โรคพุ่มพวง การรักษา รักษาโรคพุ่มพวง โรคพุ่มพวง สรยุทธ 5 มิถุนายน 55
โรคลูปัส (SLE)
ปัจจุบันมีการกล่าวถึงโรคนี้กันมาก ส่วนมากมักคิดว่าโรคนี้เป็นโรคที่ร้ายแรงใครเป็นแล้ว มักจะต้องเสียชีวิตเช่น นักร้องลูกทุ่งคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ จริงๆแล้วยังมีความเข้าใจ ที่คลาดเคลื่อนอยู่บ้างเพราะผู้ป่วยด้วยโรคลูปัสมักมีการดำเนินโรคที่ไม่รุนแรงและสามารถมีชีวิตยืนยาว ตามปกติได้ถ้าปฎิบัติตัวอย่างถูกต้อง
โรคลูปัสคืออะไรและ มีสาเหตุจากอะไร
โรคลูปัสเป็นโรคที่เกิดจากภูมิต้านทานในร่างกาย(antibody)เกิดการเปลี่ยนแปลงไป ปกติantibody จะมีหน้าที่จับและทำลายสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคจากภายนอกร่างกายเปรียบเสมือน ทหารที่มีหน้าที่ป้องกันศัตรูจากนอกประเทศแต่เมื่อเป็นโรคจะเกิดความผิดปกติขึ้นมาทหารของร่างกาย จำประชาชนของตัวเองไม่ได้คิดว่าเป็นศัตรูแปลกปลอมเข้ามา จึงทำร้ายประชาชนของตัวเอง ก็เหมือนantibodyที่เข้าจับกับเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆกระตุ้นให้เกิดการอักเสบแล้ว เกิดอาการของโรคลูปัส ขึ้นมา
โรคลูปัสเป็นโรคที่ ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดแต่มีปัจจัยบางอย่างที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรค เช่น
กรรมพันธุ์
ฮอร์โมนเพศหญิง การตั้งครรภ์
สภาพแวดล้อมเช่นแสงแดด หรือ รังสีultravioletการติดเชื้อหรือสารเคมีบางชนิด
โรคลูปัสจะเกิดกับใครบ้าง
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง อายุระหว่าง 20-45 ปี ผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นได้ มากกว่าผู้ชาย9-10 เท่า
อาการของโรคลูปัส
โรคลูปัสเป็นโรคที่เรื้อรัง รักษาไม่หายขาดจะมีช่วงที่มีอาการกำเริบสลับกับช่วงที่โรคสงบ โรคนี้ก่อให้เกิดอาการแสดงได้แทบทุกระบบ โดยมีความแตกต่างทั้งในแง่ลักษณะอาการและ ความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละราย
อาการและอาการแสดงของผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นพร้อมๆกันและจะมีการแสดงออกเพียงอวัยวะใด อวัยวะหนึ่งทีละอย่างก็ได้ ดังนั้นจะเห็นว่าการวินิจฉัยโรคลูปัสจะมีปัญหามากโดยเฉพาะ ในระยะแรกที่มีอาการไม่มากนัก
อาการของโรคลูปัสแบ่งตามระบบได้ดังนี้
อาการทั่วไป
ผู้ป่วยมักมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อาการเหล่านี้อาจพบเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
อาการทางผิวหนัง
พบได้บ่อยในผู้ป่วยไทยประมาณ 80-90% รอยโรคทางผิวหนังพบได้หลายแบบ แต่ผื่นที่มีลักษณะเฉพาะ คือ ผื่นแดงที่เกิดบริเวณใบหน้า ตั้งแต่บริเวณสันจมูก ไปที่บริเวณโหนกแก้มทั้งสองข้างเป็นรูปคล้ายผีเสื้อ ผู้ป่วยบางรายมีแผลในปากโดยเฉพาะบริเวณเพดานปากเป็นๆหายๆ
ผม
อาการผมร่วงพบบ่อยในขณะที่โรคเป็นรุนแรง
อาการทางข้อและกล้ามเนื้อ
พบได้ประมาณ 85% ผู้ป่วยมักมีอาการปวดข้อเวลาที่โรคกำเริบโดยเฉพาะข้อนิ้วมือ ข้อเท้า ข้อไหล่ หรือมีอาการของกล้ามเนื้ออักเสบได้
อาการทางไต
พบได้ประมาณ 80% ของผู้ป่วยคนไทย ผู้ป่วยจะมีอาการบวมบริเวณเท้า ทั้งสองข้าง หน้า หนังตา หรือบวมทั้งตัว การตรวจปัสสาวะจะพบมีไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะเป็นจำนวนมาก ในรายที่มี อาการรุนแรงจะ มีความดันโลหิตสูง ปัสสาวะออกน้อยลง ในรายที่เป็นรุนแรงมากอาจถึงขั้นมีไตวายได้
อาการทางระบบประสาท
อาจมีอาการอักเสบทางสมองหรือระบบประสาทส่วนปลายก็ได้
อาการทางระบบโลหิต
พบได้ประมาณ 80%ในคนไทย ผู้ป่วยอาจมีอาการของภาวะโลหิตจางเช่นอ่อนเพลีย หน้ามืดบ่อยๆ มีเม็ดเลือดขาวต่ำ หรือเกล็ดเลือดต่ำทำให้เลือดออกง่ายได้
อาการทางหัวใจและหลอดเลือด
พบได้ประมาณ 20%ในคนไทย ผู้ป่วยอาจมีการอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ หรือกล้ามเนื้อ หัวใจ มีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น เหนื่อยง่าย บางครั้งอาจมีอาการใจสั่นจากกล้ามเนื้อ หัวใจอักเสบ บางคน มีอาการอุดตันของหลอดเลือด
อาการทางระบบเดินอาหาร
พบได้ประมาณ10% โดยจะมีอาการของเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ หรือหลอดเลือดในช่องท้องอักเสบ
อาการทางปอด
พบได้ประมาณ 20% โดยจะมีอาการของเยื่อหุ้มปอดอักเสบ หรือปอดอักเสบ
จะเห็นได้ว่า โรคลูปัสเป็นโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะได้หลายระบบแต่อาจ มีอาการของโรคได้ตั้งแต่น้อย จนมากและตั้งแต่ระบบเดียวหรือหลายระบบก็ได้ แต่มีอาการบางอย่างที่ควรสงสัยว่าเป็นโรคลูปัสดังนี้คือ
1. เมื่อมีไข้ไม่ทราบสาเหตุนานเป็นเดือน
2. มีอาการปวดบวมตามข้อ
3. มีผื่นแดงขึ้นที่หน้าโดยเฉพาะเวลาถูกแสงแดด
4. ผมร่วงเรื้อรัง
5. บวมตามหน้า ตามเท้า
การรักษา
สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือความเข้าใจของผู้ป่วยเพื่อที่จะได้ปฎิบัติตัวอย่างถูกต้องดังต่อไปนี้
1. ในระยะแรกต้องได้รับการรักษาด้วยยา ต้องรับประทานยาตามขนาดและระยะเวลาที่แพทย์ กำหนด อย่างเคร่งครัด จากประสพการณ์พบว่าในระยะแรกของการรักษา แพทย์มักจำเป็นต้องใช้ ยาสเตียรอยด์ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยอ้วนขึ้น มีความอยากอาหารมากขึ้นจึงทำให้ผู้ป่วยจำนวนหนื่งไม่สามารถทนรับประทาน ยาได้แพทย์จึงต้องอธิบาย และทำความเข้าใจกับผู้ป่วยถึงผลข้างเคียงของยา ซึ่งการใช้ยาสเตียรอยด์นี้ใน ช่วงแรกซึ่งโรคมีความรุนแรงมีความจำเป็นต้องใช้ยาในขนาดสูง แต่ต่อไป เมื่อควบคุมโรคได้ดีขึ้นก็จะลด ขนาดยาลง ทำให้อาการข้างเคียง เช่นความอ้วนลดลงด้วย ถ้าผู้ป่วยเข้าใจถึงวิธีการรักษาก็จะทำให้ผู้ป่วย สามารถ รับประทานยาได้อย่าง ต่อเนื่องและทนต่อผลข้างเคียงของยาได้
2. ควรพยายามอย่าให้ผิวหนังถูกแสงแดดโดยตรง ควรใส่หมวกปีกกว้าง กางร่มและสวมใส่เสื้อแขนยาว เวลาที่จำเป็นต้องออกแดด
3. ทำจิตใจให้สบาย ไม่ควรเครียด ท้อถอย เศร้าใจ หรือกังวลใจ เพราะทำให้อาการกำเริบได้ ควรมีกำลังใจและมีความอดทนต่อการรักษา
4. เสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดย เฉพาะอาหารประเภท เนื้อสัตว์ ไข่ นม ผักและผลไม้ต่าง มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและนอนหลับอย่างเพียงพอ
5. เนื่องจากผู้ป่วยลูปัสมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายทั้งจากตัวโรคเองหรือยาเช่นสเตียรอยด์ ดังนั้นผู้ป่วย จึงต้องระวังตัวไม่เข้าใกล้ผู้อื่นที่กำลังติดเชื้อ ไม่อยู่ในที่ชุมชนแออัด รับประทานอาหารที่สุก สะอาด
6. ไม่ควรซื้อยารับประทานเองเพราะจะมีโอกาสแพ้ยาได้บ่อยและรุนแรงกว่าคนธรรมดา
7. ไม่ควรเพิ่มหรือลดขนาดยาเอง
8. ถ้ามีอาการผิดปกติ มีไข้หรือไม่สบาย ควรรีบกลับไปปรึกษาแพทย์ผู้รักษาทันทีหรือ หากจะไปหาแพทย์อื่นควรนำยาที่กำลังรับประทานอยู่ไปให้แพทย์ ดูด้วยทุกครั้งเพื่อแพทย์ที่ดูแลจะได้จัดยาได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับยาที่ได้อยู่เดิม
9. ผู้ป่วยหญิงที่แต่งงานแล้วไม่ควรมีบุตรในระหว่างที่โรคกำเริบเพราะอาจ เป็นอันตรายต่อแม่และเด็กในครรภ์ การคุมกำเนิดควรจะขอคำแนะนำจากแพทย์ไม่ควรซื้อยาคุมกำเนิดมารับประทานเองเพราะ อาจทำให้อาการของโรคกำเริบได้ นอกจากนั้นถ้าผู้ป่วยต้องการจะมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาเพราะ ยาที่ใช้รักษาอยู่อาจมีผลกับบุตรในครรภ์ได้ และถ้าเกิดการตั้งครรภ์ขึ้นต้องรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็วเพื่อจะได้ทำการปรึกษากับ สูตินารีแพทย์เพื่อจะได้รับการดูแลที่เหมาะสมต่อไป
สรุป
โดย พต.นพ.ชาติวุฒิ ค้ำชู อายุรแพทย์โรคข้อและรูมาติสซึ่มในขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของโรคจึงไม่สามารถป้องกันโรคลูปัสได้ ถ้าท่านมีความสงสัยว่าตัวท่านหรือบุคคลในครอบครัวเป็นโรคนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อ จะได้รับการตรวจและวินิจฉัยโรค อย่างถูกต้องเพราะการได้รับการรักษาที่ล่าช้าหรือไม่ถูกต้องอาจทำให้โรค กำเริบอย่างรุนแรงได้
แหล่งที่มา : thaiclinic.com