เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว อาหารเพิ่มเม็ดเลือดขาว วิธีการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด


1,408 ผู้ชม


เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว อาหารเพิ่มเม็ดเลือดขาว วิธีการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด

 

    
นิตยสารหมอชาวบ้าน ปีที่ 26 ฉบับที่ 304 เดือน สิงหาคม 2547 
คอลัมภ์ : เรื่องน่ารู้

การบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem Cell)

              ใครๆ ก็รู้ว่ามะเร็งเป็นโรคที่น่ากลัว โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลิวคีเมีย) หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งรักษาค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว เป็นเรื่องโศกเศร้าที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวขอตัวเอง
              วันนี้ผู้ที่ป่วยด้วยโรคอันตรายที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของเม็ดเลือดทั้งหลาย มีความหวังเพิ่มมากขึ้นแล้ว ด้วยวิธีการรักษาที่เรียกว่า “ปลูกถ่ายไขกระดูก” อาจใช้เซลล์ไขกระดูกของตนเอง หรือรับมาจากผู้อื่น ผู้อื่นในที่นี้หมายถึงเครือญาติพี่น้องหรือบุคคลทั่วไปที่มีจิตใจเสียสละ หากใครสนใจจะร่วมบุญกุศลช่วยเหลือผู้ที่กำลังทุกข์ทรมาน ท่านสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านั้นได้ ด้วยการแสดงเจตจำนง เพื่อบริจาคเซลล์ด้นกำเนิดเม็ดเลือด หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “สเต็มเซลล์” (Stem Cell) ให้กับทุกชีวิตที่กำลังรอคอยโอกาสและความหวังสุดท้ายที่เหลืออยู่

เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว อาหารเพิ่มเม็ดเลือดขาว วิธีการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด

 

เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดคืออะไร
              เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ก็คือเซลล์ตัวอ่อนที่อาศัยอยู่ในไขกระดูก สมัยก่อนจะเรียกว่า “เซลล์ไขกระดูก” เซลล์ตัวอ่อนนี้จะมีการเจริญเติบโตและแบ่งตัวไปเป็นเซลล์ตัวแก่ที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด และเซลล์ตัวแก่นี้ก็ได้แก่
           เม็ดเลือดแดง  ทำหน้าที่นำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย เซลล์เม็ดเลือดแดงจะมีอายุเฉลี่ย ๑๒๐ วัน
           เม็ดเลือดขาว  ทำหน้าที่เสมือนทหารที่คอยต่อสู้กับข้าศึก คือต่อสู้กับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย เป็นตัวที่สร้างภูมิต้านทานหรือภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย อายุของเซลล์เม็ดเลือดขาวขึ้นอยู่กับจำนวนเชื้อโรคนั่นคือถ้าร่างกายได้รับเชื้อโรคเข้ามามากเซลล์เม็ดเลือดขาวก็ตายเร็ว อายุอาจเพียงแค่ชั่วโมงหรือเป็นวันเท่านั้น
           เกล็ดเลือด  เป็นตัวที่ช่วยห้ามเลือดเวลาที่เรามีบาดแผลและมีการฉีกขาดของหลอดเลือด เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว เกล็ดเลือดจะมีอายุประมาณ ๕ วัน แล้วก็ตายไป
  ไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดนี้จะทำหน้าที่ผลิตเซลล์ตัวแก่ออกมาตลอดเวลา ในเด็กจะมีการสร้างเซลล์เม็ดเลือดในกระดูกทุกชิ้นของร่างกาย แต่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะมีการสร้างเซลล์เม็ดเลือดในกระดูกบางชิ้นของร่างการเท่านั้น เช่น กระดูกเชิงกราน กระดูกซี่โครง และส่วนหัวของกระดูกต้นขา เป็นต้น และในปัจจุบันพบว่าเซลล์ไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดนี้ไม่ใช่จะมีอยู่เฉพาะในไขกระดูกเท่านั้นแต่จะพบได้ในเลือดจากรกของเด็กที่คลอดออกมาแล้วด้วย ส่วนนี้จะมีเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดอยู่ค่อนข้างมาก

ทำไมต้องขอรับบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
            ปัจจุบันในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยด้วยโรคเลือดจากทาลัสซีเมีย เลือดจางชนิดไขกระดูกฝ่อ มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งกระดูกไมโลมา (Myeloma) มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งปอด หรือมะเร็งอวัยวะอื่นๆ ที่ลุกลามไปยังไขกระดูกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

          โรคต่างๆ ดังกล่าวทำให้ร่างกายมีการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงออกมามากผิดปกติบ้าง เซลล์ไขกระดูกไม่ทำงานบ้าง หรือร่างกายผลิตเซลล์ต้นกำเนิดออกมาเป็นเซลล์มะเร็ง ถ้ารักษาโดยการให้เม็ดเลือดแดง หรือเม็ดเลือดขาวเข้าไปทดแทนแก่คนไข้เหมือนสมัยก่อนก็จะต้องให้ตลอดเวลา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ และต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องมีเซลล์ตัวอ่อนหรือเซลล์ตัวแม่ของตัวเอง นั่นคือจะต้องได้รับการรักษาโดยการเอาไขกระดูกที่ดีของผู้อื่นมาเปลี่ยน วิธีนี้ก็คือการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดนั่นเอง เพื่อที่เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจะได้ผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ดี และเกล็ดเลือดออกมาไหลเวียนในระบบเลือด
          โดยปกติเมื่อผู้ป่วยจะรับเลือดจากใครจำเป็นต้องให้หมู่เลือดตรงกัน และหมู่เม็ดเลือดแดงก็มีไม่มาก เช่น กรุ๊ป A, B, O, AB หรือ RH ดังนั้น โอกาสที่กรุ๊ปเลือดจะตรงกันมีค่อนข้างมาก แต่เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจะให้ผู้ป่วยได้ก็ต่อเมื่อเนื้อเยื่อของเม็ดเลือดขาวตรงกัน แต่หมู่เม็ดเลือดขาวมีนับร้อยชนิด ดังนั้น โอกาสที่เซลล์เนื้อเยื่อจะตรงกัน ในกรณีที่ไม่ได้เป็นพี่น้องกันนั้นมีน้อยมากคือ ๑ ใน ๕๐,๐๐๐ ส่วนผู้ที่เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน โอกาสที่เซลล์เนื้อเยื่อจะตรงกันแป๊ะนั้นมีเพียงร้อยละ ๒๕ หรือ ๑ ใน ๔ ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเป็นจำนวนมากๆ เพื่อจะได้ให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง แต่ถ้ามีผู้บริจาคน้อย โอกาสที่ผู้ป่วยเหล่านี้จะได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกก็น้อยไปด้วยหรือไม่มีเลย

ถ้าต้องการเป็นผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดต้องทำอย่างไร
           การได้ช่วยให้ผู้อื่นมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นนับเป็นการทำบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ ดังนั้น ถ้าใครสนใจอยากเป็นผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ก็ต้องตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นกันก่อน นั่นคืออายุตั้งแต่ ๑๗-๕๕ ปี มีน้ำหนักร่างกายมากกว่า ๔๘ กิโลกรัมขึ้นไป สุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวหรือโรคติดต่อร้ายแรง ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง และเคยเป็นผู้บริจาคเลือดมาก่อนอย่างน้อย ๒ ครั้งขึ้นไป
           จากนั้นจึงมาแจ้งความจำนง แล้วลงทะเบียนอาสาสมัครที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ และบริจาคเลือดไปตามปกติ ทางเจ้าหน้าที่จะเก็บเลือดของผู้บริจาคเป็นอาสาสมัครเพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อย เพื่อตรวจหาลักษณะเซลล์เนื้อเยื่อหรือหมู่เลือดขาวฐานข้อมูลเก็บไว้ก่อน โดยยังไม่ต้องบริจาคจริง แล้วถ้าหากเซลล์เนื้อเยื่อของผู้บริจาคและผู้ป่วยตรงกัน ทางศูนย์จึงจะเชิญผู้บริจาคมาพูดคุย และตรวจสอบความพร้อมของร่างกายอีกครั้งก่อนที่จะบริจาคจริง โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลตลอดเวลา

เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว อาหารเพิ่มเม็ดเลือดขาว วิธีการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด

วิธีการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด
          วิธีการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดมี ๓ วิธี คือ การบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดทางหลอดเลือดดำ วิธีการบริจาคทางไขกระดูกและวิธีการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากรก ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมวิธีบริจาคทางหลอดเลือดดำ เพราะง่ายและสะดวกสำหรับผู้บริจาค โดยผู้บริจาคสามารถเลือกวิธีบริจาคได้ หรืออาจจะได้ระบบการร้องขอจากแพทย์ให้บริจาคด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง มีรายละเอียดดังนี้คือ

         การบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดทางหลอดเลือดดำ (Peripheral Blood Stem Cell Conation) โดยปกติในกระแสเลือดจะมีเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดอยู่น้อยมาก ถ้าต้องการบริจาคด้วยวิธีนี้ จะต้องมีการฉีดยาเพื่อกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดออกจากไขกระดูกมากระจายในกระแสเลือดให้มากพอเป็นเวลา ๔ วัน จากนั้นจึงจะเข้ากระบวนการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด โดยเครื่องมือพิเศษที่เรียกว่า Automated Blood Cell Separator ที่จะแยกเฉพาะเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเก็บไว้ ซึ่งคล้ายกับวิธีการเก็บเกล็ดเลือดหรือน้ำเหลือง
       ขั้นตอนการแยกเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดใช้เวลา ๓ ชั่วโมง แต่ผู้บริจาคอาจจะต้องมาทำการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ๒-๓ วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของผู้ป่วยที่เป็นฝ่ายรับ
        การบริจาคทางไขกระดูก (Bone Marrow Donation) วิธีนี้เป็นการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากโพรงไขกระดูก โดยใช้เข็มและกระบอกฉีดยาเจาะเก็บจากบริเวณสะโพกด้านหลัง (บริเวณขอบกระดูกเชิงกราน) การบริจาคไขกระดูกจะทำในห้องผ่าตัดเท่านั้น โดยผู้บริจาคต้องมานอนที่โรงพยาบาล ๑ คือ ในกระบวนการเก็บไขกระดูกจะใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง และหลังเสร็จสิ้นการบริจาคก็สามารถกลับบ้านได้ในวันรุ่งขึ้น ผู้บริจาคควรพักฟื้นร่างกายประมาณ ๕-๗ วัน 
        การบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเลือดจากรก (Cord Blood) วิธีนี้ผู้บริจาคต้องเป็นคุณแม่ผู้ตั้งครรภ์ พอเด็กคลอดออกมา ทางศูนย์ฯ ก็จำทำการเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดไว้ให้ทันที เพื่อที่ว่าในอนาคตถ้าเด็กคนนั้นป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับระบบเลือด ก็สามารถมีเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของตัวเองมาใช้ เพราะโอกาสที่จะได้รับจากผู้อื่นนั้นมีน้อยมาก
         บางคนอาจจะสงสัยว่าถ้าบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดไปแล้ว จะหมดไปจากร่างกายหรือไม่ เรื่องนี้สบายในได้เลย เพราะร่างกายสามารถสร้างเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดขึ้นมาทดแทนได้อย่างรวดเร็ว และในความเป็นจริงอาสาสมัครที่แจ้งความจำนงไว้ อาจจะไม่มีโอกาสได้บริจาคจริงๆ เลยก็ได้เพราะการที่เซลล์เนื้อเยื่อของผู้บริจาคและผู้ป่วยจะตรงกันนั้น มีน้อยมากคือ ๑ ใน ๕๐,๐๐๐
        อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ประสงค์จะบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเป็นจำนวนมาก นั่นหมายถึงความหวังของผู้ป่วยทั้งหลายก็มากขึ้นด้วยเช่นกัน ขณะนี้ทางศูนย์บริจาคโลหิต สภากาชาดไทย ต้องการผู้ที่จะบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเฉพาะผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯ จำนวนนับแสนคน และเหตุผลที่ยังไม่สามารถรับบริจาคจากผู้สนใจทั่วประเทศได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการตรวจหาหมู่เม็ดเลือดขาวของผู้บริจาคราคาค่อนข้างสูง ประมาณ ๕,๐๐๐ บาทต่อคน ดังนั้น จึงต้องการเฉพาะผู้ที่สามารถบริจาคได้จริงก่อน

เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว อาหารเพิ่มเม็ดเลือดขาว วิธีการบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด

แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด