การรักษาโรคหัวใจ สมุนไพรรักษาโรคหัวใจ สมุนไพรรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
หัวใจเต้นผิดจังหวะ อย่าชะล่าใจ
โดย : โรงพยาบาลเวชธานี
ปกติอัตราการเต้นของหัวใจในผู้ใหญ่ทั่วไปเฉลี่ยประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที ไม่ควรช้าหรือเร็วเกินกว่านี้มากนัก เมื่อใดเกิดภาวะที่หัวใจเต้นช้าหรือเร็วมากเกินไปหรือเต้นสะดุด เรียกว่า “ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” หากปล่อยทิ้งไว้จนมีอาการรุนแรงจะส่งผลร้ายต่อสุขภาพและอาจอันตรายถึงชีวิตได้
ศ.นพ.เกียรติชัย ภูริปัญโญ ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะไว้อย่างน่าสนใจว่า หัวใจเต้นผิดจังหวะเป็นโรคหัวใจที่พบได้บ่อยส่วนมากพบในผู้ใหญ่
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะแบ่งได้เป็น 2 ชนิดด้วยกัน คือ ภาวะหัวใจเต้นช้า และ ภาวะหัวใจเต้นเร็ว อันตรายจะมากหรือน้อยขึ้นกับอัตราเร็วผิดปกติ ระยะเวลาที่เกิด รวมทั้งพยาธิสภาพของหัวใจ
อาการที่เกิดกับผู้ป่วยอาจทำให้เกิดความวิตกกังวล หรือกลัวจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ และบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยได้รับคำแนะนำว่าอาการทั้งหมดเกิดจากความเครียด และได้รับยาคลายความวิตกกังวล หรือยานอนหลับมารับประทานเป็นระยะเวลานาน แต่อาการของผู้ป่วยกลับไม่ดีขึ้นจนรู้สึกว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หาย
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งกับผู้ป่วยที่การทำงานของหัวใจปกติหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้วก็ได้ ซึ่งอาการหัวใจเต้นช้าหรือเร็วเกินไปจะทำให้ความดันลดลง ส่งผลให้เลือดสูบฉีดไม่เพียงพอ ทำให้มีอาการมึนงง หวิว วูบ หรือหมดสติร่วมด้วย โดยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะพบได้หลายรูปแบบ พอจะแยกตามลักษณะอาการได้ดังนี้
หัวใจเต้นช้าเกินไป มีอาการมึนงง หวิว วูบ หมดสติ อาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หรือหัวใจเต้นแรงกว่าปกติ
หัวใจเต้นเร็วแบบมีวงจรลัดไฟฟ้า จะมีอาการหัวใจเต้นเร็วขึ้นโดยทันที ซึ่งอาจเกิดร่วมกับอาการเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก เป็นลม
หัวใจเต้นสะดุด จะมีอาการหัวใจเต้นๆ หยุดๆ ตกวูบ คล้ายตกจากที่สูง หรือมีอาการคล้ายจะเป็นลมและเจ็บหน้าอก
หัวใจเต้นแบบสั่นพริ้วที่หัวใจช่องบน นอกจากมีอาการใจสั่น ยังอาจทำให้เกิดเป็นอัมพาตได้จากการเกิดลิ่มเลือดในหัวใจซึ่งถือว่าอันตรายมาก
หัวใจเต้นแบบสั่นพริ้วที่หัวใจช่องล่าง จะมีความรุนแรงกว่า เพราะหัวใจช่องล่างทำหน้าที่สูบฉีดเลือดออกไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยตรง
หากหัวใจไม่สามารถบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดออกไปได้เพียงพอ อวัยวะที่จะเป็นอันตรายมากที่สุดคือ สมอง หากไม่ได้รับการช่วยเหลือภายใน 4-5 นาที อาจทำให้เซลล์สมองเสียหายอย่างถาวรกลายเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้
สาเหตุการเกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ดังนี้ 1.ความผิดปกติของการกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจ 2.การนำไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ 3.ทั้งสองอย่างร่วมกัน หรืออาจสัมพันธ์กับโรคหลายชนิด เช่น ลิ้นหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หลอดเลือดหัวใจตีบตัน ความดันโลหิตสูง หรือความผิดปกติอื่นๆ ซึ่งทำให้วินิจฉัยได้ยากเพราะว่าผู้ป่วยไม่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติขณะที่ทำการตรวจ
นอกจากนั้นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจจะเกิดจากการกระตุ้นจากสารต่างๆ เช่น กาแฟ ชา แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งผู้ที่เป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้
เนื่องจากผู้ป่วยที่มาพบแพทย์อาจมีอาการแตกต่างกันไป จึงต้องทำการซักถามประวัติและทำการตรวจเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นการเต้นผิดจังหวะชนิดใด การตรวจวินิจฉัยสามารถทำได้โดย การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่มีอาการ ใช้ในการวินิจฉัยโรคและภาวะผิดปกติของหัวใจเบื้องต้น วิธีนี้จะพบความผิดปกติก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการขณะตรวจ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง สามารถใช้บันทึกการทำงานของหัวใจนอกโรงพยาบาลได้ และเป็นเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่มีขนาดเล็กสามารถพกติดตัวไปได้ เครื่องจะบันทึกคลื่นหัวใจไว้ตลอดเวลา เพื่อให้แพทย์นำมาวินิจฉัยและแปลผลในภายหลัง
นอกจากนี้ยังมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาขณะมีอาการ และ การตรวจโดยฝังเครื่องบันทึกการเต้นของหัวใจ ในบางกรณีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาอาจไม่พบความผิดปกติที่แน่ชัด จึงควรเข้ารับการตรวจทางสรีระวิทยาไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งมักทำร่วมไปกับการจี้ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านสายสวนหัวใจ
นอกจากนั้น การตรวจภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจต้องตรวจดูว่าผู้ป่วยมีโรคหัวใจชนิดอื่นร่วมด้วยหรือไม่ ได้แก่ การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง การตรวจโดยวิธี Tilt Table Test คือการทดสอบภาวะการเป็นลมหมดสติโดยการปรับระดับเตียง เพื่อทดสอบในผู้ป่วยที่มีอาการเป็นลมบ่อยๆ และยังมีการตรวจหัวใจโดยใช้ Computer ชนิด CT 64 Slice และ Cardiac MRI รวมทั้งการฉีดสีผ่านสายสวนหัวใจ เป็นต้น
การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ บางกรณีแพทย์อาจพิจารณารักษาโดยการใช้ยาเพียงอย่างเดียว เริ่มด้วยยาคลายเครียด ยาต้านการเต้นหัวใจผิดปกติ หรือยากระตุ้นหัวใจ เป็นต้น และปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะที่ได้ผลดี ซึ่งพอจะแยกได้ตามชนิดและความรุนแรงของโรคดังนี้
หัวใจช่องบนเต้นเร็วผิดปกติ
จะรักษาด้วยการจี้หัวใจด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูงเท่าคลื่นวิทยุ เป็นการรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดไม่ต้องใช้ยาสลบและได้ผลดี โดยการสอดสายสวนหัวใจชนิดพิเศษที่มีขั้วโลหะที่ส่วนปลาย สามารถบันทึกกระแสไฟฟ้าหัวใจให้แสดงบนจอ Monitor แพทย์จะขยับสายสวนหัวใจเพื่อหาตำแหน่งวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ
เมื่อพบจะส่งคลื่นเสียงความถี่สูงไปยังตำแหน่งดังกล่าวเป็นระยะเวลา 30 - 60 วินาที โดยทำให้เกิดความร้อนที่อุณหภูมิ 55 องศาที่ปลายสายสวนหัวใจ ทำให้การนำไฟฟ้าที่จุดนั้นถูกทำลาย หัวใจจะไม่เต้นผิดปกติอีก ซึ่งการรักษาโดยวิธีดังกล่าวได้ผล 95% มีผลแทรกซ้อนน้อยกว่า 1% ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บหน้าอกเพียงเล็กน้อย และใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาล 1 คืนหลังการรักษา
การเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ
ควรรักษาด้วย การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) เป็นเครื่องมือขนาดประมาณ 4-5 เซนติเมตร หนา 0.5 เซนติเมตร ภายในประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ส่วนรับรู้การเต้นของหัวใจ ส่วนส่งพลังงานไฟฟ้าไปกระตุ้นหัวใจ และส่วนของแบตเตอรี่ โดยทั่วไปจะให้พลังงานได้ 8-10 ปีแล้วแต่ปริมาณการใช้งาน หลังจากใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ทุก 6 เดือน – 1 ปี เพราะต้องรับการตรวจเช็คเครื่องอย่างสม่ำเสมอ เพื่อปรับพลังงานและโปรแกรมของเครื่องให้เหมาะสม
หากจำเป็นต้องเดินผ่านเครื่องตรวจจับโลหะในสนามบิน ต้องแสดงบัตรประจำตัวผู้ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ เพื่อไม่ให้ยุ่งยากในการตรวจค้น และไม่ควรใช้เครื่องตรวจ MRI เพราะแรงแม่เหล็กจะเหนี่ยวนำทำให้เครื่องเสียหายได้ หากต้องเข้ารับการผ่าตัด ฉายแสงรักษามะเร็งต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอ
หัวใจเต้นเร็วมากและเกิดจากหัวใจช่องล่าง
กรณีนี้ถือเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดรุนแรง อาจเกิดจากหัวใจห้องล่างเต้นเร็วมากหรือเต้นพริ้วจนความดันโลหิตต่ำคลำชีพจรไม่ได้ หรืออาจเกิดได้หลายรูปแบบสลับไปมา หัวใจจะหยุดสูบฉีดเลือด ถ้าหัวใจไม่กลับมาเต้นเป็นปกติในเวลาอันรวดเร็ว อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาไม่กี่นาที การรักษาที่ให้ผลดีที่สุดคือการช็อคด้วยไฟฟ้าพลังงานสูงผ่านหัวใจ เพื่อให้สัญญาณไฟฟ้าหัวใจกลับมาเป็นปกติในทันที
ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรง แพทย์จะแนะนำให้รับการผ่าตัดใส่เครื่องช็อคไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติชนิดผ่าตัดฝังติดตัวผู้ป่วย (AICD : Automatic Implantable Cardioverter Defibrillator) เมื่อมีสัญญาณหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง เครื่องจะส่งไฟฟ้าพลังงานสูงผ่านหัวใจให้สัญญาณไฟฟ้าหัวใจที่ผิดจังหวะกลับมาเป็นปกติในทันที
หัวใจเต้นผิดจังหวะอาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในช่วงที่ทำกิจกรรมโลดโผนเท่านั้น ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับคุณสิริวิภา ยันตดิลก อาชีพพนักงานบริษัทเอกชน อายุ 45 ปี
“ตอนนั้นกำลังนั่งทำงานตามปกติเหมือนทุกวัน อยู่ดีๆ ก็รู้สึกใจสั่นแต่คิดว่าคงไม่เป็นอะไรสักพักคงหายไปเอง เพราะเคยมีอาการแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว พยายามทนอยู่เกือบชั่วโมงหัวใจก็ยังเต้นแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่หยุดสักทีจนเริ่มคิดว่าไม่ไหวแล้ว รีบไปโรงพยาบาลใกล้บ้าน พอไปถึงวัดความดันขณะนั้นได้ 160
คุณหมอให้ติดเครื่อง Holter เป็นเครื่องมือเล็กๆ สำหรับตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบ 24 ชั่วโมงที่พกติดตัวไปได้และเครื่องก็ทำการบันทึกผลตลอดเวลา ผลที่ได้ปรากฏว่าเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เบื้องต้นคุณหมอให้ยามารับประทาน แต่เนื่องจากเราเป็นโรคลิ้นหัวใจยาวอยู่แล้วจึงทำให้อาการหัวใจเต้นผิดปกติอาจกำเริบได้เสมอและเป็นอยู่บ่อยครั้ง
บางทีขับรถคนเดียวก็มีอาการขึ้นมาหากไม่มีใครอยู่ด้วยจะอันตรายมาก ต่อมาจึงได้ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจเพราะถ้ามีสัญญาณหัวใจเต้นผิดปกติขึ้นมาเมื่อไหร่เครื่องจะส่งกระแสไฟฟ้ากระตุ้นให้กลับมาปกติโดยอัตโนมัติ ตอนนี้จึงคลายความกังวลลงได้บ้างและกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติแล้วค่ะ”
คุณสิริวิภาเล่าถึงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดขึ้นกับตนและอยากฝากให้คนที่เริ่มมีอาการ มาพบแพทย์โดยด่วนเพราะหัวใจเป็นอวัยวะสำคัญ หากผิดปกติขึ้นมาก็จะเป็นเรื่องฉุกเฉินและอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
พญ.ชาดา โชติพันธุ์วิทยากุล อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาพบว่าผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจ ก็อาจพบความผิดปกติเกี่ยวกับจังหวะการเต้นของหัวใจได้ เนื่องจากมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้นให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยาขยายหลอดลม สารคาเฟอีนที่อยู่ในชา กาแฟ การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า
หรือหัวใจถูกกระตุ้นเพราะความแปรปรวนในระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ภาวะเครียด กังวล กลัว คิดมาก สิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นระบบประสาทที่ส่งผลต่อการกระตุ้นหัวใจทำให้ใจเต้นเร็ว ใจสั่น เหนื่อย หายใจไม่เต็มอิ่ม หายใจแรง เร็ว และอาจเจ็บหน้าอก อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นขณะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ออกแรง ขณะคิดมาก เครียด โมโห แต่ถ้าทำงานเพลินๆ หรือออกแรงเล่นกีฬามักจะไม่มีอาการ
กรณีนี้การรักษาด้วยยา หรือการจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูงสามารถทำให้หายเป็นปกติได้
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่รักษาจะเป็นอันตรายอย่างไร
ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะส่วนหนึ่งจะไม่มีอาการ ทำให้ไม่ตระหนักถึงความสำคัญและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ สำหรับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบบ่อยที่สุดคือ หัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยมีโอกาสเกิดอัมพาตได้สูงถึง 10-15% ต่อปี
เนื่องจากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในหัวใจจากการที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะจะหลุดออกไปอุดหลอดเลือดสมอง ทำให้เกิดอัมพฤกษ์อัมพาตได้ และภาวะหัวใจอ่อนกำลัง ก็เป็นอีกสาเหตุของการเสียชีวิตที่สูงขึ้นเมื่อพบร่วมกับโรคเบาหวาน และหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
พญ.ชาดา แนะนำทิ้งท้ายถึงวิธีดูแลร่างกายของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะว่า ควรหมั่นดูแลสุขภาพของตนเอง หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงชา กาแฟ แอลกอฮอล์ หรือยากระตุ้นบางชนิดที่มีผลต่อการเต้นของหัวใจ ถ้าไม่แน่ใจควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนรับประทานยา
หมั่นดูแลจังหวะหัวใจวันนี้ เพื่อให้จังหวะชีวิตของคุณไม่สะดุดลงก่อนวัยอันควร
แหล่งที่มา : bangkokbiznews.com