นวัตกรรมทางการแพทย์แผนไทย ย้อนรอยแพทย์ไทย ความหมายการแพทย์แผนไทย


1,247 ผู้ชม


นวัตกรรมทางการแพทย์แผนไทย ย้อนรอยแพทย์ไทย ความหมายการแพทย์แผนไทย

 

 ย้อนรอย...แพทย์ไทย

ที่มา : นิตยสาร สสวท.
ศุภชัย ติยวรนันท์
ผศ., ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์และเภสัชวินิจฉัย
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


ย้อนรอย...แพทย์ไทย

         สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ขณะที่ผมนั่งเขียนต้นฉบับอยู่นี้ อากาศเริ่มเปลี่ยนแปลงบ่อย สภาวะอากาศตอนนี้ถือว่าทันสมัยมาก สอดรับกับภาพยนตร์วัยรุ่น ว่าไปนั่นเลยเอาเป็นว่าคุณผู้อ่านต้องดูแลสุขภาพกันให้ดีนะครับ ฉบับที่แล้วได้บอกเล่าเรื่องน่ารู้ของแผ่นดินสยามไว้และท้ายฉบับได้สัญญาบอกกับท่านผู้อ่านไว้ว่าจะนำเรื่องกำเนิดและอวสานการแพทย์แผนไทยมาเล่าสู่กันฟัง

วิทยาการผสมผสาน ก่อผลึกภูมิปัญญาไทย

                                              นวัตกรรมทางการแพทย์แผนไทย ย้อนรอยแพทย์ไทย ความหมายการแพทย์แผนไทย
         เวลาสังคมมนุษย์เริ่มก่อตัวขึ้นที่ใด ที่นั่นมักมีการพัฒนาองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ เนื่องจากมนุษย์เป็นอารยะชนที่มีอารยธรรมสูง ความรู้ด้านการแพทย์ก็เช่นกัน วิทยาการด้ายการแพทย์ในแผ่นดินไทยเราตั้งแต่อดีต เป็นวิทยาการผสมผสานระหว่างหลักการแพทย์อายุรเวท (Ayuravedic medicine) หลักการแพทย์ท้องถิ่น (Folk medicine) และ หลักการแพทย์แผนจีน (Chinese traditional medicine) 
 
         ตามที่ได้กล่าวไว้ในคราวก่อนว่าในผืนแผ่นดินไทยของเราในอดีตนั้นมีอาณาจักรเล็ก อาณาจักรน้อยเกิดขึ้นกระจายไปทั่ว ดังนั้นในแต่ละอาณาจักรก็มีการแพทย์ท้องถิ่นของตน ในช่วงสองพันปีก่อนหน้านี้ก็ได้มีการติดต่อแลกเปลี่ยนอารยธรรมและวัฒนธรรมระหว่างชนชาติต่าง ๆ การผสมผสานจึงเกิดขึ้น การผสมผสานกันทางวัฒนธรรม อารยธรรมและความรู้ภูมิปัญญา นำไปสู่การคัดสรรสิ่งที่ดีกว่าเก่าเกิดการสั่งสมเป็นระยะเวลานานและพัฒนาตัว จนได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น
 
         กอปรกับในบางยุคดินแดนแถบที่เป็นประเทศไทยในทุกวันนี้ได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของผู้ปกครองนอกเผ่าไต โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคขอมครองเมือง ดังจะเห็นได้จากการกระจายของปราสาทขอมที่มีให้เห็น ตั้งแต่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา และกระจายไปถึงเพชรบูรณ์ ขอนแก่น ลพบุรี สระแก้ว เหล่านี้ล้วนอันแสดงให้เห็นความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรขอมที่ได้แผ่เข้าครอบครองพื้นที่บริเวณดังกล่าว
 
         ทั้งอาณาจักรน้อยใหญ่ต่าง ๆ ที่ถือกำเนิดขึ้นบริเวณแผ่นดินไทย ล้วนได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากประเทศอินเดียเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะด้านศาสนาวิทยาการด้านอื่น ๆ ก็ได้ถูกเผยแพร่มาพร้อม ๆ กับการเผยแพร่ลัทธิความเชื่อ และศาสนา ดังนั้น วิทยาการด้านการแพทย์และการใช้ยาของชนชาติในบริเวณดินแดนแถบนี้จึงได้อ้างอิงจากตำราพระเวทของอินเดียเป็นส่วนใหญ่ และมีการผสมกับวัฒนธรรมและวิทยาการของอารยธรรมจีนบ้าง
 
         ดังนั้นการกำเนิดของการแพทย์แผนไทยจึงมีที่มาจากการแพทย์แบบอินเดีย หรืออายุรเวท แล้วผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น (Indigenous knowledge) จนสั่งสมเป็นภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ดังจะเห็นได้จากหลักฐานชิ้นต่าง ๆ ที่มีปรากฎในแต่ละยุคสมัยล้วนเป็นการจารึกแล้วอ้างอิงถึงคัมภีร์พระเวทและศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และพุทธอย่างต่อเนื่องเพียงแต่หลักฐานจารึกที่มีนั้นค่อนข้างน้อย ต่างจากชนชาติอื่น ๆ ที่มีการบันทึกที่ดี หรือไม่เช่นนั้นบรรพชนในภูมิภาคนี้ได้มีการบันทึกเช่นกัน หากแต่เอกสารที่บันทึกนั้นได้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลาจนไม่หลงเหลือให้รุ่นหลังได้ศึกษา หรืออีกกรณีหนึ่งคือ เอกสารยังไม่ถูกค้นพบก็เป็นได้

ยุครุ่งเรืองแห่งภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทย
 
         การพัฒนาของการแพทย์แผนไทยที่มีหลักฐานชัดเจนคือ เริ่มสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ได้มีการบันทึกตำรายาอันได้แก่ ตำราพระโอสถ พระนารายณ์ ดังที่ได้กล่าวเมื่อคราวก่อน เอกสารตำรายานี้ใช้ในพระบรมมหาราชวัง เป็นการปรุงยาโดยหมอยาต่าง ๆ เพื่อถวายให้กษัตริย์และขัตติยวงศ์ ในอีกด้านหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชนทั่วไป มีจดหมายเหตุที่เขียนโดยนายซิมมอนเดอร์ ลาลูแบร์ ผู้เป็นเอกอัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส จดหมายเหตุฉบับนี้เขียนราวปี พ.ศ. 2230
 
         ได้กล่าวถึงโรคภัยไข้เจ็บและการบำบัดของประชาชนทั่วไปในกรุงศรีอยุธยาไว้ความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงเรื่องโรคว่า “...เรื่องโรคาพาธของชาวสยามในกรุงศรีอยุธยามีตั้งแต่โรคป่วง โรคบิด ไข้กำเดา ไข้หวัด ไข้จับสั่น โรคพิษบาดทะยัก โรคลมจับ โรคอัมพาต โรคคุดทะราด เข้าข้อ ฝีต่าง ๆ เป็นปรวดพิษ แผลเปื่อยพัง โรคโลหิตไหลทางเหงือกไม่ค่อยพบ โรคขี้เรื้อนกุดถังไม่ค่อยเห็น แต่คนเสียจริตมีชุม การถูกกระทำยำเยียเชิงกฤติคุณ ความประพฤติลามกพาให้เกิดกามโรคในกรุงสยามก็ดกไม่หยอก อนึ่งในกรุงสยามก็มีโรคติดต่อกัน แต่หาใช่ห่า กาฬโรคอย่างในทวีปยุโรปไม่ ตัวโรคห่าของกรุงสยามก็คือ ไข้ทรพิษ อหิวาตกโรค...”
 
                                                                       นวัตกรรมทางการแพทย์แผนไทย ย้อนรอยแพทย์ไทย ความหมายการแพทย์แผนไทย
         อีกตอนหนึ่งได้กล่าวถึงลักษณะของหมอในสังคมสยามไว้ว่า “...หมอสยามไม่เข้าใจเครื่องในในร่างกาย และไม่รู้จักผ่าตัด...”  อีกตอนหนึ่งว่า “...หมอสยามมียาตามตำรา หมอสยามไม่พึงพยายามทราบยาอะไรบำบัดโรคชนิดใด ได้แต่หลับตาถือตำรับที่ได้เรียนมาจากบิดา มารดา และครูบาอาจารย์ และในตำรานั้น หมอชั้นใหม่ก็คงดื้อใช้ไม่แก้ไขอย่างใด หมอสยามไม่พะวักพะวงตรวจสมุห์ฐานโรคว่าอะไรเป็นตัวสำคัญที่ส่อให้เกิดโรค วางยาไปตามตำราตามบุญตามกรรม แม้กระนั้นก็ยังไม่วายที่จะรักษาให้หายได้มาก หมอสยามไม่เว้นที่จะโทษว่าเป็นเพราะถูกคุณกระทำยำเยียหรือฤทธิ์ผีสาง...”  นี่เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าความคิดอ่านของชาวต่างชาติที่มีต่อประเทศสยามนั้นค่อนข้างจะดูแคลนและเห็นเป็นชนชาติที่ด้อยพัฒนา แต่ก็ให้ประโยชน์ต่อชนรุ่นหลังคือเห็นสภาพคร่าว ๆ ของสังคมสมัยนั้นว่าดำรงชีพกันอย่างไร
 
         อีกบันทึกหนึ่งคือ คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม กล่าวไว้ว่าปปลายสมัยอยุธยามีร้านขายยาสมุนไพรให้กับประชาชนทั่วไป โดยกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “...ที่ถนนป่ายามีร้านขายเครื่องเทศเครื่องไทยครบสรรพคุณยาทุกสิ่ง ชื่อตลาดป่ายา 4...”  และมีอีกตอนหนึ่งกล่าวว่า “...นอกประตูไพชยนต์นี้ มีโรงพระโอสถ 1 และมีโรงพระโอสถตั้งอยู่หน้าสวนองุ่น (สวนองุ่นตั้งอยู่ท้ายสระใหญ่อันเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งบรรยงค์รัตนาศน์)...”  แสดงให้เห็นว่ามีการตั้งโรงพราะโอสถหลวงที่ใช้ปรุงยาเพื่อใช้ในวังและกิจการต่าง ๆ ของหลวง
 
         ยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของการแพทย์แผนไทย เนื่องจากเป็นยุคสมัยที่มีการผสมผสานตำรับตำรายาของอารยะชนเชื้อชาติอื่น ๆ อย่างตลอดยุคสมัย อันเป็นไปตามกลไกการตลาดการแลกเปลี่ยนค้าขายในสมัยนั้นและหลังจากสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นสมัยกรุงธนบุรี หรือสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น การพัฒนาวิชาการด้านการแพทย์แผนไทยได้เกิดขึ้นน้อยมากจะมีแต่เพียงการรวบรวมตำรับตำราที่มีแต่โบราณมา และแพทย์ก็ใช้ตามตำราเก่าที่ได้รวบรวมขึ้นชำระ ดังนั้นจึงมีการรวบรวมชำระตำราตลอดระยะเวลาจากรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช”  ของพสกนิกรชาวไทย และยุคนี้เองที่ศาสตร์ความรู้แพทย์ตามแบบแผนตะวันตกได้เข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ

สัญญาณแห่งการสูญหาย
 
         ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเข้ามาของชาวต่างชาติ และหมอสอนศาสนามากมายและคนเหล่านี้เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในสังคมสยาม ในปี พ.ศ. 2425 เกิดอหิวาตกโรคระบาดในสยาม มีประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรักษา และป้องกันการระบาดของโรคอหิวาตกโรคเป็นการด่วน โดยทรงให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรณรัศมี กรมหลวงจักรพรรดิพงษ์ ร่วมกับ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ จัดตั้งโรงรักษาคนเจ็บอหิวาตกโรคขึ้น นี่ก็เป็นพระกรณียกิจอีกด้านหนึ่งที่ได้ขยายบริการการรักษาพยาบาลแก่เหล่าพสกนิกรของพระองค์
 
         หลังเหตุการณ์ระบาดของโรคอหิวาตกโรคในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริให้การบริการรักษาพยาบาลได้แพร่หลายในหมู่ทวยราษฎร์และให้ครอบคลุมทั่วพระราชอาณาเขต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลของรัฐขึ้น โดยมีประกาศจัดตั้ง “คอมมิตตีจัดการโรงพยาบาล” ขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2429 โดยให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้น 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลใหญ่ที่ตำบลวังหลัง อันเป็นวังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “โรงศิริราชพยาบาล” (คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาลในปัจจุบัน) และ โรงพยาบาลริมป้อมมหาไชย ต่อมาได้รับพระราชทานนามว่า “โรงพยาบาลบูรพา” แต่ปัจจุบันได้เลิกทำการไปแล้ว
 
ฉบับนี้ขอจบไว้แค่นี้ก่อน แต่เรื่องราวที่เป็นสัญญาณแห่งการสูญหายของการแพทย์ไทยยังมีต่ออีก ติดตามต่อได้ในฉบับหน้าครับ

 

แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด