สุดยอดนิทานไทย โลกของระกา


897 ผู้ชม


สุดยอดนิทานไทย โลกของระกา

 โลกของระกา

สุดยอดนิทานไทย โลกของระกา
สุดยอดนิทานไทย โลกของระกา
สุดยอดนิทานไทย โลกของระกา
       คนไทยเรามีสำนวนเกี่ยวกับไก่มากมาย เช่น "เขียนแบบไก่เขี่ย" หมายถึงลักษณะเขียนที่หวัดจนไม่มีใครอ่านออก หรือ "ไก่แก่แม่ปลาช่อน" จากการที่รู้ว่าไก่มีหนังเหนียว และมีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว ดังนั้น ไก่แก่จึงถูกนำมาเปรียบเทียบกับสตรีที่สูงวัย จัดเจนสังเวียน และมีมารยามาก หรือสำนวน "ไก่ได้พลอย" ซึ่งหมายถึงคนที่ได้ของมีค่า แต่ไม่เป็นประโยชน์สำหรับตน ดังนั้น จึงสู้การได้ของมีค่า แต่ไม่มีประโยชน์ไม่ได้ ส่วนสำนวน "ไก่รองบ่อน" นั้นก็หมายถึง ผู้ที่อยู่ในฐานะตัวสำรอง ซึ่งจะถูกเรียกมาใช้แทนเมื่อใดก็ได้ คนคนนั้นจึงไม่มีความสำคัญและสุดท้าย คือ สำนวน "ไก่เห็นตีนงูงูเห็นนมไก่" ซึ่งหมายถึงคนที่ต่างฝ่ายต่างก็รู้ความลับของฝ่ายตรงข้าม ทั้งๆ ที่ไก่ไม่มีนม และงูก็ไม่มีตีน เป็นต้น
       
       ถึงแม้สำนวนเหล่านี้จะสื่อความหมายให้เรานึกถึงไก่ในแง่ลบ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ไก่เป็นสัตว์ปีกที่สำคัญที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็นความสำคัญด้านเศรษฐกิจ เพราะผู้คนทั่วโลกเลี้ยงไก่ และบริโภคไก่และเนื้อไก่ หรือในด้านวิทยาศาสตร์ เพราะไก่นี่เองที่นักพันธุศาสตร์ใช้ในการศึกษาการถ่ายทอดพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต สืบเนื่องจากไก่เป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย มีขนาดใหญ่ และสืบพันธุ์รวดเร็ว ดังนั้น การติดตามศึกษาลูกหลานจึงทำได้ดีรวดเร็ว หรือเวลานักชีววิทยาต้องการรู้ขั้นตอนวิวัฒนาการ ของสิ่งมีชีวิตเช่นคนขณะอยู่ครรภ์มารดา เขาจะใช้ตัวอ่อนของไก่ในการศึกษา จนทำให้รู้ขั้นตอนการเกิดแขนขาในตัวอ่อนของคนว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้เพราะตัวอ่อนของไก่กับคนมีพัฒนาการลักษณะเดียวกัน หรือในการศึกษาโรคทางพันธุกรรม เช่น muscular dystropty (โรคกล้ามเนื้อสลาย), epilepsy (โรคลมบ้าหมู) นักวิจัยก็ใช้ไก่เป็นตัวทดลอง เมื่อ F.P.Rous แพทย์ชาวอเมริกาวิจัยเนื้องอกในไก่ เขาก็ได้พบไวรัสชนิด Rous chicken-sar coma ที่ทำให้ไก่เป็นมะเร็ง และผลการค้นพบนี้เองที่ทำให้ Rous ได้รับรางวัลโนเบล สาขาแพทยศาสตร์ ประจำปี 2509
       
       นักชีววิทยาสัตว์ดึกดำบรรพ์ได้พบว่าไก่ตัวแรกของโลกอุบัติขึ้นเมื่อ 310 ล้านปีก่อน และได้วิวัฒนาการจากไก่ป่ามาเป็นไก่บ้านจนถึงไก่เลี้ยง เช่น พบว่าไก่ป่า Gallus gallus เดิมอาศัยอยู่ในลุ่มน้ำสินธุ (Indus) ของอินเดียเมื่อ 5,000 ปีมาแล้ว และคนจีนเมื่อ 3,400 ปีก่อนก็รู้จักเลี้ยงไก่เช่นกัน และจากการที่มีการนิยมเลี้ยงไก่ได้แพร่หลายสู่กรีซและอิตาลี เพราะมีหลักฐานที่แสดงว่าไก่เป็นสัตว์ที่ชาวโรมันใช้ในพิธีบูชายัญ และบริโภค แต่เมื่อจักวรรดิโรมันล่มสลาย การนิยมเลี้ยงไก่ก็ลดถดถอยลงตามไปด้วย ทุกวันนี้ไก่ในโลกตะวันตกมีมากกว่า 70 สายพันธุ์ และส่วนใหญ่ถูกเลี้ยงเป็นอาหาร จะมีเพียงส่วนน้อยที่เป็นสัตว์เลี้ยง
สุดยอดนิทานไทย โลกของระกา
สุดยอดนิทานไทย โลกของระกา
สุดยอดนิทานไทย โลกของระกา
       เมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว T Schjelderup-Ebbe นักลำดับจิตวิทยาชาวนอร์เวย์ได้ศึกษาธรรมชาติของไก่ในยามที่อยู่กันเป็นฝูง และได้พบว่าในฝูงไก่ตัวเมียล้วนๆ จะมีไก่ตัวเมียตัวหนึ่งที่มีตำแหน่งเป็นนางพญาทำให้สามารถจิกไก่ตัวอื่นๆได้หมด โดยที่ไม่มีไก่ตัวใดกล้าจิกกลับ จากนั้นก็มีไก่อีกตัวที่จิกไก่ตัวอื่นได้ทุกตัวนอกจากไก่นางพญา การไล่ลำดับอภิสิทธิ์ในการจิกตีมีลงไปเช่นนี้เรื่อยๆ จนถึงไก่ตัวสุดท้ายที่จะถูกไก่ทุกตัวจิก และจิกตอบไก่ตัวโตไม่ได้เลย ส่วนไก่ตัวผู้นั้น ก็มีลำดับขั้นของการมีอภิสิทธิ์จิกตามลำดับเช่นกัน
       
