โรคบิด คือ โรคบิดแบซิลลารี่ โรคบิดในทารกแรกเกิด อันตราย


1,747 ผู้ชม


โรคบิด คือ โรคบิดแบซิลลารี่ โรคบิดในทารกแรกเกิด อันตราย

 

 บิดชิเกลล่า



โรคบิด คือ โรคบิดแบซิลลารี่ โรคบิดในทารกแรกเกิด อันตราย

 
ชื่อภาษาไทย  บิดชิเกลล่า, บิดไม่มีตัว
ชื่อภาษาอังกฤษ  shigellosis
สาเหตุ  เกิดจาการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “ชิเกลล่า (shigella)” ติดต่อทางอาหารการกิน โดยที่ผู้ป่วยกินอาหาร หรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น อาหารที่ถูกแมลงวันตอม อาหารดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ที่เป็นโรคนี้
            ระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่เริ่มรับเชื้อเข้าร่างกาย จนมีอาการแสดง) ๑-๗ วัน (พบบ่อย ๒๔-๔๘ ชั่วโมง)


อาการ 

             เริ่มแรกจะมีอาการปวดบิดในท้องก่อน ภายใน ๑ ชั่วโมงต่อมาจะมีไข้ขึ้นและถ่ายเป็นน้ำ ถ้าถ่ายรุนแรงอาจทำให้อ่อนเพลีย เพราะเสียน้ำกับเกลือแร่บางรายอาจเพียงถ่ายเหลว นอกจากนี้ยังมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ต่อมาอาการท้องเดินจะทุเลาลง แต่จะปวดเบ่งที่ก้นและถ่ายเป็นมูก (หนองสีขาว) หรือมีมูกปนเลือดบ่อยครั้ง กลิ่นเหม็นไม่มาก
ในเด็กอาจมีไข้สูง ซึม และชักได้
             อาการไข้จะหายเองภายใน ๒-๓ วัน ส่วนอาการท้องเดินเป็นบิดจะหายเองภายใน ๕-๗ วัน (โดยไม่ได้กินยา) แต่บางรายอาจกลับเป็นได้ใหม่อีก


การแยกโรค
  อาการปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำ ร่วมกับมีไข้ (ซึ่งเป็นอาการที่พบในระยะแรกของบิดชิเกลล่า) อาจต้องแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น
           ๑.  อาหารเป็นพิษ  เกิดจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนพิษเชื้อแบคทีเรียปล่อยออกมา หรือสารพิษ อื่นๆ (เช่น เห็ดพิษ) ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำ อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย บางรายอาจเป็นรุนแรง ถึงขั้นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
           ๒.  โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัส  ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง อาจมีภาวะขาดน้ำรุนแรงได้
          ส่วนอาการถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือด (ซึ่งเป็นอาการที่พบในระยะต่อมาของบิดชิเกลล่า) อาจต้องแยกออกจากสาเหตุอื่น เช่น
           ๑.  บิดอะมีบา เกิดจากเชื้อโปรโตซัว (สัตว์เซลล์เดียว) ที่มีชื่อว่า “อะมีบา (ameba)” ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเบ่งที่ก้น ถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือด กระปริดกะปรอย แต่มีกลิ่นเหม็นมากเหมือนหัวกุ้งเน่า บางคนเชื้ออาจลุกลามไปที่ตับกลายเป็นฝีในตับ ซึ่งเป็นภาวะรุนแรงได้ หากสงสัยควรรีบไป
          ๒.  โรคลำไส้กลืนกันเอง (intussusceptions) พบมากในทารกอายุประมาณ ๖ เดือน จะมีอาการปวดท้องรุนแรงเป็นพักๆ (ทารกจะมีอาการร้องไห้เสียงดังนานหลายนาที เว้นช่วงเงียบไปพักหนึ่ง แล้วร้องขึ้นอีก) อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย บางครั้งอาจถ่ายเป็นมูกปนเลือดคล้ายเยลลี่ หากสงสัยควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
          ๓.  มะเร็งลำไส้ใหญ่ จะมีอาการถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือดเรื้อรังนานเป็นสัปดาห์ๆ หรือเป็นเดือนๆ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด หากสงสัยควรรีบไปพบแพทย์

โรคบิด คือ โรคบิดแบซิลลารี่ โรคบิดในทารกแรกเกิด อันตราย


 การวินิจฉัย 
              มักจะวินิจฉัยจากอาการ คือ มีไข้ ปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำ แล้วต่อมามีอาการถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือดกะปริดกะปรอย 
              ในรายที่ไม่แน่ใจ อาจต้องตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น นำอุจจาระไปตรวจหาเชื้อ ใช้กล้องส่องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนคด (sigmoid scope) เป็นต้น

