หลักสูตรอาเซียนศึกษา วิธีจัดศูนย์อาเซียนศึกษา ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬา
สพฐ.ตั้งศูนย์อาเซียนศึกษาทั่ว ปท.ผุดสถาบันภาษา 'พม่า-เวียดนาม-เขมร'
นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมของ สพฐ.ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (ASEAN Community : AC) ในปี 2558 ว่า ในการประชุมองค์กรหลักของ ศธ. มีนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานในวันที่ 14 สิงหาคม จะมีการประชุมเพื่อสรุปยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้ ภายหลังมอบหมายให้แต่ละองค์กรหลักไปวางแผนเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย โดยในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รับมอบหมาย 2 เรื่อง ได้แก่ 1.ภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาอาเซียนบวกสาม และ 2.การพัฒนาหลักสูตร โดยในเรื่องภาษาอังกฤษ เราจะปักหลักหรือเน้นที่โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาที่สอนถึงระดับชั้น ม.3 เนื่องจากจบแล้วมี 3 ลู่ให้เลือก ได้แก่ 1.เรียนต่อชั้น ม.ปลาย 2.เรียนต่อสายอาชีวะ และ 3.เข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยขณะนี้สถาบันภาษาอังกฤษ สพฐ. ได้ตั้งคณะทำงานจัดทำสาระเพิ่มเติม ที่เน้นภาษา อังกฤษเพื่อการทำงานและภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร เพื่อเป็นตัวช่วยโรงเรียน ทั้งนี้เราต้องการให้เด็กมีพื้นฐานทางด้านภาษาอังกฤษ หากเด็กจบการศึกษาภาคบังคับแล้วต้องไปเรียนอาชีวะหรือตลาดแรงงาน เด็กจะได้มีพื้นฐานภาษาอังกฤษ
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า ส่วนด้านภาษาอาเซียน เราได้กำหนดศูนย์ภาษาต่างๆ โดยคัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อมและศักยภาพ เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับโรงเรียนอื่นๆ ดังนี้ ศูนย์ภาษาเวียดนาม จัดตั้งที่โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร จ.หนองคาย โรงเรียนธาตุนารายณ์วิทยา จ.สกลนคร, ศูนย์ภาษากัมพูชา ที่โรงเรียนประสาทวิทยาคาร จ.สุรินทร์ โรงเรียนกันทรลักษ์วิทยา จ.ศรีสะเกษ, ศูนย์ภาษาพม่า ที่โรงเรียนผดุงปัญญา 1 จ.ตาก โรงเรียนสรรพวิทยาคม จ.ตาก โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ จ.เชียงราย โรงเรียนพรหมานุสรณ์ จ.เพชรบุรี ทั้งนี้โรงเรียนที่เป็นศูนย์ภาษาดังกล่าวจะเป็นแม่ข่ายเพื่อขยายผล และแต่ละแห่งจะมีโรงเรียนเครือข่าย โดยมีสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.ช่วยทำสาระเพิ่มเติม
"คาดหวังให้โรงเรียนที่เป็นศูนย์ภาษา เป็นตัวอย่างและขยายผลต่อไป ขณะเดียวกันเราเน้นภาษาอาเซียนบวกสาม คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีด้วย เพราะถือเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่ทำการค้ากับประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาของประเทศดังกล่าว ขณะนี้เรามีศูนย์ภาษาจีนถึง 42 แห่งทั่วประเทศ ศูนย์ภาษาญี่ปุ่น 27 แห่ง และศูนย์ภาษาเกาหลี 6 แห่ง เราทำความร่วมมือกับรัฐบาลทั้ง 3 ประเทศในการช่วยพัฒนาครู รวมถึงเรื่องอื่นๆ" รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว และว่า ศูนย์ภาษาทั้งภาษาอาเซียนและภาษาอาเซียนบวกสาม จะจัดกิจกรรมและทำสาระเพิ่มเติมในการสอนภาษาระดับต่างๆ การพัฒนาครู รวมถึงนักศึกษาจากประเทศอาเซียนที่มาเรียนอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาไทย ก็จะช่วยเราด้วย
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวด้วยว่า สำหรับการพัฒนาหลักสูตร ตอนนี้กำลังจัดทำหลักสูตรจาก Curriculum Sourcebook ซึ่งจะไปเชื่อมโยงกับหลายวิชาในหลักสูตรการศึกษาพื้นฐาน ภายหลังวิเคราะห์ว่ามีอยู่ในเนื้อหาสาระวิชาต่างๆ แล้ว จะมาเพิ่มความเข้มข้นเรื่องราวของอาเซียนมากขึ้น ตลอดจนจัดกิจกรรมแหล่งเรียนรู้ นอกจากนี้ได้กำหนดให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษา จะต้องมีศูนย์อาเซียน โดยเขตพื้นที่การศึกษาต้องคัดเลือกโรงเรียนหนึ่งแห่งมาเป็นศูนย์อาเซียนศึกษา เพื่อเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่นๆ ได้เรียนรู้ มีการจัดทำมุมอาเซียนหรือห้องเรียนอาเซียนตามศักยภาพของแต่ละโรงเรียน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โรงเรียนบางแห่งที่เข้มแข็งก็มีศูนย์อาเซียนตั้งอยู่ในโรงเรียนแล้ว ทั้งนี้ สพฐ.จะเสนอ รายละเอียดเรื่องนี้ต่อนายสุชาติ ในที่ประชุมองค์กร หลัก ก่อนจะนำเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป
ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชน
แหล่งที่มา : kruthai.info