กรมหลวงพิษณุโลก กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ประวัติ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
เจ้าวังปารุสก์
วังปารุสกวันก็ได้เจ้าของคนใหม่
เมื่อแคทยาจากไปแล้ว วังปารุสกวันก็ได้เจ้าของคนใหม่ เป็น "เจ้าวังปารุสก์" องค์ที่สาม คือหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาส รพีพัฒน์
ท่านหญิงอยู่ในราชตระกูล "ระพีพัฒน์" ของพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเช่นเดียวกับเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ แต่ว่า ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจึงดำรงฐานันดรศักดิ์เป็นพระองค์เจ้า
กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเป็นพระราชโอรสรุ่นใหญ่ พระชนม์มากกว่าเจ้าฟ้าจักรพงษ์ นอกจากนี้ก็ทรงมีเกียรติประวัติดีไม่น้อยหน้าใคร ทรงเรียนเก่ง ศึกษาจนจบวิชากฎหมายจากอังกฤษ ทรงกลับมาวางรากฐานกฎหมายไทยให้ทันสมัยจนได้ชื่อว่าเป็น"พระบิดาแห่งกฎหมายไทย"
กรมหลวงราชบุรีทรงมีพระโอรสธิดาหลายองค์ เป็นหม่อมเจ้าทั้งหมด มีพระนามคล้องจองและมีความหมายในทำนองเดียวกับพระนามของพระบิดา คือ เกี่ยวกับพระอาทิตย์
๑. พิมพ์รำไพ= แบบพระอาทิตย์
๒.ไขแสงรพี= พระอาทิตย์เริ่มฉายแสง
๓. สุรีย์ประภา = แสงอาทิตย์
๔. วิมวาทิตย์ = วิมว --> พิมพฺ+ อาทิตยฺ แบบพระอาทิตย์
๕. ชวลิตโอภาส = แสงอาทิตย์
๖. อากาศดำเกิง = ลูกไฟในอากาศ หมายถึงพระอาทิตย์
๗. เพลิงนภดล = ไฟในอากาศ หมายถึงพระอาทิตย์
ผู้สนใจวรรณกรรมไทยย่อมเคยได้ยินพระนามหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง รพีพัฒน์มากกว่าองค์อื่นๆ เพราะทรงเป็นนักประพันธ์แถวหน้าคนหนึ่งในวงวรรณกรรม เป็นผู้เริ่มต้นผลงานนิยายรูปแบบตะวันตก อย่าง ละครแห่งชีวิต ผิวขาวผิวเหลือง วิมานทลาย
เมื่อแคทยาตกลงหย่าขาดและเดินทางออกจากสยามไป เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถก็ทรงตั้งพระทัยจะอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าชวลิตโอภาสอย่างยิ่งใหญ่ให้สมพระเกียรติ แต่ว่าทรงเจออุปสรรคขวางกั้นใหญ่อย่างที่นึกไม่ถึง คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเกิดไม่ทรงยินยอมให้มีพิธีอภิเษกสมรส ทรงอ้างว่า ไม่สมควรเพราะหม่อมเจ้าชวลิตอยู่ในฐานะหลานสาวของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พูดง่ายๆอีกทีคือทรงไม่เห็นด้วยกับการอภิเษกสมรสดังกล่าว
เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถไม่ยอมแพ้ ทรงหันไปพึ่งสมเด็จพระพันปีซึ่งตอนแรกก็ไม่เห็นด้วยกับพระราชโอรส แต่เมื่อเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถอ้อนวอนหนักเข้าก็พระทัยอ่อน ยอมรับที่จะเจรจากับพระเจ้าอยู่หัวให้ แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยืนกรานเช่นเดิม สมเด็จพระพันปีกริ้วเป็นฟืนเป็นไฟ แต่ก็ไม่อาจทำให้ทรงโอนอ่อนลงได้ ผลคือไม่ใช่แต่แม่กับลูกชายเท่านั้นที่แตกร้าวกัน ความสัมพันธ์ของพี่ชายกับน้องชายก็ร้าวฉานกันลึกด้วย
ถึงกระนั้นก็ไม่มีสิ่งใดขวางกั้นได้ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถก็ทรงรับหม่อมเจ้าชวลิตโอภาสเป็นพระชายาอย่างเปิดเผย เป็นที่รับรู้กันว่าทรงเข้ามาเป็นเจ้าของวังปารุสกวัน
ข้าราชบริพารอยู่ในวังนั้นด้วยความปกติสุขกับเจ้านายผู้หญิงองค์ใหม่ ด้วยพระชนม์ ๑๕ เธอไม่ได้เปลี่ยนแปลงระเบียบแบบแผนใดๆในวังให้ยุ่งยาก เคยใช้ธรรมเนียมกันมาอย่างไรก็อยู่กันต่อไปอย่างนั้น เธอเข้ากับพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้เหมือนเป็นพี่น้องกันมากกว่าแม่กับลูก
ความสนิทเสน่หาที่เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถมีต่อหม่อมเจ้าชวลิตโอภาส พระชายาที่อ่อนกว่า ๒๐ ปี และแก่กว่าพระโอรสแค่ ๔ ปี มากมายแค่ไหน พอจะมีหลักฐานให้เห็นได้จากพินัยกรรม ทรงมอบทรัพย์สินมรดกทุกอย่างให้หม่อมเจ้าชวลิตโอภาสเพียงผู้เดียว ทรงมอบพระโอรสให้อยู่ในความดูแลของท่านหญิง และจะมีสิทธิ์ในมรดกก็ในเมื่อท่านหญิงสิ้นชีพิตักษัยแล้วเท่านั้น
ไม่มีการเอ่ยถึงแคทยาในพินัยกรรม ไม่มีการแบ่งปันทรัพย์สินใดๆให้เธอ นอกจากเงินปีละ ๑,๒๐๐ ปอนด์ที่ทรงให้ไปเมื่อหย่าขาดจากกัน ไม่มีการมอบหมายให้พระโอรสอยู่ในความดูแลของหม่อมแม่ที่แท้จริง ไม่มีอะไรทั้งสิ้นที่แสดงให้เห็นว่ามีความผูกพันหลงเหลืออยู่ระหว่างพระองค์กับแคทยา ความรักฉันชายหญิง ทรงมอบให้หม่อมเจ้าชวลิตโอภาสเพียงองค์เดียว ด้วยความเชื่อมั่นว่าเธอจะดูแลโอรสได้อย่างดี ส่วนแคทยา เมื่อเธอจากสยามไปก็เหมือนตายจากกันไปจากพระองค์
แล้วต่อมาก็ตายจากกันจริงๆ ไม่มีโอกาสกลับมาพบหน้ากันอีกเลย
สิ้นเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลก
พระเมตตาที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ มีต่อพระองค์เจ้าจุลจักพงษ์ นับว่ามาก มีหลายอย่างที่แสดงว่าทรงห่วงใยเอาใจใส่เป็นพิเศษกว่าหลานอื่นๆ เมื่อเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถเสด็จทิวงคต พระเจ้าอยู่หัวก็กลายมาเป็นผู้ปกครองพระองค์เจ้าจุลจักพงษ์ อย่างเป็นทางการ (ไม่ใช่ท่านหญิงชวลิตผู้มีพระชนม์เพียง ๑๘)
สิ่งที่ท่านทำคือสถาปนาหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์ เป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักพงษ์ นี่ก็เรื่องหนึ่ง
เรื่องที่สองคือ ทรงยื่นมือเข้ามาขวางพินัยกรรมของพระราชอนุชา ไม่ให้มรดกทั้งหมดตกเป็นของท่านหญิงชวลิตโอภาส โดยพระองค์เจ้าจุลจักพงษ์แทบไม่มีสิทธิ์
ข้อความในพินัยกรรมของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลก ส่วนหนึ่งมีอยู่ว่า
"...บรรดาทรัพย์สินที่เคลื่อนที่ได้หรือมิได้ก็ดี ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าอยู่ในขณะนี้...ข้าพเจ้ามีความประสงค์ยกให้หม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสทั้งสิ้นจนตลอดชีวิตของเธอ แลในระหว่างที่เธอยังมีชีวิตอยู่ ต้องเลี้ยงดูหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์บุตรของข้าพเจ้าให้มีความสำราญสุขเท่ากับเวลาที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่
เมื่อหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์จะมีครอบครัวภายหน้า ก็เป็นหน้าที่ของหม่อมเจ้าหญิงชวลิตโอภาสจะเลี้ยงดูให้พอสมควรกับฐานะเหมือนกัน เมื่อหม่อมเจ้าชวลิตโอภาสสิ้นชีพิตักษัยและหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์ยังอยู่ ทรัพย์สมบัติที่ว่ามาแล้วก็ให้ตกเป็นของหม่อมเจ้าจุลจักรพงษ์ต่อไป "
แหล่งที่มา : vcharkarn.com