การดูแลตนเอง 
เมื่อแรกเริ่มมีอาการเป็นไข้ ปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำ สามารถให้การดูแลรักษาเบื้องต้น ดังนี้
       ๑.  ให้ยาลดไข้พาราเซตามอล
       ๒.  ให้ดื่มสารละลายน้ำเกลือแร่
       ๓.  งดอาหารที่ย่อยยาก ให้กินข้าวต้ม หรือน้ำข้าว ส่วนในทารกให้ดื่มนมแม่ได้ตามปกติ (ถ้ากินนมผสมใน ๒-๔ ชั่วโมง ให้ผสมนมเจือจางลงครึ่งหนึ่ง)
       ๔.  ควรไปพบแพทย์ เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
มีอาการปวดท้องรุนแรง หรือถ่ายท้องรุนแรง
อาเจียนบ่อย หรือกินไม่ได้
ถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือด
น้ำหนักลด
มีความวิตกกังวล หรือไม่มั่นใจที่จะดูแลรักษาตนเอง

การรักษา 
         ในรายที่มีอาการถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือด ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นบิดชิเกลล่า การรักษาที่สำคัญ คือ การให้ยาปฏิชีวนะกำจัดเชื้อชิเกลล่า เช่น อะม็อกซีซิลลิน (amoxicillin) โคไตรม็อกซาโซล (cotrimoxazole) อีริโทรไมซิน (erythromycin) นอร์ฟล็อกซาซิน (norfloxacin) เป็นต้น
        พร้อมทั้งให้ยาบรรเทาอาการ เช่น ถ้ามีไข้ ให้ยาลดไข้ ถ้ามีภาวะขาดน้ำ ให้สารละลายน้ำตาล เกลือ เป็นต้น
        ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น อาเจียน หรือมีภาวะขาดน้ำรุนแรง อาจต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล และให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
       โดยทั่วไป หลังให้ยาปฏิชีวนะ ๒๔-๔๘ ชั่วโมง อาการมักจะทุเลา แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะกินจนครบ ๕ วัน (ยกเว้น นอร์ฟล็อกซาซิน อาจให้เพียง ๓ วัน)
        ถ้ากินยาแล้วไม่หาย หรือมีอาการถ่ายเป็นมูกมีกลิ่นเหม็นมาก เป็นเรื้อรัง หรือน้ำหนักลด แพทย์จะทำการตรวจหาสาเหตุอื่นต่อไป

โรคบิด คือ โรคบิดแบซิลลารี่ โรคบิดในทารกแรกเกิด อันตราย

ภาวะแทรกซ้อน

            ที่พบบ่อยคือ ภาวะขาดน้ำ (เกิดจากอาการถ่ายเป็นน้ำ อาเจียน กินไม่ได้) ในเด็กเล็กและคนสูงอายุอาจได้รับอันตราย ถ้ามีภาวะขาดน้ำรุนแรง
             ที่พบได้น้อย เช่น เชื้อแพร่กระจายไปที่ข้อทำให้เกิดข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลัน หรืออาจมีลำไส้ทะลุ และเยื่อบุช่องท้องอักเสบ

การดำเนินโรค 
           ส่วนใหญ่มักจะมีอาการไม่รุนแรง และอาจค่อยๆ หานไปได้เอง แต่ถ้ากินยาปฏิชีวนะ อาการมักจะทุเลาภายใน ๒๔-๔๘ ชั่วโมง ควรกินยาจนครบ ๓-๕ วัน
ส่วนน้อยอาจมีภาวะขาดน้ำ ในช่วงแรกๆ ที่มีอาการถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้งหรืออาจรุนแรง

การป้องกัน
        ๑.  ดื่มน้ำต้มสุกหรือน้ำสะอาดไม่ดื่มน้ำคลองหรือน้ำบ่อแบบดิบๆ ไม่กินน้ำแข็งที่เตรียมไม่สะอาด
        ๒.  กินอาหารสุกและไม่มีแมลงวันตอม
        ๓.  ล้างมือด้วยน้ำสบู่ก่อนเตรียมอาหาร ก่อนเปิบข้าว และหลังถ่ายอุจจาระทุกครั้ง
        ๔.  ถ่ายอุจจาระลงในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ อย่าถ่ายลงคลอง หรือตามพื้นดิน

ความชุก
          โรคนี้พบบ่อยในคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่ขาดสุขลักษณะ ชอบกินอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม โรคนี้พบเป็นเป็นสาเหตุแรกๆ ของอาการถ่ายเป็นมูก หรือมูกปนเลือด

แหล่งที่มา : vcharkarn.com , doctor.co.th

อัพเดทล่าสุด