       ดังนั้น เวลานำไก่แปลกหน้าใส่ในกรงร่วมกับไก่อื่นๆ มันจะต่อสู้กับตัวอื่นทีละตัว จนรู้ว่ามันอยู่ในตำแหน่งลำดับใดของกรง และเมื่อการจัดลำดับลงตัวเรียบร้อย การต่อสู้จิกตีในฝูงจะลดลง ความสงบก็จะเข้ามาครอบคลุมกรง และไก่จะไม่ต่อสู้กันอีกเลย Schjelderup-Ebbe ยังพบอีกว่า ขณะที่ยังเป็นลูกไก่ การจิกตีระหว่างกันจะไม่มี แต่พอมันเติบใหญ่ สันดานเถื่อนของมันก็เริ่มปรากฏและภายในเวลาเพียง 10 อาทิตย์ การจัดอันดับอภิสิทธิ์ในการจิกตีก็เรียบร้อย ไก่เป็นสัตว์ที่มีความทรงจำสั้น ดังจะเห็นได้จากเวลาจับมันออกจากกรง แล้วนำกลับใส่เข้าไปในกรงเดิม มันจะเริ่มต่อสู้จิกตีกันอีก ทั้งนี้เพราะมันลืมเรื่องเก่าหมดแล้ว เราจึงเห็นได้ว่าไก่ที่มีอภิสิทธิ์จิกตีสูงจะต้องเป็นไก่ที่แข็งแรง ก้าวร้าวและต่อสู้เก่ง นักสัตววิทยามีความสงสัยใคร่รู้ว่าเหตุใดไก่จึงมีพฤติกรรมเช่นนี้ และก็ได้พบว่าไก่ที่มีตำแหน่งหรือฐานะการต่อสู้สูงกว่าจะได้กินอาหารก่อน มีที่วางไข่ มีคอนเกาะ เป็นที่ทางมากกว่าไก่ที่มีฐานะต่ำกว่า ซึ่งต้องออกหากินยามฟ้าสาง ขณะที่ไก่ตัวอื่นๆอิ่มหนำสำราญแล้วและกำลังพักผ่อน ส่วนไก่ตัวเมียที่แข็งแรง เวลาไก่ตัวผู้ที่อ่อนแอเข้ามาเพื่อจะผสมพันธุ์ มันก็จะจิกตีจนตัวผู้นั้นกระเจิดกระเจิง ทั้งนี้เพราะมันต้องการตัวผู้ที่แข็งแรงกว่ามัน มันจึงยอมให้ผสมพันธุ์
       
       ในวารสาร Nature ฉบับที่ 426 ประจำวันที่ 6 พฤศจิกายน 2546 หน้า 170-174 T.Pizzari และคณะแห่งมหาวิทยาลัย Leeds ในอังกฤษ ได้รายงานว่า จากความเชื่อเดิมๆ ที่ว่าสัตว์เพศเมียมีไข่สำหรับผสมพันธุ์ในปริมาณที่จำกัด และสัตว์ตัวผู้สามารถผลิตเชื้อตัวผู้ (sperm) ได้มากและตลอดชีวิตเมื่อเหตุและผลเป็นเช่นนี้ สัตว์ตัวเมียจึงต้องใช้วิจารณญาณมากในการใช้ไข่ของตนเพื่อผสมพันธุ์ คือมันจะเลือกตัวผู้ที่มันไว้วางใจและเชื่อใจ ส่วนตัวผู้ การมี "กระสุน" มากทำให้มันไม่ต้องใช้เวลาตัดสินใจนาน คือ มันจะใช้กระสุนที่มีให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เพื่อสืบพันธุ์ของมันให้ยั่งยืนตลอดไป
       
       Pizzari กลับได้พบว่าในกรณีของไก่ ขนาดของหงอนไก่ตัวเมียเป็นดัชนีชี้บอกขนาดของไข่ที่มันวางว่าจะใหญ่และมีคุณภาพดี ซึ่งประเด็นนี้ไก่ตัวผู้ก็รู้เช่นกัน ดังนั้น Pizzari จึงไม่รู้สึกแปลกใจที่ได้ตัวผู้ชอบไก่ตัวเมียที่มีหงอนใหญ่ คือมันจะเข้าผสมพันธุ์บ่อยครั้งกว่าไก่ตัวเมียที่มีหงอนเล็ก และในเวลาผสมพันธุ์มันก็จะฉีดน้ำเชื้อให้มากกว่าด้วย (Pizzari ได้ติดตั้งอุปกรณ์วัดปริมาณน้ำเชื้อในช่องเพศของไก่ตัวเมียเพื่อการนี้) และเวลาไก่ตัวผู้กำลังผสมพันธุ์ หากมีไก่ตัวผู้อีกตัวมาใกล้ๆมันก็รู้ว่าตัวเมียของมันขณะนั้น "เคย" กับตัวผู้ที่เฝ้าดู ด้วยเหตุนี้มันจะฉีดน้ำเชื้อมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าเชื้อของมันมีโอกาสผสมพันธุ์มากที่สุด Pizzari ยังได้พบบุคลิกของไก่อีกหลายประการที่คล้ายคน เช่น ในกรณีน้ำพริกถ้วยเดียว ไก่ตัวผู้จะมีความถี่ของเพศสัมพันธ์ลดลงๆ และปริมาณน้ำเชื้อในแต่ละครั้งก็ลดลงด้วย แต่พอมีไก่ตัวเมียเอ๊าะๆ มาให้ท่า ปริมาณน้ำเชื้อที่ไก่ตัวผู้จะให้ "ไก่หลง" ตัวใหม่ก็จะเพิ่มสูงขึ้นทันตาเห็น
สุดยอดนิทานไทย โลกของระกา
สุดยอดนิทานไทย โลกของระกา
สุดยอดนิทานไทย โลกของระกา
       ย้อนหลังไปเมื่อปีกลายนี้ T.Lasky แห่ง National Institute of Health ที่เมือง Bethesda รัฐ Maryland ในอเมริกา ได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสาร Environmental Health Perspectives ว่าเวลากสิกรอเมริกันให้ roxarsone ซึ่งเป็นอาหารเสริมแก่ไก่เพื่อให้ทันเติบโตเร็ว และมีภูมิคุ้มกันโรคสูง อาหารเสริมชนิดนี้ประกอบด้วย carbon และ arsenic ที่ไม่เป็นพิษ แต่เวลาไก่ถ่าย มันขับถ่าย arsenic (ที่เป็นพิษ) ออกมาไม่หมด aesenic บริสุทธิ์ยังตกค้างอยู่ในเนื้อไก่และตับไก่ เมื่อ Lasky วัดปริมาณ arsenic บริสุทธิ์ในตับของไก่ 5,000 ตัว เขาได้พบ arsenic ในปริมาณโดยเฉลี่ย 0.39 ppm (คือ 0.35 ส่วนใน 1 ล้านส่วน) และเมื่อเขาพบว่าคนบริโภค arsenic บริสุทธิ์ (3.62-5.24) กรัม/วัน มีสิทธิเป็นโรคมะเร็ง ดังนั้น เขาจึงแถลงเตือน "ภัย" ในการบริโภคไก่ที่ได้รับอาหารเสริม roxarsone
       
       ในวารสาร Nature ฉบับที่ 432 ประจำวันที่ 9 ธันวาคม 2547 นั้น องค์กร International Chiken Genome Sequencing Consortium ได้รายงานรหัสพันธุกรรมของไก่ป่า (Gallus gallus) ที่สำคัญมาก เพราะการรู้รหัสจะช่วยกสิกรผู้เลี้ยงไก่ทั้งหลายรู้ว่า DNA ของไก่ส่วนใดมีอิทธิพลต่อการออกไข่ ต่อการให้เนื้อมาก ต่อการไม่เป็นโรคหวัดนก ฯลฯ ข้อมูลนี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่า genome ของไก่ คล้ายกับ genome ของมนุษย์ เพราะร้อยละ 60 ของ gene ไก่มีลักษณะเหมือน gene ของคน และ DNA คู่ base ของไก่มีประมาณ 1,000 ล้านคู่ และไก่มี gene ตั้งแต่ 20,000-23,000 ตัว
       
       จึงเป็นว่า ณ วันนี้ นักวิทยาศาสตร์รู้ genome ของคน หนู ปลา แมลงหวี่ ยุง วัณโรค มาลาเรีย ฯลฯ แล้ว และบัดนี้ก็รู้รหัสของไก่ด้วย นี่เป็นการยืนยันว่าไก่เป็นสัตว์สำคัญที่เราต้องตระหนัก และไม่ควรปล่อยไก่ หรือไก่นา หรือไก่อ่อน ให้คนเห็นหรือเข้าใจอีกต่อไป
       
       สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิกราชบัณฑิต
สุดยอดนิทานไทย โลกของระกา


แหล่งที่มา : manager.co.th

อัพเดทล่าสุด