆ หายๆ ซึ่งมักจะกำเริบเมื่อร่างกายอ่อนแอ เช่น เครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ ป่วย แต่โดยทั่วไปแล้วจะไม่มีอันตรายที่ร้ายแรง 
2.    สำหรับผู้หญิงที่เป็นเริมบริเวณปากมดลูกควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหามะเร็งปากมดลูกปีละครั้ง ส่วนในหญิงตั้งครรภ์หากมีอาการในขณะคลอด แพทย์ควรผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไปสู่เด็ก
3.    เริมที่เกิดขึ้นที่อวัยวะเพศนั้นถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นหากมีอาการควรงดร่วมเพศจนกว่าแผลจะหาย หรือใช้ถุงยางอนามัยขณะร่วมเพศเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค
4.    คนที่มีอาการของโรคกำเริบถี่มาก หรือเป็นรุนแรง หรือเป็นแผลเริมเรื้อรังนานกว่า 1 เดือน ควรตรวจเลือดหาเชื้อ HIV ร่วมด้วย


เอกสารอ้างอิง
1.    ชื่นฤดี ไชยวสุ, เครือวัลย์ พลจันทร, สมชาย แสงกิจพร, อภิชัย มหารุ่งเรืองรัตน์, ปราณี ธวัชสุภา และมาลี บรรจบ. การศึกษาทดลองในคน : การรักษาผู้ป่วยโรคเริม Herpes Simplex Virus Type 2 ที่อวัยวะสืบพันธุ์ด้วยยาจากสารสกัดใบพญายอ. Com. Dis. J. 1992 ; 18(3) : 152-161.
2.    เชิดชัย สุนทรภาส. Sexually Transmitted Disease. ใน: ธานี เมฆะสุวรรณดิษฐ์, ปรีชา มนทกานติกุล, จุฑามณี สุทธิสีสังข์ และสุรเกียรติ อาชานานุภาพ, บรรณาธิการ. Textbook of Pharmacotherapy: ตำราเภสัชบำบัด. กรุงเทพฯ:โฮลิสติก พับลิชชิ่ง; 2550: 186-96.
3.    สุรเกียรติ อาชานานุภาพ. เริม (Herpes simplex). ใน: ตำราการตรวจโรคทั่วไป หลักการวินิจฉัยและรักษาโรค / 280 โรคและการดูแลรักษา. กรุงเทพฯ: สร้างสื่อ บจก.; 2543: 623-5.
4.    Lacy CF., Armstrong LL., Goldman MP. and Lance LL. Drug Information Handbook: A comprehensive Resource for Clinicians and Healthcare professional. 17th ed. Ohio: Lexi-Comp; 2008.
5.    Salvaggio MR, Lutwick LI, Seenivasan M. and Kumar S. [homepage on the Internet]. Herpes Simplex. Medscape.; c1994-2011 [update 2010 Dec 3]. Available from: https://emedicine.medscape.com/article/218580-overview
6.    Saral R., Burns WH., Laskin OL., Santos GW., and Lietman PS. Acyclovir Prophylaxis of Herpes-Simplex-Virus Infections — A Randomized, Double-Blind, Controlled Trial in Bone-Marrow-Transplant Recipients. N Engl J Med. 1981; 305: [about 5 p.]. Available from: https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJM198107093050202
7.    Yoosook C, Bunyapraphatsara N, Boonyakiat Y, Kantasuk C. Anti-herpes simplex virus activities of crude water extracts of Thai medicinal plants. Phytomedicine [10715843]. 2000 Jan; 6(6): [about 9 p.]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/10715843


แหล่งที่มา : kapookya.com

อัพเดทล่าสุด