โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง myasthenia gravis การป้องกันโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ยารักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง


841 ผู้ชม


โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง myasthenia gravis การป้องกันโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ยารักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

 

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง มัยแอสทีเนีย กราวิส

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ โรคเอ็มจี
โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส หรือ โรคเอ็มจี 

          พลันที่ดาราสาว โอ๋ ภัคจีรา ออกมาเปิดเผยว่า เธอกำลังทนทุกข์กับ โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส หรือ โรคเอ็มจี ซึ่งเป็น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ประเภทหนึ่ง ก็ทำให้คนทั่วไปสงสัยกันมากขึ้นว่า โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส หรือ โรคเอ็มจี นี้คือโรคอะไรกันแน่ แล้วมีอาการเป็นอย่างไรบ้าง รักษาได้หรือไม่ วันนี้กระปุกดอทคอมมีคำตอบมาบอกกันค่ะ
          สำหรับ โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส (myasthenia gravis) หรือ โรคเอ็มจี ที่ฟังดูชื่อแปลก ๆ เพราะเป็นชื่อภาษากรีกและละติน มีความหมายว่า "grave muscular weakness" ซึ่งเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ประเภทหนึ่ง มักเกิดกับกล้ามเนื้อเล็ก ๆ บริเวณใบหน้า โดยมีการทำงานสื่อสารกันระหว่างเส้นประสาท และกล้ามเนื้อลายผิดปกติ ทำให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง  
          ทั้งนี้ โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส ไม่ใช่โรคใหม่ แต่เป็นโรคที่มีมานานแล้ว โดยมีการบันทึกว่าพบผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส มาตั้งแต่ 300 ปีก่อน
มักพบโรคโรคมัยแอสทีเนีย กราวิสในกลุ่มใด
          โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส มักเกิดกับผู้ใหญ่ และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่หากอาการของโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส เริ่มเป็นหลังอายุ 40 ปี จะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง
อาการของโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส
          ผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส จะมีอาการหนังตาตก ตาพร่ามัว พูดไม่ชัด เคี้ยวและกลืนลำบาก เพราะมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า 
          แต่หากเป็นมากก็อาจทำให้กล้ามเนื้อทั้งตัว เช่น กล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรงลงได้ รวมทั้งกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับระบบหายใจ ทำให้หายใจลำบาก ไอไม่ได้ หรือหากรุนแรงมาก ๆ สามารถทำให้ระบบหายใจล้มเหลวได้เลยทีเดียว แต่สำหรับกล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อเรียบต่าง ๆ ในร่างกายจะไม่ได้รับผลกระทบไปด้วย
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ โรคเอ็มจี
โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส หรือ โรคเอ็มจี 

          โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส จัดเป็นโรคเรื้อรัง อาการต่าง ๆ มักเป็น ๆ หาย ๆ อยู่ตลอดเวลา และอาการจะดีขึ้นเองหลังจากหยุดพักใช้งาน แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้อาการโรคนี้รุนแรงขึ้น ได้แก่ การติดเชื้อ เป็นไข้ ร้อนหรือเย็นเกินไป เครียด ออกแรงมากเกินไป มีประจำเดือน ตั้งครรภ์ โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ และการทานยาบางชนิด
          ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย กราวิสส่วนใหญ่ จะมีอาการอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยใช้เวลาเป็นสัปดาห์จนถึงเดือน แต่ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงฉับพลันได้ เช่น มีภาวะหัวใจล้มเหลว โดยมักมีอาการเปลี่ยนแปลงได้มากในช่วง 4 ปีแรก และมีอาการรุนแรงมากในช่วง 3 ปีแรก แต่หลังจากนั้นอาการจะคงที่ และค่อย ๆ ดีขึ้น โดยใช้เวลาเป็นปี ๆ หากได้รับการวินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้อง
          นอกจากนี้ ในเด็กบางคนที่เป็นโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส ตั้งแต่เกิด จะมีอาการแขนขาอ่อนแรง และขยับได้น้อย ส่วนเด็กที่เกิดจากมารดาที่เป็นโรคนี้ จะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงตั้งแต่แรกคลอด และเป็นอยู่ราว 2 สัปดาห์ ก่อนจะหายได้เอง
สาเหตุของโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส
          มีสาเหตุ 4 ประการที่ทำให้เกิดโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส ได้ คือ
           1.ร่างกายผู้ป่วยสร้างแอนติบอดี้ต่อโปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวรับสารอะซิติลโคลีน โดยมักพบว่า ในตัวผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส จะมีโปรตีนตัวรับสารอะซิติลโคลีนน้อยกว่าคนปกติถึงหนึ่งในสาม เพราะร่างกายสร้างแอนติบอดี้มากำจัดโปรตีนชนิดนี้ไปเกือบหมด
           2.สารอะซิติลโคลีน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อ ไม่สามารถทำงานได้ แม้ร่างกายจะหลั่งสารนี้ออกมาอย่างปกติ เนื่องจากโปรตีนตัวรับถูกทำลายโดยแอนติบอดี้ที่ร่างกายสร้างขึ้น 
           3.กรรมพันธุ์ พบผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส บางรายมีญาติพี่้น้องป่วยเป็นโรคเดียวกันนี้เช่นกัน แม้ส่วนใหญ่จะพบว่า โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส มักเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็ตาม
           4. ความผิดปกติของต่อมไธมัส ทำให้เกิดโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส ได้เช่นกัน โดยพบว่า เกิดจากเนื้องอกถึงร้อยละ 10 และเกิดจากต่อมไธมัสโตผิดปกติมากถึงร้อยละ 70 ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างแอนติบอดีต่อโปรตีนตัวรับสารอะซิติลโคลีนในปริมาณสูง จึงส่งผลต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อตามมา ดังนั้น จึงมักพบผู้ป่วยที่อายุระหว่าง 30-60 ปี ราวร้อยละ 20 มีอาการเนื้องอกที่ต่อมไธมัสด้วย
การวินิจฉัย โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส
          แพทย์จะวินิจฉัยโดยการซักถามประวัติอย่างละเอียด และตรวจร่างกายระบบต่าง ๆ  รวมทั้งระบบประสาท และทดสอบด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่า เป็นโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส หรือไม่
การรักษา โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส
          มักพบผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส มีอาการร่วมกับโรคลูปัส (โรคเอสแอลอี หรือโรคพุ่มพวง) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคเบาหวานประเภทที่หนึ่ง โดยในสมัยก่อนผู้ป่วยโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก แต่เมื่อค้นพบยารักษาโรคได้ จึงทำให้อัตรายการตายของผู้ป่วยโรคนี้ลดลง 
โดยโรคนี้สามารถรักษาได้ด้วย
           การให้ยาต้านฤทธิ์ของเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส ทำให้สารอะซิติลโคลีนไม่ถูกทำลาย และการที่มีสารนี้อยู่นานขึ้น ก็สามารถจับกับตัวรับได้มากขึ้น ช่วยให้ออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น
           การให้ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ช่วยให้อาการดีขึ้นหรืออาการหายขาดได้มากถึงร้อยละ 75 ของผู้ป่วยทั้งหมด
           การให้ยากดภูมิคุ้มกัน
           การให้ยาอิมมูโนโกลบูลินชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด
           การผ่าตัดต่อมไธมัส
          การเปลี่ยนถ่ายพลาสมา 
           การรักษาทางกายภาพบำบัดในการป้องกันปัญหาข้อติดและช่วยฝึกการหายใจ
          โดยสรุปแล้ว โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส เป็นโรคที่เกิดการความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งเราคงไม่สามารถป้องกันได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากใครเป็นโรคนี้แล้ว ก็สามารถรักษาให้หายได้ ถ้าได้รับคำแนะนำ และการรักษาจากแพทย์อย่างถูกวิธี

แหล่งที่มา : health.kapook.com

อัพเดทล่าสุด